สิ่งแวดล้อม : ยุค ‘โควิด’ พื้นที่เมืองเปลี่ยน / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ภาพจาก website QUARTZ

 

ยุค ‘โควิด’ พื้นที่เมืองเปลี่ยน

 

มองดูสถานการณ์ “โควิด-19” อย่างเป็นกังวลกับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ บางวันครึ่งหมื่น เสียชีวิตทะลุไต่ระดับ 50 คนต่อวันก็มี ปริมาณคนติดเชื้อเป็นกลุ่มเป็นก้อน ขยายใหญ่ขึ้น กระจัดกระจายไปในชุมชนต่างๆ

ขณะที่รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คิดมาตรการล็อกดาวน์ครึ่งๆ กลางๆ หวังคุมคลัสเตอร์แคมป์คนงาน

ปรากฏว่าเกิดปัญหาอลหม่าน คนงานแตกรังหนีกลับบ้านต่างจังหวัด ร้านอาหาร โรงแรมโดนลูกหลงเจ๊งซ้ำซาก

เมื่อมาตรการแก้โควิดคลุมเครือไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด วัคซีนที่จะเป็นตัวช่วยคลี่วิกฤตก็กลายเป็นของหายาก สภาวะเช่นนี้กระตุกอารมณ์ผู้คนแสดงอาการ “ไม่ทน” กับการจัดการบริหารย่ำแย่ล้มเหลวของรัฐบาล “ประยุทธ์” มากขึ้นเรื่อยๆ

บริหารมั่วซั่วเละเทะกันอย่างนี้ อีกไม่นานคำย่อๆ ประชดประชัน “ผนงรจตกม” จะเป็นจริงก็ได้ เพราะเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ “เดลต้า” แพร่ระบาดในอินเดียเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน ทำให้ชาวอินเดียติดเชื้อ 30 กว่าล้านคน และเสียชีวิตเกือบ 4 แสนคน ไต่สถิติขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ กำลังไล่คุกคามชาวโลกใน 85 ประเทศรวมถึงในไทย

 

หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จกับการฉีดวัคซีนจนเชื่อว่าสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้วและเปิดบ้านเปิดเมืองให้ผู้คนเดินทางทำธุรกิจการงานอย่างอิสรเสรี ไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง กำลังตั้งหลักกลับมาย้อนคิดกันว่าจะเอาอยู่หรือเปล่ากับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดเร็วรุนแรง

รัฐบาลอิสราเอลเป็นกรณีตัวอย่างของการบริหารจัดการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม สามารถหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนกว่า 5 ล้านคนจากจำนวน 9 ล้านคนในเวลาอันรวดเร็วและใช้มาตรการคุมเข้มคู่ขนานจนทำให้คนติดเชื้ออาทิตย์ละ 6 พันคน และมีผู้เสียชีวิตสะสมราว 6 พันคน ลดลงเป็นศูนย์เมื่อต้นเดือนมิถุนายน

เมื่อเห็นเหตุการณ์โล่งแล้ว รัฐบาลอิสราเอลประกาศยกเลิกมาตรการคุมเข้ม ปล่อยให้ผู้คนใช้ชีวิตเป็นปกติ ปรากฏว่าปล่อยฟรีได้แค่ 10 วันต้องกลับมางัดมาตรการบังคับให้คนใส่หน้ากากอนามัยในอาคารร้านค้าอีกครั้ง เพราะเพียงวันเดียวจำนวนคนติดเชื้อทะลุเป็นหลักร้อย แถมยังต้องเลื่อนแผนเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวมาเยือนออกไปอีก 1 เดือน

ส่วนออสเตรเลียนั้น เป็นกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เชื้อสายพันธุ์เดลต้าอาละวาดจนต้องประกาศขยายเวลาปิดนครซิดนีย์สกัดเชื้อแพร่กระจาย

ที่น่ากังวลยิ่งไปกว่า นั่นคือการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลต้า เป็น “เดลต้าพลัส” (Delta Plus) หรือเรียกย่อๆ ว่า AY.1

