เมืองใหม่กรุงเทพฯ ยุคคณะราษฎร/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เมืองใหม่กรุงเทพฯ

ยุคคณะราษฎร

 

การศึกษาเรื่องเมืองในยุคคณะราษฎรมีช่องว่างที่ยังรอการศึกษาอยู่อีกมาก แม้มีงานศึกษาพอสมควรตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่เกือบทั้งหมดเน้นหนักไปที่เมืองใหม่ลพบุรี สระบุรี และเพชรบูรณ์ ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือไม่ก็เป็นการศึกษาในประเด็นเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการเทศบาลเมืองยุคหลัง 2475 เป็นหลัก โดยแทบไม่มีงานศึกษาอย่างจริงจังเลยในประเด็นว่าด้วย “เมืองใหม่กรุงเทพฯ ยุคคณะราษฎร”

อาจมีบ้างที่ศึกษาเฉพาะในบางย่านของพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ทุ่งบางเขนที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างมากหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในฐานะสัญลักษณ์ใหม่ แต่เป้าหมายของการศึกษาก็ยังดูเน้นไปที่อาคารสิ่งก่อสร้างมากกว่าในแง่ของการออกแบบวางผังเมืองในภาพรวม

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเมืองเก่ากรุงเทพฯ งานศึกษาในระดับการออกแบบและวางผังเมืองนั้นไม่ปรากฏเลย ส่วนใหญ่พูดถึงเพียงในระดับตัวอาคารเป็นหลังๆ เท่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะโครงการในระดับผังเมืองขนาดใหญ่ในย่านเก่ากรุงเทพฯ อาจมองไม่เห็นชัดมากนักโดยเฉพาะหากเราพิจารณาแค่เพียงมิติทางกายภาพ

โครงการใหญ่ที่สุดก็มีเพียงการปรับปรุงถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งหากมองเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เราก็จะเห็นแต่เพียงการสร้างอาคารใหม่ลงบนพื้นที่ถนนเดิมที่ตัดขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากเรามองลึกลงไปมากกว่าลักษณะทางกายภาพของเนื้อเมืองที่อาจไม่ต่างกันมากนัก โดยมองไปที่ความหมายใหม่และการจัดการพื้นที่อย่างใหม่ (แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เดิมที่สร้างมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้า) กฎระเบียบที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ ตลอดจนรูปแบบการใช้สอยพื้นที่เมืองต่างๆ อย่างใหม่ ผมคิดว่าเราจะมองเห็นภาพของ “เมืองใหม่กรุงเทพฯ” ที่เกิดขึ้นอย่างแตกต่างและแยกขาดในหลายมิติออกจากเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในยุคก่อนหน้า

ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 3 ประเด็นที่ “เมืองใหม่กรุงเทพฯ ยุคคณะราษฎร” (จริงๆ เมืองในจังหวัดอื่นก็เปลี่ยนไปในลักษณะเดียวกันนะครับ) แตกต่างออกไปอย่างมากจาก “เมืองยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

 

ประการแรก พื้นที่เมืองหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนจากการเป็น “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” (quasi-public space) มาสู่การเป็นพื้นที่ “สาธารณะ” (public space) อย่างแท้จริง

สนามหลวง, ลานพระบรมรูปทรงม้า, สวนสาธารณะ, ไปจนถึงถนนหนทางและทางเท้า ฯลฯ คือรูปธรรมของความเปลี่ยนแปลงนี้

สนามหลวงที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ.2325 มักถูกอธิบายในงานเขียนเกี่ยวกับเมืองและผังเมืองที่ผ่านมาว่าคือ “พื้นที่สาธารณะ” แห่งแรกๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้องนัก

หากพิจารณาอย่างท่องแท้ สนามหลวงก่อน 2475 คือ “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” ในความหมายของการเป็นพื้นที่ที่อาจเปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงได้จริง แต่ในแง่ความเป็นเจ้าของแล้ว ยังมีลักษณะเป็นของส่วนตัว ในกรณีนี้ก็คือเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์ ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้ จะมีกฎเกณฑ์ เงื่อนไข ตลอดจนลักษณะการใช้งานที่จำกัดจำเพาะสำหรับคนบางกลุ่มและกิจกรรมบางประเภทเท่านั้น

