จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม (20)

จรัญ มะลูลีม

จากการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่เลือกซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศแรกของการเยือนต่างประเทศ ทำให้ทรัมป์ได้รับเกียรติสูงสุดสำหรับการเป็นแขกของประเทศ พร้อมด้วยสร้อยอับดุลอาซิส อัลสะอูด ซึ่งเป็นชื่อของผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยกษัตริย์สัลมานได้สวมสร้อยคอทองคำให้แก่ทรัมป์ด้วยความภาคภูมิใจ

ที่ Royal Court ซึ่งใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนนี้ คณะผู้มาเยือนได้ยืนเข้าแถวเพื่อสัมผัสมือกับกษัตริย์สัลมาน จากนั้นจึงไปนั่งเก้าอี้แถวหน้าเคียงคู่กับตัวแทนของราชอาณาจักร

ที่นั่งร่วมกับทรัมป์ก็มีสตรีหมายเลขหนึ่ง บุตรสาว Ivanka, Tiller, Ross, Priebus และ Kushner ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและบุตรเขย

หลังอาหารกลางวัน ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกันในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เรื่องน้ำมัน อิหร่านและซีเรีย ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมกับสหรัฐต่อต้านไอเอส

แต่ความสัมพันธ์กับสหรัฐในสมัยโอบามาได้นำไปสู่ความห่างเหินอันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการเอา บาชัร อัลอะสัด ผู้นำซีเรียลงจากอำนาจด้วยการสนับสนุนของฝ่ายกบฏที่ทั้งสหรัฐและพันธมิตรอาหรับรวมทั้งตุรกีให้การสนับสนุน

 

ระหว่างการหาเสียงทรัมป์ย้ำอยู่เสมอว่าเขาไม่สนใจที่จะเข้าไปข้องเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองของซีเรีย แต่ในฐานะประธานาธิบดีเขาได้พูดต่อต้านอะสัดและส่งจรวดโทมาฮ็อกเข้าต่อต้านกองทัพอากาศของซีเรียถึง 59 ลูก โดยกล่าวหาซีเรียว่าใช้ก๊าซพิษกับประชาชนของตนเอง ทั้งนี้ ซีเรียได้ออกมาปฏิเสธการกระทำดังกล่าว

ในการพูดคุยกันซึ่งตามมาด้วยการเฉลิมฉลองด้วยรางวัลที่มอบให้ กษัตริย์สัลมานได้กล่าวแก่ทรัมป์ว่า “ซีเรียก็เช่นกัน เคยเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุด เราเคยเอาศาสตราจารย์ทั้งหลายมาจากซีเรีย พวกเขาทำงานให้ราชอาณาจักร น่าเสียใจที่พวกเขาอีกเช่นกันที่นำเอาการทำลายล้างมาให้ประเทศตัวเอง ท่านสามารถทำลายประเทศของท่านได้ภายในพริบตา แต่จะสร้างมันขึ้นมาได้ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก”

จากนั้นทรัมป์ได้พบปะกับผู้นำจากรัฐกษัตริย์ที่สังกัดอยู่ในสภาความร่วมมือแห่งอ่าว (เปอร์เซีย) และการประชุมสุดยอดอิสลาม-อเมริกัน โดยอย่างน้อยมีประเทศที่เข้าร่วม 40 ประเทศ (บางรายงานบอกว่า 50 ประเทศ) จากตะวันออกกลางแอฟริกาและเอเชีย

 

ในการเดินทางครั้งนี้ทรัมป์ได้มีโอกาสพบกับมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บินนายีฟ ซึ่งแต่เดิมจะเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์องค์ต่อไปและพบกับรองมกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน สัลมาน ซึ่งได้ไปเยือนทำเนียบขาว เมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา

ล่าสุด (21 มิถุนายน 2017) รองมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บินสัลมาน ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์สัลมานพระราชบิดาให้ขึ้นมาเป็นมกุฎราชกุมารแทนพระราชนัดดาของพระองค์ ซึ่งเป็นการการันตีว่าโอรสของพระองค์ผู้นี้จะเป็นผู้สืบบัลลังก์กษัตริย์พระองค์ต่อไป

ที่สำคัญทรัมป์ผู้ซึ่งรณรงค์ต่อต้านชาวมุสลิมจนเลยไปถึงศาสนาอิสลามกลายมาเป็นผู้พูดถึงอิสลามเสียเองในการประชุมสุดยอดอิสลาม-สหรัฐ เขาเตรียมมาสอนความใจกว้างที่นี่โดยเชิญโลกอาหรับให้มาร่วมกับสหรัฐในการต่อสู้กับการก่อการร้าย

