ปาเลสไตน์-ฮามาส และอิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 4 (3)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ปาเลสไตน์-ฮามาส และอิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 4 (3)

 

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกลุ่มฮิสบุลลอฮ์ (Hazbullah) ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอลและเคยเอาชนะอิสราเอลมาแล้วกล่าวว่า กลุ่มเลบานอนชีอะฮ์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

อาจกล่าวได้ว่าการขยายตัวของความขัดแย้งกว่าหนึ่งสัปดาห์ได้เริ่มต้นมาจากพื้นที่ที่ตั้งมัสญิดอัลอักซอแห่งนครเยรูซาเลมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ต่อชาวมุสลิม ชาวคริสต์และชาวยิว

ความวุ่นวายซึ่งตำรวจได้ปะทะกับชาวปาเลสไตน์ครั้งแล้วครั้งเล่ามาจากความโกรธเคืองที่มีการขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์จากชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์ที่อยู่ติดกับนครเยรูซาเลมตะวันออก

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นขยายตัวออกไปในเมืองหลายเมืองที่มีชาวยิวกับชาวอาหรับเป็นพลเมืองอยู่ที่นั่น โดยอิสราเอลทั้งประเทศมีชาวอาหรับอยู่ประมาณร้อยละ 20

ตำรวจประจำชายแดนกว่า 1,000 นายถูกเรียกมาหยุดยั้งความรุนแรง และมีประชาชนกว่า 400 คนถูกจับตัวไป

โฆษกตำรวจ Micky Rosenfeld กล่าวว่า ความรุนแรงระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ในเมืองต่างๆ อยู่ในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับทศวรรษ

Benjamin Netanyahu กล่าวว่า ตำรวจจะใช้กำลังมากขึ้นโดยเตือนว่าอาจต้องนำเอาทหารเข้ามาในเมืองต่างๆ

มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มขวาจัดของอิสราเอลกับกองกำลังฝ่ายความมั่นคงและชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ

ซึ่งภาพในโทรทัศน์แสดงถึงม็อบขวาจัดที่เข้าทุบตีผู้ชายที่พวกเขาคิดว่าเป็นชาวอาหรับที่มาจาก Bat Yam ใกล้กับกรุงเทลอาวีฟและได้รับบาดเจ็บสาหัสในเมือง Lod ซึ่งกลายเป็นที่ปะทะกันระหว่างอาหรับกับยิว

และชาวบ้านอาหรับถูกสังหารพร้อมๆ ไปกับโบสถ์ยิวที่ถูกเผาและมือปืนที่ยิงเข้าใส่ชาวยิวจนได้รับบาดเจ็บหนึ่งคน

เนทันยาฮูกล่าวว่า ความรุนแรงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

และในท่ามกลางการปะทะกันทางอากาศของสองฝ่ายและการปะทะกันในประเทศทำให้สายการบินต้องเลื่อนการบินออกไปอย่างต่อเนื่อง

ประวัติศาสตร์ของการทำให้ไม่เป็นอาหรับ

 

ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (ขบวนการฮามาส) เป็นตัวอย่างล่าสุดที่ว่าแม้จะมีความรุนแรงมากขึ้นก็ตาม แต่ความพยายามของรัฐที่จะลบประวัติศาสตร์ของชาวปาเลสไตน์ออกไปและสร้างภูมิศาสตร์ใหม่ขึ้นมาก็ยังดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ อิสราเอลได้พยายามพลิกหินทุกก้อนขึ้นมาดูเพื่อจะยืนยันว่าอิสราเอลมีรกรากของแผ่นดินมากกว่าที่ชาวปาเลสไตน์มี