ในขณะที่ “พื้นที่สาธารณะ” โดยหลักการ คือพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐ ในฐานะตัวแทนของประชาชนทุกคน ซึ่งหมายความว่าโดยแท้จริงแล้ว ประชาชนคือเจ้าของพื้นที่ดังกล่าว และดังนั้น พื้นที่ในนิยามนี้จะเปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนได้เข้ามาใช้สอย จัดกิจกรรม และสามารถแสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรี ภายใต้เงื่อนไขการใช้ กติกา และกฎหมายชุดเดียวกันที่บังคับใช้อย่างเสมอหน้ากันทุกคน

ด้วยเหตุนี้ แม้ในทางกายภาพ สนามหลวงก่อนและหลัง 2475 จะมีหน้าตาไม่ต่างกันเลย แต่ในด้านความหมายกลับแตกต่างกันสิ้นเชิง

ลานพระบรมรูปทรงม้าก็เช่นกัน ก่อน 2475 คือลานหน้าท้องพระโรงภายในพระราชวังสวนดุสิต ที่แม้จะเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้สอย แต่ก็มีสถานะเป็นเพียงพื้นที่กึ่งสาธารณะ ในขณะที่หลัง 2475 พื้นที่ลานแห่งนี้ได้เปลี่ยนไปสู่พื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง เห็นได้จากกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งพระราชพิธี, รัฐพิธี และกิจกรรมของประชาชน ทั้งงานรื่นเริงไปจนถึงกิจกรรมทางการเมือง

ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองจาก “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” มาสู่ “พื้นที่สาธารณะ” เป็นประเด็นแรกที่ผมคิดว่ายังรอการศึกษาอย่างจริงจังในอนาคต

 

ประการที่สอง การเกิดขึ้นของอาคารสาธารณะเพื่อตอบสนองกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ ของประชาชนในยุคคณะราษฎรนั้น เกิดขึ้นในปริมาณที่มากขึ้นอย่างมีนัยยะควรพิจารณา

สนามมวยราชดำเนิน, สนามศุภชลาศัย (สนามกีฬาแห่งชาติ), เขาดินวนา (สวนสัตว์ดุสิต) และที่สำคัญคือ “เมรุถาวรสำหรับประชาชน” คือตัวอย่างเพียงบางส่วนของอาคารประเภทนี้ ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เราไม่อาจพิจารณามันโดยแยกออกจากการปฏิวัติ 2475 ได้เลย เพราะอาคารเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้ชุดอุดมการณ์ใหม่โดยตรง

การเกิดขึ้นของเมรุถาวรสำหรับประชาชน คือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุด เพราะสยามก่อน 2475 ประชาชนจะเผาศพด้วยวิธีโบราณที่สืบทอดมายาวนานหลายร้อยปี นั่นก็คือ เผาบนเชิงตะกอน (การนำท่อนไม้มาวางขัดกันเป็นตารางสูง วางศพไว้ด้านบน และทำการเผา)

แต่ไม่นานหลังการปฏิวัติ เมรุถาวรที่เผาด้วยเตาไฟฟ้าสมัยใหม่ และไม่อุจาดตา ก็ถูกสร้างขึ้นแห่งแรกที่วัดไตรมิตร และสิ่งก่อสร้างนี้ก็กระจายตัวไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วจนปัจจุบัน

การศึกษาการเกิดขึ้นของอาคารรูปแบบใหม่หรือรูปแบบเดิมแต่มีการใช้งานใหม่ ภายใต้อุดมการณ์อย่างใหม่นั้นยังมีไม่มากนัก เท่าที่มีอยู่ส่วนใหญ่มักศึกษาในแง่ของรูปแบบสถาปัตยกรรมว่ามีหน้าตาอย่างไร สไตล์ไหน และเทียบเคียงได้กับอาคารไหนบ้างที่สร้างขึ้นในยุโรปเพียงเท่านั้น

ห้างสรรพสินค้า, โรงภาพยนตร์, โรงแรม, สวนสาธารณะ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สร้างขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แตกต่างอย่างไร (ที่ไม่ใช่แตกต่างเพียงสไตล์ในการออกแบบเปลือกอาคารนะครับ) กับที่สร้างขึ้นในยุคประชาธิปไตย

ประเด็นนี้ก็ยังรอคอยให้มีคนทำวิจัยอย่างจริงจังอีกมาก

 

