นวัต-จิตร-วรรณกรรม จ่าง แซ่ตั้ง (2)/รายงานพิเศษ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

รายงานพิเศษ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

นวัต-จิตร-วรรณกรรม จ่าง แซ่ตั้ง (2)

 

อีกหลายปีต่อมา ข้าพเจ้าทราบและพบเฮียจ่าง แซ่ตั้ง ไปเช่าแผงอยู่ที่ท่าน้ำถนนตก แล้วให้ “เจ๊” เปิดแผงขายหนังสือพิมพ์ ส่วนตัวเองยังคงรับจ้างวาดภาพเหมือนไปด้วย แต่ดูเหมือนว่าจะเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตไปศึกษางานด้านศิลปบ้างแล้ว

เมื่อต่างคนต่างแยกย้ายไม่เจอะเจอกันหลายปี ข้าพเจ้ายังอาศัยเติบโตที่ตึกแถวบริเวณสี่แยกตลาดพลู ห่างจากห้องที่เฮียจ่างเช่าอยู่เพียงช่วงถนนเทอดไทยตัดขวาง เป็นระหว่างที่น้าชายของข้าพเจ้า “สำราญ ทรัพย์นิรันดร์” ได้รับหน้าที่บรรณาธิการนิตยสาร “ช่อฟ้า” ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ที่มี “กิตติวุฑโฒภิกขุ” เป็นเลขาธิการมูลนิธิ และมอบหมายให้ข้าพเจ้า ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ ทำหน้าที่กองบรรณาธิการ

บางครั้ง ได้มีโอกาสพบกับเฮียจ่างอยู่บ้าง ทราบว่าเฮียเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสิ้นเชิงด้วยการ “วาดภาพ” ใช้สีดำเป็นหลัก

ระหว่างดำเนินการนิตยสารช่อฟ้าบนชั้นสองของโรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์การพิมพ์ ถนนเฟื่องนคร หน้าวัดราชบพิธฯ เฮียจ่างมาเยี่ยมเราถึงบนสำนักพิมพ์ พร้อมรับคำทวง “ต้นฉบับบทกวี” หรืองานเขียนของเขาจากพวกเรา ขณะที่เขาเริ่มเขียนเรื่องสั้นและบทกวีบ้างแล้ว

เรื่องหนึ่งคือเรื่องสั้นที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2506 ชื่อ “เวลาอันยาวนาน” เป็นระหว่างที่จ่างเริ่มรู้จักของศิลปิน “ละแวกถนนหน้าพระลาน” มากแล้ว

หนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอีกเล่มหนึ่งที่รวม บทความ สารคดี เรื่องสั้น และงานภาพเขียนที่ได้รับรางวัล “แห่งชาติ” ดีมากอีกเล่มหนึ่ง ไม่ต่างจากหนังสือ “23 ตุลา” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปีหนึ่งเป็นเหตุให้สาราณียกรคนหนึ่ง “จิตร ภูมิศักดิ์” ถึงกับถูก “โยนบก” ด้วยความไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่ลงตีพิมพ์จากคณะกรรมการสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.)

 

แล้ววันหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2510 นิตยสารช่อฟ้ารายเดือน จึงมีโอกาสตีพิมพ์บทกวีของจ่าง แซ่ตั้ง ซึ่งมีบันทึกไว้ว่าเป็น “บทกวีสมัยใหม่ (CONCRETE POETRY)” ครั้งแรก หลังจากบทกวีคำซ้ำ…

“ลอย ลอย ลอย ฯลฯ…” (จ่าง แซ่ตั้ง เริ่มเขียนบทกวีชิ้นแรก เมื่อ พ.ศ.2510 ขณะนอนพักผ่อนข้างลอมฟางหลังจากเขียนรูป การเป็นคนวาดรูป ทำให้จ่างมองเห็นสิ่งเบื้องหน้าเป็น “ภาพ” แม้เขาจะใช้ตัวอักษรแสดงความรู้สึกแทนสีน้ำ หรือถ่าน อย่างที่เคยทำตามปกติของการวาดภาพ ตัวอักษรของเขาก็แสดงเป็นภาพอยู่นั่นเอง-บทกวีบทแรกในชีวิตของจ่าง แซ่ตั้ง เผยแพร่ครั้งแรก-บทกวีการเมืองของจ่าง แซ่ตั้ง รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เล่มเดียวกัน หน้า 387)

และปีต่อมา พ.ศ.2511 หนังสือรวมกวีนิพนธ์นามธรรม “ปกดำ” ของจ่าง แซ่ตั้ง จึงพิมพ์ออกจำหน่าย

