ก่อสร้างที่ดิน / นาย ต. /อสังหาฯ โดนทืบซ้ำ

FILE PHOTO: Labourers work at a construction site in downtown Bangkok, Thailand June 19, 2017. REUTERS/Chaiwat Subprasom/File Photo

ก่อสร้างที่ดิน/นาย ต.

อสังหาฯ โดนทืบซ้ำ

 

มาตรการปิดไซต์งานก่อสร้างกรุงเทพฯ และจังหวัดโดยรอบของ ศบค.เที่ยวนี้ไม่ต่างอะไรกับอยู่ๆ มีฟ้าผ่าลงมากลางวง หรือไม่ก็เหมือนคนป่วยนอนซมถูกไม้หน้าสามตีซ้ำ

ศบค.คงหวังจะ “ล็อกดาวน์” ไซต์งานก่อสร้างที่มีอยู่นับร้อยแห่งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เพื่อหยุดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยไม่ต้อง “ล็อกดาวน์” กรุงเทพฯ ทั้งเมือง

แต่พอประกาศออกมาเท่านั้น คนงานแตกฮือกลับบ้านเกิดทันที เห็นได้ชัดเจนเสาร์-อาทิตย์นั้นถนนย่านรังสิตขาออกรถติด

คนงานก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้างรายวัน คงไม่มีคนงานคนไหนยอมกินนอนรอ หากติดโควิดอยู่ที่ไซต์ไม่มีรถโรงพยาบาลมารับจนเสียชีวิตอย่างที่เป็นข่าว เขาก็ต้องแตกฮือหนีกลับบ้านหาพ่อ-แม่ ญาติพี่น้อง

ผลจึงตรงกันข้ามจากที่ ศบค.ต้องการ คนงานที่เดินทางกลับบ้านไม่รู้ใครติดหรือไม่ติดโควิด-19 ไปบ้าง ติดสายพันธุ์ไหนบ้าง เดาไม่ยากว่าคงแพร่กระจายไปไม่ต่างจากเหตุการณ์เมื่อตอนสงกรานต์ที่คลัสเตอร์ทองหล่อแพร่เชื้อให้คนพากลับไปต่างจังหวัด

 

ผลกระทบทางธุรกิจก็หนักหนาสาหัส

กลุ่มแรกเลยก็ผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งผู้รับเหมาหลักและผู้รับเหมาช่วง ต้องส่งมอบงานให้กับเจ้าของงานตามเวลาไม่ได้จะเคลียร์กันยังไง ยังมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าเครื่องจักร ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงานประจำ โดนกันถ้วนทั่วทั้งโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โครงการตึกสูง โครงการแนวราบบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม แม้แต่งานเล็กๆ น้อยๆ รีโนเวตตกแต่ง ซ่อมแซมบ้าน ก็ถูกห้ามเหมือนกันหมด

กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ งานก่อสร้างล่าช้าแน่นอน ไม่ใช่ว่าผ่านไป 1 เดือนทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม กว่าผู้รับเหมาจะรวบรวมคนงานมาให้พร้อมต้องใช้เวลา คนงานต่างด้าวก็ต้องมีค่าใช้จ่าย

เกิดผิดสัญญาส่งมอบบ้านให้ลูกค้าไม่ได้ตามเวลา ซึ่งทุกวันนี้กว่าจะขายได้ก็ไม่ใช่ง่าย ลูกค้าก็อยู่ในภาวะอ่อนไหวอาจทิ้งจองทิ้งดาวน์ได้ง่ายๆ

บริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างอีกจำนวนมากที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเหล่านี้ก็สะเทือน

 

ธุรกิจใหญ่น้อยที่เกิดความเสียหายเหล่านี้ รัฐจะช่วยได้จริงกี่มากน้อย คนตกงานจำนวนมากเหล่านี้รัฐจะช่วยเหลือยังไง ที่จะให้ 50% ของค่าจ้างสำหรับผู้ที่มีประกันสังคม แล้วคนที่ไม่มี คนที่เป็นลูกจ้างรับเหมาช่วงล่ะ มากกว่ากันเยอะ

รัฐบาลมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญว่าต้องจัดการควบคุมโรคระบาด แต่ในความเป็นจริง ทำไม่ได้ ปล่อยให้อัตราผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอด จากหลักร้อยเป็นหลักพัน จาก 1-2 พัน เป็น 4-5 พันคนต่อวัน สุดท้ายยังออกมาตรการทำให้คนงานก่อสร้างหนีกลับบ้านกระจายไปค่อนประเทศ

ด้านเศรษฐกิจที่ประสบวิกฤต รัฐบาลโดย ศบศ.มีหน้าที่ต้องแก้ไขและฟื้นฟู แต่มาตรการนี้ทำตรงกันข้าม ธุรกิจก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นเซ็กเตอร์เศรษฐกิจที่สำคัญสาขาหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลมีขนาดธุรกิจเหล่านี้อยู่กว่าครึ่งของประเทศ

ถูกทุบลงไปทีเดียวพร้อมๆ กัน

 

เรื่องนี้เห็นชัดๆ ว่าคนมีอำนาจออกมาตรการ ไม่เข้าใจมนุษย์ ไม่เข้าใจกลไกธุรกิจ ถนัดแต่ใช้อำนาจและกำลังไปบังคับสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ ผลจึงเป็นอย่างนี้

มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงของประเทศว่า เราเผชิญความเสี่ยงที่เป็นวิกฤตใหญ่พร้อมกัน 4 ความเสี่ยงคือ การระบาดไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจธุรกิจ รัฐบาล และการเมือง

ถึงตอนนี้จากเหตุการณ์นี้ ถ้าให้จัดลำดับความเสี่ยงใดร้ายแรงที่สุด ก็ต้องตอบว่า รัฐบาลที่บริหารแบบทุกวันนี้ เพราะเป็นตัวที่ทำให้ความเสี่ยงอื่นๆ ร้ายแรงขึ้น