ไกลบ้าน สัญลักษณ์แห่งการพลัดถิ่นฐาน ของผู้ลี้ภัยการเมืองไทย : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมากๆ อีกงานหนึ่ง ก็เลยหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า ไกลบ้าน หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Far from home

ที่จัดแสดงผลงานศิลปะของ ปพนศักดิ์ ละออ ศิลปินอิสระชาวนนทบุรี ผู้พำนักและทำงานอยู่ที่เชียงใหม่

นอกจากเป็นศิลปินอิสระแล้ว ปพนศักดิ์ยังทำงานในฐานะ Artist Assistant หรือผู้ช่วยทำงานศิลปะให้กับศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, ทัศนัย เศรษฐเสรี, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, มิตร ใจอินทร์ และ อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ

นอกจากนั้น เขายังดำรงตำแหน่งรองประธานมูลนิธิที่นา (The Land Foundation) ที่ก่อตั้งโดยศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลกอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และ คามิน เลิศชัยประเสริฐ อีกด้วย

ผลงานในนิทรรศการ “ไกลบ้าน” ประกอบด้วยภาพวาดทิวทัศน์ของภูเขาจากสถานที่ต่างๆ ที่วาดออกมาในสไตล์เหมือนจริง (Realistic) จำนวน 29 ภาพ

โดยมีชื่อประเทศที่ตั้งของภูเขาเหล่านั้นกำกับเอาไว้ใต้ภาพ อาทิ ออสเตรเลีย อเมริกา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส สวีเดน นิวซีแลนด์ ฯลฯ

หากมองอย่างผิวเผิน ภาพวาดเหล่านี้ดูละม้ายคล้ายคลึงกับโปสการ์ดที่ระลึกของสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติในประเทศต่างๆ ที่ดูสวยงามสบายตา ดูแล้วเพลิดเพลินเจริญใจ

แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาพวาดชุดนี้แฝงเร้นความหมายอันเข้มข้นเกี่ยวกับประเด็นของผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

แล้วภูเขา กับ ผู้ลี้ภัย มันเกี่ยวข้องกันยังไง?

ลองไปฟังจากปากของศิลปินผู้นี้ดูกัน

“ผลงานชุดนี้เริ่มต้นมาจากการที่ผมได้อ่าน บันทึกผู้ลี้ภัย* ที่ถูกนำเสนอในโซเชียลมีเดีย เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน ปี 2016 การอ่านบันทึกนี้มันให้ความหมาย ความรู้สึก และให้แรงบันดาลใจหลาย ๆ อย่างต่อการทำงานของผมชุดนี้

โดยชื่อนิทรรศการชุดนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวบันทึกนี้ด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งของบันทึกมันมีประโยคหนึ่งที่กล่าวว่า “ต้องมาอยู่ไกลบ้านขนาดนี้… และมีความเป็นไปได้ว่าชีวิตนี้อาจจะไม่ได้กลับไปอีกเลยก็ได้”

ซึ่งคำว่า “ไกลบ้าน” มันก็เป็นแรงบันดาลใจของเรา ที่ทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นึกถึงสิ่งที่ดำเนินต่อเนื่องมาในระยะเวลานานพอสมควรในเมืองไทย โดยเฉพาะเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมนี้

ตัวบันทึกผู้ลี้ภัยเอง มันให้ความหมายเราในการตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์ ว่าเราจะอยู่ร่วมกันยังไงในสังคมสมัยใหม่

ตัวงานที่เป็นภาพวาดทิวทัศน์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งอ้างอิงจากบันทึกผู้ลี้ภัย ซึ่งตัวบันทึกนี้ทำให้เราเริ่มจะนึกถึงผู้ลี้ภัยท่านอื่นๆ ที่ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ซึ่งตรงนี้ผมได้ทำการศึกษาข้อมูลด้วยการเข้าไปดูรายละเอียดว่ามีจำนวนผู้ลี้ภัยจำนวนกี่คน

เท่าที่ปรากฏก็คือ มีผู้ลี้ภัยทั้งหมด 29 คนที่ได้รับการรับรองจากประเทศที่ลี้ภัยทั้งหมด 13 ประเทศ

แต่ก็ทราบมาด้วยว่า จริงๆ แล้วมันยังมีผู้ที่ลี้ภัยออกไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการรับรอง และไม่ได้รับการเผยแพร่ข้อมูลอีกประมาณ 100-300 คน

ภาพภูเขามาจากตัวบันทึกของผู้ลี้ภัย ที่มีการโพสต์รูปประกอบ ซึ่งรูปนั้นถูกถ่ายในระหว่างการเดินทางของผู้ลี้ภัยคนที่ว่า มันเป็นรูปของทิวทัศน์ภูเขารอบข้างที่เขาเห็นระหว่างเดินทางออกจากประเทศไทย ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันเป็นที่ไหน

