(เว้น) วัคซีน : บทวิเคราะห์การเมือง

พลันที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 2 ถูกฉีดเข้าแขน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 24 พฤษภาคม

ผู้ที่ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ สถาบันบำราศนราดูร นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข พากันปรบมือแสดงความยินดีกึกก้อง

อีเวนต์นี้น่าจะถูกนำไปใช้ในการรณรงค์ฉีดวัคซีนที่ถูกยกเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างทรงพลัง

และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น

 

ด้วยในวันเดียวกัน มีปรากฏการณ์ขึ้นมาแทรกซ้อน

เมื่อโรงพยาบาลหลักๆ ของประเทศ ไม่ว่าโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เป็นอาทิ ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าออกไปไม่มีกำหนด เพราะไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนดังกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งที่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ในการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 ที่ประชุมมั่นใจว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกจากโรงงาน 1.7 ล้านโดส จะส่งมอบได้ภายในวันที่ 17-21 พฤษภาคม และเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส จากนั้นเดือนละ 10 ล้านโดส

แต่ทำไมจึงเกิดการ “เว้นวรรค” การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าขึ้นมาได้

 

ความเชื่อมั่นจากอีเวนต์นายกฯ ฉีดวัคซีน จึงกลายเป็นความสั่นคลอนและตอกย้ำความรู้สึกด้านลบไปทันที

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน น่าจะเป็นตัวแทนที่สะท้อนความรู้สึกได้ดี

เพราะเป็นหนึ่งในผู้ที่จะไปฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่สถาบันบำราศนราดูร วันเดียวกัน

แต่เจอภาวะที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ซึ่งนายสุทินได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองว่า

“วันนี้ผมมาฉีดวัคซีนที่สถาบันราศนราดูร ช่วงบ่ายแก่ (นายกฯ มาเช้า) โดยประสานงานของสภา

ผมเข้าคิวร่วมกับประชาชนปกติ

แต่พอถึงคิวผมได้รับแจ้งว่า แอสตร้าเซนเนก้าหมดและไม่รู้จะมีมาอีกเมื่อไหร่

ด้วยผมเป็นคนเชื่อหมอว่าเกณฑ์อายุของผมควรเป็นแอสตร้าฯ ผมจึงกลับบ้านเพราะไม่สบายใจที่จะฉีดยี่ห้ออื่น แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ผมไม่ตำหนิเจ้าหน้าที่เพราะไม่คิดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่อยากถามถึงรัฐบาลว่า

1. ไหนบอกว่าวัคซีนมีเยอะกว่าประเทศใดๆ

2. ที่รณรงค์ให้ชาวบ้านมาฉีดเยอะๆ (ผมก็เป็นพรีเซ็นเตอร์เชิญชาวบ้านผมมาฉีดให้เยอะด้วย) จะเอาที่ไหนฉีดให้เขา ไม่มีแผนรองรับเลยสิ

3. ถามจริงๆ และตอบให้ชาวบ้านมั่นใจด้วยว่า คนไทยควรได้ฉีดตามความประสงค์หรือไม่ เมื่อไหร่ ยี่ห้อใดเหมาะสมกับอายุใดแน่”

 

และก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ต้นแบบการก่อตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดแห่งแรกในประเทศไทย

ได้เขียนข้อความสั้นๆ จากความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ถึงการขาดวัคซีนต้านโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กว่า

“รู้สึกว่า เรากำลังถูกเท… เราถูกขอให้ต่อสู้ รบยืดเยื้อ และให้ขยายแนวรบออกไปตลอดเพื่อชาติ ชาติบอกเรามาว่า ให้ปันส่วนกระสุน เอาไปคนละสิบนัดในเดือนนี้ แล้วให้ตรึงแนวรับไว้ให้ได้จนถึงเดือนหน้า บางหน่วยยังเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้ง แต่มีกระสุนให้ไม่จำกัด วังเวง …และเริ่มรู้สึกท้อ ขอเราไปทำหน้าที่สั่งการและช่วยตัดสินใจแทนชาติชั่วคราวสักเดือนนึงได้ไหม ขอร้อง”

สะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนและปัญหาการกระจายวัคซีนอย่างชัดเจน

และเป็นสัญญาณไม่ดีเอามากๆ สำหรับการฉีดวัคซีน ที่เป็น “วาระแห่งชาติ”

