คู่มือพลเมือง : การปลดแอกราษฎรสู่พลเมืองแบบประชาธิปไตย/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

คู่มือพลเมือง

: การปลดแอกราษฎรสู่พลเมืองแบบประชาธิปไตย

 

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว การสร้างสำนึกใหม่ให้กับพลเมืองแทนสำนึกแบบเก่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งสถาปนาขึ้น แม้นกรมโฆษณาการถูกตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 ในยุครัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ โดยดูแบบอย่างจากเยอรมนี แต่ยังมิได้ดำเนินการสำคัญใดในช่วงแรกเริ่ม

ต่อมาเกิดวิกฤตการณ์การเมืองขึ้นจากพระยามโนฯ และพวกพยายามหมุนระบอบกลับ ด้วยการงดใช้รัฐธรรมนูญ (เมษายน 2476) ปิดสภาผู้แทนราษฎร วางแผนปราบปรามคณะราษฎร จนนำไปสู่การรัฐประหารรัฐบาลนั้นลงโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา

กลุ่มอนุรักษนิยมจึงโต้กลับด้วยกำลังทางการทหารในเหตุการณ์กบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) ในนี้ กรมโฆษณาการมีบทบาทสำคัญในการช่วยปราบกบฏ รัฐบาลพระยาพหลฯ และจอมพล ป.จึงให้ความสำคัญกับกรมมากยิ่งขึ้น

โดยกรมมีบทบาทในการยกระดับความสำนึกราษฎรให้เป็นพลเมืองอีกด้วย

รถกระจายเสียงของกรมโฆษณาการที่ลานพระบรมรูปฯ ในวันปักหมุดคณะราษฎร 2479

“พลเมืองดี” แบบเก่า

ควรบันทึกด้วยว่า ในสมัยราชาธิปไตยนั้น ชนชั้นนำจารีตพยายามเปลี่ยนคนบ้านนอกและคนป่าให้เป็นราษฎรที่มีคุณลักษณะที่ชนชั้นนำพึงประสงค์นั้น

ดังเช่น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี นำเสนอหนังสือเรื่อง พลเมืองดี (2454) เพื่อบอกหนทางสู่การเป็นราษฎรที่ดีไว้

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของเด็กบ้านนอกในสมัยราชาธิปไตยที่ชื่อว่า “นายเถื่อน” ต่อมาเขาเข้ามาศึกษาในเมือง ทำให้เขาได้เรียนรู้คุณสมบัติที่เรียกกันว่า “พลเมืองดี” ในสมัยราชาธิปไตยที่หมายถึง การรู้จักปรับตัวและเรียนรู้สมบัติผู้ดี รู้จักที่ต่ำที่สูง ตลอดจนความจงรักภักดีต่อกษัตริย์

หากใครทำได้เช่นนี้ในหนังสือเล่มดังกล่าว ทุกคนจะสามารถขัดเกลาความต่ำต้อยด้อยดุจดังตัวละครในเรื่องหนังสือที่ชื่อเดิมว่า “นายเถื่อน” เมื่อได้รับการขัดเกลาแล้ว ต่อมาเขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นายเมือง”

อาจกล่าวได้ว่า หนังสือพลเมืองดีของระบอบเก่าพยายามปลูกฝังความเชื่อให้ราษฎรมีความเชื่อฟังต่ออำนาจรัฐ ยอมรับความสูงต่ำในทางสังคม มีความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง และพระมหากษัตริย์ จนกลายเป็น “พลเมืองดี” หรืออาจเรียกได้ว่า ราษฎรดีตามระบอบราชาธิปไตยนั่นเอง

แม้ชนชั้นนำจารีตพยายามให้ปลูกฝังคุณสมบัติ “พลเมืองดี” ไว้ให้ราษฎรแล้วก็ตาม แต่ในสายพระเนตรของพระมงกุฎเกล้าฯ ผู้ประทับอยู่บนจุดสูงสุดของพีระมิดทางการเมืองทรงเคยมีพระบรมราชวินิจฉัยคุณลักษณะราษฎรภายใต้การปกครองไว้ในโคลนติดล้อว่า ราษฎรชอบเล่นการพนันและหวย เงินไม่มีประโยชน์สำหรับราษฎร หากจะมีประโยชน์สำหรับราษฎรเพียง 2 ประการเท่านั้น คือ “(1) เสียภาษี และ (2) เล่นการพนัน”