แผนการขยายพื้นที่ของอิสราเอลได้ถูกใช้ทั้งสองทางคือการบีบบังคับและวิธีการอื่นๆ เป็นการใช้การเมืองเป็นตัวกลาง ซึ่งเรียกโดยนักวิชาการว่าการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับ (de-Arabisation) ของพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเวลานี้เป็นที่สนใจของประชาชน โดยรัฐเคลื่อนไหวเพื่อจะบังคับชาวปาเลสไตน์นับร้อยๆ คนให้ออกจากพื้นที่ที่พวกเขาเคยอยู่มาช้านานในชัยค์ ญัรเราะฮ์ ที่อยู่ติดกับนครเยรูซาเลมตะวันออกและส่งต่อผืนแผ่นดินที่พวกเขาอาศัยอยู่ให้กับผู้อยู่อาศัยชาวยิว

ความรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดในนครเยรูซาเลมได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วเป็นทศวรรษ เมื่อฝ่ายบริหารเปิดทางให้ผู้อาศัยชาวยิวเข้ามาแทนที่ชาวอาหรับภายใต้กฎหมายของชาวยิว

แผนการบังคับให้ออกจากที่อยู่อาศัยถูกเรียกโดย UN ว่าเป็น “อาชญากรรมสงคราม” ในเมื่อมันเป็นการทำตามอำเภอใจ และไม่มีกฎหมายใดคุ้มครองพลเรือนปาเลสไตน์ในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง

นโยบายการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับกระทำผ่านการเปลี่ยนแปลงแผนที่และวิธีการอื่นๆ ที่เอนเอียงสู่อัตลักษณ์ของชาวยิว

กระบวนการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับได้ทำผ่านดินแดนของปาเลสไตน์ ผลที่ตามมาก็คือระบบการตั้งชื่อด้วยภาษาฮิบรูได้ถูกบันทึกไว้ในหลายสถานที่ ในที่อยู่อาศัย วัตถุต่างๆ รวมทั้งต้นไม้ และสถานที่ต่างๆ ที่จะถูกตั้งชื่อขึ้นใหม่ด้วยภาษาฮิบรูหรือชื่อในคัมภีร์ไบเบิลตามประวัติศาสตร์โบราณของชาวยิวที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่

ชื่อต่างๆ ในแผนที่ของปาเลสไตน์ระหว่างที่อยู่ใต้อาณัติของอังกฤษที่ถูกตั้งชื่อด้วยภาษาอาหรับหรือชื่อในศาสนาคริสต์ถูกปรับเปลี่ยนด้วยกระบวนการการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับ หากแต่ถูกทำให้เป็นภาษาฮิบรู (Hebraicisation) คำว่าอัล-กุดส์ (al-Quds) หรือนครเยรูซาเลมกลายเป็น Yerushalayim al Halili กลายเป็น Hebron และ West Bank กลายเป็น Judia Samaria

 

ที่คู่ขนานไปกับสิ่งนี้ก็คือการที่ฝ่ายบริหารของอิสราเอลได้แนะนำโครงการเสริมสร้างการรื้อฟื้นภาษาฮิบรูให้เป็นภาษาของชาติ แม้ว่าการฟื้นฟูในฐานะภาษาที่ใช้อยู่จะเป็นแนวทางที่ไม่เป็นทางการของรัฐก็ตาม

นับตั้งแต่ชื่อ Aliyah Harishona อันเป็นคลื่นของผู้อพยพชาวยิวตะวันตกที่เขามาสู่ปาเลสไตน์แห่งออตโตมานในปี 1882-1904 คำว่า Yiddish ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของภาษาเยอรมันและฮิบรู ได้กลายมาเป็นภาษาสำหรับการสื่อสารระหว่างกลุ่มต่างๆ ในหมู่ไซออนิสต์รุ่นบุกเบิก ซึ่งอาศัยอยู่ในปาเลสไตน์

