คมกฤช อุ่นเต็กเค่ง : ถึงเวลา “ปาเจราฯ” ไหว้ครู ไหว้ใคร? ไหว้ทำไม?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ต้นเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งบรรดาน้องๆ นักเรียนประถมและมัธยมเริ่มเปิดภาคเรียน (ผมสอนมหาวิทยาลัยยังบ้าปิดเปิดตามอาเซียนอยู่เลย ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้ไปแลกเปลี่ยนหรือไปเรียนอะไรกับเขา) พอถึงสัปดาห์ที่สองก็จะมีกิจกรรมที่ทำให้ผู้ปกครองทั้งหลายวิ่งวุ่นหาดอกไม้และของต่างๆ คือ พิธีไหว้ครู

เพื่อแยกออกจากพิธีไหว้ครูในวิชาชีพต่างๆ เช่น ดนตรีและโขนละคร ผมขอเรียกพิธีไหว้ครูในสถาบันการศึกษาว่า พิธีไหว้ครูสามัญ

ถ้าจำได้นะครับ พิธีไหว้ครูสามัญนี้ เด็กๆ ก็พากันเอาดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้ครูผู้สอน สมัยนี้เด็กเยอะก็มีพานไหว้ครูของแต่ละชั้นเรียน มีตัวแทนสวยๆ หล่อๆ ของชั้นนั้น ประธานในพิธีที่เป็นคนใหญ่คนโตจุดเทียนธูป เจิมหนังสือ เด็กๆ ก็ท่องปาเจราฯ คำไหว้ครู จบแล้วเอาพานไปกราบครูผู้สอน เป็นเสร็จพิธี

ส่วนมากก็มีกิจกรรมเพิ่มเติม เช่น การประกวดประชันขันแข่งพานไหว้ครูทั้งแบบสวยงามและแบบสร้างสรรค์

แต่บางปีก็มีข้อถกเถียงหลายอย่าง เช่น ควรจะปรับพิธีไหม โดยเฉพาะกับนักเรียนที่นับถือต่างศาสนาหรือไม่ได้นับถือศาสนา หรือควรจะเป็นเรื่องที่นักเรียนจัดให้ครูเองไหม ฯลฯ

ก่อนจะไปสู่ประเด็นเหล่านั้น ผมคิดว่าเราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามพื้นฐานที่สุดเลยครับว่า ไหว้ครูคือไหว้ใคร? และไหว้ทำไม?

 

พิธีไหว้ครูสามัญอย่างที่ทำในสถาบันการศึกษานี้เป็นของใหม่กว่าพิธีไหว้ครูอย่างอื่นหมด เช่น ไหว้ครูวิชาชีพช่างและโขนละคร ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นการปรับใช้มาจากพิธีไหว้ครูอื่นๆ อีกชั้นหนึ่ง

พิธีไหว้ครูโบราณ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าว่า แต่เดิมมาจากการไหว้ผีเดือนห้า คือชาวบ้านเตรียมจะลงเพาะปลูก ก็เอาอุปกรณ์ทำเพาะปลูกเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งสมัยโบราณเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาเซ่นวักทำขวัญ แล้วจึงค่อยเอาไปใช้งาน ครั้นต่อมาค่อยกลายมาเป็นพิธีไหว้ครู โดยไปผสมกับศาสนาพราหมณ์ทั้งตัวเทพเจ้าและพิธีกรรม

ชาวบ้านเชื่อว่า เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้มี “ขวัญ” อยู่ บางชิ้นก็มีศักดิ์สูง เป็นสัญลักษณ์แทนผีก็มี ซึ่งคุณสุจิตต์ว่า เดิมเป็นสมบัติของผู้หญิง โดยเฉพาะของโลหะต่างๆ แล้วจึงถ่ายโอนมาเป็นสมบัติของผู้ชาย

อันนี้เป็นเรื่องศาสนาและความเชื่อดึกดำบรรพ์เลยเชียว ไหว้ครูมีรากเก่าถึงปานนี้

 

ดราม่าที่มีการแชร์ในโลกโซเชียลอันหนึ่ง คือพิธีช่างภาพไหว้ครูโดยมีกล้องถ่ายรูปวางเรียงรายอยู่บนแท่นพิธี ครั้นมีผู้ไปทักท้วงว่ามันมีด้วยเหรอ เขาก็ว่า ทำไมช่างจะแสดงความกตัญญูต่อครูผู้สอนบ้างไม่ได้ แต่ผมว่ามันคนละเรื่องกันกับแนวคิดเรื่องไหว้ครูแต่โบราณเลยครับ แต่ถ้าเชื่อว่าของสมัยใหม่อย่างกล้องมีผีครู ก็ไม่ว่ากัน

ดังนั้น ครูในความหมายเดิม จึงไม่ได้หมายถึงคนสอนหนังสือเท่านั้น แต่หมายถึง “ผี” นั่นแหละครับ ทางใต้บ้านผมเขาเรียกผีบรรพบุรุษในทางศิลปะพื้นบ้านต่างๆ ว่า “ครูหมอ” เช่น ครูหมอโนรา ครูหมอหนังตะลุง ซึ่งครูหมอเหล่านี้ก็สิงอยู่ในของต่างๆ ทางการแสดง เช่น หน้าพราน ตัวหนังและเทริดนั่นแหละครับ ฝ่ายพวกปี่กลองก็สิงในเครื่องดนตรีของเขา