อีกทั้งทรงวินิจฉัยไว้ในจดหมายเหตุรายวันฯ ว่า ราษฎรสยามมีโรคร้ายแรงที่ฝังอยู่ในตัว คือ โรคริษยาที่ ” …ฝังอยู่ในสันดานคนไทยหลายชั่วมาแล้ว…”

กล่าวโดยสรุป ราษฎรในสายตาของชนชั้นนำจารีตข้างต้น คือ ผู้คนที่ด้อยอารยะ ไม่มีวิจารณญาณ หมกมุ่นการพนันและขี้อิจฉา

สำนึกของสตรีพลเมืองใหม่ ร่วมปราบกบฏบวรเดช 2476

การศึกษาเพื่อพลเมืองแบบประชาธิปไตย

พลันที่การปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นพร้อมยกสถานะให้ทุกคนเป็นพลเมือง เป็นเจ้าของประเทศ เหตุการณ์นี้มีความหมายสำคัญยิ่งต่อความสำนึกของผู้คนร่วมสมัย ดังบันทึกความทรงจำของถวิล อุดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้มีบทบาทแข็งขันในการเป็นปากเสียงให้กับชาวอีสาน บันทึกถึงปฏิวัติ 2475 ที่สร้างโอกาสและเป็นแรงดลใจของเขาในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้แทนราษฎรว่า

“บุคคลคณะหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะขอขอบคุณเขาเป็นอย่างยิ่งก็คือ คณะราษฎร ผู้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะด้วยการปกครองระบอบนี้ที่ช่วยชุบคนบ้านนอกอย่างข้าพเจ้าให้ขึ้นมาเป็นชาวเมือง…วันหนึ่งซึ่งโอกาสเปิดให้ข้าพเจ้าจะใคร่กลับบ้านเพื่อสมัครเข้ารับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร” (“นายเมือง เดิมชื่อเถื่อน”, 2491)

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว รัฐบาลประชาธิปไตยจำต้องเร่งยกระดับความสำนึกให้กับราษฎรให้เป็นพลเมืองที่สอดคล้องกับการปกครองใหม่ กรมโฆษณาการจึงเข้ารับบทบาทหน้าที่นี้

พลเมืองดีตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

บทบาทสำคัญของกรมในการให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชน เช่น การพิมพ์หนังสือเรื่อง แถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (2476) (2481) รวมประมาณ 200,000 เล่ม ต่อมาได้ทำหนังสือคู่มือพลเมือง (2479) ขึ้นตามแบบอย่างหนังสือของฝรั่งเศส (Civique) ที่สอนสิทธิและหน้าที่พลเมืองให้คนฝรั่งเศส ด้วยการใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย “ออกจำหน่ายถึงแสนเล่ม ด้วยราคาถูก เป็นปกแข็ง พิมพ์ขึ้นถึงสามครั้ง ขายหมดอย่างรวดเร็ว” (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2538)

คู่มือพลเมือง (2479) ที่กรมจัดทำ มี 20 บท ประกอบด้วยเรื่องชาติ ประเทศ พลเมือง สิทธิของพลเมือง การปกครองของสยามในสมัยปัจจุบัน-รัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตย การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร การจัดทำพระราชบัญญัติ อำนาจบริหาร-รัฐบาล-พระมหากษัตริย์ อำนาจบริหาร-รัฐบาล-คณะรัฐมนตรี อำนาจตุลาการ-ศาล ระเบียบราชการบริหาร การต่างประเทศ การป้องกันประเทศ ภาษี งบประมาณของประเทศ การศึกษาของพลเมือง ประเทศสยามภายใต้รัฐธรรมนูญ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ไม่แต่เพียงหนังสือคู่มือพลเมืองถูกพิมพ์จำหน่ายจ่ายแจกโดยกรมไปถึง 2 แสนเล่มแล้วก็ตาม แต่ยังปรากฏการถูกพิมพ์แจกจ่ายโดยสังคมเองอีกหลายครั้งในรูปหนังสือแจกงานศพ เช่น แจกในงานศพของหลวงสมรรคศัลยยุทธ์ (อ๊อด จันทรกานตานนท์) (2479) นายเซียวซองหลิม สีบุญเรือง (2480) เป็นต้น

