1 กรกฎาคม 2564 ครบรอบ 110 ปีลูกเสือไทย/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

วูดแบดจ์สองท่อน

 

1 กรกฎาคม 2564

ครบรอบ 110 ปีลูกเสือไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2454 ทรงมีพระราชปรารภและกำหนดวัตถุประสงค์ของการลูกเสือไทยเอาไว้เป็นหลักการที่สำคัญของกิจการลูกเสือไทย

พระองค์ในฐานะองค์สภานายกสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือ ได้ทรงริเริ่มสร้างสรรค์รูปแบบ วิธีการ พิธีการและกิจกรรมเกี่ยวกับกิจการลูกเสือไว้อย่างทรงคุณค่ายิ่ง

พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยลูกเสือจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังต่อไปนี้ ฯลฯ

ให้มีคณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วยบรรดาลูกเสือทั้งปวงและบุคลากรทางการลูกเสือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ

การปกครอง ส่วนที่ 1 ให้มีสภาลูกเสือไทย ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นสภานายก รองนายกรัฐมนตรีเป็นอุปนายก และกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนหนึ่ง รวมถึงผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 80 คน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย

ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งจากรองปลัดกระทรวงศึกษาคนหนึ่งทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงอื่นในกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการโดยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้เสนอ

ส่วนที่ 2 คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เป็นองค์การบริหารของคณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนหนึ่ง รวมผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 15 คน ซึ่งสภานายกสภาลูกเสือไทยแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติตามประธานกรรมการและกรรมการ และในจำนวนดังกล่าวต้องมาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขานุการและผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

สำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ

สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เลขาธิการคือ ดร.สุทิน แก้วพนา

 

เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-วันที่ 31 มีนาคม 2564

ทั้งนี้ วันที่ 29 มีนาคม 2564 นางเบญจางค์ ถิ่นธานี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) กล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์ จากนั้นนายสุทิน แก้วพนา เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ทำพิธีเปิดและมอบทิศทางการพัฒนาสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และกิจการลูกเสือ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570)

จบแล้ว นายสกนธ์ ชุมทัพ ที่ปรึกษาสำนักงานลูกเสือแห่งชาตินำเสนอร่างยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการลูกเสือ ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ.2566-2570 (นายสกนธ์ ชุมทัพ อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ ทรงคุณวุฒิ)

กรอบความคิดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนากิจการลูกเสือ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทางด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 13 แผนพัฒนาประเทศ 20 ปี นโยบายรัฐบาล จุดเน้นเชิงนโยบาย กระทรวงศึกษาธิการ ไปสู่แผนยุทธศาสตร์พัฒนากิจการลูกเสือ 2566-2570 จากปัญหาและความต้องการกิจการลูกเสือของประชาชน ภารกิจ/ข้อมูล-สารสนเทศของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ วัตถุประสงค์คณะลูกเสือแห่งชาติ นโยบายของสภาลูกเสือไทย ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

จากการศึกษา สร้างคนสร้างชาติ ไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพด้วยความรู้/ทักษะ ผ่านการศึกษาสู่ลูกเสือ 1 คน เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ สร้างคนดีมีคุณธรรม พัฒนาชาติให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้เป็นคนมีความรู้คู่คุณธรรม

วิสัยทัศน์ มุ่งพัฒนาลูกเสือไทยให้เป็นพลเมืองดีของสังคม

พันธกิจ

1.พัฒนาการฝึกอบรมลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ 2.ปรับปรุง พัฒนาค่ายลูกเสือ 3.บริหารจัดการทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ของลูกเสือ 4.ปรับปรุง พัฒนาการบริหารจัดการกิจการลูกเสือและเครือข่าย

ยุทธศาสตร์

1. ปรับปรุง พัฒนาหลักสูตร และการจัดกิจกรรม การฝึกอบรมลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือให้ทันสมัย

2. ปรับปรุง พัฒนาค่ายลูกเสือ และกิจการลูกเสือให้มีประสิทธิภาพ

3. พัฒนาระบบ วิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

4. ปรับปรุง พัฒนาระบบ รูปแบบการบริหารจัดการกิจการลูกเสือและเครือข่ายตามหลักธรรมาภิบาล

