ความย้อนแย้งของจีน ในนโยบายคุมกำเนิด/บทความต่างประเทศ

A mother walks with her twin daughters on a street in Shanghai, China June 7, 2021. REUTERS/Aly Song

บทความต่างประเทศ

 

ความย้อนแย้งของจีน

ในนโยบายคุมกำเนิด

 

หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดผลสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดที่จีนจัดทำทุก 10 ปีออกมา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของประชากรจีนที่ชะลอตัวลงต่ำสุด โดยจนถึงสิ้นปี 2563 จำนวนประชากรจีนมีอยู่ที่ประมาณ 1,412 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 72 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.53% เมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนหน้านี้

ถือว่าไม่เป็นไปตามเป้าที่จีนตั้งเอาไว้ว่าจะต้องเพิ่มประชากรให้ได้ถึง 1,420 ล้านคนภายในปี 2563

ขณะเดียวกันอัตราการเกิดทารกในจีนในปี 2020 ที่ผ่านมายังมีเพียง 12 ล้านคน ถือเป็นอัตราเกิดต่อปีที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ของจีนอีกด้วย

แนวโน้มการเติบโตของประชากรจีนที่ลดลง มีหลายเหตุปัจจัยประกอบกัน โดยทั่วไปหลักใหญ่ดูจะไม่ใช่เพราะนโยบายคุมกำเนิดเพื่อควบคุมประชากรของจีน อย่างนโยบายลูกโทน ที่รัฐบาลปักกิ่งบังคับใช้มายาวนานตั้งแต่ 4 ทศวรรษก่อนเหมือนในอดีตที่ผ่านมาอีกต่อไป

หากแต่เป็นผลพวงจากสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองและทัศนคติของกลุ่มคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปภายใต้การพลวัตของสังคมที่ยึดโยงความเป็นอิสระและพึ่งพาตนเองได้ ดูจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลเสียมากกว่า

 

ในทางหนึ่งแม้จีนที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นศูนย์รวมอำนาจขับเคลื่อนประเทศ จะเริ่มผ่อนคลายนโยบายลูกโทนมาตั้งแต่ปี 2016 ด้วยความหวั่นเกรงว่าประเทศจะประสบปัญหาหนักจากการมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนประชากรวัยแรงงานที่ลดลง ตลอดจนคนเกษียณอายุที่ได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระมากขึ้น โดยผลักดันนโยบายลูกสองคนออกมาเพื่อกระตุ้นการเพิ่มประชากร แต่ก็ดูจะไม่ได้ผลนัก ดังข้อมูลประชากรจีนข้างต้น

โดยปี 2020 จีนยังมีอัตราการเจริญพันธุ์ อยู่ที่ทารก 1.3 ต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับที่รัฐบาลจีนคาดหวังเอาไว้ในการที่จะทำให้การเติบโตของประชากรจีนเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ลุกขึ้นมาประกาศปรับยุทธศาสตร์ใหม่กลางวงประชุมคณะโปลิตบูโร ให้สามี-ภรรยาชาวจีนมีลูกได้ครอบครัวละ 3 คน เพื่อรับมือแก้ปัญหาประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มล้น แต่ขาดแคลนกำลังแรงงานคนหนุ่ม-สาว พร้อมกับเสนอมาตรการจูงใจมาเป็นตัวล่อ ทั้งการปรับปรุงสิทธิการลาคลอด สิทธิประโยชน์ด้านการดูแลบุตร หรือการปรับลดค่าเล่าเรียนลง

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน

 

อย่างไรก็ดี มาตรการจูงใจที่ผู้นำจีนเปิดออกมา ดูจะไม่ได้รับการตอบสนองเชิงบวกสักเท่าไร จากหลากหลายความคิดเห็นที่สะท้อนดังในโลกออนไลน์ที่ผู้คนแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา แสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจกับนโยบายลูกสามคนของผู้นำจีน ด้วยเหตุผลปลีกย่อยที่อาจแตกต่าง แต่เป็นไปในทางเดียวกัน

นั่นคือปัญหาของเรื่องสภาพปากท้องที่คนระดับรากหญ้าถึงชนชั้นกลางยังต้องปากกัดตีนถีบ ความเคร่งเครียดกดดันจากชั่วโมงการทำงานที่ลากยาว การมีภาระดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวตัวเอง หรือวิถีการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป

ในอีกทางหนึ่งนโยบายคุมกำเนิด ถูกชาติตะวันตกตีตราว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่นๆ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในมณฑลซินเจียง

โดยพยายามผลักดันชาวฮั่นที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของจีนเคลื่อนย้ายเข้ามาแทนที่

 

รายงานการศึกษาของเอเดรียน เซนซ์ นักวิจัยจาก Victims of Communism Memorial Foundation ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบในระยะยาวต่อประชากรจากนโยบายกวาดล้างชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยในมณฑลซินเจียง เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ผ่านสื่ออย่างบีบีซี ชี้ว่า นโยบายคุมกำเนิดของจีนอาจส่งผลให้จำนวนประชากรของชนกลุ่มน้อยในซินเจียงลดลงไปถึง 1 ใน 3 ได้ภายใน 20 ปีข้างหน้า

หรืออาจทำให้อัตราเกิดของชนกลุ่มน้อยในซินเจียงลดลงระหว่าง 2.6-4.5 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว

โดยประชากรชนกลุ่มน้อยในซินเจียงอาจมีอยู่ที่ระหว่าง 8.6-10.5 ล้านคนในปี 2040 จากที่ควรจะมีอยู่ราว 13.1 ล้านคนในการคาดการณ์แนวโน้มประชากรของคณะนักวิจัยจีนที่ทำขึ้นก่อนหน้าที่จะเกิดการกวาดล้างชนชาวอุยกูร์ของรัฐบาลปักกิ่ง

รายงานการศึกษาของนายเซนซ์ยังระบุอ้างว่า รัฐบาลท้องถิ่นซินเจียงได้วางแผนพุ่งเป้าคุมกำเนิดกลุ่มผู้หญิงในวัยมีบุตรได้อย่างน้อย 80% ในซินเจียงด้วยการให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ทำหมันหรือใส่ห่วงอนามัย แต่ขณะที่ในสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลปักกิ่งกลับผ่อนปรนนโยบายให้ครอบครัวชาวจีนมีลูกได้สามคน ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในซินเจียง

โดยนายเซนซ์อ้างเอกสารหลักฐานที่รั่วไหลออกมาจากซินเจียงบ่งชี้ว่าผู้หญิงในซินเจียงจะถูกจับกุมหรือถูกลงโทษหากมีลูกเกินโควต้าที่ทางการกำหนด

อย่างไรก็ดี รายงานการศึกษาข้างต้นยังคงเป็นเพียงสิ่งกล่าวอ้าง ที่เป็นไปในทางเดียวกับที่สหรัฐและชาติตะวันตกกล่าวหาจีน

โดยที่กระทรวงต่างประเทศจีนชี้แจงผ่านสื่ออย่างรอยเตอร์ส ด้วยการปฏิเสธว่า สิ่งที่จีนกำลังถูกตราหน้ากล่าวหาว่า ล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียง เป็นเรื่องไร้สาระ

และการกล่าวหาเช่นนั้นมีแรงจูงใจซ่อนเร้นอยู่ของกองกำลังต่อต้านจีนในชาติตะวันตกที่เกลียดกลัวจีน!