ประเทศไทยไม่เดินหน้า : มนัส สัตยารักษ์

เมื่อแรกเริ่มที่มีคนพูดว่าไทยเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 นั้น เลข 4 ทำให้ผมเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย 4G หรือ fourth generation of mobile telecommunication ซึ่งไทยเรากำลังตามหลัง สปป.ลาวอยู่หนึ่ง generation คือเรายังอยู่ในเทคโนโลยี 3จี เพิ่งจะขยับขึ้นเป็น 4จี เมื่อไม่นานนี้เอง

ไทยแลนด์ 4.0 ตรงผ่านเข้าสู่การรับรู้ทางทีวีในยุคสมัยที่เราไม่สนใจทีวีสักเท่าไหร่ และคงจะผ่านเข้ามาทางรายการ ซึ่งเรามักจะชิงปิดดักหน้าเสียก่อน

จริงๆ แล้ว ไทยแลนด์ 4.0 คือ โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาลไทย

หมายความว่า ก่อนหน้านี้ก็คงจะมีโมเดลที่ 1.0 ถึง 3.0 ผ่านมาแล้ว แต่ผมไม่รับรู้เอง

พอพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ พลันนึกถึงที่เคยเขียนเรื่องเงินอิเล็กทรอนิกส์ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับปีใหม่ 2559 (ปีวอก) ซึ่งก็ผ่านมาเป็นเวลาปีครึ่งพอดี

ขณะนั้นมันเป็นช่วงเวลาที่บ้านเรากำลังตลบอบอวลด้วยข่าวประมูลคลื่นความถี่ 4G ของ กสทช. เรื่องบัตรเครดิต กับเรื่องประเทศแถบสแกนดิเนเวียกำลังเลิกใช้ธนบัตรและเหรียญ หันมาใช้การชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์

ช่วงเวลานั้นดูเหมือนจะยังไม่มีคำว่า Thailand 4.0 หรืออาจจะมีแต่ยังไม่ฮิตและผมยังไม่รู้จัก เพียงแต่ในความรู้สึกของผมคิดว่าเราน่าจะมาถึงตรงจุดนี้เสียที

ชื่อโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0 นี้ น่าจะสืบเนื่องมาจากความคิดดั้งเดิมที่เราแบ่งเป็น 4 ยุคตามที่เรียนมา คือ ยุคเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ครั้นเมื่อสืบค้นจากกูเกิล เราก็พบว่าคนของรัฐบาล หรือผู้คิด หรือผู้บัญญัติ ต่างกล่าวในทำนองเดียวกัน เพียงแต่ใช้ศัพท์วิชาการหรูหรา และใช้ภาษาสมัยใหม่แทบทุกบรรทัด

Thailand 1.0 คือ ยุคของเกษตรกรรม คนไทยปลูกข้าว พีชสวน พืชไร่ เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ นำผลผลิตไปขายสร้างรายได้ยังชีพ

Thailand 2.0 คือยุคของอุตสาหกรรมเบา เรามีเครื่องมือมาช่วย เราผลิตเสื้อผ้า เครื่องดื่ม เครื่องเขียน เครื่องประดับ เราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากขึ้น

Thailand 3.0 หรือโมเดลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นยุคอุตสาหกรรมหนัก ผลิตและส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ ก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ โดยใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อเน้นการส่งออก

(ความจริงแล้ว ต่างประเทศไม่ยอมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ต่างหาก เช่นเดียวกับที่จีนจะไม่ถ่ายทอดให้ไทยกรณีรถไฟความเร็วสูง)

มีคำอธิบายว่า ในช่วงแรกของ Thailand 3.0 ประเทศของเราเจริญอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันกลับเติบโตเพียงแค่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น เราจึงตกอยู่ในช่วงรายได้ปานกลางมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ในขณะที่ทั่วโลกมีการแข่งขันสูงขึ้น

เราจึงต้องเปลี่ยนเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 เพื่อให้อยู่ในฐานะกลุ่มที่มีรายได้สูง

