โควิด-19 สายพันธุ์ ‘แลมบ์ด้า’ เชื้อไวรัสกลายพันธุ์อีกชนิดที่ต้องเฝ้าระวัง/บทความต่างประเทศ

(FILES) In this file photo taken on June 18, 2021 a patients sits on the bed at the Covid-19 specialized ward at the Honorio Delgado Hospital in Arequipa, Peru, following the sprouting cases of the deathly Delta strain. - The Peruvian government extended on July 11, 2021 for one more month the state of emergency which started 16 months ago due to the COVID-19 pandemic. (Photo by Diego Ramos / AFP)

บทความต่างประเทศ

 

โควิด-19 สายพันธุ์ ‘แลมบ์ด้า’

เชื้อไวรัสกลายพันธุ์อีกชนิดที่ต้องเฝ้าระวัง

 

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสายพันธุ์ “เดลต้า” ที่กลายพันธุ์ให้มีความสามารถในการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้อย่างรุนแรงมากขึ้นกว่าสายพันธุ์ “อัลฟ่า” เชื้อกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ

ล่าสุดทุกสายตาทั่วโลกเริ่มหันมามองไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ถูกตั้งชื่อให้ว่า “แลมบ์ด้า” ที่ก่อตัวขึ้นและเริ่มแพร่ระบาดไปในหลายประเทศทั่วโลก

เชื้อไวรัสสายพันธุ์ “แลมบ์ด้า” แพร่ระบาดจนกลายเป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์หลักใน “ประเทศเปรู” ประเทศซึ่งมีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตต่อจำนวนประชากร มากที่สุดในโลก

นอกจากเปรูแล้ว มีบันทึกการพบโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ด้า ในอีกอย่างน้อย 29 ประเทศจาก 5 ภูมิภาคตามการแบ่งพื้นที่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และนั่นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ด้านี้จะแพร่ระบาดและมีโอกาสที่จะทำให้คนเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นหรือไม่

 

เชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด-19 หรือ SARS-CoV2 สายพันธุ์ “แลมบ์ด้า” ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีก “ลำดับที่ 11” ในบรรดาตัวอักษรที่ถูกนำมาใช้เรียกไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มเติมจากโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม พบครั้งแรกที่ประเทศเปรู ในเดือนสิงหาคม 2020 และค่อยๆ แพร่ระบาดเพิ่มจำนวนขึ้นกลายเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์หลักในประเทศไปแล้วในเวลานี้

นับตั้งแต่เดือนเมษยน 2021 ที่ผ่านมา จากการตรวจตัวอย่างผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเปรู พบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์แลมบ์ด้า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์

ล่าสุดประเทศเปรูมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 2,074,186 ราย ในจำนวนนี้ 193,909 รายเสียชีวิต คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 9.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ถ้านับอัตราเสียชีวิตกับสัดส่วนประชากร จะมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 596.45 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คน

ต่อมาในวันที่ 15 มิถุนายน รายงานของ WHO ระบุถึงการพบไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ด้าในกลุ่มประเทศทวีปอเมริกาใต้เพิ่มเติม ล่าสุดมีการตรวจพบตัวอย่างไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ด้าในสหรัฐอเมริกา 525 ตัวอย่าง เยอรมนี 87 อาร์เจนตินา 86 เม็กซิโก 57 สเปน 43 อิสราเอล 19 โคลอมเบีย 15 ฝรั่งเศส 13 อียิปต์ 8 สวิตเซอร์แลนด์ 7 อังกฤษ 6 อิตาลี 5 บราซิล 3 และแคนาดา 3 ตัวอย่าง

ส่วนเนเธอร์แลนด์ อารูบา โปรตุเกส เดนมาร์ก สาธารณรัฐเช็ก ตุรกี ออสเตรเลีย กือราเซา และซิมบับเว พบประเทศละ 1 ตัวอย่าง

 

สําหรับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ด้านั้น นักวิทยาศาสตร์รู้จักกันในนามไวรัสสายพันธุ์ C.37 ถูกจัดให้อยู่ในไวรัสโควิด-19 “สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ” (VOI) ของ WHO ในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ร่วมกับไวรัสสายพันธุ์เอต้า, ไอโอต้า และแคปป้า

สำหรับ VOI นั้น WHO ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็น “ไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ถูกคาดหมายหรือเป็นที่รับรู้ว่าจะส่งผลกระทบกับลักษณะของไวรัสในแง่การแพร่ระบาด ความรุนแรงของโรค การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน การวินิจฉัย และการรักษา” โดยไวรัสดังกล่าวที่กำลังแพร่ระบาดอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อการสาธารณสุขของโลก

ทั้งนี้ VOI เป็นกลุ่มไวรัสโควิด-19 ที่ถูกจัดไว้ในลำดับขั้นที่น่ากังวลน้อยกว่ากลุ่ม “ไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล” (VOC) ซึ่งประกอบไปด้วยสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า เดลต้า และแกมม่า

ไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ด้า ยังไม่เข้าเกณฑ์ VOC ในเวลานี้ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าสายพันธุ์แลมบ์ด้าสามารถแพร่ระบาด มีความรุนแรงของโรค ต้านทานภูมิคุ้มกันและวัคซีนชนิดต่างๆ ได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

นั่นหมายความว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ด้าอาจเป็นเชื้อไวรัสอันตรายที่ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงในเปรูในเวลานี้ และก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่าอัตราการแพร่ระบาดและเสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์แลมบ์ด้านในเปรูอาจมาจากตัวแปรอื่นๆ เช่น การเข้าถึงระบบสาธารณสุข การขาดมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสมก็เป็นได้

สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบันนั้น มีรายงานว่าวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ยังคงสามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ด้านี้ได้ โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง โดยแม้จะพบว่า สายพันธุ์แลมบ์ด้าจะสามารถติดเชื้อในเซลล์มนุษย์ได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็สามารถจัดการกับไวรัสสายพันธุ์นี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ต่อไป

สิ่งที่ต้องทำใจก็คือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้แน่นอน เชื้อไวรัสจะยังคงกลายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าคนทั่วโลกจะได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หยุดห่วงโซ่การแพร่ระบาดลง

ส่วนใครก็ตามที่ยังไม่ได้รับวัคซีน สิ่งที่ทำได้ก็คือการระมัดระวังตัว สวมใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะทางสังคมอย่างเคร่งครัด สิ่งนี้ไม่เพียงเป็นการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัส แต่จะเป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในชุมชนและสังคมเป็นวงกว้างได้

และหวังว่าวันหนึ่งโลกจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาด ยุติการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะมากซะจนไม่มีอักษรกรีกเพียงพอที่จะใช้เรียกชื่อพวกมันก็เป็นได้