เป้าประสงค์

1. หลักสูตรและกิจกรรมการฝึกอบรมลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือทุกระดับ ทุกประเภทมีความทันสมัย

2. ให้ค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

3. มีระบบและวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ของลูกเสือที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

4. มีระบบการบริหารจัดการกิจการลูกเสือและเครือข่ายที่ดีแบบมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาล

ตัวชี้วัดความสำเร็จตามเป้าประสงค์

1. หลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือทุกระดับ/ประเภท ที่ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย

2. กิจกรรมลูกเสือทุกระดับ/ประเภท ที่ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย

3. ค่ายลูกเสือที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ

4. กิจการลูกเสือที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ

 

กลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับปรุง พัฒนาหลักสูตรและการจัดกิจกรรมฝึกอบรมลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือให้ทันสมัย

กลยุทธ์ 1.จัดทำเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัย 2.ปรับกระบวนการเรียนรู้เป็น Active Learning 3.พัฒนาสื่อให้เหมาะสมและทันสมัย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ปรับปรุง พัฒนาค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือให้มีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ 1.ฟื้นฟูค่ายลูกเสือทั่วประเทศให้พร้อมใช้งาน 2.แสวงหาทรัพยากรเพื่อพัฒนาค่ายลูกเสือ 3.วางแผนระบบ ระเบียบการใช้ค่ายลูกเสือที่ได้มาตรฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาระบบ วิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ 1.จัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า 2.ทบทวนสิทธิประโยชน์กับหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นมาตรฐาน 3.ดำเนินการหารายได้จากทรัพย์สินทุกช่องทางที่มีกฎหมายรองรับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับปรุง พัฒนาระบบ รูปแบบการบริหารจัดการกิจการลูกเสือและเครือข่ายตามหลักธรรมาภิบาล

กลยุทธ์ 1.พัฒนามาตรฐานการทำงานของบุคลากรลูกเสือทุกระดับ/ประเภท 2.ประชาสัมพันธ์กิจการลูกเสือทุกรูปแบบและต่อเนื่อง

 

จากร่างยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการลูกเสือของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ.2566-2570 ซึ่งสกนธ์ ชุมทัพ นำเสนอเป็นเบื้องต้น ยังมีบทวิเคราะห์ภารกิจสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

พระราชบัญญัติลูกเสือเริ่มด้วยองค์ประกอบ คณะลูกเสือแห่งชาติ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสภาลูกเสือไทย นายกรัฐมนตรีเป็นสภานายก รองนายกรัฐมนตรีเป็นอุปนายก คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นเลขานุการ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่งเป็นเลขาธิการ

คณะกรรมการลูกเสือจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สำนักงานลูกเสือจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นหัวหน้า คณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่ สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นประธานและหัวหน้า

วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ

 

พัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ ตามแนวทางดังนี้

1. ให้ (ลูกเสือ) มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง

2. ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

3. ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์

4. ให้รู้จักทำการฝีมือและฝึกฝน ให้ทำกิจการต่างๆ ตามความเหมาะสม

5. ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติ

อำนาจหน้าที่ของสภาลูกเสือไทย

 

1.วางนโยบายเพื่อความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของคณะลูกเสือแห่งชาติ

2. ให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

3. พิจารณารายงานประจำปีของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

นโยบายของสภาลูกเสือไทย

 

1.เร่งพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือทุกระดับ ทุกประเภท ให้ได้มาตรฐานตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ โดยพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจและศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ รวมทั้งกำหนดแนวทาง วิธีการจัดกิจกรรมลูกเสือให้เหมาะกับทุกระดับและทุกประเภท

2. เร่งพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือและเครือข่ายให้ได้มาตรฐานและเกิดความเข้มแข็ง สามารถปฏิบัติงานได้ทันต่อเหตุการณ์ ด้วยการทบทวนองค์ความรู้และสร้างประสบการณ์เพิ่มเติมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (ด้วยการจัดหาบุคลากรชาติที่มีคุณค่ามาดำเนินการ)