เอกสารและโปสเตอร์ที่ใช้แสดงประกอบโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0 พยายามอธิบายว่า ประเทศไทยยังติดอยู่ในโมเดลแบบ “ทำมาก ได้น้อย” จึงต้องการเปลี่ยนเป็น “ทำน้อย ได้มาก” นั่นคือต้องเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม”

และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

ผม (ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “นักอ่าน” ตัวฉกาจ) บางครั้งยังต้องอ่านอย่างขบเคี้ยว พินิจพิเคราะห์ ต้องแปลไทยเป็นไทย และหลายครั้งต้องกล้อมแกล้มตีความเอาเอง

ส่วนข้อความชี้แจงตลอดจนคำแนะนำต่างๆ ที่อ่านแล้วยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจยังไม่แจ่มแจ้ง เพราะเป็นศัพท์เทคนิค คำย่อ หรือภาษาต่างประเทศ ผมขอผ่านไปโดยละไว้ ขอข้ามไปยังย่อหน้าสรุป…

…โมเดลนี้จะสำเร็จได้ ต้องใช้แนวทาง สานพลังประชารัฐ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ธนาคาร ประชาชน สถาบันศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ ประกอบกับการส่งเสริม SME และ Startup เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

ต้องมีโครงสร้างด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ มีอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมประชากรมากที่สุด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนได้อย่างไม่สะดุด

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.กระทรวงพานิชย์ กล่าวว่า Thailand 4.0 เป็นการพัฒนา “เครื่องยนต์ เพื่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” ให้ได้เปรียบในการแข่งขันด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา

แล้วต่อยอดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบเป็น “5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย” คือ

กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ

กลุ่มสาธาณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์

กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม

กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว

กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง

ดร.สุวิทย์ อธิบายถึงการพัฒนาของกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 5 กลุ่มค่อนข้างละเอียด ซึ่งผมคิดว่าไม่ง่ายนักที่จะได้ทำหรือทำได้

ในที่สุดท่าน รมช. สรุปว่า มี 3 ประเด็นที่สำคัญ

ประเด็นแรก เป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ประการถัดมาคือ เป็น Reform in Action ที่มีการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและปฏิรูปด้านอื่นไปพร้อมกัน ประการสุดท้าย เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ”

อ่านและฟังภาษาวิชาการสมัยใหม่เพลิดเพลินดี สื่อบางรายจับคำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ตีความแล้วนำไปสร้างกระแสว่า เวลา 20 ปีเป็นเวลาของรัฐบาล คสช.! (ฮา)

ผมกล่าวถึงเรื่อง Thailand 4.0 ขึ้นมาในระหว่างข่าวอื้ออึงเรื่อง “ซื้อเก้าอี้ตำรวจ 50 ล้าน” กับข่าว “ธนบัตรปลอมใบละ 1,000 บาทจากลาวข้ามเข้ามาเขตไทย หมายเลขเดียวกันทั้งหมด”

ทั้งสองข่าวทำให้นึกถึง “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับปีใหม่ 2559 ซึ่งผมเสนอในคอลัมน์ “กาแฟโบราณ” ให้เลิกพิมพ์ธนบัตรที่ราคาสูงกว่าใบละ 10 บาท การซื้อขายตามปกติก็ทำโดยเงินพลาสติกหรือเครดิตการ์ดโดยสะดวกปลอดภัย

การทุจริตคอร์รัปชั่น ตั้งด่านรีดไถ หลีกเลี่ยงภาษี ยักยอกหรือขโมยเงินวัด เงินบริจาค ฟอกเงิน ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ฯลฯ ซึ่งคนโกงไม่ต้องการสร้างหลักฐานยืนยันเส้นทางการเงิน ก็คงต้องทุลักทุเล หอบหิ้ว ซุกซ่อน ขุดหลุมฝัง หรือสร้างอาคารที่ใหญ่และแข็งแรง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพิรุธทั้งสิ้น และแน่นอนว่าจะเป็นพยานหลักฐานได้ด้วย

ถ้ารัฐบาลเชื่อผมแต่ตอนนั้น เราคงได้หลักฐานการซื้อขายเก้าอี้จาก “เงินอิเล็กทรอนิกส์” เราไม่ต้องมีข่าวธนบัตรใบละ 1,000 บาทปลอม และเราไม่ต้องรอ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”