พยานหลักฐานกับกระแสสังคม/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

พยานหลักฐานกับกระแสสังคม

 

นับจากมีการออกหมายจับนายไชย์พล วิภา หรือ “ลุงพล” ในคดีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” เด็กวัย 3 ขวบ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา จากนั้นก็เกิดความเคลื่อนไหวหลายอย่างจากลุงพลและทนายความคนดัง จนกลายเป็นกระแสข่าวอยู่ระยะหนึ่ง เน้นต่อสู้และตอบโต้ฝ่ายตำรวจ

ไม่ว่าจะเป็นการออกข่าวโจมตีกระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ไม่เชื่อว่ามีพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเพียงพอ รวมทั้งต่อสู้ว่าการออกหมายจับเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แทนที่จะออกหมายเรียก เนื่องจากลุงพลไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี

ไม่เท่านั้น ยังออกข่าวร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กรณีที่ลุงพลเดินทางไปขอมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ ผบ.ตร.ไม่ยอมรับมอบตัว และให้ตำรวจดำเนินการจับกุมแทน

ถัดมาลุงพลและทนายความยังเดินทางไปยังสภา เพื่อพึ่งพิงนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

ทำให้กลายเป็นข่าวเกรียวกราวอยู่พักหนึ่ง

ขณะที่ฝ่ายตำรวจ โดยเฉพาะ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ใช้วิธีนิ่งเฉยไม่เคลื่อนไหวโต้ตอบอะไร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสข่าวฝ่ายลุงพลฮือฮาอยู่เพียงพักเดียว

ฝ่ายตำรวจค่อนข้างมั่นใจในพยานหลักฐานที่ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ถือว่าหนักแน่นมั่นคง

โดยหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ตำรวจเชื่อว่าชัดเจนมากก็คือ การพบเส้นผมของน้องชมพู่ตกภายในรถลุงพล และตรวจพิสูจน์แล้วว่า เป็นเส้นผมที่ผ่านการตัดหั่นหลังจากน้องชมพู่เสียชีวิตแล้ว โดยเป็นชุดเดียวกับเส้นผมกระจุกหนึ่งที่ตกอยู่ข้างศพ ทั้งนี้ การตัดหั่นผมของเด็กหลังเสียชีวิต เป็นการกระทำในทางไสยศาสตร์ แล้วการที่เส้นผมชุดนี้มาตกอยู่ภายในรถของลุงพล ทำให้ตำรวจใช้เป็นหลักฐานในการตั้งข้อกล่าวหา

นอกจากนี้ ผลการตรวจพิสูจน์เส้นผมที่ตกอยู่ข้างศพน้องชมพู่ ยังพบว่ามี 3 เส้นที่ไม่ใช่ของน้องชมพู่ แต่เป็นเส้นผมของคนใกล้ชิดลุงพล ซึ่งตำรวจตรวจสอบแล้วคนใกล้ชิดลุงพลรายนี้ไม่ได้เดินขึ้นไปที่ภูเหล็กไฟ จุดที่พบศพน้องชมพู่ จึงทำให้ตำรวจใช้เป็นประเด็นเชื่อมโยงว่า ต้องติดไปกับตัวลุงพล และตำรวจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าลุงพลต้องไปปรากฏตัวที่จุดซึ่งมีการนำร่างน้องชมพู่มาจัดฉากนั่นเอง

เส้นผมที่หั่นจากศพน้องชมพู่ และเส้นผมคนใกล้ชิดลุงพลที่ไปตกอยู่ข้างศพ เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ตำรวจใช้เชื่อมโยงตั้งข้อกล่าวหานั่นเอง

 

คดีนี้พิจารณาจากข้อหา 3 ข้อ ที่ตำรวจใช้กล่าวหาลุงพล ได้แก่ พรากเด็กไปจากพ่อ-แม่ ทอดทิ้งเด็กจนเป็นเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย และกระทำกับศพ รวมทั้งสภาพแวดล้อมเพื่อให้การชันสูตรและผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

บ่งบอกให้เห็นว่า คดีนี้มีความซับซ้อน ไม่ใช่การมุ่งฆาตกรรมต่อเด็กโดยตรง รูปคดีชี้ว่า มีการนำเด็กออกไปจากบ้านเพื่อไปเที่ยวเล่น แต่อาจจะเกิดความโกรธหรือโมโห จึงมีการปล่อยเด็กไว้ในป่าท้ายหมู่บ้าน จนเป็นเหตุให้เด็กเดินพลัดหลงในป่า จนอดอาหารและน้ำ สุดท้ายเพื่อปกปิด จึงนำร่างเด็กไปไว้บนภูเหล็กไฟ ถอดเสื้อผ้าเพื่ออำพรางคดี

ขณะที่ฝ่ายผู้ต้องหา ยืนยันปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำดังที่ถูกกล่าวหา ตั้งทนายความพร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่!