เมื่อศาสนาพราหมณ์เข้ามา ก็เอาเทพยเจ้าของพราหมณ์เข้ามาผสมกับผีครูด้วย ครั้นพอพิธีเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับราชสำนัก จึงทำให้เทพยเจ้าเหล่านี้มีศักดิ์สูงกว่าผีทั้งหลาย หน้าพรานจึงกลายเป็นหน้าฤษีหรือพ่อแก่ และเพิ่มหน้าครูที่เป็นเทพแขกเข้ามาด้วย

แต่กระนั้น การบูชาครู โดยแก่นหลักยังใช้ของเซ่นวักตามแบบผีอย่างเดิม เช่น หัวหมู เหล้าข้าว แต่เพิ่มเอาของกินพราหมณ์เข้ามาคือเครื่องกระยาบวชบายศรีที่ไม่มีของสดคาวเพื่อที่เทพของแขกจะเสวยได้ ท่านพระมหาราชครูฯ จึงอธิบายไว้ว่า การบวงสรวงแบบไทยคือ “แบบรวม” คือเอาของถวายสำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกประเภทมาไว้ร่วมกันในที่เดียว

เสวยกันแบบบุฟเฟ่ต์ องค์ไหนไม่เสวยไม่กินอะไรก็ว่ากันไป

ไหว้ครูแบบนี้จะมาพร้อมการ “ครอบ” คือประสิทธิ์ประสาทให้เรียนให้ใช้สิ่งนั้นๆ ซึ่งเหมือนการ “สืบผี” ไปนั่นเอง แต่ผีบนหิ้งจะทำครอบให้อย่างไรได้ ก็ต้องให้ตัวแทนที่มีชีวิตคือครูหรือผู้ประกอบพิธีทำครอบให้ เมื่อจะครอบ ครูที่มีชีวิตจึงแสดงตัวว่าเป็นตัวแทนผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ สมัยก่อนอาจใช้ให้เข้าทรงผีโดยตรง แต่ต่อมาโดยเฉพาะไหว้ครูธรรมเนียมราชสำนักจึงเลิกเข้าทรงผี แต่ทำเสมือนพราหมณ์ เพราะมีหน้าที่ติดต่อเทพยเจ้าได้เหมือนหมอผี

โดยสรุป ไหว้ครูของเราจึงไม่ได้ไหว้คนสอนโดยตรงนะครับ คนสอนหรือผู้ประกอบพิธีเป็นตัวแทนผีอีกชั้นนึง แต่มิได้แปลว่าไม่เคารพนบนอบคนสอน อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

 

แนวคิดเรื่อง “ความกตัญญูกตเวที” ที่นำไปใส่ไว้ในพิธีไหว้ครูนั้น จึงเป็น “ศีลธรรม” ที่มาทีหลังพิธีกรรม ใส่เข้าไปเพื่อให้พิธีกรรมมีความหมายขึ้นสำหรับโลกสมัยใหม่

การไหว้ครูเรียนหนังสือแต่เดิมก็มีลักษณะคล้ายๆ กันนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า เมื่อจะเรียนหนังสือในสมัยที่ทรงพระเยาว์นั้น ผู้เรียน (คือพระองค์ท่าน) ก็จะต้องเอาดอกไม้ธูปเทียนไปหาครูในวันพฤหัสบดี ไปถึงที่เรียนก็มีหนังสือ (หรือสมุดไทย) วางบนพาน จุดธูปเทียนแล้วก็กราบไหว้หนังสือนั้น แล้วจึงเรียน

เห็นได้ว่าแม้แต่การเรียนหนังสือก็ไม่ได้เป็นการไหว้ผู้สอน แต่ไหว้หนังสือนั้น เพราะในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ หนังสือเป็นของที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง ทำไว้ในพระศาสนา ศักดิ์สิทธิ์ด้วยสิ่งที่บันทึกไว้ และแม้แต่ตัวหนังสือแต่ละตัวก็ศักดิ์สิทธิ์

ครั้นมีการศึกษาแผนใหม่ขึ้นซึ่งรับรูปแบบโรงเรียนอย่างตะวันตกในช่วงสมัยรัชกาลที่ห้าและหกนั้น กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการก็ได้ทำพิธีไหว้ครูสามัญ

ดังมีหนังสือของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกราบบังคมทูลรัชกาลที่หก เพื่อขอพระบรมราชานุญาตจัดพิธีไหว้ครูให้กับนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงครั้งแรกขึ้นในปี พ.ศ.2453

พิธีในครั้งนั้น มีรายละเอียดในหนังสือของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีว่า “ครูและนักเรียนทั้งหลายได้บ่ายหน้าสู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทพร้อมกันกระทำใจระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และถวายคำนับแล้วนั่งลงยังที่ ต่อนี้ไปได้ทำพิธีไหว้ครูตามธรรมเนียมของกรมศึกษาธิการ คือให้นักเรียนจุดธูปเทียนบูชาที่โต๊ะหนังสือ ซึ่งจัดตั้งไว้โดยเฉภาะ (อักขรวิธีในสมัยนั้น) แล้วให้นักเรียนอ่านคำไหว้ครูด้วยกิริยาเคารพ”