พร้อมไปกับคลื่นของชาวยิวจากแหล่งอื่นๆ ของเอเชียและแอฟริกาในกระแสการอพยพต่อมา การย้ำในเรื่อง Yiddish อันเป็นภาษาของชาวยิวในยุโรปตะวันตกและตะวันออกกลับไม่ได้รับความประทับใจสำหรับชาวยิวที่ไม่ได้เป็นชาวยุโรป ซึ่งยังคงติดต่อกับชาวตุรกีออตโตมานด้วยอักขระภาษายิว-อาหรับอย่างเช่น Yahudi

การมาถึงของภาษาฮิบรูก็นำไปสู่มิติที่สำคัญในความหมายของอัตลักษณ์ด้านพื้นที่และช่วยชาวยิวที่อพยพจากส่วนต่างๆ ของโลกให้ยืนยันตัวเองว่าพวกเขาเป็นประชาชนของเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง

Amos Oz นักเขียนชาวอิสราเอลบันทึกว่า “Zionism ได้นำเอาภาษาที่มีมาราว 18 ศตวรรษและไม่เคยมีใครพูดในชีวิตประจำวันให้กลายมาเป็นภาษาที่ใช้ได้อีกครั้งในเกือบ 70 ปีของประวัติศาสตร์

ความจริงกระบวนการทำให้เกิดความไม่เป็นอาหรับนอกจากจะมีอยู่มากและจะย้ำไปที่การผลิตความทรงจำและตำนานที่เกี่ยวกับพื้นที่และการใช้ชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับสัญลักษณ์และการอุปมาอุปมัยแล้ว กระบวนการนี้ยังถูกทำให้เป็นวาทกรรมแห่งชาติของอิสราเอล ควบคู่ไปกับวรรณกรรมและวัฒนธรรมสมัยนิยมของอิสราเอลเสมอมา

เอ็ดเวิร์ด สะอีด (Edward Said) นักวิชาการคนสำคัญของโลกกล่าวว่า ยิวของอิสราเอลมองหาความทรงจำที่ทำขึ้นใหม่ด้วยพื้นที่เฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการรวมเข้าด้วยกันเพื่อแสดงอัตลักษณ์ร่วม

แม้ว่าไซออนิสต์ในเบื้องต้นจะกล่าวว่าปาเลสไตน์เป็นแผ่นดินว่างเปล่าและเป็นดินแดนทุรกันดาร ผู้นำทางการเมืองในอิสราเอลก็ยอมรับถึงความสัมพันธ์ของดินแดนว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการผูกโยงอัตลักษณ์แห่งชาติของชาวยิว การเปลี่ยนผ่านทัศนคติดังกล่าวมีผลมาจากการครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของชาวปาเลสไตน์และสร้างที่อยู่อาศัยของตนเองขึ้นมาในดินแดนที่เป็นของชาวปาเลสไตน์

นับมาตั้งแต่ต้นแล้วที่ชาวปาเลสไตน์รู้สึกถึงการคุกคามที่มาจากโครงการต่างๆ ของชาวยิวที่พยายามขยายการมีอยู่ของชาวยิวต่อไปผ่านกิจการต่างๆ

อย่างเช่น การตั้งชื่อสถานที่ใหม่ การเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ การสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่ การขับไล่ชาวปาเลสไตน์จากที่อยู่อาศัยเดิม และการออกกฎหมายที่สามารถทำให้ชุมชนชาวยิวขยายตัวในพื้นที่ยึดครองของชาวปาเลสไตน์ได้อย่างอิสระ ฯลฯ

ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ที่ชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์ เป็นเหยื่อล่าสุดของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ที่มาจากการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับ

ทั้งๆ ที่ในความจริงพวกเขาเป็นเจ้าของชื่อต่างๆ ซึ่งพวกเขาได้มาจากข้อตกลงระหว่างกระทรวงการก่อสร้างและการพัฒนาของจอร์แดนและหน่วยงานผู้ลี้ภัย UNRWA ในช่วงที่จอร์แดนปกครองเวสต์แบงก์ (1948-1967) อันเป็นการชดเชยการสูญเสียบ้านเรือนของพวกเขาไปในสงครามปี 1948