วัคซีน ‘คุ้มกัน’ ตู่ ขอโทษ …ด้วยแล้วกัน/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

วัคซีน ‘คุ้มกัน’ ตู่

ขอโทษ

…ด้วยแล้วกัน

 

ในเชิงพิธีกรรม

วันดีเดย์ฉีดวัคซีนปูพรมทั่วประเทศ 7 มิถุนายน ผ่านไปด้วยดี

มียอดผู้เข้าฉีดวัคซีนอยู่ที่ 416,847 คน

เมื่อรวมยอดการฉีดตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนการฉีดอยู่ที่ 4,634,931 คน

ทั้งนี้ ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางแผนไว้ว่าต้องการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยจะต้องเร่งฉีดให้ได้ตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2564 นี้

ทั้งนี้ เราได้ฟังคำประกาศอันขึงขังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า

“วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในประวัติศาสตร์การต่อสู้กับสงครามไวรัสครั้งนี้ เป็นหมุดหมายในการเริ่มต้นโต้กลับของคนไทยพร้อมกันทั้งประเทศ ว่าเราจะไม่ยอมแพ้ จะร่วมกันสู้อย่างไม่ย่อท้อ จนกว่าประเทศไทยจะได้ชัยชนะ”

ชัยชนะภายใต้หลักการ

1. ทุกจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนเพื่อให้เริ่มต้นได้พร้อมกัน ไม่มีจังหวัดใดถูกทอดทิ้ง

2. จำนวนวัคซีนที่ได้รับจัดสรร จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญคือ จำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนอาชีพกลุ่มเสี่ยง และการเป็นพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยวหรือพื้นที่เศรษฐกิจ โดยแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้กำหนดการจัดสรรวัคซีนให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดเอง

3. ทุกคนที่จองคิวไว้แล้วจะต้องได้รับวัคซีน โดยยึดวันที่จองไว้เดิมให้ได้มากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำประกาศขึงขังที่จะเริ่มต้นการโต้กลับของคนไทยต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น

น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่วายที่จะ “ออกตัว” ไว้อย่างมีนัยสำคัญ

ออกตัวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อในวันเดียวกัน

“อะไรที่ทำให้ทุกคนไม่สบายใจก็ต้องขอโทษด้วยแล้วกัน”

“ก็จะทำให้ดีที่สุด เพราะเราทุกคนตั้งใจว่าจะทำเพื่อคนไทยทุกคน”

การชิงกล่าวคำขอโทษจากผู้นำ ที่ถือเป็นผู้นำเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ด้วยการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมโควิด รวบอำนาจจากกระทรวงต่างๆ มาไว้ที่ตนเองอย่างรวมศูนย์

ถูกตีความว่า นี่ก็คือการ” ฉีดวัคซีนศรัทธา” เพื่อคุ้มครองทางการเมืองแก่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ไว้ล่วงหน้านั่นเอง!

 

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ย่อมทราบแก่ใจดีว่า “ความไม่สบายใจ” จากประชาชนและกลุ่มบุคคล ทั้งในและนอกการเมือง ต่อการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 นั้น

เป็นความไม่สบายใจในระดับสูง

นับตั้งแต่พื้นฐานของปัญหา ที่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูง ข้อมูลถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 182,548 ราย เสียชีวิตสะสม 1,297 คน

ทั้งนี้ ยอดผู้ป่วยสะสมดังกล่าว มากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในจีน ซึ่งล่าสุดอยู่ 91,267 ราย ซึ่งจีนอยู่ในอันดับที่ 98 ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 80

ซึ่งน่าเป็นห่วง ด้วยมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

และรวมถึงความหวั่นวิตกในเรื่องกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส

กรมควบคุมโรคติดต่อ ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดเอาไว้ได้

นั่นจึงนำมาสู่การคาดหวังเรื่อง “วัคซีน”

 

ซึ่งแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะดำเนินการในเชิงพิธีกรรม ดีเดย์การฉีดวัคซีนไปในวันที่ 7 มิถุนายน ดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความมั่นคงวัคซีนที่จะนำเข้ามาเพื่อฉีดให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมประชาชนถึง 100 ล้านโดส เป็นตัวเลขที่สูงและห่างจากปริมาณการฉีดในปัจจุบันอย่างยิ่ง

ประกอบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวในการจัดหาวัคซีนก็เป็นไปอย่างหนักหน่วง

ไม่ว่าการแทงม้าตัวเดียวหรือฝากความหวังไว้ที่วัคซีนตัวเดียว ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ววัคซีนที่ถือเป็นวัคซีนหลัก ก็ไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ตามที่สัญญาไว้

และยิ่งมาเกี่ยวโยงกับบริษัทรับจ้างผลิตในประเทศ ทำให้ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ขยายไปสู่ประเด็นการเมือง

ทำให้เรื่องสลับซับซ้อน และละเอียดอ่อนไปหมด

ขณะเดียวกันเมื่อรัฐบาลหันไปหาวัคซีนต่างประเทศ ก็เป็นเพียงชนิดและมาจากประเทศเดียวคือจีน ก็ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

จนต้องพลิกแนวไปสู่การแทงม้าหลายตัว แต่ก็ไม่วายถูกตั้งคำถามเรื่องการนำเข้าที่มีอุปสรรคจากขั้นตอนราชการ และการรวมศูนย์บริหารจัดการ ทำให้เอกชนที่พร้อมจะมาร่วมดำเนินการช่วยเสริมไม่อาจทำได้โดยสะดวก

