สลา คุณวุฒิ ‘คนไม่เก่ง’ กับ ‘สะพานเสียงเพลง’ ที่ช่วยชีวิตคนได้/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

สลา คุณวุฒิ ‘คนไม่เก่ง’

กับ ‘สะพานเสียงเพลง’ ที่ช่วยชีวิตคนได้

 

ถ้าไม่ได้ยินจากปากคงยากจะคิดไปถึง ว่าอาชีพนักแต่งเพลงของสลา คุณวุฒิ ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง เริ่มต้นจากความบังเอิญ เพราะแต่ไหนแต่ไรเป้าหมายที่เขาฝันไว้คือการเป็นนักเขียนนวนิยาย และได้เริ่มฝึกหัดตั้งแต่เรียนชั้นประถม

เรื่องแต่งเพลงนั่นจะว่าไปก็มาจากความสนุกและแรงยุของเพื่อนที่รวมกลุ่มกันร้องเพลงเล่น แล้วมีคนเห็นแววเลยเชียร์ให้ลอง หลังถูกใจจากเพลงจีบสาวที่มีคนมาขอให้ช่วยรังสรรค์

แต่งเล่นๆ ไป-มาอยู่อย่างนั้น กระทั่งถึงช่วงใกล้เรียนจบที่เขาและเพื่อนอีกกลุ่มถูกเลือกให้เป็นตัวแทนห้องตั้งวงโฟล์กซองไปร้องเพื่อร่วมกิจกรรมนักศึกษา

ซึ่งสลาบอกว่ากลุ่มของเขาอยู่ในหมู่ที่เล่นกีตาร์ได้แบบงูๆ ปลาๆ จึงไม่กล้านำเพลงดังๆ ที่มีอยู่มาเล่น เพราะรู้ดีว่า “แกะไม่เหมือน ฝีมือไม่ถึง” สุดท้ายจึงตัดสินใจแต่งเพลงขึ้นมาใหม่

แล้วก็กลายเป็นเพลงที่เพื่อนๆ ชอบ มีหลายคนนำไปร้องต่อ

และนั่นก็ทำให้กำลังใจมา จนกล้าไปดักเจอรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ระหว่างที่นักร้องคนดังไปเปิดการแสดงที่ จ.อุบลราชธานี แล้วก็ดีใจที่สุดเมื่อได้ยินเพลงนั้นถูกรุ่งเพชรนำมาร้อง ในชื่อ ‘สาวชาวหอ’ จนทำให้ “การฝักใฝ่ในด้านการเขียนเรื่องสั้น หันมาเป็นเขียนเพลงแทน เขียนมาเรื่อยๆ จนมาเจอจุดเปลี่ยน คือเมื่อเขียนจดหมายผิดซอง”

‘จุดเปลี่ยน’ ที่ใช้เวลาถึง 11 ปีกว่าที่จะได้พบ

 

สลาซึ่งมีงานหลักคือเป็นครูสอนหนังสือบอกว่า หลังจากเพลงสาวชาวหอถูกนำไปขับร้อง ชื่อเสียงของเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จัก

“ก็ถือว่าดัง ก็เลยทำให้เรามุ่งมั่นเขียนเพลงแทบทุกวัน สิ้นเดือนต้องมีอย่างน้อย 10-12 เพลง รู้ว่าที่ไหนเขารับ จะส่งไปหมด ไม่อยากเชื่อว่า 10 กว่าปีไม่มีผลตอบรับ”

“แต่ไม่รู้สึกท้อ เพราะมีความรู้สึกว่าเรารักที่จะเขียน รวมไปถึงงานเราก็น่าจะยังไม่ดีพอ”

ที่ไม่ท้อตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ครูเพลงที่คนในแวดวงยอมรับความสามารถบอกว่าคงเพราะเขาไม่เคยคาดหวัง แค่ตั้งใจทำด้วยความรัก ความชอบ แถมตอนที่ส่ง “เราจะท่องคำว่าไม่ได้หรอก”

“แต่ก็ไม่หยุด”

มีครั้งเดียวจริงๆ ที่แหกกฎนี้ ก็ตอนที่แม่ป่วยและจำเป็นต้องใช้เงินในการรักษา ที่เขาหวังสุดใจอยากขายเพลงให้ได้ แต่เขียนไปได้เพียง 8 เพลง แม่ก็จากไปเสียก่อน

นึกถึงตอนนั้นแล้ว เขายังจำได้แม่นว่าตัดสินใจทันทีว่าจะเลิกเขียน และมุ่งเอาดีในการเป็นครู จึงเอาทั้ง 8 เพลงไปเสนอขาย ขายแบบไม่เต็มอัลบั้มนั่นแหละ และก็ได้คำตอบอย่างไม่นึกฝันว่า มีบริษัทดังรับซื้อไปทั้งหมด

เส้นทางชีวิตก็เลยวกกลับมาอีกครั้ง

 

สลาซึ่งมีเพลงดังมากมาย ทั้ง ‘จดหมายผิดซอง’, ‘กระทงหลงทาง’, ‘ยาใจคนจน’, ‘ปริญญาใจ’ ฯลฯ บอกด้วยว่า ในบรรดาเพลงจำนวนมากที่เขาแต่งไว้ เอาเข้าจริงเขาเลือกไม่ได้หรอกว่าเพลงไหนที่เขารักหรือว่าชอบที่สุด