เขาเรียกการต่อสู้นี้ว่า “เป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว”

มันไม่ได้เป็นการต่อสู้ระหว่างศรัทธาทางศาสนา ความแตกต่างของสำนักคิดหรืออารยธรรมที่แตกต่างกัน แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างอาชญากรรมที่ป่าเถื่อนที่มุ่งทำลายชีวิตมนุษย์และประชาชนผู้สงบเสงี่ยมของทุกศาสนาที่แสวงหาการปกป้อง เป็นการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว” ทรัมป์กล่าว

ทรัมป์ได้เข้าร่วมการเปิดตัวศูนย์เพื่อการต่อสู้กับความสุดโต่งและสนับสนุนทางสายกลาง ร่วมกับคนหนุ่มของซาอุดีอาระเบีย

หลังเยือนซาอุดีอาระเบีย ทรัมป์จะเดินทางไปพบกับผู้นำปาเลสไตน์ ผู้นำอิสราเอลและดินทางไปพบกับสันตะปะปา Francis

จากนั้นก็จะไปบรัสเซลส์เพื่อพบกับผู้นำนาโต้และพบกับผู้นำคนใหม่ของฝรั่งเศสที่เขาไม่ได้สนับสนุนและเดินทางต่อไปซิซิลีในอิตาลี ซึ่งเขาจะร่วมประชุมสุดยอดกับกลุ่ม G7 ซึ่งเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ

 

ปฏิกิริยาจากอิหร่าน

ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านเขียนใน New York Times ว่า ทรัมป์คงทำอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นคือ “บีบเอาเงินไปจากเพื่อนบ้านซาอุฯ ของเราจนซาอุฯ เงินหมด” หรือ “อย่างแย่ที่สุดก็เปลี่ยนสหรัฐไปเป็นทหารรับจ้างในตะวันออกกลาง”

ซารีฟบอกว่าที่ดีที่สุดสหรัฐควรเลือกที่จะกล่าวถึงปัญหาที่หนักหน่วงที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในภูมิภาคนั่นคือการมี “อาวุธทางทหารอยู่จำนวนมาก” ทั้งนี้ ทรัมป์เคยบอกว่าอาวุธของสหรัฐในซาอุดีอาระเบียจะไม่สามารถแก้ปัญหาการก่อการร้ายได้

เขาบอกว่ามหาอำนาจในภูมิภาคควรใช้ความพยายามอย่างแท้จริงที่จะทำงานร่วมกันอย่างรอบด้านด้วยพื้นฐานของนโยบายที่มาจากการร่วมมือกันและยอมรับว่าการหาทางออกด้วยวิธีการทางทหารนั้นไร้ประโยชน์

ทรัมป์ไม่เหมือนประธานาธิบดีที่มาก่อนเขาอย่างโอบามา ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ยกเลิกการเสแสร้งว่าสหรัฐกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในภูมิภาคด้วยการเข้าไปสวมกอดผู้นำแถบอ่าวด้วยความสนิทสนม

ในช่วงท้ายๆ ของการอยู่ในอำนาจของโอบามารัฐบาลของเขาได้วิพากษ์ออกมาจากวอชิงตันถึงนโยบายที่ซ่อนเร้นของซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยเมน ในขณะที่สหประชาชาติยืนกรานว่า “เยเมนกำลังได้รับประสบการณ์อันเป็นวิกฤตทางมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก”

ฝ่ายบริหารของโอบามาถึงกับเลื่อนการส่งอาวุธร้ายแรงให้ซาอุดีอาระเบียออกไปเนื่องจากการนำอาวุธไปใช้อย่างผิดๆ ในเยเมน

ส่วนฝ่ายบริหารของทรัมป์ก็เร่งรีบที่จะให้มีการล้มเลิกการยืดระยะเวลาการส่งออกอาวุธของสหรัฐให้ซาอุดีอาระเบียลง

การลงนามการขายอาวุธที่ใหญ่ที่สุดกับซาอุดีอาระเบียจะทำให้สหรัฐมีส่วนร่วมทำความผิดในวิกฤตเยเมนเข้าไปด้วย

 