3. ยกระดับค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือให้ได้มาตรฐานสากล ด้วยการสำรวจ ตรวจสอบค่ายลูกเสือทั่วประเทศ เพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนาค่ายลูกเสือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (ต้องพิจารณาถึงงบประมาณว่ามีเพียงพอหรือไม่)

4. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ของลูกเสือ ด้วยการจัดระบบและมีวิธีการบริหารจัดการที่ดี มีระเบียบรองรับการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้

5. พัฒนาระบบ ระเบียบ วิธีการบริหารจัดการกิจการลูกเสือที่ดี มีคุณภาพ แบบมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาล

6. สร้างพลังแผ่นดินในรูปแบบของ “จิตอาสาเพิ่มขึ้น” เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพสังคมไทยร่วมกัน โดยใช้กระบวนการลูกเสือ

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

 

1.ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ และตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย

2. ส่งเสริมความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ

3. สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาการบุคลากรทางการลูกเสือ

4. สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

5. จัดการทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

6. ให้ความเห็นชอบในการลงทุน เพื่อประโยชน์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

7. ออกข้อบังคับของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

8. วางระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ

9. จัดทำรายงานประจำปีเสนอสภาลูกเสือไทย

10. แต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

11. แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมาย

12. กำกับดูแล สนับสนุนและส่งเสริมกิจการลูกเสือชาวบ้าน

13. จัดตั้งตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และตำแหน่งอื่นใดที่มิได้ระบุไว้ใน พ.ร.บ.นี้

14. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

สํานักงานลูกเสือแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ และตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย ดังนี้

1. ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินของคณะลูกเสือแห่งชาติ หรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน

2. ทำนิติกรรมสัญญา หรือข้อตกลงอื่น

3. รับผิดชอบการดำเนินของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ (เป็นฝ่ายเลขานุการ)

4. ควบคุม ดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของลูกเสือ

5. จัดให้มีการฝึกอบรมหรือการชุมนุมลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสือ

6. จัดทำรายงานประจำปีพร้อมงบดุล เสนอคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

7. จัดจัดให้มีทะเบียนและสถิติเกี่ยวกับลูกเสือ (BIC DATA)

8. ประสานและส่งเสริมสำนักงานลูกเสือจังหวัด และสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา

9. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และตามมติของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

 

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยครบรอบ 110 ปี วันนี้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551

ประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ คนปัจจุบันคือ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (มอบหมายให้นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่แทนตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการคนก่อน)

คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติชุดปัจจุบันมีผู้ตรวจการรวม 5 ตำแหน่ง ที่ควรมีอีกตำแหน่งหนึ่งคือ ผู้ตรวจการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีความจำเป็น และเป็นตำแหน่งหนึ่งในคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และประสานงานลูกเสือโลกประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งเป็นไปตามกลยุทธ์ข้อ 5 ในยุทธศาสตร์ที่ 4 “ประชาสัมพันธ์กิจการลูกสือทุกรูปแบบและต่อเนื่อง”

ทั้งในคณะกรรมการบริหารชุดนี้ เท่าที่ทราบ มีกรรมการบริหารซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่งานด้านประชาสัมพันธ์ให้กับคณะลูกเสีอแห่งชาติมานานหลายสิบปี

เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามยุทธศาสตร์และภารกิจของคณะลูกเสือแห่งชาติรวมทั้งทิศทางของลูกเสือไทยในห้วงจากนี้ไป สมควรที่คณะกรรมการบริหารจะพิจารณาแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายประชาสัมพันธ์ขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง

หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่จะเห็นความสำคัญของการประชาสัมพันธ์กิจการลูกเสือในวาระแห่งการพัฒนาลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือให้เป็นผู้นำด้านการฝึกอบรมและพัฒนาลูกเสือ บุคลากรทางการลูกเสือระดับชาติเพื่อยกระดับคุณภาพลูกเสือไทยสู่ลูกเสือระดับสากลจากยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการลูกเสือใน 5 ปีจากนี้