จะเห็นได้ว่าแม้แต่พิธีไหว้ครูสามัญในสมัยนั้นก็ยังไหว้หนังสืออยู่เลยนะครับ แม้ว่าจะมีคำไหว้ครูซึ่งมีเนื้อความใกล้เคียง ปาเจราฯ ในปัจจุบัน คือไหว้ครูผู้สอนรำลึกถึงพระคุณต่างๆ

ครั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ย้ายมารวมกับวชิราวุธวิทยาลัย พิธีไหว้ครูในสมัยพระยาภะรตราชาเป็นผู้บังคับการก็เปลี่ยนไปโดยให้มีโต๊ะวางพานดอกไม้ธูปเทียนและให้จุดธูปเทียนบูชาครูผ้สอน ซึ่งนั่งอยู่หลังโต๊ะบูชานั้นแทน

 

ปัจจุบันนี้ พิธีไหว้ครูเน้นกราบไหว้ครูผู้สอนเป็นสำคัญทั้งในตัวพิธีและคำไหว้ครู และมีหนังสือเข้าไปร่วมในพิธีเพียงแค่ประธานในพิธีจะเจิมหนังสือนั้นเงียบๆ โดยแทบจะไม่มีใครสนใจอะไร

การไหว้ครูซึ่งหมายถึงคนสอนเพียงอย่างเดียวอันไม่เคยมีรากเหง้าในวัฒนธรรมไทย ทั้งยังไม่มีในวัฒนธรรมการเรียนของฝรั่ง จะโบราณก็ไม่ใช่ จะสมัยใหม่ก็ไม่ใช่อีก ลูกผีลูกคน ประดักประเดิดจึงมีขึ้นมาและกลายเป็นประเพณี

ดังนั้น ผมคิดว่าเราควรมาทบทวนกันอีกครั้งว่าเราจะไหว้ครูสามัญทำไม มีความคิดแบบไหนอยู่เบื้องหลัง จะเอาอย่างโบราณหรือจะเอาสมัยใหม่

โบราณคือย้อนกลับไปไหว้ผี สมัยใหม่หน่อยคือกลับมาเน้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์

ถึงผมจะชอบอดีตและเรื่องเก่าๆ แต่มิได้แปลว่าผมจะเสนอให้เราย้อนไปไหว้ผีนะครับ ที่จริงการไหว้ครูที่มีความเชื่อเรื่องผีและศาสนามีอยู่อย่างบริบูรณ์ดีแล้วในศิลปศาสตร์การช่างต่างๆ ผมคิดว่าไหว้ครูสามัญในโรงเรียนก็น่าจะเอามโนทัศน์สมัยใหม่ไปเลย เน้นความรัก ความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือคนสอนกับนักเรียน

ละเลิก “ความศักดิ์สิทธิ์” ของครู (คน) ที่มีนัยของอำนาจ ซึ่งไม่เคยมีมาที่ไหนทั้งโลกโบราณและสมัยใหม่ที่ต้องกราบต้องไหว้มนุษย์ขี้เหม็น แต่เปลี่ยนให้การไหว้ครูเป็นพิธีกรรมที่ฟื้นฟูความรักความเมตตาต่อกันทั้งสองฝ่าย

จะเป็นเช่นนี้ได้ อย่างแรกต้องเลิกกำหนดหรือบังคับให้นักเรียนมาไหว้ครูก่อนนะครับ ที่จริงคิดๆ ไปก็ตลก คือบังคับให้เด็กมาไหว้ตัวเอง แล้วก็ซาบซึ้งราวกับนักเรียนถ้วนทั่วทุกคนสมัครใจพากันมากราบไหว้ หลอกในหลอกของแท้

ควรแค่กำหนดไว้ในปฏิทินว่า ถ้าจะจัดจะจัดวันไหนหรือช่วงไหน แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องนักเรียนเขาตัดสินใจเอง เขาจะมาไหว้หรือไม่ไหว้เรื่องของเขา อันนี้ต้องใจกว้างไว้ และอาจต้องปรับรูปแบบ ไม่ต้องกราบไหว้ ไม่ต้องทำทั้งโรงเรียนแต่ทำกันแต่ละห้องเรียน มีการมอบของขวัญหรือดอกไม้ให้กัน อ่านบทประพันธ์ดีๆ ด้วยกัน เสร็จแล้วก็เล่นกีฬาและอาจมีกินขนมคุยกัน แต่ถ้าอยากจะจัดในรูปแบบโบราณอันนี้ก็แล้วแต่จะตกลงกันก็ได้

ผมเชื่อครับว่า การตีความและประยุกต์พิธีกรรมเช่นนี้จะเป็นประโยชน์และน่าทดลองจริงๆ

แต่ผมอาจฝันมากไป ใครช่วยเอาพานไหว้ครูมาตีให้ตื่นหน่อย