พระยาพระเสด็จฯ กับหนังสือของเขา

สร้างสำนึกใหม่ “ไทย-เอกราษฎร์”

กรมทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ ไม่แต่เพียงผ่านสิ่งพิมพ์ หนังสือ และวิทยุเท่านั้น แต่ในถิ่นทุรกันดารที่สื่อไปไม่ถึงด้วยการส่งหน่วยปาฐกถาไปแสดงในต่างจังหวัด เพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2538)

ในต้นปี 2477 ไพโรจน์ ชัยนาม เล่าไว้ว่า กรมจัดตั้งหน่วยปาฐกถาขึ้น 3 หน่วย แต่ละหน่วยมีหัวหน้า 1 คน ผู้ช่วย 1 คน เจ้าหน้าที่เสมียนผู้น้อย 1 คน หัวหน้าได้ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละประมาณคนละ 1.50-2 บาท คนอื่นระหว่าง 0.50-1 บาท มีการวางแผนปาฐกถาการในภาคอีสานก่อน เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่กันดารมากกว่าที่อื่น

ในที่สุดเริ่มงานปาฐกถาครั้งแรกในภาคอีสานช่วงเดือนมกราคม 2477 เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน มีกำหนดไปทุกอำเภอ และพยายามไปให้ถึงตำบลใหญ่ๆ ทุกตำบล การไปทางภาคอีสานครั้งนั้น เขาเล่าเสริมว่า มีความยากลำบากแต่โชคดีเป็นฤดูแล้ง หน่วยจึงเดินทางค่อนข้างสะดวก การปาฐกถาเริ่มที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร เลย ขุขันธ์ (ศรีสะเกษ) สุรินทร์ บุรีรัมย์ แต่ 4 จังหวัดหลัง หน่วยไปเยือนน้อย (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2538)

คู่มือพลเมืองของฝรั่งเศส (D’instrution Civique) ต้นแบบคู่มือพลเมืองของไทย

การปาฐกถาของกรม ดำเนินการทำในช่วง 2477-2479 หลังจากรัฐบาลปราบกบฏบวรเดชสำเร็จแล้ว แต่ละหน่วยประกอบด้วยข้าราชการหนุ่มไฟแรง สมบุกสมบัน เพราะต้องเดินทางด้วยการขี่ม้า หรือนั่งรถบรรทุกที่ขนครื่องปั่นไฟ ไมโครโฟน หีบเสียง แผ่นเสียง พร้อมภาพรัฐธรรมนูญและหนังสือเล่มบางๆ เขียนเกี่ยวกับการปกครองและรัฐธรรมนูญไปแจกประชาชน ต่อมาในช่วงหลัง 2483 มีภาพยนตร์ไปฉายให้ผู้ฟังชมด้วย (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2538)

การดำเนินสร้างพลเมืองใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยโดยกรมโฆษณาการภายหลังการปฏิวัติ 2475 มุ่งให้การศึกษาเพื่อพลเมือง ในเรื่องการปกครอง สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค พวกเขามีความภูมิใจในความเป็นพลเมืองและตระหนักในความเป็นเจ้าของประเทศอันเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม การสร้างสำนึกใหม่ให้ประชาชนแบบประชาธิปไตยเริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อคณะราษฎรสิ้นสุดอำนาจลงนับตั้งแต่ 2490 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2500-2506) ได้ปรากฏหนังสือที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของสำนึกทางการเมืองของประชาชนไทยอีกครั้งในช่วงเวลานั้นคือคู่มือราษฎร

พลเมืองไทยภายหลัง 2475 ติดเข็มผู้แทนตำบลและเหรียญปราบกบฏบวรเดชยืนอย่างองอาจ กับคู่มือพลเมือง

พลเมืองในชนบทนั่งล้อมวงรับฟังการปาฐกถา มีการจัดที่นั่งให้สตรีมานั่งรับฟังเรื่องการบ้านการเมือง
การยืนชุมนุมกันโห่ร้องดีใจของพลเมืองใหม่ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475
ประชาชนรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จฯ เยาวราช (2489)