2503 สงครามลับ สงครามลาว (33)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (33)

 

เคนเนดี้กับเวียดนามใต้

ในช่วงเวลาเดียวกันที่ซีไอเอเริ่มปฏิบัติการลับ “โมเมนตัม” ในลาวเมื่อต้นปี พ.ศ.2504 นั้น หลังสาบานตนรับตำแหน่ง พอถึงกลางปี เคนเนดี้ก็ส่งรองประธานาธิบดีจอห์นสันเดินทางเยือนเวียดนามใต้ ซึ่งเขาได้กล่าวยกย่องประธานาธิบดีโงดินห์เดียมว่าเป็นรัฐบุรุษผู้สามารถดุจ “เชอร์ชิลแห่งเอเชีย” ผู้สามารถหยุดยั้งคอมมิวนิสต์ได้ เช่นเดียวกับที่เชอร์ชิลเคยยืนหยัดต่อสู้กับนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง

ขณะที่ในความเป็นจริงนั้น โงดินห์เดียมกำลังถูกต่อต้านจากชาวเวียดนามอย่างหนัก

หลังจากนั้น ประธานาธิบดีเคนเนดี้ก็จัดส่งหน่วยทหารพลร่ม “กรีนเบเร่ต์”ไปช่วยฝึกหัดกองทัพเวียดนามใต้ให้รู้จักการปราบการจลาจล และให้อำนาจซีไอเอดำเนินการขัดขวางเวียดนามเหนืออย่างเต็มที่

แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนี้ ฐานะทางการเมืองของรัฐบาลโงดินห์เดียมก็ยิ่งเสื่อมทรุดหนักลงไปอีก ส่วนทางด้านการรบ ถึงแม้กองทัพเวียดนามใต้จะมีกำลังทหารถึง 200,000 คนก็ไม่อาจเอาชนะพวกเวียดกงซึ่งมีกำลังเพียง 150,000 คนได้

เคนเนดี้จึงจัดส่ง พล.อ.แมกซ์เวล ดี.เทย์เลอร์ ไปสังเกตการณ์ เทย์เลอร์เสนอให้สหรัฐจัดส่งทหาร 10,000 คนเข้าร่วมรบกับฝ่ายเวียดนามใต้และโจมตีเวียดนามเหนือทางอากาศ

แต่เคนเนดี้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ โดยยอมแต่เพียงให้เพิ่ม “ที่ปรึกษาทางการทหาร” แก่เวียดนามใต้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการรบให้เข้มแข็งขึ้น

ทำให้เมื่อสิ้นปี พ.ศ.2504 สหรัฐมีทหารหน่วยรบพิเศษ 400 คน และที่ปรึกษาทางทหารอีก 100 คนอยู่ในไซ่ง่อน

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ในลาว ปฏิบัติการโมเมนตัมของซีไอเอเป็นไปอย่างได้ผล กำลังติดอาวุธของวังเปาเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นคน ใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรขัดขวางทหารฝ่ายซ้ายและเวียดนามเหนืออย่างได้ผล

โดยมี “พารู” และซีไอเอทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้อย่างเข้มแข็ง

 

โงดินห์เดียมผู้อหังการ

พ.ศ.2505 ถัดมา สถานการณ์ของรัฐบาลโงดินห์เดียมยังคงทรุดหนัก เคนเนดี้จึงส่งกำลังทหารเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน

ครั้นถึงปลาย พ.ศ.2505 สหรัฐจึงมีทหารอยู่ในเวียดนามใต้ถึง 16,700 คน แต่ก็ยังไม่เข้ามีส่วนในการสู้รบโดยตรง ส่วนใหญ่เพียงทำงานอยู่ในไซ่ง่อนอย่างลับๆ

เนื่องจากการส่งทหารต่างชาติเข้าอินโดจีนเป็นการละเมิดข้อตกลงเจนีวา ขอบเขตของการเข้าสู่สงครามเวียดนามของสหรัฐจึงขยายตัวขึ้น

ตลอดปี พ.ศ.2505 เคนเนดี้พยายามแก้ปัญหาด้วยการเร่งให้โงดินห์เดียมปฏิรูปการปกครองทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ประชาชนพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปที่ดิน

แต่โงดินห์เดียมไม่สนใจ เนื่องจากเกิดความมั่นใจว่า ถึงแม้ชื่อเสียงของเขาจะตกต่ำลงเพียงใดก็ตาม สหรัฐก็จะต้องอุ้มชูอย่างเต็มที่โดยไม่มีทางเลือกอื่นถ้าต้องการจะให้เขาช่วยต่อต้านคอมมิวนิสต์

โงดินห์เดียมจึงปกครองประเทศตามที่ตนพอใจ

เขายังกล่าวประณามสหรัฐในหนังสือพิมพ์ที่เขามีอิทธิพลอยู่ว่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของเวียดนามใต้อีกด้วย

เคนเนดี้คิดถอนทหาร แต่…

 

ที่วอชิงตัน ทางด้านรัฐสภาและฝ่ายบริหารของสหรัฐก็เกิดการแตกแยกทางความคิดเห็นต่อปัญหาเวียดนามเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายกระทรวงต่างประเทศพิจารณาจากพฤติกรรมของโงดินห์เดียมกับพรรคพวกว่าเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมืองที่สร้างความไม่พึงพอใจต่อประชาชนโดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ การสนับสนุนจากฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นเพียงปัจจัยเสริม

แต่ฝ่ายกระทรวงกลาโหมอันมีทูตสหรัฐและนายพลที่เคยไปเยือนเวียดนามมาแล้วสนับสนุนความคิดที่ว่าปัจจัยหลักและชี้ขาดเป็นการรุกรานจากภายนอก ได้แก่ เวียดนามเหนือ จีน และสหภาพโซเวียต ตามทฤษฎีโดมิโน