“จะเคารพทุกงานที่เขียน ส่วนเพลงไหนจะได้ ไม่ได้ เป็นที่ชาวบ้านตัดสิน บางเพลงที่เราไม่มั่นใจเลย เขียนรีบๆ แต่โดน ชาวบ้านชอบ เป็นเพลงดังก็มี บางเพลงตั้งใจมาก ชื่นชอบมา แต่เงียบก็มี แล้วบางเพลงก็ได้ทั้งสอง คือได้ทั้งความภูมิใจและความสำเร็จ ก็เลยเรียกว่ารักทุกงานดีกว่า”

ครั้นถามว่า ทำไมเนื้อเพลงหลายๆ เพลงที่เขาเขียน จึงมักสะท้อนเรื่องราวของคนต่างจังหวัดที่มีฐานะยากจน เขาตอบตามตรงว่า ในฐานะของคนแต่ง เขาย่อมต้องเสนอเพลงที่คนอยากฟัง

“ถ้าจะถามต่อว่าเพลงที่เขาอยากฟังน่าจะเป็นเพลงอะไร หนึ่งก็เป็นเพลงที่เขาเคยฟัง ก็คือเพลงลูกทุ่ง เพลงบ้านๆ ถ้ามองในประเด็นเนื้อหา ก็ต้องเป็นประเด็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับเขา ฉะนั้น มันก็ต้องเขียนสิ่งเหล่านี้ ต้องเป็นเรื่องแบบนี้ จะมีความเป็นเพื่อชีวิต พูดเรื่องการสู้ชีวิต เรื่องไกลบ้าน ความอกหัก ผิดหวัง เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตเขา”

“เพลงถูกกำหนดโดยผู้ฟัง” เขาว่า

ถามอีกว่าเวลาแต่งเพลงนั้น โน้น นี้มา เขาใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจว่านักร้องคนไหนเหมาะที่จะถ่ายทอดเพลงดังกล่าว

คราวนี้สลาซึ่งเคยเป็นทั้งครูสอนหนังสือในโรงเรียน อีกทั้งยังมีลูกศิษย์ลูกหาอีกหลายคนในวงการ จนเรียกแทนตัวเองติดปากว่า ‘ครู’ ฟังแล้วยิ้ม ก่อนให้คำตอบว่า “ถ้าพูดให้ดูโก้ก็น่าจะเป็นเรื่องเซนส์ แต่คำว่าเซนส์คือมาจากความชำนาญ ไม่ได้เกิดมาจากพรวิเศษ ซึ่งทุกอาชีพมีคนที่มีเซนส์เกี่ยวกับอาชีพตัวเองทั้งนั้น บางทีเขาไม่ได้เก่งมาตั้งแต่เกิด แต่เขาอยู่กับมันมานานจนนิดเดียวเขาก็รู้ คนทำงานเพลงก็เช่นเดียวกัน”

“อย่างครูก็จะประเมินจากที่ชาวบ้านชอบเป็นหลัก หนึ่ง ตัวเราก็เป็นชาวบ้าน สอง ครูไม่เก่งเลย ไม่ได้อยู่แม้กระทั่งในฐานะนักดนตรีอะไร มาสายเด็กเรียน เล่นกีตาร์ไม่เป็น เล่นเครื่องดนตรีไม่เป็นสักอย่าง เพราะฉะนั้นก็อยู่ในฐานะคนฟังคนหนึ่งร่วมกับชาวบ้าน ก็จะรู้ว่าชาวบ้านชอบอะไร ก็หาสิ่งที่เขาชอบมาให้ ทีนี้สิ่งที่เขาชอบก็จะดูจากความสำเร็จของศิลปินที่เราเจอะเจอมา ว่าเสียงแบบไหนเขาชอบ พูดจาวางตัวแบบไหนชาวบ้านรัก และเพลงแบบไหนที่ชาวบ้านชอบ มันก็จะถูกประมวลผลมาอยู่ในประสบการณ์ของเรา”

สิ่งหนึ่งซึ่งเราๆ ต้องยอมรับว่า หลายครั้งหลายคราวมากที่การประมวลผลของเขาได้ผลน่าพอใจ จนส่งผลให้เพลงดัง นักร้องเปรี้ยง

“ดีใจครับ” เขาเผยความรู้สึกพร้อมรอยยิ้มแบบไม่กั๊ก

“อย่างแรกเพลงดัง เราก็มีความสุขอยู่แล้ว จริงๆ ความดีใจในการสร้างงานมันจบตั้งแต่เราสร้างงานได้ แต่ที่ดีใจเป็นพิเศษ คือชาวบ้านชอบอย่างที่เราชอบด้วย”

“และที่สามที่ชอบ คือมันช่วยชีวิตคน อันนี้พูดเหมือนตัวเองดูดีมากเลย แต่มันเป็นเรื่องจริง”

“บางทีเด็ก ลูก-หลานคนหนึ่งซึ่งเขามาจากความจน เขาไม่มีอะไรเลย ความหวังเขาแค่เอาเสียงมาขายเท่านั้นเอง เสียงเขาจะขายได้ก็ต่อเมื่อมีสะพานชื่อ ‘เสียงเพลง’ เป็นตัวเชื่อม แล้วเราไปทำหน้าที่ตรงนั้น เป็นสะพานตรงนั้นให้เขา แล้วพอเพลงดังปุ๊บ ชีวิตเขาเปลี่ยนในทางที่ดี”

“นี่คือความสุขที่สุดเลย”