การฉีดวัคซีนเพื่อชาติ ถูกวางโปรแกรมว่าจะเริ่มดีเดย์ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมเฉพาะหน้านี้ว่า ไทยพึ่งพาวัคซีนเพียง 2 ตัว คือ ซิโนแวคจากจีน โดยนำเข้าแล้วทั้งสิ้น 6 ล้านโดส และจะได้รับเพิ่มในมิถุนายนนี้อีก 3 ล้านโดส

แต่ก็มีจุดอ่อนที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามันโลก และถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพ

ซึ่งไทยเลือกที่จะใช้ฉีดให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 60-18 ปี แต่ไม่ได้ถือเป็นวัคซีนหลัก

วัคซีนหลักที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้คือแอสตร้าเซนเนก้า ที่จะเป็นธงนำในการฉีดให้ประชากรและประชากรแผง 72,081,042 คน วางเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ของจำนวนประชากร 50,456,732 คน

และตอนนี้ มีผู้อายุเกิน 60 ปีและอยู่ในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ร่วม 8 ล้านคนไปลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

จึงเป็นความคาดหวัง เพราะถูกกรอกหูด้วยข้อมูลเช่นนี้มาตลอด

แต่หลายคนก็อดจะหวั่นใจ เพราะยังไม่เริ่มต้น

เราก็เริ่มเห็นปัญหาจากวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” เสียแล้ว

 

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐฒนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1.7 ล้านโดส ที่เดิมจะมีการการส่งมอบในเดือนพฤษภาคมนี้ ไม่มีการส่งมอบ เพราะกำหนดการเดิมจะส่งมอบในเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส แต่เราไปขอเขาให้ส่งล่วงหน้า 1.7 ล้านโดส เพิ่มเติมจากล็อตก่อนหน้านี้ที่ส่งมาจากเกาหลีใต้ 1.17 แสนโดส

“เดิมทีเขาจะส่งให้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องค่าเบี่ยงเบนตามเอกสารนิดหน่อย ทำให้อาจต้องไปส่งมอบเดือนมิถุนายนทีเดียว ซึ่งมองในมุมบวกคือบริษัทเขาทำตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ตอนนี้ยังมั่นใจว่าการส่งมอบจะเป็นไปตามข้อกำหนดเดิมที่ทำไว้ แต่ส่วนที่มีปัญหาไม่สามารถส่งมอบได้ 1.7 ล้านโดสเป็นส่วนของ Earlier Delivery ซึ่งเขาอาจจะยังไม่ให้ความสำคัญมากนัก” นายสาธิตระบุ

สอดคล้องกับ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่บอกว่า บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเข้าใจในแผนการกระจายจัดการวัคซีนของไทย และหารือกันแล้วว่าต้องจัดส่งให้ได้ตามแผน จึงไม่มีปัญหาอะไร โดยที่คุยไว้จะต้องส่งมาเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งล็อตที่ผลิตมาก่อน ก็อยากจะขอเข้ามาก่อน แต่เขาก็มีกระบวนการของเขา คาดว่ามิถุนายนก็จะได้ตามแผน

ส่วนที่โรงพยาบาลหลายแห่งขอเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ออกไป นพ.เกียรติภูมิบอกว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะมีข้อมูลวิชาการล่าสุดชี้ว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 สามารถห่างกันได้ 16 สัปดาห์ จากเดิม 10-12 สัปดาห์ เนื่องจากหลังฉีดเข็มที่ 1 ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงและขึ้นได้เร็ว สามารถเลื่อนการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปได้

 

อ่านแล้วจะทำให้ผู้ที่ได้รับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เชื่อมั่นขึ้นหรือไม่

อันนี้เป็นคำถาม

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ฉีดภายใน 12 สัปดาห์ หลังจากฉีดเข็มที่ 1 ไม่ได้ทอดยาวออกไป 16 สัปดาห์

ทำให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการ ออกมาจี้ถามว่า

“คุณหมอปลัดกระทรวง ไม่ควรพูดเพียงเพื่อให้ประชาชนสบายใจ จากการที่บางโรงพยาบาลประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สองออกไปอย่างไม่มีกำหนดใหม่ แล้ว นพ.เกียรติภูมิแถลงข่าวว่า เป็นการปรับแผนการฉีดเพื่อให้สามารถฉีดแก่ประชาชนมากขึ้น โดยเลื่อนจากเดิมนัด 10 สัปดาห์ เป็น 16 สัปดาห์ และตรงกับข้อมูลวิชาการรองรับว่า ภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นได้เร็ว แต่มีถามว่า

