จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (14) ซ่งเหนือกับเส้นทางสู่จักรวรรดิ (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (14)

ซ่งเหนือกับเส้นทางสู่จักรวรรดิ (ต่อ)

 

เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ซ่งไท่จู่ก็ทรงสลายอำนาจกองทัพด้วยการจัดตั้งองค์กรทหารต่างๆ ขึ้นมาใหม่หลายหน่วย โดยสาระสำคัญของการสลายคือ บรรดาแม่ทัพนายกองที่นั่งอยู่ในตำแหน่งสำคัญจะเป็นนายทหารที่อายุยังไม่มาก มีประสบการณ์น้อยและบารมีไม่สูงเพื่อมิให้มีอำนาจมาก

ส่วนตำแหน่งคุมกำลังตามชายแดนและท้องถิ่น ได้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาถ่วงดุลการออกคำสั่งทางการทหาร

และด้วยเหตุนี้ เหตุการณ์ที่เริ่มจากงานเลี้ยงแล้วนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพครั้งนี้จึงถูกเรียกขานกันว่า “จอกสุราสลายอำนาจเสนา” (เปยจิ่วซื่อปิงเฉีว์ยน)

นับแต่นั้นมาอิทธิพลของข้าหลวงทหารจึงค่อยๆ สลายตัวไป

แม้จะเห็นได้ว่า การสลายอำนาจกองทัพของซ่งไท่จู่จะมากด้วยสีสันและความแยบยล แต่สิ่งที่พึงกล่าวด้วยก็คือว่า การสลายนี้เกิดขึ้นในขณะที่การตั้งตนเป็นใหญ่ของห้าราชวงศ์กับอีกสิบรัฐยังคงอยู่

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การสลายอำนาจกองทัพของซ่งไท่จู่ดำเนินควบคู่กันไปกับการทำศึกกับกลุ่มอำนาจต่างๆ จึงมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย หากเหล่าขุนศึกเกิดไม่พอใจแล้วเกิดกระด้างกระเดื่องขึ้นมา

เหตุดังนั้น การสลายอำนาจกองทัพที่จบลงด้วยดีจึงมิใช่เพราะโชคช่วยซ่งไท่จู่ หากแต่อยู่ที่ซ่งไท่จู่ทรงมีอำนาจและบารมีมากพอที่จะทำให้เหล่าขุนศึกยำเกรง อำนาจและบารมีที่มีที่มาจากครั้งหนึ่งพระองค์เคยเป็นข้าหลวงทหารมาก่อนนั้นเอง

 

ภายหลังจากการสลายอำนาจกองทัพผ่านไปแล้ว การพัฒนากองทัพก็ตามมา โดยช่วงต้นทศวรรษ 970 หลังการปฏิรูปผ่านไปแล้วนั้น กองกำลังส่วนพระองค์ของจักรพรรดิมีประมาณ 220,000 นาย พอสิ้นยุคซ่งไท่จู่มีประมาณ 378,000 นาย จำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการปราบผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ในยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐได้สำเร็จ

ครั้นถึงรัชกาลที่สองของซ่งก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 666,000 นาย และพอถึงรัชกาลที่สามก็เพิ่มเป็น 912,000 นาย จำนวนที่เพิ่มขึ้นในชั้นหลังเป็นเพราะราชวงศ์เริ่มมีเสถียรภาพแล้ว

เหตุดังนั้น ในยุคต้นของซ่งจึงสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการสร้างจักรวรรดิพอสมควร โดยเฉพาะการรวมแผ่นดินให้เป็นเอกภาพที่จะต้องใช้งบประมาณสูงในการทำศึก ซึ่งในระยะแรกที่ซ่งไท่จู่ขึ้นครองราชย์นั้นยังมีอีกหกรัฐที่ยังเป็นอิสระ

และการตั้งราชวงศ์เหลียวอันเกรียงไกรของคีตันก็กำลังคุกคามและท้าทาย

จากเหตุนี้ การรวมแผ่นดินของซ่งจึงมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ ดังจะเห็นได้จากราชดำรัสที่ซ่งไท่จู่ตรัสกับเจ้าควางอี้ผู้เป็นอนุชาว่า

“ในห้วงยามแห่งห้าราชวงศ์ มีปีศาจกระหายศึกทั่วแผ่นดินแลปัจจัยก็ว่างเปล่า จำเราพึงกำราบรัฐสู่ให้ได้เป็นปฐม แล้วจึ่งกำราบกว่างหนันแลเจียงหนัน มีแต่หนทางนี้ที่จักประกันการได้มาซึ่งปัจจัยแห่งชาวเรา”

 

หลังจากนั้นซ่งไท่จู่ก็กรีธาทัพเข้าปราบรัฐสู่และดินแดนทางใต้หรือกว่างหนัน กับดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือหรือเจียงหนันได้สำเร็จ การยึดครองดินแดนเหล่านี้ทำให้ซ่งสามารถเก็บภาษีจนมี “ปัจจัย” ที่เพียงพอแก่การรวมแผ่นดินให้เป็นเอกภาพ