หรือแม้แต่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการเองก็ยังต้องมาติดขั้นตอนจากส่วนกลาง จนไม่อาจดำเนินการได้โดยสะดวก

 

นี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาการจัดวัคซีนไม่เพียงพอ

นำไปสู่ความผิดหวัง

นำไปสู่ความไม่สบายใจของประชาชน ที่หวั่นวิตกว่า จะไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับล่าช้าไม่ทันการณ์

ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้ออกแคมเปญเองว่า วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้รับการฉีดแล้ว

ซึ่งประชาชนก็ขานรับ และแสดงความพร้อมที่จะรับวัคซีน

แต่เอาเข้าจริงก็เกิดปัญหา “ไม่พร้อม” ขึ้นมา เช่นเดียวกับความไม่พร้อมของแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม”

ทำให้ตอนนี้ ยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจนว่า หลังจากวันดีเดย์ที่ 7 มิถุนายนแล้ว ประชาชนต้องถูกเลื่อนการฉีดเพราะไม่มีวัคซีนไปอีกเมื่อไหร่ และนานแค่ไหน

ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตก็เขย่าขวัญขึ้นมาเรื่อยๆ

ภาวะเช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ย่อมรู้ดี

และนี่จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องชิงขอโทษประชาชนเอาไว้ก่อน

เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน มิให้วิกฤตศรัทธาขยายตัวมากไปกว่านี้

 

ไม่เพียงปัญหาต่อประชาชนเท่านั้น

ภายในรัฐบาลเอง เราก็ได้พบเห็นร่องรอย “ความไม่สบายใจ” ซึ่งมิใช่จากเพียงพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น

หากแต่รวมถึงความไม่สบายใจของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

ดังที่ปรากฏชัดเจนในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยดาหน้าถล่มสำนักงบประมาณ และสภาพัฒน์ ว่าจัดสรรงบประมาณไม่ตรงกับปัญหา

เช่น มีการลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ในการดูแลของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ขณะเดียวกันยังโจมตีไปยังการรวบอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ มาจากรัฐมนตรีของพรรคร่วม ทำให้เกิดภาวะรวมศูนย์ ไม่กระจายอำนาจ และไม่ร่วมมือกันในการแก้ปัญหา

การเล่นงานกันเองในพรรคร่วมรัฐบาล ถึงแม้จะไม่นำไปสู่การแตกหักขนาดล้ม พ.ร.บ.งบประมาณ

แต่ก็ทิ้งรอยร้าวเอาไว้อย่างชัดเจน และมีโอกาสปริร้าวไปเรื่อยๆ เมื่อมีปัจจัยมาเร่งเร้า

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ใช่จะไว้วางใจพรรคและนักการเมืองเท่าใดนัก

นั่นจึงอาจเป็นคำตอบว่าทำไมรวบอำนาจการแก้ปัญหาโควิด-19 มาไว้ในตัว

และมอบให้ผู้ใกล้ชิดคือ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) ไม่ใช่นายอนุทินหรือนักการเมืองคนอื่น

ภาวะแห่งความไม่ไว้วางใจพรรคร่วมรัฐนาวานี้เอง กลายเป็นประเด็นให้พรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยหยิบมาโจมตีและระบายความรู้สึกไม่พอใจในสภาดังกล่าว

นี่เองทำให้วันดีเดย์ฉีดวัคซีน 7 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ต้องลดความไม่สบายใจ โดยลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นโต้โผจัดตั้งขึ้น

โดย พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากกล่าวขอบคุณรองนายกฯ แล้ว

ยังเป็นโอกาสกล่าวขอโทษ ที่ทำให้ทุกคนไม่สบายใจด้วย

มิเพียงเท่านั้น ในวันรุ่งขึ้น ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์แถลงย้ำอีกครั้งว่า

“ผมต้องขออภัยหากมีประชาชนท่านใดอาจไม่ได้รับความสะดวกมากนัก หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้าง ผมได้เน้นย้ำในหลักการไว้แล้ว จะดำเนินการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด”

 

การกล่าวย้ำ “ขอโทษ” “ขออภัย” คนที่ไม่สบายใจ และคนที่ไม่ได้รับความสะดวก ต่อเนื่องกันของ พล.อ.ประยุทธ์

คงจะมองเป็นอื่นใดยาก

นอกจากเมื่อเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ก็ต้องฉีดวัคซีคป้องกัน

ขณะเดียวกันเมื่อเผชิญวิกฤตศรัทธาทั้งจากคนใน-คนนอก ก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าฉีดวัคซีนคุ้มกันตัวเองให้พ้นจากวิกฤตศรัทธา

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์รู้และตระหนักดีว่า วาระของรัฐบาลอยู่ไม่ถึงสองปี

และอาจมีเหตุแทรกซ้อนให้ “ยุบสภา” ได้ตลอดเวลา

ดังนั้น การจะดำรงความได้เปรียบทางการเมือง นอกเหนือจะส่งสัญญาณให้รัฐมนตรีสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชน ภายใน 1 ปี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนแล้ว

การหาวัคซีนการเมืองมาฉีดให้ตัวเอง เพื่อมีภูมิคุ้มกันมิให้ “ศรัทธาของประชาชนบกพร่อง” จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด

การชิงขอโทษ ขออภัย จากกรณีปัญหาการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงปรากฏให้เห็น!!