การเมืองยุคหลังประยุทธ์! เมื่อรัฐบาลสลายไปในใจคน/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

การเมืองยุคหลังประยุทธ์!

เมื่อรัฐบาลสลายไปในใจคน

 

“รัฐบาลที่อ่อนแอเป็นความโชคร้ายของประเทศ”

จากหนังสือความคิดด้านการทหารของนายพลมอลเค้ (นักการทหารชาวเยอรมัน)

 

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกำลังเป็นคำถามสำคัญในสังคมไทยปัจจุบัน เพราะหากประเมินสถานการณ์ทางการเมืองอย่างรอบด้านแล้ว เราคงต้องยอมรับว่าการเมืองไทยเดินมาถึง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญ

ความหวังของกลุ่มอำนาจเก่าและผู้นำทหารที่มีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลว่า พวกเขาสามารถ “ดำรงสถานะเดิม” ไว้ได้ และผู้นำทหารจะคงอยู่ต่อไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่หากมองในอีกด้านหนึ่ง จะเห็นได้ว่าแรงต่อต้านรัฐบาลขยายตัวออกไปในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ขณะเดียวกันแรงกดดันต่อรัฐบาลอันเป็นผลของ “อภิมหาวิกฤต” ที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และก่อปัญหาที่นำไปสู่ผลสืบเนื่องทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหนักหน่วง จน “วิกฤตโควิด” กลายเป็น “วิกฤตการเมือง” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลกระทบที่เกิดมีนัยสำคัญต่ออนาคตของรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นบททดสอบประสิทธิภาพสำหรับรัฐบาล

และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดอนาคตรัฐบาลด้วย

 

สงครามสี่แนวรบ

ในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิด “ข่าวลือ” ล้นทะลักในสังคมไทยถึงสถานะที่ไม่มั่นคงของรัฐบาล

แต่รัฐบาลตอบโต้ว่า ข่าวลือถึงการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องไม่จริง

และยังย้ำอย่างมั่นใจว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปอีกหนึ่งปีครึ่ง โดยจะไม่มีการลาออกหรือการยุบสภา เพราะการระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่เหมาะสมแก่การหาเสียง อีกทั้งเสนอขายความมั่นใจให้แก่กลุ่มผู้สนับสนุนว่า “พล.อ.ประยุทธ์มีความเป็นชายชาติทหารสูงมาก ไม่ใช่คนที่จะยอมทิ้งประเทศ และทิ้งประชาชนให้เผชิญกับปัญหาลำพังแล้วเอาตัวรอดคนเดียว…” (ดูเพิ่มเติมใน “ดับข่าวลือ! บิ๊กตู่อยู่ยาวอีกปีครึ่ง ไม่มีนายกฯ พระราชทาน” ในข่าวสดออนไลน์, 26 กรกฎาคม 2564)

แม้จะมีเสียงยืนยันอย่างหนักแน่นว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อไป “อีกปีครึ่ง” แต่ก็มีคำถามตามมาทันทีว่า รัฐบาลที่อ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพในสายตาประชาชนนั้น จะสามารถอยู่นานต่อไปอีกถึงปีครึ่งได้จริงหรือ?

เพราะเราอาจจะเห็นในอีกด้านว่า รัฐบาลมีอาการ “ง่อนแง่น” จากปัญหาการ “บริหารจัดการวิกฤตโควิด-19” ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคม จนเป็นภาพสะท้อนถึงการต่อต้านรัฐบาลที่กำลังขยับตัวเป็นกระแสสูงในการเมืองไทย

และเป็นสัญญาณว่า “แนวร่วมประยุทธ์” กำลังลดจำนวนลง

อันส่งผลให้รัฐบาลตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลของสังคมไทย

หากเปรียบเทียบกับวิชาทหารแล้ว สถานการณ์ปัจจุบันเป็นภาวะ “สงคราม” ในอีกแบบหนึ่ง จึงทำให้เกิดคำถามว่า ผู้นำทหารได้คิดเตรียมแผนในการทำสงครามครั้งนี้เพียงใด และเตรียมที่จะถอนตัวออกจากสงครามครั้งนี้อย่างไร

