โควิด-การเมืองไหลรวม จับตาสถานการณ์ชุมนุม แยกกันเดิน รวมกันตี เป้าหมาย ‘ไล่ประยุทธ์’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

โควิด-การเมืองไหลรวม

จับตาสถานการณ์ชุมนุม

แยกกันเดิน รวมกันตี

เป้าหมาย ‘ไล่ประยุทธ์’

 

การเคลื่อนไหวชุมนุม 24 มิถุนายน นับเป็นก้าวใหม่ครั้งสำคัญของกลุ่มราษฎร กลุ่มไทยไม่ทน และกลุ่มประชาชนคนไทย

ทั้ง 3 กลุ่มมีจุดร่วมในเป้าหมายเดียวกันอย่างหนึ่งคือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และตัดเส้นทางสืบทอดอำนาจ

แกนนำกลุ่มราษฎรไม่ว่าเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือทนายอานนท์ นำภา ยังคงยืนหยัด 3 ข้อเรียกร้องเดิม ไม่ลดระดับเพดาน โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ และองคายพ ออกจากอำนาจ

กลุ่มไทยไม่ทน และกลุ่มประชาชนคนไทย เป็นการผนวกรวมแกนนำกลุ่มชุมนุมต่างฝ่ายต่างแนวคิดในอดีต

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มไทยไม่ทน เคยเป็นแกนนำ นปช.คนเสื้อแดง นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย ก็เคยเป็นแกนนำกลุ่ม พธม.คนเสื้อเหลือง

ทั้ง 3 กลุ่มแยกกันเดิน แยกกันชุมนุม ภายใต้จุดหมายเดียวกันคือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์

ส่งผลให้การเคลื่อนไหวชุมนุม 24 มิถุนายน เมื่อรวมเข้ากับสถานการณ์โควิด

จึงเป็นสองแรงบวก สร้างความสั่นสะเทือนให้รัฐบาล

 

นัยยะการชุมนุม 24 มิถุนายน นอกจากตรงวันครบรอบ 89 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ยังตรงกับวันประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 13 ฉบับของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

เริ่มจากเวลาย่ำรุ่ง บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มคนรุ่นใหม่นัดหมายทำกิจกรรมวาระครบรอบ 89 ปีอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475

ซึ่งมีทั้งกลุ่มราษฎร กลุ่มทะลุฟ้า ศิลปะปลดแอก เฟมินิสต์ปลดแอก เดมโฮป กลุ่มนักเรียนเลว เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และประชาชนทั่วไปนับร้อยคน

แกนนำ อาทิ ทนายอานนท์ นำภา เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิ์จิรวัฒนกุล ฯลฯ เป็นต้น

ร่วมกันทำกิจกรรม “ยืนยันดันเพดาน” รำลึกภารกิจเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎร 2475 และแสดงพลังต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับ 2560

พร้อมติดตั้งหมุดคณะราษฎรขนาดใหญ่ ระบุข้อความ “ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ประกาศเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปิดสวิตช์ ส.ว.

จากนั้นเคลื่อนขบวนไปยังหน้ารัฐสภาซึ่งกำลังมีการประชุมร่วม ส.ส.-ส.ว. พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อมาถึงได้มีตัวแทน ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล และนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ออกมารับจดหมายเปิดผนึกจากแกนนำราษฎร

เนื้อความในจดหมายแสดงจุดยืนเรียกร้อง 3 ข้อ

1. รัฐธรรมนูญพึงเป็นของประชาชน การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

2. รัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของเผด็จการและบทบัญญัติใดที่เอื้อให้เกิดการสืบทอดอำนาจต้องถูกยกเลิก

3. การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ต้องร่างหรือแก้ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ไม่มีข้อยกเว้น

เพนกวินปราศรัยช่วงหนึ่งถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรต่อจากนี้ว่า

จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และต่อสู้ตามสถานการณ์ จึงอยากให้พี่น้องที่ร่วมเดินกันมา เข้าใจกระบวนการมีหลายเจน บางท่านสู้จนเสียไปแล้ว บางท่านสู้ปี 2553-2557 ในขบวนการประชาธิปไตย

ทั้งหมดมีจังหวะก้าวเดินช้า-เร็ว แต่มีเป้าหมายเดียวกัน

ถนนสายนี้อาจมีบางซอยลาดยางมะตอยและเป็นลูกรัง แต่เราต้องเดินไปด้วยกันด้วยการปรับกลยุทธ์

เราต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพทั้งหมดถูกล้างออกไปจากรัฐธรรมนูญ

“เราต้องปรับตัวตามสถานการณ์ จึงต้องหากลยุทธ์จากประสบการณ์หลายรุ่นมาหารือ หาแนวทาง แต่ไม่ว่ารุ่นไหนถ้าเชื่อใน 3 ข้อเรียกร้อง เราสู้ไปด้วยกัน”

ปีนี้ตั้งเป้าหมายภายใน 2-3 เดือนต้องไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้ได้

เย็นวันนั้น กลุ่มราษฎรยังจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน

ร่วมกันเปิดไฟอ่านประกาศคณะราษฎร 2475 และ 3 ข้อเรียกร้องกลุ่มราษฎร

“ปีหน้า 24 มิถุนายน ต้องเป็นวันหยุดราชการในฐานะวันชาติไทย” เพนกวินระบุ

 

การชุมนุม 2 กลุ่มคู่ขนานไทยไม่ทนและประชาชนคนไทย

ไทยไม่ทน นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ นัดรวมตัวกันบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ส่วนกลุ่มประชาชนคนไทย นายนิติธร ล้ำเหลือ รวมตัวบริเวณแยกอุรุพงษ์

2 กลุ่ม 1 เป้าหมายเคลื่อนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่ามกลางการตรึงกำลังรอบบริเวณของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 3,000 นาย

ทั้งกลุ่มไทยไม่ทน และกลุ่มประชาชนคนไทย จัดตั้งเวทีเคลื่อนที่ปราศรัยโจมตีการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล ก่อนจะยุติแกนนำประกาศนัดชุมนุมอีกครั้ง 26 มิถุนายน

การชุมนุมกลุ่มไทยไม่ทน และกลุ่มประชาชนคนไทย สะท้อนความเป็นเนื้อเดียวกันได้ชัด

จากท่าทีของ “จตุพร-นิติธร” ประสานเคลื่อนไหวพุ่งเป้าโจมตีไปยัง พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล

นายจตุพรประกาศแนวทางเคลื่อนไหวต่อจากนี้ นัดชุมนุมทุกวันเสาร์ ร่วมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งต่อไปวันเสาร์ 3 กรกฎาคม

“เสาร์นี้มาเท่านี้ เสาร์หน้ามาเท่าตัว ไม่เกิน 3 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกไปแน่นอน”

ขณะที่สถานการณ์โควิดเข้าสู่ช่วงวิกฤต วันที่ 29 มิถุนายน นายจตุพรและกลุ่มไทยไม่ทน ก็ออกมาอุ่นเครื่อง ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นอนกับพื้นคลุมร่างด้วยผ้าขาว เปรียบเสมือนผู้เสียชีวิตจากโควิด เนื่องจากไม่ได้รับวัคซีนและจากพิษเศรษฐกิจ

มีการเปิดเพลงธรณีกรรแสง หวังให้ดังไปถึงห้องประชุมคณะรัฐมนตรีในทำเนียบรัฐบาล

นายจตุพรกล่าวโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ว่าไร้ซึ่งภาวะผู้นำ ขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนและล้มตายจากโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงสายเกินไปแล้วสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ในการบริหารประเทศที่ล้มเหลวซ้ำซาก