อีกทั้งเมื่อพนักงานสอบสวนตำรวจจะต้องนำคดีส่งอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไป ที่ผู้ต้องหายังสามารถโต้แย้งต่อสู้คดีได้

หากอัยการเห็นควรส่งฟ้อง คดีนี้ก็จะไปสู่ชั้นศาล ซึ่งผู้ต้องหาก็ยังสามารถต่อสู้คดีได้ เพื่อพิสูจน์ว่าที่ตนเองปฏิเสธข้อหานั้น หนักแน่นน่ารับฟังเพียงใด

แถมยังมีทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา อีกถึง 3 ศาล ที่ยังเปิดให้ลุงพลพิสูจน์ว่าตนเองบริสุทธิ์หรือไม่

เพียงแต่ตำรวจเองนั้น ก็ได้แสดงให้สังคมได้เห็นมาตลอดว่า กระบวนการทำคดีเป็นไปอย่างละเอียดค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลาถึงปีเศษ ไม่ได้เร่งร้อนหรือรวบรัด ไม่ได้มีข้อขัดแย้งเป็นการส่วนตัวอะไรกับผู้ถูกกล่าวหา

ถ้าไปถามคนในแวดวงตำรวจเองก็จะพบว่า คดีนี้คงไม่ใช่การมุ่งจับแพะเพื่อแค่ให้ได้ชื่อว่าปิดคดีสำเร็จ เพราะหากพยานหลักฐานไม่ชัดเจนพอ ถ้าไม่จับกุมใครเลย ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรแก่ตำรวจ อาจจะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์บ้างพอหอมปากหอมคอว่าไร้ฝีมือ

ที่เห็นได้อีกประการหนึ่งก็คือ จุดเริ่มต้นของคดีนี้เมื่อเด็กหายตัวไปในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ขณะนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เป็นรอง ผบ.ตร.ฝ่ายสืบสวนสอบสวน เดินทางไปคุมคดีในเบื้องต้น แต่ก็ไม่ได้ออกข่าวมุ่งกล่าวหาใครเป็นเฉพาะเจาะจง

จนคดีในช่วงแรกเหมือนไม่คืบหน้า และต่อมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ก็ได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ในเดือนตุลาคม 2563 ทั้งที่คดีน้องชมพู่ยังไม่มีอะไรชัดเจน เห็นได้ว่าผลคดีนี้ไม่ได้ผูกพันหรือเป็นเดิมพันว่า ถ้าทำคดีไม่ได้แล้ว พล.ต.อ.สุวัฒน์จะไม่ได้เป็น ผบ.ตร.

ครั้นเมื่อได้นั่งเก้าอี้ผู้นำตำรวจเต็มตัว ก็เปิดแถลงผลการสืบสวนสอบสวนคดี เพื่ออธิบายการทำงานว่าเป็นไปตามพยานหลักฐานเท่านั้น บอกด้วยว่าจะพยายามทำคดีต่อไปจนกว่าจะมีพยานหลักฐานพอจับตัวผู้กระทำผิดได้ จนอีก 8 เดือน จึงมีการออกหมายจับดังกล่าว

 

จะว่าไปแล้วมีหลายคดีดังที่กระแสสังคมกระหน่ำใส่การทำงานของตำรวจอย่างหนัก ว่าตำรวจจับแพะจับผิดตัว บางคดีตำรวจก็จับมั่วซั่วจริง แต่ในบางคดีดัง สุดท้ายเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ผลการตัดสินของศาลบ่งบอกว่า ศาลเชื่อในพยานหลักฐานที่ตำรวจกล่าวหาผู้กระทำผิด แม้ว่าจะไปในทางตรงข้ามกับกระแสสังคม

เช่น คดีฆ่าข่มขืนแหม่มและฆ่าเพื่อนชายอีกศพ คดีสะท้านแหล่งท่องเที่ยวเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2557 โดยตำรวจจับกุมแรงงานต่างชาติ 2 รายเป็นผู้ต้องหา ขณะที่กระแสสังคมไม่เชื่อตามนั้น โจมตีว่าตำรวจจับมั่ว เพื่อปกปิดความผิดของฆาตกรตัวจริง ที่เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

ลงเอยคดีนี้ ทั้งศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา พิพากษาว่า 2 จำเลยกระทำผิด ให้ประหารชีวิต เป็นตามที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาและนำเสนอพยานหลักฐานมานั่นเอง

เช่นเดียวกับคดีดังเมื่อปี 2556 คดีสังหารนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดังความที่เป็นผู้ที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ ทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาล เข้ามาเคลื่อนไหวในคดีนี้อย่างหนัก ว่าตำรวจจับแพะเพื่อปกปิดการสั่งฆ่าโดยปมการเมือง

โดยคดีนี้ตำรวจจับกุมคนขับรถประจำตัวนายเอกยุทธ ร่วมกับเพื่อนลงมือฆ่าเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ โดยมีการจับตัวนายเอกยุทธไปบังคับให้เขียนเช็คไปเบิกเงินสด 5 ล้านบาท ก่อนลงมือฆ่าในจังหวะที่นายเอกยุทธพยายามกระโดดรถหลบหนี

ฝ่ายที่กล่าวหาตำรวจจับแพะ เชื่อว่า คนร้ายต้องเป็นนักฆ่าในเครื่องแบบ รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจทางการเมือง!?!

ขณะที่ตำรวจมีพยานหลักฐานยืนยันว่าคนขับรถนั่นเองและประสงค์ต่อทรัพย์ โดยจับกุมคนร้ายขณะขับรถของนายเอกยุทธ พาไปชี้จุดฝังศพแล้วก็ขุดศพเจอจริงๆ พาไปที่เก็บซ่อนเงินที่บ้านพ่อ-แม่ ก็พบเงินเกือบครบ ทำให้เพื่อนที่ร่วมฆ่า ร่วมฝังศพ และพ่อ-แม่ที่เก็บซ่อนเงินให้ ถูกดำเนินคดีกราวรูด

คดีนี้จำเลยทั้ง 6 คน ไม่มีแม้แต่รายเดียวที่ปฏิเสธข้อหาหรือร้องเรียนว่าตนเองเป็นแพะ จนบัดนี้คดีถึงที่สุดครบ 3 ศาลแล้ว ทั้งหมดถูกตัดสินมีความผิด จำคุกทุกราย!