E-DUANG : รู้เขา รู้เรา ในเรื่องของ “แรงงานต่างด้าว”

 

เหมือนกับว่า การปรากฏขึ้นของพระราชกำหนดว่าด้วย “แรงงานต่างด้าว” จะเป็นการจัดระเบียบ “แรงงานต่างด้าว”

เป็นเช่นนั้น

แต่ภายในการจัดระเบียบโดยพุ่งเป้าไปยัง “แรงงานต่างด้าว” ก็เท่ากับเป็นการจัดระเบียบ “ตัวเรา” ไปด้วยโดยอัตโนมัติ

คำว่า “ตัวเรา” นี้สำคัญ

ในเบื้องต้นก็คือ เป็นระบบแรงงานอันเป็น “คนไทย” ซึ่งเป็นคู่ตรงกันข้ามกับ “ต่างด้าว”

จึงได้รู้ความเป็นจริง “ใหม่” เกี่ยวกับแรงงาน “พื้นฐาน”

ไม่ว่าจะเป็นประมง ไม่ว่าจะเป็นก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ด้านหลักล้วนเป็น “ต่างด้าว”

แม้กระทั่ง “งานบ้าน” ก็ล้วนมาจาก “ชาติ” อื่น

 

น่าสนใจก็ตรงที่ความรับรู้ของกระทรวงแรงงานกับความรับรู้ของภาคเอกชนแตกต่างกัน

นี่คือ ช่องว่างระหว่าง “เรา” กับ “เขา” ที่ดำรงอยู่

หากถือว่ากระทรวงแรงงานเป็น “เรา” ภาคเอกชนก็ย่อมอยู่ในฐานะ “เขา” ไปโดยปริยาย

นั่นก็คือ หอการค้าแห่งประเทศไทยเป็น “เขา”

นั่นก็คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยก็เป็น “เขา” ไปด้วย

เพราะ 3 สถาบันนี้มีความเห็นต่อ “พระราชกำหนด”

ที่เคยคิดว่ากระทรวงแรงงานรอบรู้เรื่อง “แรงงาน” ก็เริ่มไม่แน่ เพราะเป็นความรอบรู้ที่ต่างกับ หอการค้า สภาอุตสาหกรรมและสมาคมธนาคารไทย

ไม่ต้องไปหารือกับ พม่า กัมพูชา ลาว หรอก

เพราะข้อมูลภายในอันน่าจะเป็น “เรา” ด้วยกันก็มีความแตกต่างอย่างยิ่ง

 

การโบ้ยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลก่อนแต่กาลอดีต สามารถทำได้แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า

หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร เป็นอะไร

เหตุปัจจัยอะไรทำให้บทสรุปและมุมมองของพวกเขาจึงแตกต่างไปจากกระทรวงแรงงาน แตกต่างไปจากรัฐบาลและแตกต่างไปจากคสช.

นี่คือปัญหามูลฐาน 1 ในทางความคิด ในทางความรู้

เป็นปัญหาที่ไม่ว่า “เรา” ไม่ว่า “เขา” มีความจำเป็นต้องสรุป