สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร/ไฟต์เตอร์

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————-

ไฟต์เตอร์

————————–

ด้วยสองมือและสองเท้า รวมถึงวิญญาณไฟต์เตอร์-นักสู้

ทำให้ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2020 “โตเกียวเกมส์” มา ยาใจคนไทยทั้งประเทศ

ช่วยฟื้นฟู”จิตตก”รุนแรงของชาวบ้าน ได้ไปอักโข

อยากให้วัคซีนความสุข จากน้องเทนนิส เป็นภูมิคุ้มใจ นาน-นาน

แต่ดูเหมือนว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ดังกล่าวจะลดลงอย่างรวดเร็ว

เพราะสถานการณ์ โควิด-19เลวร้ายขึ้นทุกที

เขียนอย่างนี้ ไม่รู้จะเข้าข่าย “ทำให้แพร่หลายซึ่งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือไม่

ซึ่งก็เขียนไปอย่างนั้นเอง

เพราะหากเขียนแค่นี้แล้วผิด ก็ออกระเบียบห้ามพูด ห้ามเขียน ห้ามอ่าน เสียเลย

พูดแล้ว คิดถึง “ท่าเตะ”ของน้องเทนนิส ขึ้นมาตะหงิดๆ

เพราะว่าไปแล้ว มันชวนให้หงุดหงิดใจ กลับพวกอยากบู๊ แต่ไม่ควรบู๊

อย่าง กระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)หน้าที่และความรับผิดชอบไม่ควรจะเป็นพวกไฟต์เตอร์

ควรจะเป็นกระทรวงหรือองค์กรอิสระ ที่เน้นสร้างสรรค์ สนับสนุน ก้าวรุดไปกับความก้าวหน้าของเทคโลยี่อันทันสมัย

มิใช่อยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน แบบย้อนยุคแค่แมวไล่จับหนู

หรือไล่จับ ไล่ปิด ไล่เซ็นเซอร์ สื่อในทุกรูปแบบ อย่างที่ทำตอนนี้

การเสียทรัพยากรเงิน บุคลกร และอื่นๆ อย่างการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจัดการ แก้ไขปัญหา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยครอบคลุมด้านการปกครอง ภาษี และสังคม นั้น

ถูกมองว่าเป็นเพียงความพยายามสร้าง ยักษ์ ขึ้นมาขู่ ให้กลัว

และที่ผ่านมา การตั้งคณะทำงานทั้งหลายเพื่อควบคุมข่าวสาร ได้ผล หรือมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ก็รู้คำตอบกันอยู่

คือนอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังถูกมองว่าล้าหลัง และจมอยู่กับ “อำนาจนิยม” เป็นคุณพ่อรู้ดี ไม่ก้าวหน้าหรือล้ำยุคไปไหน

และที่สำคัญ ใน มหาวิกฤตโควิดครั้งนี้ หัวใจของทั้งสองหน่วยงานจะมีแค่การไล่จับข่าวปลอม ข่าวเท็จเท่านั้นหรือ

ทั้งที่ มีงานทางด้านเทคโนโลยี่ข่าวสารที่จะช่วยชาวบ้านได้มาก แต่ไม่ทำ

แถมยังถูกมอง รังแกชาวบ้านที่เดือดร้อนเสียอีก

อย่างกรณีการออกมาโวยวายของ คนระดับสูงที่ชื่นชมรัฐบาล กรณี “สายด่วน”ต่างๆที่เก็บเงินชาวบ้านเป็นรายนาที เดือดร้อนเรื่องป่วยไข้แล้วยังต้องมาเสียเงินอย่างที่ไม่ควรเสีย

พอเรื่องแดงขึ้นมา ก็พบว่าเป็นเพียงความบกพร่องทางการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน ที่แก้ง่ายๆแต่ชาวบ้านเสียค่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่แล้วไม่รู้

และตอนนี้ ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน จนต้องหันมารักษาตัวที่บ้าน เพราะโรงพยาบาลล้นแล้วล้นอีก รับมือไม่ไหว

ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ยินดีที่จะใช้บ้านเป็นที่รักษา

แต่ระบบการสื่อสาร เทคโนโลยี่ที่จะทำให้ผู้ติดชื้อสามารถติดต่อกับหมอ พยาบาลหรืออาสามัครได้โดยสะดวก รวดเร็ว ทันการณ์ เป็นสิ่งสำคัญมาก

กระทรวงดิจิทัลฯและกสทช. มีบทบาทตรงนี้แค่ไหน อย่างไร

นี่คืองานเชิงบวกที่ทำได้และต้องรีบทำ

แต่เราไม่เห็น นอกจากเล่นบทไฟต์เตอร์ บู๊กับข่าวปลอม ข่าวปล่อย ข่าวลวง

ที่ไม่รู้ว่าจะเอาชนะได้หรือเปล่าเท่านั้น