ประการสุดท้าย คือลักษณะการใช้งานพื้นที่เนื้อเมืองในส่วนต่างๆ ของประชาชนทั่วไปในยุคคณะราษฎรนั้นแตกต่างอย่างไรจากยุคก่อนหน้า และสะท้อนความหมายตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร

“รัฐนิยม” ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวข้อในการศึกษาทางประวัติศาสตร์มากมายที่ผ่านมา แต่แทบไม่มีที่จะศึกษาการออกรัฐนิยมเหล่านี้ในประเด็นเกี่ยวกับเมือง

รัฐนิยมหลายฉบับมีการพูดถึง วิธีการใช้ “ทางเท้า” และ “วงเวียน” ว่าประชาชนควรใช้สอยอย่างไร เช่น ไม่ควรนั่งกับพื้นหรือนั่งยองๆ ในพื้นที่สาธารณะของเมือง ไม่ควรบ้วนเสลดหรือน้ำหมาก (เป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การยกเลิกการกินหมาก) ไปจนถึงการแต่งกาย เช่น ต้องสวมหมวก ใส่รองเท้า ห้ามนุ่งผ้าหยักรั้ง นุ่งกางเกงนอน นุ่งผ้าขาวม้า นุ่งแต่เสื้อชั้นใน หรือถอดเสื้อเดินไป-มาในพื้นที่เหล่านี้

ความจริงจังมีมากถึงขนาดมีการตั้ง “กรรมการสอดส่องวัฒนธรรมของประชาชนชาวไทย” ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อดูแลการแสดงออกของประชาชนในพื้นที่สาธารณะของเมือง

สิ่งเหล่านี้ ที่ผ่านมาอาจถูกมองไปที่ประเด็นการควบคุมร่างกายพลเมือง ภายใต้แนวคิดแบบเผด็จการ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งเหล่านี้คือวิธีการจัดการการใช้สอยพื้นที่เมืองสมัยใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 ที่สัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกันกับการสร้างอาคารหน้าตาสมัยใหม่ ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังมีคนศึกษาไม่มากนัก

ที่พูดแบบนี้ ไม่ได้กำลังจะบอกว่า เราควรเลิกมอง “รัฐนิยม” เหล่านี้ในฐานะเครื่องมือควบคุมพลเมืองที่โน้มเอียงไปในทางเผด็จการ และหันมามองมันในฐานะเครื่องมือสร้างความเป็นสมัยใหม่ของระบอบประชาธิปไตยนะครับ

เพราะดังที่ผมกล่าวไปแล้วในสัปดาห์ก่อน ทุกอย่างมันซ้อนทับอยู่ในการกระทำเดียวกันได้ รัฐนิยมถูกสร้างขึ้นทั้งต้องการควบคุมคนอย่างเข้มงวดสุดโต่ง และพร้อมกันนั้นก็เป็นไอเดียเพื่อสร้างความเป็นสมัยใหม่ในยุคประชาธิปไตยได้ในเวลาเดียวกันได้ ไม่แปลกแต่อย่างใด

 

ย้อนกลับมาที่ประเด็นอีกครั้ง การแต่งกายและการแสดงออกของประชาชนในพื้นที่สาธารณะที่เปลี่ยนไปจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมคิดว่ามันได้ส่งผลมหาศาลที่ทำให้เมืองไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป แม้ว่ากายภาพของเมืองจะไม่ได้แตกต่างกันเท่าไรก็ตาม

ประชาชนเดิน วิ่ง สัญจร และใช้ชีวิตบน “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” ของเมืองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีทางและไม่มีวันที่จะเป็นรูปแบบเดียวกัน ตลอดจนความหมายเดียวกัน กับการที่ประชาชนเดิน วิ่ง สัญจร และใช้ชีวิตบน “พื้นที่สาธารณะ” ของเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

ทั้งหมดนี้คือ 3 ประเด็นสำคัญ (อย่างน้อยในทัศนะผม) ต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเมืองกับการปฏิวัติ 2475 ในมิติที่ลึกมากขึ้น และเป็นอีกหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับ “คณะราษฎรศึกษา” ในวาระ 90 ปีของการปฏิวัติ 2475 ที่กำลังจะเดินทางมาถึงในปีหน้า