นิรโทษ สุดซอย X ไซริงค์?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

นิรโทษ

สุดซอยไซริงค์?

 

หลุดออกมาอีกครั้งสำหรับเอกสารสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข

คราวนี้เป็นโครงร่าง “พระราชกําหนดจํากัดความรับผิดสําหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. …”

ขึ้นรูปเป็นตุ๊กตาโดยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีเนื้อหาคุ้มครองบุคลากรสาธารณสุข ดังนี้

1. ผู้ประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ

2. ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข

3. ผู้ปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน

4. อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้านตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน

5. อาสาสมัครเฉพาะกิจ

6. บุคคลที่ได้รับการร้องขอจากผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อให้ปฏิบัติงานตามพระราชกําหนด

7. บุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน

รวมทั้งให้คุ้มครองสถานพยาบาล

1. สถานพยาบาลซึ่งดําเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจสถาบันการศึกษาของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย

2. สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

3. สถานที่ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

โดยไม่ต้องรับความรับผิดตามกฎหมาย ทั้ง 1) ทางแพ่ง 2) ทางอาญา 3) ทางวินัย และ 4) ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

เว้นแต่กระทําความผิดด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

โดยจะให้ความคุ้มครอง จะเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ประกาศกําหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

 

น่าสังเกตว่า เอกสารที่หลุดออกมานี้ ถูกส่งไปยังพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล

อันสะท้อนว่าในแวดวงสาธารณสุขเองก็มิได้เห็นชอบเสียทั้งหมด

ยังต้องการให้สังคมเข้ามาตรวจสอบ และตั้งคำถามต่อกรณีนี้

อย่างข้อสังเกตของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แห่งพรรคก้าวไกล ที่ชี้ว่า โดยหลักการ การจำกัดความรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่งให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติด่านหน้า ทำงานเต็มความสามารถ และโดยสุจริตนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว

แต่การที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้นรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบายผิดพลาด

ไม่ว่าจะเป็น

1) การไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน

2) การจัดฉีดวัคซีนล่าช้า ขาดการจัดการและการบริหารฐานข้อมูลที่ดี

3) การเบิกจ่ายงบประมาณ การเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ขาดประสิทธิภาพ ดูเบาต่อสถานการณ์

ซึ่งประเด็นต่างๆ นี้เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ประชาชนต้องล้มตาย เป็นความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ขณะที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มากมายเหลือคณานับ

ควรต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง

ไม่ควรจะออกกฎหมาย “นิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง” แบบนี้

โดยเฉพาะข้อที่ 7 ที่ระบุจะคุ้มครองให้บุคคลและคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีนนั้น

มีความเกี่ยวข้องกับการปกป้องบุคคล หรือคณะบุคคลเหล่านั้น บางคนหรือบางกลุ่มหรือไม่

ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ฟันธงลงไปเลยว่า นี่คือการเอาบุคลากรทางการแพทย์มาบังหน้า แต่รัฐบาลกลับหาทางเอาตัวรอด พ้นผิดลอยนวล

 

เจอการตั้งคำถามอันแหลมคมเช่นนี้

ทำให้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต้องออกมาชี้แจงว่า พ.ร.ก.นี้ออกมาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่

รวมทั้งองค์กรวิชาชีพ สภาวิชาชีพต่างๆ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เสนอให้มีกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ จะไม่ได้คุ้มครองทุกกรณี แต่จะมีการคุ้มครองภายใต้กรอบใหญ่ คือการกระทำนั้นต้องกระทำไปโดยสุจริต

และไม่คุ้มครองกรณีประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

โดยตอนนี้ยังอยู่ในฉบับร่าง จึงยินดีรับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ดีที่สุด

สอดคล้องกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่บอกว่าอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ยังไม่ได้ออกกฎหมายแต่อย่างใด

การระบาดของโควิด-19 รอบนี้ มีจิตอาสา ภาคสังคม ภาคประชาชน เข้ามาช่วยเหลือจำนวนมาก ฉะนั้น ก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับเขา ให้เกิดความเป็นธรรม และไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ แต่ก็มีข้อยกเว้นในคนที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ก็มีความผิดตามกฎหมายฉบับอื่นๆ ต่อไป

“การรักษาโรคโควิด-19 เปลี่ยนแปลงได้ตลอด ยาตัวไหนใช้ได้ หรือยารักษาตามอาการของโรค หมอเขาทุ่มเทรักษาอยู่แล้ว แต่เราต้องทำให้คนรักษามั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม ไม่มีใครอยากนอนสั่นหวาดกลัวว่าจะถูกฟ้อง” นายอนุทินระบุ

และย้ำว่า ฝ่ายการเมืองทำในเรื่องสนับสนุนภารกิจ ไม่ได้ทำเพื่อป้องกันตัวเอง เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำเพื่อบุคลากรสาธารณสุขให้เกิดความมั่นใจ ไม่ต้องวิตกกังวลต่ออนาคต