น่าเสียดายว่า นอกจากเรื่องสั้น “เวลาอันยาวนาน” ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือรับน้องใหม่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ.2506 แล้ว เรื่องอื่นที่เป็นวรรณกรรม และกวีนิพนธ์ของจ่าง แซ่ตั้ง แม้เมื่อนำมารวมเป็นเล่มแล้ว ไม่มีชื่อหนังสือและวันเดือนปีของเรื่องนั้นลงพิมพ์บอกไว้แม้แต่เรื่องเดียว

สอบถามจากทิพย์ แซ่ตั้ง-กรกฎาคม 2564-ซึ่งเป็นผู้ที่รวมรวมภาพและงานเขียนของพ่อที่มีจำนวนมาก (จากการศึกษาโดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Haus der Kulturen der Welt ในปี พ.ศ.2558 แคลร์ วีล (CLARE Veal) นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่สนใจศึกษาศิลปะในบริบทอุษาคเนย์ได้สรุปผลงานทั้งหมดของจ่างไว้ว่ามีผลงานจิตรกรรมจำนวนกว่า 5,000 ชิ้น และข้อเขียนจำนวนกว่า 90,000 แผ่น-เล่มเดียวกัน หน้า 121) ว่าไม่สามารถทราบได้ว่าเรื่องใด หรืองานเขียนใดลงพิมพ์หรือเขียนไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ จึงไม่สามารถอ้างอิงได้ แม้ทราบว่าการระบุชื่อหนังสือและวันเดือนปีของผลงานอาจแสดงถึงห้วงเวลาและประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ขณะนั้นมีความสำคัญก็ตาม

หากมีโอกาสและสามารถทราบได้หรือใครทราบว่าวันเวลาของผลงาน จ่าง แซ่ตั้ง เผยแพร่เมื่อไหร่ อย่างไร โอกาสตีพิมพ์รวมเล่มครั้งต่อไปจะพยายามจัดบันทึกไว้

 

เมื่อข้าพเจ้าเกิดคิดถึง “คน…คอยรถเมล์โดยสารประจำทาง…ที่กรุงเทพฯ” ระหว่างไวรัส “โควิด-19” แพร่ระบาด ทั้งรัฐบาลประกาศมาตรการเข้มงวดไม่ให้ออกจากบ้านหากไม่จำเป็น ข้าพเจ้ามองไปในความว่างเปล่า เห็นภาพถนนโล่ง ป้ายรถเมล์ปราศจากผู้คน นักเรียน แม่กระเตงลูกบนสะเอว ยิ่งคิดถึง “กวี” บทนี้ ไม่ทราบว่าจะให้เรียกว่าอะไร ณ ขณะนั้น

แล้วข้าพเจ้ากลับคิดถึง บทกวีต้นฉบับที่เป็นลายมือของ “จ่าง แซ่ตั้ง” พลันกลับไปคิดถึงงาน “จิตรกรรมสีดำบนผ้าใบผืนใหญ่” ฝาผนังบ้านที่จ่างใช้สีดำละเลงด้วยฝ่ามือไปบนนั้น

หากวันนี้ต้นฉบับ “คน” ยังคงอยู่ และนำมาใส่กรอบให้เป็นงานที่น่าจะเรียกว่า

“นวัต-จิตร-วรรณกรรม”

ด้วยเป็นบทกวีที่จ่าง แซ่ตั้ง จารไว้ด้วยอักษรไทย 2 ตัวเพียงคำเดียว แต่เรียงกันยาวบรรทัดละ 16 คำ เป็นคำว่า “คน” 8 บรรทัด เท่ากับคำว่า “คน 128 คำ” หรือ “คน 128 คน คอยรถเมล์โดยสารประจำทาง… (ณ ขณะนั้น เช้าสายเที่ยงบ่าย ค่ำหรือดึก ที่ใดที่หนึ่ง) ในกรุงเทพฯ”

นั้นคือนวัตกรรมอันเป็นจิตรกรรมซึ่งเกิดจากวรรณกรรม ประดิษฐกรรมสมัยใหม่วันนี้

ในโลกยุคดิจิตอลที่หมุนเร็ว เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ท่วมท้นและการเติบโตของสื่อออนไลน์แขนงต่างๆ ที่ปรับตัวให้เข้ากับวิถีแห่งยุคสมัย เราท่านทราบกันดีว่า บทกวีมิใช่ลมหายใจของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป (ลมหายใจใหม่ของบทกวี จ่าง แซ่ตั้ง หัตถกาญจน์ อารีศิลป เล่มเดียวกัน หน้า 280)