30 มิถุนายน กลุ่มไทยไม่ทน นัดหมายเดินขบวนจากหน้าลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ถ.ราชดำเนิน ไปยังศาลหลักเมือง เพื่อสักการะศาลหลักเมือง พระสยามเทวาธิราช พระแก้วมรกต และสิ่งศักดิ์สิทธิ์นับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ให้ช่วยคุ้มครองประชาชน โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงทยอยมาร่วมสมทบ มีการขึงป้ายข้อความขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์

“ข้าพเจ้าและคณะได้ประกาศจุดยืนเรียกร้องให้ผู้ปกครองลาออก แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง สภาพในวันนี้ เศรษฐกิจพัง โควิดคุมไม่ได้ มาตรการก็ลิดรอนประชาชน สร้างความเสียหาย ผู้ปกครองไม่แสดงความรับผิดชอบ

จึงขอเปล่งวาจา ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดปกป้องชีวิตคนไทยอย่าให้ตายมากกว่านี้ อย่าติดโควิดมากกว่านี้ อย่าให้อดตายมากกว่านี้ ให้คนไทยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผู้ปกครองคนใหม่ที่ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนโดย

หนึ่ง แก้ปัญหาโควิด สอง แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สาม แก้รัฐธรรมนูญ ประเทศจะได้เริ่มต้นกันใหม่ นำความผาสุกมายังประเทศไทย ขอบารมีคุ้มครองคนไทยให้รอดพ้นจากชะตากรรมเลวร้าย” นายจตุพรกล่าว

 

ภายใต้สถานการณ์โควิดที่กลับมาเข้าขั้นวิกฤต

รัฐบาลไม่เพียงคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป แต่ยังได้ออกประกาศฉบับใหม่ “มินิล็อกดาวน์” เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นอกจากสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ห้ามร้านอาหารเปิดให้นั่งกินในร้าน ยังห้ามรวมตัวทำกิจกรรมเกิน 20 คน

ซึ่งหลายคนมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศต่างๆ ที่ออกมาเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด

ด้านหนึ่ง เป็นอุปสรรคต่อการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม

ถึงกระนั้นก็มีผู้ประเมินสถานการณ์ไปอีกทางหนึ่งว่า อาจไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากขณะนี้ประชาชนในสังคมทุกภาคส่วน กำลังได้รับความทุกข์ร้อนแสนสาหัสจากการบริหารจัดการแก้ปัญหาโควิด ที่ผิดพลาดล้มเหลวซ้ำซากมาตลอด 1 ปีกว่าของรัฐบาล

ประกอบอากัปกิริยาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงออกระหว่างการแถลงมินิล็อกดาวน์โควิด โดยเฉพาะฉากปล่อยมุขตลก ส่งเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊าก ชูสองนิ้ว ลงท้ายประโยคด้วยคำว่า “นะจ๊ะ”

ผลกลับกลายเป็นกระตุ้นความโกรธแค้นในใจประชาชนที่ได้ยินได้ฟัง

จำนวนมากระเบิดอารมณ์ผ่านโซเชียลจนลุกเป็นไฟ ขณะที่สังคมนอกโซเชียลก็ไม่ต่างจากหม้อน้ำเดือดรอรูระบาย

ผสมผสานอารมณ์ค้างจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. 1 ในองคาพยพของ พล.อ.ประยุทธ์ โหวตตีตกกราวรูด 12 ฉบับ จากที่ ส.ส.พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเสนอทั้งหมด 13 ฉบับ

ตรงนี้เองคือฟางเส้นสุดท้ายในการตัดสินใจพร้อมกันออกมาร่วมกับกลุ่มต่างๆ ไม่ว่ากลุ่มราษฎร กลุ่มไทยไม่ทน หรือกลุ่มอื่นๆ ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล ที่ว่าจะออกมากันน้อย ก็จะไม่น้อย

เมื่อนั้นฝันร้ายก็จะมาเยือน พล.อ.ประยุทธ์ และทุกองคาพยพ ให้ต้องหวาดผวายิ่งกว่าครั้งใดๆ