ขณะที่เคนเนดี้เอนเอียงมาทางความคิดเห็นของฝ่ายกระทรวงกลาโหมแต่ก็ยังไม่ส่งกำลังทหารอเมริกันเข้าสู้รบโดยตรง เพียงแต่เพิ่มจำนวนที่ปรึกษาทางการทหารให้เวียดนามใต้มากขึ้นอีก โดยเกรงว่าหากเวียดนามใต้พ่ายแพ้ โลกตะวันตกจะต้องสูญเสียอินโดจีนให้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์

แม้ประธานาธิบดีเคนเนดี้จะยอมรับทฤษฎีโดมิโนเช่นเดียวกับฝ่ายทหารก็ตาม แต่ก็ยังลังเลใจเมื่อนึกถึงความพยายามของฝรั่งเศสที่จะเอาชนะเวียดนาม แต่ต้องสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยที่เดียนเบียนฟู

หากสงครามลุกลามจนกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างคนผิวขาวกับคนเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง อเมริกันก็อาจจะต้องพ่ายแพ้เช่นเดียวกับฝรั่งเศส

ด้วยพื้นฐานความคิดเช่นนี้จึงเป็นที่มาให้เคนเนดี้กล่าวถึงปัญหาเวียดนามใต้เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2506 ว่า

“เมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุดแล้ว มันเป็นสงครามของพวกเขา การที่จะแพ้หรือชนะอยู่ที่พวกเขา เราสามารถช่วยเขา ให้อาวุธยุทโธปกรณ์แก่เขา ส่งคนไปเป็นที่ปรึกษา แต่ชาวเวียดนามเองจะต้องรบให้ชนะ”

เคนเนดี้วางแผนการจะถอนที่ปรึกษาทหารอเมริกันออกจากเวียดนามใต้ในปลายปี พ.ศ.2508 แม้เวียดนามใต้จะไม่ได้รับชัยชนะก็ตาม

แผนการถอนทหารนี้จะเริ่มใช้ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2507 แต่ปรากฏว่าเขาถูกลอบสังหารเสียก่อนเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2506

นโยบายของสหรัฐเกี่ยวกับเวียดนามจากนี้ไปจึงขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีลินดอน บี.จอห์นสัน ผู้รับตำแหน่งสืบทอด

 

โค่นโงดินห์เดียม

ย้อนไปก่อนหน้าการถึงแก่อสัญกรรมของเคนเนดี้ไม่นานนัก กลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2506 สำนักงานซีไอเอในไซ่ง่อนทราบแน่ชัดว่าฝ่ายทหารจะก่อการรัฐประหารในเดือนสิงหาคมที่จะมาถึงนี้

ฝ่ายทหารสหรัฐในเวียดนามได้สอบถามสำนักงานซีไอเอในไซ่ง่อนว่า หากมีการรัฐประหารจริง สหรัฐจะวางตนอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า “สหรัฐจะสนับสนุนการรัฐประหารและรัฐบาลที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น”

1 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 ปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลโงดินห์เดียมเกิดขึ้นเมื่อเวลา 14.30 น. โงดินห์เดียมโทรศัพท์แจ้งเอกอัครราชทูตสหรัฐ เฮนรี แคบอต ลอดจ์ และถามความเห็นว่าสหรัฐจะวางตนอย่างไร ได้รับคำตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบเรื่องดีพอที่จะบอกท่านได้” แต่ก็ได้สรรเสริญความกล้าหาญของโงดินห์เดียมและเตือนให้รักษาตัวให้ดี

ปรากฏหลักฐานชัดเจนในเวลาต่อมาว่า ลอดจ์และสำนักงานซีไอเอกรุงไซ่ง่อนได้ช่วยฝ่ายทหารเวียดนามใต้วางแผนการรัฐประหารและรายงานให้ทำเนียบขาวทราบเป็นระยะๆ โดยตลอด

2 พฤศจิกายน ก่อนรุ่งสาง โงดินห์เดียมยอมจำนนและถูกสังหารในวันนั้นเอง นายพลเดืองวันมินห์ หัวหน้าคณะปฏิวัติขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล

ลอดจ์เดินทางกลับสหรัฐเพื่อร่วมหารือกับเคนเนดี้ถึงสถานการณ์ในเวียดนาม แต่เมื่อไปถึงแค่นครซานฟรานซิสโกก็ได้ข่าวเคนเนดี้ถูกลอบสังหารที่เมืองดัลลัส เท็กซัส

 

ท่าทีของจอห์นสัน

การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ทั้งในไซง่อนและวอชิงตันอันสืบเนื่องมาจากการถึงแก่อสัญกรรมในวาระใกล้เคียงกันเช่นนี้ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์สถานการณ์มีความเห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะทบทวนสถานการณ์ในเวียดนามอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาทางออก

ฝ่ายเวียดกง อูถั่น เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ฝรั่งเศส รวมทั้งชาติตะวันตกอื่นๆ มีความเห็นตรงกันและเรียกร้องให้เวียดนามจัดตั้ง “รัฐบาลผสม”

แต่ประธานาธิบดีคนใหม่ ลินดอน บี.จอห์นสัน ไม่เห็นด้วย พร้อมประกาศว่า “จุดหมายของอเมริกามีอยู่ประการเดียวคือชัยชนะ ผิดไปจากนี้แล้วก็จะเป็นแต่เพียงการยึดครองของคอมมิวนิสต์ที่อาศัยชื่ออื่นบังหน้าเท่านั้น”