เพราะหลักการพื้นฐานของนักการทหารก็คือ จะต้องพิจารณาถึงสถานการณ์การยุทธ์ที่จะเกิด และจัดเตรียมแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร

และในสุดท้าย ถ้าเกิดการเพลี่ยงพล้ำแล้ว จะถอนตัวออกจากสนามรบอย่างไร

นักการทหารอาจจะเรียนหลักวิชาทหารทั้งหลายจากโรงเรียนเสนาธิการ หรือจากวิทยาลัยการทัพ

แต่เมื่อผู้นำทหารตัดสินใจที่จะมีบทบาทในทางการเมืองแล้ว สงครามที่พวกเขาต้องเผชิญมีความแตกต่างจากสงครามที่ถูกสอนในโรงเรียนทหารอย่างมาก

ดังจะเห็นได้ว่าในการสงครามครั้งนี้ ผู้นำทหารที่เป็นรัฐบาลกำลังเผชิญกับสงคราม 4 แนวรบหลัก

ได้แก่ แนวรบด้านสาธารณสุข (ปัญหาโรคระบาด) แนวรบด้านเศรษฐกิจ (ปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจ) แนวรบด้านการเมือง (ปัญหาการต่อต้านจากประชาชน) แนวรบด้านสังคม (ปัญหาการตกงานและความยากจน)

คงไม่ผิดนักที่จะต้องกล่าวสรุปสั้นๆ สำหรับผู้นำทหารว่า “การสงครามครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก”

และแนวรบทั้งสี่ท้าทายต่อขีดความสามารถของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างการขยายตัวของแนวรบทางการเมือง ที่รัฐบาลกำลังเผชิญกับ “สงครามการเมือง” อันเป็นผลจากความล้มเหลวของการบริหารจัดการวิกฤตโควิด อันส่งผลโดยตรงต่อความชอบธรรมของรัฐบาล เพราะผู้นำรัฐบาลกำลังตกเป็นเป้าหมายของ “ความเกลียดชัง” ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างน่ากังวล

หากเปรียบเทียบกับการต่อต้านผู้นำทหารที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลในอดีตแล้ว จะเห็นถึงกระแสต้านในปัจจุบันที่รุนแรงในเชิง “อารมณ์ความรู้สึก” ทางการเมืองอย่างมาก

ซึ่งในทฤษฎีทางรัฐศาสตร์แล้ว อารมณ์ทางการเมืองเช่นนี้เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

เพราะการก่อตัวของ “ความเกลียดชัง” ทางการเมือง สามารถนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองในอนาคตได้ แม้ฝ่ายทหารจะเชื่อว่าพวกเขาสามารถใช้โรคระบาดเป็นเครื่องมือของการควบคุมสภาวะเช่นนั้นได้

 

บทประเมินสงคราม

อย่างไรก็ตาม สงครามการเมืองและสงครามการทหารในมุมมองของผู้นำทหารอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่หลักการพื้นฐานของการสงครามไม่ได้แตกต่าง และการคิดเพื่อเตรียมแผนยุทธการนั้น

สิ่งแรกที่เป็นความต้องการในเบื้องต้นคือ การประเมินสถานการณ์เพื่อที่จะต้องตอบคำถามสำคัญว่า “จะรบต่อ” หรือ “จะถอยออก”…

นักการทหารจะต้องตอบคำถามเช่นนี้ให้ได้ มิฉะนั้นแล้วการทำสงครามจะเป็นหายนะในตัวเอง ผู้นำทหารจะต้องตระหนักเสมอว่า สถานการณ์เช่นไรที่เขาควรจะดำเนินการรบต่อไป หรือในสถานการณ์ใดที่เขาควรจะถอนตัวออกจากสนามรบ ก่อนที่ตัวเขาและกำลังรบของเขาจะถูกทำลายทิ้งอย่างย่อยยับ

ในสถานการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ก็เช่นกัน การที่ผู้นำทหารที่มีอำนาจในรัฐบาลประเมินสถานการณ์เพื่อที่จะ “อยู่ต่อ” หรือจะ “ถอยออก” จึงไม่ต่างจากการประเมินสงครามทางการทหาร หรืออาจกล่าวเป็นข้อพิจารณาสำหรับผู้นำรัฐบาลปัจจุบันได้ว่า รัฐบาลเหลือทางเลือกเพียง 2 ประการ คือ “จะรบต่อไป” หรือ “จะถอยออกไป”

แม้สงครามการเมืองและสงครามการทหารอาจจะไม่แตกต่างกัน แต่การต่อสู้ในทางการเมืองมีความซับซ้อนในตัวเองอีกแบบ และอนาคตทางการเมืองของรัฐบาลมีความละเอียดอ่อนอย่างมาก เนื่องจากการอยู่รอดของรัฐบาลขึ้นอยู่กับ “อารมณ์ทางการเมือง” ของประชาชนในสังคม

เพราะหากรัฐบาลปราศจากการสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่ และอยู่ท่ามกลาง “เสียงก่นด่าและคำสาปแช่ง” ของผู้คนในสังคมแล้ว โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่รอดได้ในทางการเมืองมีน้อยมาก

ฉะนั้น การละเลยและไม่เข้าใจ “อารมณ์ทางการเมืองของสังคม” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการสิ้นสุดของรัฐบาลเสมอ แม้ผู้นำรัฐบาลปัจจุบันอาจจะประเมินการเมืองว่า เขายังสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้ เพราะอาจจะคงพอเหลือฐานสนับสนุนบางส่วนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยสนับสนุนการยึดอำนาจของผู้นำทหาร

และกลุ่มการเมืองเหล่านี้มีส่วนอย่างสำคัญต่อการสร้าง “วาทกรรมขวาจัด” ในลักษณะของการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยและปฏิเสธกระบวนการทางรัฐสภา

แต่กลับเชื่อมั่นว่า รัฐประหารคือเครื่องมือของการแก้ปัญหาทางการเมือง

และเชื่อแบบไม่ตั้งข้อสงสัยเลยว่า ผู้นำทหารจะเป็น “อัศวินม้าขาว” ในการแก้วิกฤตชาติได้

แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ผู้นำทหารไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาของประเทศ ทั้งยังสร้างความล้มเหลวในด้านต่างๆ จนพาประเทศเข้าภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง

ตัวอย่างเช่น

1) วิกฤตโรคระบาด

2) วิกฤตวัคซีน

3) วิกฤตเตียงผู้ป่วย

4) วิกฤตผู้เสียชีวิต

5) วิกฤตความยากจน

6) วิกฤตแรงงาน

7) วิกฤตเศรษฐกิจ

8)วิกฤตชีวิตของคนในสังคม

เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังก่อตัวเป็น “วิกฤตสังคม” ขนาดใหญ่ ซึ่งหากจะมองในมุมความมั่นคงก็คือ การขยายตัวของ “มหาวิกฤตความมั่นคงของมนุษย์” ที่สังคมไทยปัจจุบันต้องเผชิญ และยังมองไม่เห็นว่าผู้นำทหารที่เป็นรัฐบาลจะเป็นผู้แก้วิกฤตนี้ได้อย่างไร

แต่กลับเห็นชัดเจนถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และในแต่ละคน เราเห็นคนเสียชีวิตข้างถนน… เสียชีวิตในที่พักอย่างน่าเวทนา

จนผู้คนในหลายภาคส่วนหลายอาชีพเริ่มเรียกร้องหารัฐบาลใหม่

และเสียงปฏิเสธผู้นำรัฐบาลดังไปทั่ว จนคำประกาศที่จะอยู่ต่อ “อีกปีครึ่ง” ได้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดแรงต้านมากขึ้น

