สิ่งแวดล้อม : ‘เน็ตซีโร่’ ทางรอดมนุษย์ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

 

‘เน็ตซีโร่’ ทางรอดมนุษย์

 

ห้วงสัปดาห์นี้ สหประชาชาติน่าจะเผยแพร่รายงานฉบับที่ 6 เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชิ้นล่าสุดชี้ให้เห็นถึงผลของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกที่มาจากฝีมือของมนุษย์ว่ามีอิทธิฤทธิ์ร้ายแรงขนาดไหน อนาคตข้างหน้าจะปั่นป่วนอลหม่านอย่างไร และทางรอดที่เหลืออยู่มีเพียงทางเดียวเท่านั้นคือทุกประเทศต้องร่วมกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ หรือ “เน็ตซีโร่”

รายงานชิ้นนี้เป็นผลการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกราว 200 คน ซึ่งส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่จัดตั้งโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (International Panel on Climate Change : IPCC) ของสหประชาชาติ ตรวจสอบกลั่นกรอง

ไอพีซีซีจัดทำรายงานแต่ละครั้งใช้เวลาตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลไม่น้อยกว่า 4 ปี จากนั้นเปิดให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวแทนรัฐบาลแต่ละประเทศถกเถียงโต้แย้งก่อนจะสรุปออกผลออกมา

ดังนั้น ข้อมูลส่วนใหญ่จึงมีความน่าเชื่อถือและส่งผลกระเทือนต่อรัฐบาลทั่วโลก

 

อย่างเช่น รายงานฉบับที่ 5 ที่ออกมาเมื่อปี 2556 นั้น ไอพีซีซีชี้ชัดว่า ตัวการหลักทำให้เกิดภาวะโลกร้อนคือ “คน” ปลุกกระแสความตื่นตัวของทั่วโลกจนนำไปสู่การประชุมของผู้นำ 195 ประเทศ และทุกประเทศพากันเข้าร่วมจัดทำข้อตกลงปารีสในปี 2558 เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซพิษป้องกันอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส

แต่การทำข้อตกลงกับการลงมือทำจริงนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

ประเทศยักษ์ใหญ่ไม่ว่าสหรัฐ หรือจีน อินเดีย สหภาพยุโรป ต่างมองผลประโยชน์ส่วนตัวมาก่อน

อย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส

ทรัมป์อ้างว่าเรื่องโลกร้อนไม่มีจริง จีนกุข่าวนี้ขึ้นมา แถมยังหันไปสนับสนุนอุตสาหกรรมใช้ถ่านหิน เชื้อเพลิงฟอสซิลสวนทางโลก หรืออย่างนายจาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งมีแนวคิดไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน เมินการดูแลผืนป่าอะเมซอน ปล่อยให้มีชาวบ้านรุกป่าทำเกษตร และเมื่อเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ก็ไม่ส่งกำลังเข้าไปดับไฟให้ทันสถานการณ์

ตลอดช่วง 6 ปีมานี้การจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษไม่ลดลงอย่างที่คุยกันไว้ ข้อตกลงปารีสกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขานในหน้าประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ถ้าประเทศต่างๆ ไม่ร่วมผนึกกำลังลดการปล่อยก๊าซพิษอย่างจริงจัง ราว 12 ปี หรืออาจจะเร็วกว่านี้ก็ได้ อุณหภูมิโลกจะทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียส และภายในศตวรรษนี้ถึงขั้นทะลวงสู่ระดับ 3 องศาเซลเซียส

 

ประเด็นหลักของรายงานไอพีซีซีฉบับใหม่จึงต้องการบอกให้ชาวโลกได้รู้ว่าอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก การเพิ่มขึ้นทั้งอุณหภูมิและปริมาณ CO2 ได้สร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อมและชาวโลกอย่างที่คาดไม่ถึง

อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์มองว่าเป็นจุดเปลี่ยนระบบนิเวศของโลกอย่างถาวร

ถึงเวลานั้นสถานการณ์โลกจะเป็นวิกฤตภัยทุกๆ ด้าน ธารน้ำแข็งในขั้วโลกละลายในปริมาณมหาศาลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เมืองตามชายฝั่งทะเลจะเจอน้ำทะเลท่วมทะลัก ผู้คนนับล้านจะพากันอพยพหนีตายขึ้นที่สูง ความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากมายเหลือคณานับ

อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นทำให้เกิดภัยแล้ง น้ำในแม่น้ำลำธารแห้งขอด ผลิตผลการเกษตรลดลง ไฟป่าเผาผลาญป่าไม้บ้านเรือนซ้ำอีกระลอก ทะเลกลายเป็นกรด แหล่งปะการังแห้งตายซาก ฝูงปลาลดปริมาณ

ผู้คนอดอยากหิวโหย สังคมเกิดการแย่งชิงอาหาร กลายเป็นชนวนก่อจลาจล การเมืองแตกแยกวุ่นวาย รัฐบาลเอาไม่อยู่

สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน เกิดฝนตกหนัก น้ำหลากท่วมชุมชน ไร่นาเรือกสวนจมอยู่ใต้บาดาล ผู้คนไร้ที่อยู่ เชื้อโรคระบาดซ้ำเติม

คาดกันว่า รายงานไอพีซีซีฉบับนี้จะดึงปรากฏการณ์ด้านสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนเกิดขึ้นทั่วโลกล่าสุดและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ่วงเข้ามาด้วย

นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมงานวิจัยบอกว่า ปรากฏการณ์น้ำท่วมใหญ่ในตอนกลางของจีน ยุโรป คลื่นความร้อนพาดผ่านประเทศแคนาดา มีอุณหภูมิสูงถึง 49 องศาเซลเซียส สภาพภูมิอากาศในฟินแลนด์และไอร์แลนด์ร้อนระอุ ทุ่งหญ้าทุนดราในแถบไซบีเรียใกล้ขั้วโลกเหนือลุกไหม้เนื่องจากอากาศร้อนจัด ภัยแล้งและไฟป่าฝั่งตะวันตกสหรัฐ บราซิล ตุรกี กรีซ เป็นผลพวงของภาวะโลกร้อน

 

ในรายงานไอพีซีซีอาจระบุถึงปรากฏการณ์ “โลกร้อน” ครั้งล่าสุดนี้ด้วย และเป็นไปได้ว่าอาจเชื่อมกับโรคโควิด-19 แพร่ระบาดปั่นป่วนไปทั้งโลก

นักวิจัยของสหรัฐเพิ่งเปิดเผยผลการวิจัยในเมืองเรโน รัฐเนวาดาระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีส่วนสัมพันธ์กัน

ปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ค่าเฉลี่ย 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในช่วง 7 วันสัมพันธ์กับการตรวจพบเชื้อโควิด-19 มีอัตราเพิ่มขึ้น 6.3 เปอร์เซ็นต์ และในผลการศึกษาปริมาณเขม่าควันจากไฟป่าที่เผาผลาญพื้นที่ของรัฐเนวาดาระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม-10 ตุลาคม ปี 2563 มีส่วนสัมพันธ์กับจำนวนคนป่วยด้วยโรคโควิด-19 ราว 17.7%

ผลการวิจัยยังพบว่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะเป็นตัวดึงเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ปอดเร็วขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ระบบการหายใจของผู้ติดเชื้อลดต่ำลงด้วย การวิจัยดังกล่าวชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศมีผลร้ายต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์

เมื่อก่อนนี้ ไม่มีใครตระหนักถึงผลกระทบเช่นนี้ มาวันนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนได้พบเห็นรอบๆ ตัว นับวันเป็นภัยที่รุนแรงมากขึ้น เกิดบ่อยขึ้น กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ แต่การเจ็บป่วยของผู้คนที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อระบบการแพทย์สาธารณสุข

นิตยสารแลนเซ็ต สรุปผลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล 320 แห่งทั่วสหรัฐช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ชี้ว่า ผู้บริหารโรงพยาบาลต่างวิตกกับการตรวจรักษาผู้ป่วย เป็นกังวลกับการจัดหาอุปกรณ์และบุคลากรการแพทย์ให้เพียงพอขณะที่ผู้ป่วยกลัวเชื้อโรคต้องการให้หมอดูแลจนหายสนิท

ความวิตกกังวลเช่นนี้ไม่ใช่มีเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น หากเป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งในอนาคตเชื่อว่า การแพทย์สาธารณสุขกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ แยกกันไม่ออกและผูกเงื่อนซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