อะยาตุลลอฮ์ คอเมเนอี ผู้นำจิตวิญญาณของอิหร่านกล่าวถึงการซื้ออาวุธจำนวนมหาศาลของซาอุดีอาระเบียจากสหรัฐว่าเป็นความคิดที่ขลาดเขลาด้วยคิดว่าการจ่ายเงินออกไปจะทำให้พวกเขาสามารถเอาชนะความเป็นมิตรจากศัตรูของอิสลามได้

“พวกเขาก็เหมือนกับวัวทั้งหลายในฟาร์มนั่นแหละ พวกมันจะถูกรีดน้ำนมออกมาและเมื่อน้ำนมหมดพวกมันก็จะถูกเชือด”

ตอนที่เขาหาเสียงทรัมป์ไม่ได้มีคำพูดใดๆ ที่แสดงความกรุณาต่อซาอุดีอาระเบียและในการให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขากล่าวว่า รัฐทั้งหลายในอ่าว (เปอร์เซีย) จะตายลงหากไม่มีสหรัฐคุ้มกัน เขายังกล่าวหารัฐบาลซาอุดีอาระเบียว่าเข้าไปข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์การก่อการร้ายที่เรียกกันว่า 9/11 ด้วยการโจมตีสหรัฐ

มีอีเมลที่ส่งมาจาก ฮิลลารี คลินตัน ไปยัง John Podesta ผู้จัดการในการหาเสียงของเธอว่ารัฐบาลของซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ ให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มนักต่อสู้ และให้การสนับสนุนการบริหารการขนส่งให้กับ ISIL (กองกำลังรัฐอิสลามแห่งอิรักและลีแวนต์) และกลุ่มซุนนีสุดโต่งอื่นๆ ในภูมิภาค

ทั้งนี้ Joe Biden อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐก็ออกมาย้ำความจริงนี้อีกครั้งในการพูดของเขาเมื่อสองปีก่อน

 

ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียได้รับสิ่งที่พวกเขาร้องขอจากสหรัฐแล้วนั่นคือการส่งอาวุธอย่างไม่จำกัดให้และการจัดให้อิหร่านเป็นรัฐ “ก่อการร้าย”

ผู้นำทั้งหลายที่มารวมตัวกันอยู่ในเมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ต่างก็แลเห็นเหมือนกันว่าทรัมป์มิได้ให้สัญญาแม้แต่จะเป็นแค่การบริการทางปากว่าจะจัดการในเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนที่มีปัญหาอยู่ในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม ในการกล่าวหาขบวนการภราดรภาพมุสลิมนั้นพบว่าอัซ-ซิซี ประธานาธิบดีของอียิปต์และบรรดารัฐกษัตริย์แถบอ่าวเปอร์เซียต่างก็มองว่าขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสิ่งคุกคามต่อรัฐบาลของพวกเขา

ขบวนการภราดรภาพมุสลิมกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในช่วงอาหรับสปริง ทั้งนี้ มุฮัมมัด มุรซี วิศวกรที่เป็นอดีตผู้นำของอียิปต์ที่ได้ตำแหน่งมาโดยการเลือกตั้งก็มาจากขบวนการภราดรภาพมุสลิม แต่อยู่ในอำนาจได้เพียงปีเดียว ทหารและประเทศตะวันตกได้ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารจนมุรซีต้องออกจากอำนาจไป แต่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในหลายพรรคการเมืองของหลายประเทศในภูมิภาค

สิ่งที่ขบวนการภราดรภาพมุสลิมต้องการคือการปกครองที่มีศาสนาอิสลามเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนย่อมกระทบกับสถานะของผู้นำในอ่าวเปอร์เซียทั้งหลาย รวมทั้งรัฐที่ปกครองโดยคนจากครอบครัวเดียวกันเท่านั้น

ทรัมป์ถือว่า อัซ-ซิซี ผู้นำอียิปต์เป็นเพื่อนสนิทของเขา

ปัจจุบันอียิปต์เป็นประเทศที่จับเอาบรรดาผู้นำของขบวนการภราดรภาพมุสลิมมาจองจำโดยถ้วนหน้า

ทั้งนี้ สมาชิกจำนวนหนึ่งของขบวนการถูกพิพากษาประหารชีวิต

แต่การประหารยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลก

อดีตประธานาธิบดีมุรซี แห่งพรรคยุติธรรมและสันติที่มาจากขบวนการภราดรภาพมุสลิมก็ถูกจองจำอย่างไม่รู้ชะตากรรมมาจนถึงทุกวันนี้