“ไม่คิดว่าจะมีคนหัวขี้เท่อ จ้องเล่นแต่การเมืองบนความเหนื่อยล้าของคนทำงาน แพทย์ หรือจิตอาสาที่เข้ามาทำงานด้วยความเต็มใจ ร่างดังกล่าวชัดเจนว่าเราไม่ได้ออกมาเพื่อคุ้มครองใครคนใดคนหนึ่ง และในคณะทำงานยก (ร่าง) พ.ร.ก. ก็ไม่ได้มีแค่หน่วยงานกำกับของกระทรวง แต่ยังมีภาควิชาชีพ ภาคกฎหมายเข้ามาร่วมดูแล ดังนั้น ยิ่งไม่สามารถออกมาเพื่อจุดประสงค์เดียวเพื่อใครบางคนได้”

นายอนุทินยืนกราน

 

คําชี้แจงทั้งจากฝ่ายข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองข้างต้น จะทำให้ความความคลางแคลงใจของสาธารณชนหายไปหรือไม่

ยังเป็นคำถามอยู่

แต่ข้อสังเกตจากคนในแวดวงสาธารณสุขก็น่าสนใจ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.ร.พ.จะนะ จ.สงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบท ชี้ว่า พ.ร.ก.ส่วนตัวไม่เชื่อว่ามีประโยชน์

แต่มีข้อสังเกตว่า อาจเป็นความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ เพื่อจะปลดล็อกความผิดของตัวเองจากความผิดพลาดในการจัดหาและการจัดสรรวัคซีนที่มีไม่เพียงพอทำให้มีผู้เสียชีวิตมีการระบาดของโรคอย่างกว้างขวาง

“ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาดูทิศทางลมให้ดี อย่าเสี่ยงกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน เพื่อไม่ให้จุดติดไปมากกว่านี้” นพ.สุภัทรเตือน

ด้านทัศนะจากนักวิชาการ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่าเจตนาที่แท้จริงของการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ อาจเพราะมีสาเหตุมาจากพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องไปที่ ป.ป.ช.แล้วเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยแจ้งข้อกล่าวหานายกรัฐมนตรี กรณีการจัดหาวัคซีนมีความผิดพลาด ทำให้มีปัญหาโรคระบาดรุนแรง มีผลกระทบทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย

การออก พ.ร.ก.จึงเป็นการตัดเกมที่ฝ่ายค้านยื่นร้อง ป.ป.ช.เท่านั้นเอง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ออกรณรงค์เพื่อให้คนร่วมฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ เพราะกรณีโควิด-19 ถือเป็นเรื่องใหญ่ มีคนตาย มีคนป่วย มีคนได้รับผลกระทบทั้งทางจิตใจ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ มากมายมหาศาล

ดังที่กลุ่ม “Nurses Connect” ภาคีพยาบาล แสดงจุดยืนค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน โดยชี้ว่าจงใจเอื้อบุคคล และทำสาธารณสุขดิ่งเหว

“จากร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว คลับคล้ายคลับคลาว่า นี่คือการ ‘นิรโทษกรรมสุดซอย’ ให้กับบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้การสาธารณสุขล้มเหลว จนประชาชนล้มตายกว่า 6 พันคน” กลุ่ม “Nurses Connect” ระบุ

 

เมื่อกล่าวถึงการ “นิรโทษกรรมสุดซอย” มาแล้ว

หลายคนอาจย้อนนึกไปถึงประเด็นร้อนทางการเมืองส่งท้ายปี 2556

เมื่อนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … ได้แปรญัตติเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ในมาตรา 3 จากเดิมที่ระบุว่า “ให้การกระทำที่สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เข้าข่ายนิรโทษกรรม”

กลายเป็น…

“ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมุนมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้การกระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”

ทำให้นายทักษิณกับพวกจะได้รับประโยชน์กันแบบ “เหมาเข่ง”

การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาดังกล่าว นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ต่อต้านการนิรโทษกรรมสุดซอย นำโดย กปปส.

อันเป็นการสร้างเงื่อนไขและปูทางสู่การรัฐประหาร 2557 และเราได้ผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากวันนั้นมาถึงวันนี้

เรายังไม่รู้ว่า การนิโทษกรรมกรณีโควิด แบบสุด “ไซริงค์” คราวนี้ จะถูกต่อต้านซ้ำรอยหนักเหมือนกับการนิรโทษกรรมสุดซอยครั้งนั้นหรือไม่

แต่ก็ไม่อยากให้ใครหรือรัฐบาลไหน เกิดบทเรียนซ้ำรอย

ซึ่งก็ดูรัฐบาลสัมผัส “ความร้อนระอุ” นี้อยู่ตามสมควร

มีการนำเรื่องเข้าไปถกในคณะรัฐมนตรีเมื่อ 10 สิงหาคม

และมีทีท่าจะถอดชนวน โดยนายวิษณุ เครืองาม ระบุว่า พ.ร.ก.นี้อาจไม่มีเหตุผลทางการเมืองที่จำเป็นต้องออกมา

ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดี

หากยังเดินหน้านิรโทษสุดไซริงค์ อาจเผชิญสถานการณ์ มาโดยนิรโทษ และจะไปโดยนิรโทษก็ได้!?!?