แต่ในทุกครั้ง เวลาที่ผมเปิดอ่านบันทึกผู้ลี้ภัย ภาพเหล่านี้มันทำให้ผมนึกถึงภูเขาและชีวิตของผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ไปโดยอัตโนมัติ

มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมวาดภาพเหล่านี้ คือผมก็นึกภาพไม่ออกหรอกว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ มันเป็นยังไง

แต่อย่างน้อยๆ ชื่อของสถานที่ที่รับรองการลี้ภัยของพวกเขา ภาพทิวทัศน์ของภูเขาเหล่านี้เป็นเหมือนตัวแทนของการเดินทางอันยากลำบากของพวกเขา”

นอกจากภาพวาดทิวทัศน์ภูเขาจากภูมิทัศน์ซึ่งแทนสัญลักษณ์ของผู้ลี้ภัยทั้งหลายแล้ว ในนิทรรศการยังมีภาพเหมือนบุคคลผู้หนึ่ง ที่เราดูแล้วคลับคล้ายคลับคลาว่าจะรู้จัก แต่ก็นึกไม่ออกว่าเป็นใคร จะว่าเป็นภาพเหมือนของศิลปินก็ไม่น่าจะใช่

อันที่จริงภาพวาดภาพนี้มีชื่อว่า “Them” (พวกเขา) ซึ่งเป็นภาพใบหน้าของผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวน 29 คน ที่ถูกนำมาวาดซ้อนทับกันให้เป็นภาพเดียวต่างหาก!

“ภาพเหมือนภาพนี้เป็นภาพที่เกิดจากการซ้อนทับใบหน้าของผู้ลี้ภัยทั้ง 29 คน

แต่การนำเสนอภาพบุคคลทั้ง 29 โดยตรงนั้น อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อการรับรู้ต่อพวกเขาในระดับหนึ่ง และอาจทำให้ภาพเหมือนเหล่านี้ไม่อาจจะบรรลุต่อการรับรู้ถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้อย่างเต็มที่

เนื่องจากเรื่องราวของผู้ลี้ภัยทั้ง 29 คนเหล่านี้ ได้ถูกนำเสนอผ่านพื้นที่สาธารณะอย่างกว้างขวาง

และเรื่องราวข่าวสารที่ถูกสร้างขึ้นและเผยแพร่อย่างกว้างขวางนี้เอง ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้รับข่าวสารบางส่วนเกิดการต่อต้านและไม่ยอมรับความเป็นมนุษย์หรือความเป็นคนของพวกเขา

จึงกลายเป็นที่มาของการทำการซ้อนทับใบหน้าของผู้ลี้ภัยทั้ง 29 คน ผ่านโปรแกรมรวมใบหน้า เพื่อรักษาเค้าโครงบางอย่างของแต่ละใบหน้าและความเป็นปัจเจกชนของผู้ลี้ภัยทั้งหมดให้กลายเป็นคนคนเดียวที่เป็นอื่น

เพื่อกระตุ้นให้เรารู้สึกและทำความเข้าใจต่อความเป็นมนุษย์ของคนอื่นๆ ที่อาจจะประสบกับสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน

ภาพใบหน้าที่ปรากฏในรูปนี้ เป็นการวาดขึ้นมาในแต่ละช่วงเวลาของการปรากฏขึ้นของข้อมูลของผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในนิทรรศการนี้เป็นเพียงภาพรวมของใบหน้าคน 29 คน แต่ถ้าหากวันข้างหน้า มีข้อมูลของผู้ลี้ภัยปรากฏเพิ่มเติมขึ้นอีก ใบหน้าก็จะถูกเขียนเพิ่มเติมเป็นภาพใหม่ๆ เรื่อยไป”

ซึ่งปพนศักดิ์ได้เตรียมเฟรมผ้าใบเปล่าวางไว้ในหอศิลป์จำนวนหนึ่งสำหรับวาดภาพ (ภูเขาและใบหน้า) เพิ่มขึ้นอีก ในกรณีที่มีผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้

นอกจากภาพวาดของภูเขาและใบหน้าคน ผลงานอย่างสุดท้ายในนิทรรศการนี้คือ ผลงานศิลปะที่ทำขึ้นในรูปแบบของหนังสือเล่มหนาที่มีชื่อว่า “ไกลบ้าน” ซึ่งทำขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีชื่อว่า “ไกลบ้าน” นั่นเอง

“หนังสือไกลบ้าน เป็นหนังสือที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมภาพทิวทัศน์และภาพเหมือนบุคคลที่ผมวาดขึ้น เพื่อนำมาสร้างเรื่องราวควบคู่กับเนื้อหาบางประโยคที่หยิบยกมาจากบันทึกผู้ลี้ภัย ตัวรูปเล่ม อ้างอิงจากพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ฉบับที่รวบรวมเนื้อหาและรูปภาพประกอบเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ.2450 ทั้งขนาดของรูปเล่มและจำนวนหน้า