การรวมแผ่นดินของซ่งไท่จู่ได้ใช้ยุทธศาสตร์ “ใต้ก่อนเหนือหลัง” (เซียนหนันโฮ่วเป่ย) ที่เจ้าผู่เสนอ โดยฮั่นใต้ที่ครองพื้นที่มณฑลกว่างตงและกว่างซีถูกรวมได้สำเร็จใน ค.ศ.971 ถังใต้ที่เจียงซูและเจียงซีใน ค.ศ.976 อู๋เยี่ว์ยที่เจ้อเจียงใน ค.ศ.978 และฮั่นเหนือที่ซันซีใน ค.ศ.979

เมื่อรวมทางใต้ได้แล้วซ่งก็เคลื่อนทัพไปรวมทางเหนือ แต่การศึกคราวนี้กลับต้องสะดุดหยุดลงเมื่อทัพเหลียวแห่งคีตันมาขวางเอาไว้ โดยเฉพาะในทศวรรษ 960 และต้นทศวรรษ 970 กว่าซ่งจะรวมได้สำเร็จเวลาก็ล่วงเข้าสู่ ค.ศ.979

ถึงตอนนั้นยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐก็สิ้นสุดลง

 

แต่ความสำเร็จนี้ก็ทำให้ทัพซ่งสูญเสียอย่างหนักเช่นกัน และเป็นช่วงหลังจากที่ซ่งไท่จู่สวรรคตไปแล้ว การรวมแผ่นดินของซ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับการรวมแผ่นดินของราชวงศ์ก่อนหน้านี้ ที่เห็นถึงความสำคัญของเอกภาพมากกว่าการแยกกันอยู่เป็นรัฐอิสระ

แต่ความปรารถนาในเอกภาพของซ่งใช่ว่ารัฐอื่นจะปรารถนาไปด้วยไม่ ดังกรณีตัวอย่างของถังใต้ นั่นคือ ก่อนที่จะถูกซ่งรวมเข้าด้วยกัน ถังใต้ได้ส่งทูตมาเจรจาให้ซ่งระงับศึกโดยอ้างว่า อย่างไรเสียถังใต้ก็เป็นรัฐบรรณาการที่ยอมขึ้นต่อซ่งอยู่แล้ว มิควรที่จะทำศึกให้เกิดความสูญเสีย

แต่ซ่งไท่จู่ทรงตอบกลับไปว่า “แท่นบรรทมแห่งเราจักให้ผู้อื่นมาส่งเสียงกรนกระไรได้”

ความหมายคือ แม้ถังใต้จะขึ้นต่อซ่งก็จริง แต่การอยู่ร่วมกันเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับถังใต้นอนเตียงเดียวกับซ่ง แล้วส่งเสียงกรนรบกวนซ่งจนไม่เป็นสุข มิสู้ทำให้ถังใต้สลายตัวรวมเข้ากับซ่งแล้วจักทำให้การนอนของซ่งสนิทขึ้น

อย่างไรก็ตาม การสิ้นพระชนม์ของซ่งไท่จู่เป็นไปอย่างกะทันหัน โดยพระองค์ทรงล้มป่วยในเดือนตุลาคม ค.ศ.976 แล้วในคืนหนึ่งที่หิมะตกหนัก ซ่งไท่จู่ทรงเรียกให้เจ้าควางอี้มาเฝ้าถึงห้องบรรทม เพื่อจะสนทนาเรื่องการสืบทอดราชบัลลังก์ แต่ไม่มีใครได้ยินรายละเอียดของการสนทนา

รู้เพียงว่า คืนนั้นสองพี่น้องได้ดื่มสุรากันท่ามกลางแสงเทียน มหาดเล็กได้ยินซ่งไท่จู่ทรงนำขวานมาสับกองหิมะแล้วตรัสว่า “เราจัดการเรื่องราวได้เรียบร้อย” ซ้ำกันหลายครั้งแล้วก็เข้าบรรทม ส่วนเจ้าควางอี้ทรงอยู่ร่วมในห้องบรรทมนั้นด้วย

เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าควางอี้ตื่นขึ้นแล้วเร่งรีบออกจากห้องบรรทมพร้อมกับแจ้งมหาดเล็กว่า ซ่งไท่จู่ได้สิ้นพระชนม์แล้ว การสิ้นพระชนม์ของซ่งไท่จู่นี้มีเงื่อนงำที่ชวนให้สงสัย แต่โดยทั่วไปแล้วมักวิเคราะห์กันว่าพระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยเจ้าควางอี้

 

ที่วิเคราะห์กันเช่นนั้นก็ด้วยเหตุที่ว่า ก่อนหน้านั้นซ่งไท่จู่ทรงให้สัญญากับราชชนนีที่ใกล้จะสิ้นพระชนม์ ว่าจะให้อนุชาเจ้าควางอี้เป็นจักรพรรดิแทนที่จะเป็นโอรส ซึ่งมีอยู่สององค์ที่ต่างอยู่ในวัยที่เป็นผู้ใหญ่และมีความชอบธรรมที่จะเป็นจักรพรรดิ