เพราะคนไม่ต้องการอยู่กับการบริหารของรัฐบาลนี้แล้ว

ฉะนั้น คงต้องยอมรับว่าฐานเสียงที่สนับสนุนผู้นำทหารลดขนาดลงอย่างมาก

ซึ่งถ้าผู้นำทหารประเมินสถานการณ์จริง เขาคงต้องตระหนักว่าการเมืองกำลังถึงจุดเปลี่ยน และรัฐบาลอาจจะไปต่อไม่ได้

อีกทั้งความพยายามที่จะดำรงความเป็นรัฐบาลต่อไป อาจเป็นเพียงการ “ประวิงเวลา” ด้วยความหวังว่าจะเป็นโอกาสให้ผู้นำทหารสามารถทำการรบต่อไปได้อีก

ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้นำทหารคนนี้แพ้สงครามไปแล้ว…

ไม่มีใครเชื่อมั่นในการนำทัพของเขาแล้ว

แม้เขาจะออกมาประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อร้องหาเสียงสนับสนุนจากฐานเสียงเดิมว่า เขาจะอยู่ต่อไปเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ

ชุมนุมใหญ่ในไซเบอร์

 

วันนี้เสียงส่วนใหญ่ดังอย่างชัดเจนแล้วว่า ประชาชนไม่ต้องการรัฐบาลปัจจุบัน…

ไม่ต้องการทิศทางการบริหารประเทศแบบปัจจุบัน แต่อยากเห็นรัฐบาลใหม่ที่มีขีดความสามารถมากกว่าเข้ามาบริหารวิกฤตของประเทศไทย

และที่สำคัญประชาชนอยากเห็นทิศทางใหม่ในการจัดการวิกฤตของประเทศ เพราะที่ผ่านมาได้พิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลประสบความล้มเหลวอย่างมากในการบริหารจัดการวิกฤตโควิด จนไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน

เสียงเห็นต่างจึงเป็นสัญญาณของสังคมที่ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล

เสียงดังที่ปรากฏในโลกออนไลน์จาก “ประชามติไซเบอร์” วันนี้เห็นชัดว่ารัฐบาลปัจจุบันสิ้นสภาพไปจากความรู้สึกของประชาชน

จนกล่าวได้ว่ารัฐบาลนี้ล้มไปแล้วในใจประชาชน

แม้ผู้นำรัฐบาลปัจจุบันจะมั่นใจว่า พวกเขาจะอยู่ต่ออีก “ปีครึ่ง” แต่กระแสการเมืองที่แรงขึ้นท้าทายโดยตรงต่อความคาดหวังของผู้นำทหารที่จะรักษา “สถานะเดิม” การเมืองไทยวันนี้กำลังแสดงให้เห็นถึงสถานะของรัฐบาลที่ “ได้อำนาจ แต่ปกครองไม่ได้”

ดังนั้น การเดินทางสู่ “การเมืองยุคหลังประยุทธ์” กำลังเริ่มต้นขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว แม้เส้นทางนี้อาจจะมีอุปสรรคมากมายก็ตาม

แม้กระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาลดังขึ้นไม่หยุด

แต่ผู้นำทหารทุกคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี มักจะเชื่อเสมอว่า ฐานสนับสนุนในกองทัพและฐานในหมู่มวลชนที่นิยมทหารยังมีความเข้มแข็ง และทั้งเขายังถูก “ปิดล้อม” ด้านข่าวสาร ทำให้มองเห็นแต่อนาคตที่มีแต่ “กลีบกุหลาบ” โรยให้เขาเดินไปตลอดทาง

จนลืมคิดไปว่า ใต้กลีบกุหลาบนั้น ล้วนเต็มไปด้วย “ขวากหนาม” ที่รอเสียบแทงผู้นำทหารที่กำลังก้าวเดินไป…

ก้าวเดินไปโดยไม่ตระหนักรู้ถึงสถานการณ์จริง!