เพียงแต่ไม่ได้นำเนื้อหาของพระราชนิพนธ์มาใช้ แต่เรานำเอาคำอธิบายภาพรวมและเนื้อหาของงานนิทรรศการไปแทนที่ในส่วนของคำนำ และรูปของภาพวาดที่แสดงในงานก็เอามาแทนที่รูปภาพประกอบตามหน้าจริงของพระราชนิพนธ์ทั้งหมด เพียงแต่หนังสือไกลบ้านเล่มนี้ เป็นการนำเสนอเรื่องราวไกลบ้านในแบบของคนธรรมดา คนทั่วๆ ไปอย่างเราๆ นี่แหละ”

หนังสือไกลบ้านที่ว่านี้ ถูกพิมพ์ออกมาในจำนวน 30 เล่ม และจำหน่ายในราคาเล่มละ 5,000 บาท โดยรายได้จากการจัดจำหน่าย (หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว) จะมอบให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนในโอกาสต่อไป

“ประเด็นหลักของนิทรรศการครั้งนี้คือความตั้งใจของผมที่อยากจะเชื่อมเรื่องราวของเราในฐานะคนที่อยู่ที่นี่กับผู้ลี้ภัยท่านอื่นๆ บนฐานความคิดของนักวิชาการท่านหนึ่งที่พูดถึงการเคารพความเป็นคน และหลักการในการอยู่ร่วมกัน ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค คือในความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่

เราอาจจะไม่ชื่นชอบการแสดงออกหรือทัศนคติของผู้ลี้ภัยเหล่านั้น แต่ด้วยหลักการที่ว่า เราก็ไม่มีสิทธิที่จะไปผลักไสหรือขับไล่ใครให้ออกไปอยู่ที่อื่น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้จากโลกวิชาการที่เกิดขึ้นมาในช่วงระหว่างความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

จริงๆ แล้วตัวภาพวาดทั้งหมดอ้างอิงมาจากภาพประกอบที่เราเคยเห็นในหนังสือไกลบ้านที่เราเคยอ่านในอดีต เวลาที่ผมอ่านหนังสือไกลบ้านแล้วเราเห็นภาพประกอบ มันก็ทำให้เราจินตนาการถึงสถานที่ต่างๆ ว่ามันมีเรื่องราว เหตุการณ์ ความเคลื่อนไหวอะไรอยู่ในนั้น

และภาพวาดของผมเหล่านี้ก็เป็นภาพที่ถูกนำไปใช้ทำหนังสือไกลบ้านของผม ที่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการนี้ด้วย เพื่อที่จะเชื่อมโยงเราและเขา (ผู้ลี้ภัย) เข้าด้วยกัน”

นิทรรศการไกลบ้าน เป็นการสร้างการ “เดินทาง” เพื่อเชื่อมการเดินทาง “ไกลบ้าน” ไปยังเรื่องราวต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน ระหว่าง ไกลบ้าน ในอดีต และ ไกลบ้าน ในปัจจุบัน เชื่อมการเดินทางของผู้คนที่อยู่ที่นี่ และคนที่อยู่ที่อื่นที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ไกลบ้าน ให้เขายังมีตัวตน ไม่เลือนหายไปท่ามกลางทัศนคติที่มีต่อพวกเขา ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม

ผลงานศิลปะในนิทรรศการนี้ต้องการเชื่อมชีวิตของผู้คนที่ทั้งอยู่ในบ้านและไกลบ้านให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันอีกครั้ง เชื่อมการเดินทางผ่านการนำเสนอผลงานในนิทรรศการ ด้วยการตั้งคำถามให้พิจารณา ทบทวนทัศนคติในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมปัจจุบันหรือโลกสมัยใหม่ของเราทุกคน อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน

ใครอยากชมผลงานศิลปะที่เปี่ยมด้วยสุนทรียะและความงดงาม อีกทั้งยังแฝงความหมายและแง่คิดในเชิงสังคมและการเมืองได้อย่างลึกซึ้ง แหลมคม และทรงพลัง ก็ไปเสาะหาชมกันได้ในนิทรรศการไกลบ้าน (Far from home) ที่หอศิลป์ ARTIST+RUN ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน – 5 สิงหาคม 2017

อ้อ ก่อนจะเข้าชมก็ติดต่อสอบถามกันได้ที่ @artistrungallery2016 หรือเบอร์โทรศัพท์ 09-9454-5955 เสียก่อน จะได้ไม่ไปเก้อน่ะครับ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากหอศิลป์ ARTIST+RUN

*บันทึกผู้ลี้ภัย เป็นบันทึกที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยสมศักดิ์ โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ เล่าถึงการเดินทางออกจากประเทศไทย ที่ต้องผ่านป่าเขาเป็นเวลา 6 ชั่วโมง