ที่ราชชนนีเสนอเช่นนี้ก็ด้วยเกรงว่า หากให้โอรสเป็นจักรพรรดิสืบแทนแล้วราชวงศ์จะตกอยู่อันตราย เพราะเจ้าควางอี้มีบทบาทสูงในการสนับสนุนให้ซ่งไท่จู่ได้เป็นจักรพรรดิ และกำลังมีอิทธิพลสูงในราชสำนัก จักไม่พอใจจนอาจเข้าแย่งชิงอำนาจเอาได้ ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อชะตากรรมของโอรสเอง

จากคำมั่นสัญญานี้นำไปสู่ข้อสงสัยตรงที่ว่า อะไรคือสิ่งที่พี่น้องสองคนสนทนากันในค่ำคืนที่หิมะตกหนัก รู้เพียงว่า หลังจากที่เจ้าควางอี้ได้เป็นจักรพรรดิแล้ว โอรสทั้งสององค์ก็มิได้มีพระชนม์ไปจนชรา โดยโอรสองค์โตได้ตัดลิ้นของพระองค์ใน ค.ศ.979 หลังจากนั้นโอรสองค์ที่สองก็สิ้นพระชนม์โดยไม่รู้สาเหตุ

คำมั่นสัญญาเรื่องราชบัลลังก์และจุดจบของโอรสทั้งสองนี้ทำให้เห็นว่า ข้อวิเคราะห์ที่กล่าวมาน่าจะมีมูลอยู่ไม่น้อย

 

อย่างไรก็ตาม การสิ้นพระชนม์ของซ่งไท่จู่นับเป็นเหตุการณ์ที่มีสีสันไม่น้อย มรณกรรมที่มีเงื่อนงำทำให้ในชั้นหลังเรียกเหตุการณ์นั้นว่า “เสียงขวานใต้เงาเทียน” (ฝู่เซิงจู๋อิ่ง)*

โดยนักวิจารณ์ในสมัยราชวงศ์หมิงได้เสนอประเด็นสนับสนุนสองประการว่า การสิ้นพระชนม์ของซ่งไท่จู่น่าจะมาจากการฆาตกรรมด้วยเหตุผลที่ว่า

หนึ่ง เป็นความใจร้อนใจเร็วของซ่งไท่จงในอันที่จะก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ

และสอง ชื่อรัชสมัยของซ่งไท่จงคือ ไท่ผิงซิ่งกว๋อ อันหมายถึง ผู้ครองรัฐอันสงบยิ่ง (Ascendent State in Grand Tranquility) นั้นได้บอกเป็นนัยว่า เจ้าควางอี้อยู่เหนือซ่งไท่จู่

ยิ่งไปกว่านั้นนักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยต่างก็เชื่อกันว่า ความรุนแรงในวังหลวงครั้งนั้นน่าจะมาจากการแวะเยี่ยมซ่งไท่จู่ของเจ้าควางอี้นั้นเอง ซึ่งแม้จะเชื่อเช่นนั้น แต่ก็ยังคงมิอาจลบเงื่อนงำการสิ้นพระชนม์ของซ่งไท่จู่ได้อยู่ดี

เจ้าควางอี้สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิซ่งไท่จง (ครองราชย์ ค.ศ.976-997) ด้วยเหตุที่ทรงมีบทบาทเคียงคู่กับซ่งไท่จู่ตั้งแต่ที่ยังมิได้ตั้งราชวงศ์ ซ่งไท่จงจึงมีทัศนะทางการเมืองที่ไม่ต่างไปจากซ่งไท่จู่มากนัก

จากเหตุนี้ ซ่งไท่จงจึงยังคงสืบทอดเจตนารมณ์ในการรวมแผ่นดินและการปฏิรูปของซ่งไท่จู่ต่อไป

โดยหลังสิ้นรัชสมัยของพระองค์ไปแล้ว จักรพรรดิองค์ต่อๆ มาแม้ยังคงสืบสานเจตนารมณ์ดังกล่าวก็จริง แต่สิ่งที่ต้องประสบควบคู่กันไปด้วยก็คือ การเผชิญหน้ากับชนชาติอื่นที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับซ่งตลอดราชวงศ์

เป็นศัตรูที่มีฐานะแตกต่างไปจากเมื่อคราวสมัยห้าราชวงศ์สิบรัฐ

*คำเรียกนี้ต่อมาได้กลายเป็นชื่อของนิทานพื้นบ้านจีนที่บอกเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งแม้ในความจริงจะเป็นเหตุการณ์ที่ยังคงมีเงื่อนงำมาถึงปัจจุบัน แต่นิทานก็บอกเล่าตรงๆ ว่าเจ้าควางอี้เป็นผู้ปลงพระชนม์ซ่งไท่จู่