เดลต้าพลัสเป็นไวรัสมีฤทธิ์เดชร้ายแรง ติดง่าย เชื้อเจาะเข้าไปเกาะเซลล์ของปอดเร็ว และวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ต้านไม่อยู่

กระทรวงสาธารณสุขอินเดียบอกว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัสพบในอินเดียเมื่อเดือนเมษายน ระหว่างการสุ่มตัวอย่างตรวจหาเชื้อผู้ป่วยใน 6 เมืองรัฐมหาราษฏระ รัฐเกรละ และรัฐมัธยประเทศ มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าพลัสราว 40 คน

สายพันธุ์เดลต้าพลัสกำลังรุกคืบแพร่ระบาดในสหรัฐ อังกฤษ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ โปแลนด์ ญี่ปุ่น เนปาล รัสเซีย และจีน

 

ความเชื่อที่ว่า ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ผู้คนราว 60-70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ จำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิตจะลดลง อาจจะใช้ไม่ได้ถ้าเชื้อกลายพันธุ์ “เดลต้าพลัส” ระบาดไปทั้งโลก

ฉะนั้น ดูแนวโน้มโลกกับสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดคราวนี้ คาดกันว่าไม่จบง่ายๆ ในปีนี้หรือกลางปีหน้า ชาวโลกยังคงเผชิญภาวะเดือดร้อนแสนสาหัสอีกต่อไปจนกว่าจะมีวัคซีนฆ่าไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม

สำหรับคนไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ หากยังจัดการเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดิมๆ อย่างมั่วๆ ซั่วๆ ถ้าสายพันธุ์ “เดลต้าพลัส” เข้ามาอาละวาดซ้ำอีกระลอก คนไทยคงเข้าสู่ยุค “ผนงรจตกม” เต็มๆ เป็นแน่

 

ไหนๆ ก็พูดถึงโควิด ขอเติมอีกสักเรื่อง มาจากบทความในหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ เขียนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพของเมืองในยุคโควิด

ในบทความชี้ว่า ผู้บริหารเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกมีแนวคิดปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเมืองในยุคโควิด เพราะเห็นว่าการแพร่ระบาดของเชื้อมาจากการอยู่ใกล้ชิดกัน อยู่ในพื้นที่แออัด การระบายอากาศเป็นระบบปิด และถนนที่มีการจราจรคับคั่งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ มีผลต่อสุขภาพของประชาชน อีกทั้งก๊าซพิษที่ปล่อยจากท่อไอเสียรถยนต์ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ผู้บริหารกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ออกมาตรการปิดถนนสายใหญ่ๆ ห้ามรถวิ่ง เปลี่ยนสภาพเป็นถนนคนเดินแทน หรือที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐ ปรับพื้นที่ถนนเปลี่ยนเป็นทางเท้า ทางจักรยาน ถนนสาย 34 ย่านควีนส์ ปรับให้เป็นที่เรียนเต้นรำ

ผู้บริหารเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนียร่วมกับผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร ภัตตาคาร หารือปรับทางเท้าและถนนให้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ใช้เป็นที่ตั้งโต๊ะนั่งกินอาหารแทนในร้าน นอกจากจะช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน ผู้ประกอบการขนาดเล็กอยู่รอดและเกิดการสร้างงานแล้วยังลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอีกด้วย

ส่วนผู้บริหารเมืองใหญ่ เช่น เมืองมิลาน กรุงโรม ประเทศอิตาลี กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย หรือกรุงลิมา ประเทศเปรู ต่างเร่งปรับสภาพเมืองรองรับการเดินทางในช่วงวิกฤตโควิด ด้วยการทุ่มงบประมาณในโครงการสร้างถนนคนเดินและทางจักรยาน

โรคโควิดทำให้คนทั้งโลกหวาดผวา แต่ชีวิตยังต้องดิ้นรนกันต่อไป การเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันสูง อยู่ในเมืองที่มีสภาพแวดล้อมดี มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะโล่งกว้าง และมีผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์ไกล

นั่นคือทางรอด