1. ทำไมไม่เลื่อนฉีดลุงตู่ด้วย

2. โรงพยาบาลที่เลื่อน ทำไมไม่บอกวันนัดใหม่ให้แน่นอนว่าจะเป็นวันใด หากขยับจาก 10 เป็น 16 สัปดาห์จริง

3. อ่านเอกสารกำกับยาของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ อย.ขึ้นทะเบียนยา เขียนไว้ชัดเจนว่า เข็มที่สองควรฉีดในระหว่าง 4-12 สัปดาห์ ยังหาไม่เจอว่าตรงไหนเขียนไว้ว่า 16 สัปดาห์”

เช่นเดียวกับ นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่า

“รัฐบาลใกล้จะพังแล้ว

ศูนย์รวบอำนาจ ศบค. ที่นายกฯ ประยุทธ์เป็นหัวหน้า มี 31 พ.ร.บ.ในมือเอาโควิดไม่อยู่ ไวรัสระบาดหนัก

ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯ ก็มีสัญญาณว่าจะมาไม่ทันตามนัด

ผู้ที่ฉีดเข็มแรกไปแล้วมีใบนัดฉีดเข็ม 2 ถ้าชวดแล้วต้องเลื่อนไปอีก 4 อาทิตย์ ตามแนวโน้มที่อาจกำหนดใหม่ให้ 2 เข็มห่างกัน 16 อาทิตย์ จากเดิมที่กำหนดไว้ 12 อาทิตย์ ซึ่งแน่นอนว่าผู้รอฉีดจะเสียความรู้สึกแล้วยังเสียความมั่นใจว่าเมื่อครบ 16 อาทิตย์แล้วยังจะมีวัคซีนให้ฉีดหรือไม่ ศบค.บอกให้รอ จะต้องรอนานเพียงใด รัฐบาลจะถูกถล่มหนักแน่”

จะเห็นว่า ท่าทีของคนนอกรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มิได้มีความรู้สึกบวกอย่างที่ฝ่ายรัฐพยายามอธิบาย

ตรงกันข้ามกับเพิ่มข้อสงสัยต่อแผนกระจายวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่าจะเป็นไปตามแผนที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วางไว้หรือไม่

คือในเดือนมิถุนายน 6,333,000 คน เดือนกรกฎาคม 9,627,000 คน เดือนสิงหาคม 9,860,000 คน เดือนกันยายน 21,283,000 คน

แม้ว่าเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงถึงการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ให้แก่ประเทศไทย ตามข้อตกลงตามสัญญาว่าการผลิตวัคซีนในประเทศไทยมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ยืนยันพร้อมทยอยส่งมอบวัคซีนล็อตแรกให้แก่รัฐบาลไทยตามกำหนดภายในเดือนมิถุนายน ขณะนี้ทั้ง 2 บริษัทกำลังเร่งผลิตวัคซีนและจะทยอยส่งมอบให้กับรัฐบาลไทย เพื่อนำไปดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนต่อไป

คงทำให้หลายคนรวมทั้งรัฐบาลเอง สบายใจขึ้นมาบ้าง

แม้ว่าจะไม่มีระบุตัวเลขชัดๆ ว่าจะได้ 6 ล้านโดสตามที่ตกลงหรือไม่ก็ตาม

และหวังว่าคงจะไม่มีเหตุทำให้เกิดภาวะต้อง “เว้นวรรค” วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งเข็มที่ 1 และ 2 อย่างในโรงพยาบาลหลายแห่งตอนนี้

เพราะในขณะที่มีความหวังนั้น ก็มีข่าวลือว่า จำนวนวัคซีนที่ได้ อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

และกำลังลุ้นกันอย่างหนัก “ต้องนำออกมาฉีด” ให้ได้

เพราะหากต้อง “เว้นวรรค (วัค) ซีน” ไปยาวๆ

ชาวบ้านเขาอาจต้องการให้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา “เว้นวรรค” ไปด้วยก็ได้