งานหลังเกษียณอายุ : มนัส สัตยารักษ์

เพื่อนคนหนึ่งเคยให้กำลังใจผมว่าผมโชคดีที่มีเพื่อนสนิทหลายรูปแบบ หลายรุ่น ต่างวัย หลากอาชีพและสารพัดฐานะ ทำให้ผมเหมือนมีที่ยืนอยู่ในหลายสังคม ไม่รู้สึกเหงา ไม่เป็นโรคซึมเศร้าและไม่โดดเดี่ยวทั้งที่อยู่ลำพังคนเดียว

กล่าวได้ว่าเป็นคนที่มีกิจให้ทำ มีที่ไปและมีอะไรให้ได้พูดคุยหรือขีดเขียนเสมอมา

เพื่อนร่วมอาชีพตำรวจคนหนึ่งซึ่งเคยอยู่หน่วยเดียวกันระยะหนึ่งก่อนจะแยกย้ายกันไปตามสายงาน เจอกันหลังเกษียณเขาคอมเมนต์ผมว่า “นายเขียนหนังสือดีนี่หว่า…ทำไมตอนเป็นตำรวจไม่เห็นมีอะไรดีๆ เลยวะ”

ผมไม่อยากตอบคำวิจารณ์นี้ เพื่อนคงจะไม่รู้ว่าผมมีอาชีพเสริมเป็นนักเขียนมานานแล้ว หรือรู้แต่ไม่รับรู้ หรือไม่เคยอ่านมาก่อนจนกระทั่งหลังเกษียณอายุ หรือความคิดเห็นและข้อเสนอของผมสมัยก่อนยังไม่แหลมคมโดนใจพอที่จะจดจำและพูดถึง ฯลฯ

ผมพอจะประเมินได้ว่าโดยรวมแล้วเพื่อนสูงวัยส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหนังสือเลย แม้แต่ฉบับฟรีก๊อบปี้ หรือ น.ส.พ.รายวันตามร้านกาแฟ (ที่ไม่ต้องซื้อ) ดังนั้น จึงรู้สึกขอบคุณทุกคนที่อ่าน

บางคนสงสัยว่าผมเขียนเหมือนคนมีความรู้ได้อย่างไร ในเมื่อผมไม่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ผมตอบว่า “ผมคบบัณฑิตครับ”

ก็ไปคิดเอาเองแล้วกันว่าผมถ่อมตัว หรือโอ้อวด หรือมองเขาอย่างยกย่องหรือดูถูก

แต่ในความจริงแล้วผมต้องเหนื่อยยากบากบั่นมากกว่าคบบัณฑิต ผมอ่านมากเพราะอยากคบคนทุกชั้นโดยไม่เลือกฐานะและคบทุกฝ่ายโดยไม่เลือกสี มันคงเป็นธรรมชาติของนักเขียนที่ชอบสอดรู้สอดเห็นไปเสียทุกเรื่อง

ข้อมูลและความรู้ผมได้จากอาจารย์ นักวิชาการ นายพลอาวุโส และได้จากการอ่านหนังสือก็จริง แต่ขณะเดียวกันส่วนหนึ่งก็ได้จากลูกน้องชั้นประทวน จากคนขับแท็กซี่ หรือจากคนงานที่มาซ่อมหรือทำความสะอาดบ้าน

ผมเป็นคนชั้นกลางหรือคนกลาง-กลางอย่างแท้จริง

เพื่อนวัยเดียวกับผมหลายต่อหลายคนยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องโดยแทบจะไม่รู้จักคำว่า “เกษียณอายุ”

วิศวกรที่ประกอบกิจการส่วนตัวจนร่ำรวยมหาศาลยิ่งไม่มีวันเกษียณ (หรืออาจจะไม่มีวันพักผ่อนเสียด้วยซ้ำ) แต่พวกที่เป็นอดีตข้าราชการอาจจะรับเป็นแค่ที่ปรึกษา ซึ่งก็มีอะไรให้ทำล้นมือเหมือนกัน

นพ.มนตรี เศรษฐบุตร วัย 84 ยังคงเดินทางไปโรงพยาบาลแต่เช้า (ก่อนการจราจรติดขัด) เพื่อทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นแพทย์เวร ตรวจและรักษาผู้ป่วยที่มาเข้าคิวขอใช้บริการของรัฐ

บางท่านอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนขยันที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง แต่ผมอยากจะบอกว่า โรงพยาบาลที่ท่านไปเป็นประจำนั้นมี 2 แห่ง แห่งหนึ่งอยู่สงขลา อีกแห่งอยู่นครปฐม ทั้งสองแห่งหมอมนตรีเคยเป็นผู้อำนวยการมาก่อน

ทำให้หมอต้องบินไป-บินมา ระหว่างหาดใหญ่-กรุงเทพฯ เดือนละหลายหน

นอกจากจะคุ้นเคยกับสถานที่ทำงานและบุคลากรแล้ว ท่านยังมีบ้านพักส่วนตัวไม่ไกลจากโรงพยาบาลมากนัก แถมบ้านพักก็ยังใกล้กับสนามกอล์ฟอีกด้วย นับเป็นการทำงานที่มีความสุขครบถ้วน

อาจจะมีคำถามว่า ทำไมโรงพยาบาลทั้งสองแห่งถึงยินดีและยินยอมให้แพทย์ที่เกษียณอายุไปกว่า 20 ปีแล้วเข้าไปทำหน้าที่เหมือนแพทย์เวร

ตอบได้ว่า เพราะแพทย์เกือบทุกคนต่างติดตามวิวัฒนาการและความก้าวหน้าของวงการแพทย์ ศึกษาถึงการค้นพบใหม่ๆ ตลอดจนอ่านเอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสถาบันแพทย์และเภสัชที่ทยอยกันออกมาจากทั่วโลก

หมอมนตรีเหมือน “อัพเดต” ตัวเองตลอดเวลา

เพื่อนนายตำรวจรุ่นเดียวกันที่ยังคงทำงานอยู่อย่างปกติเหมือนคนในวัย 46-65 ปี (ซึ่งวงการแพทย์ปี 2560 เรียกว่าวัยกลางคน) ผมพอจะเอ่ยชื่อ ณ ที่นี้ได้ 2 คน คือ วาทิน คำทรงศรี (พล.ต.ต.) และ ดิสสทัต ภูริปโชติ (พล.ต.ต.)

วาทิน คำทรงศรี เป็นกรรมการบริหารบริษัท ดี.ซี.ที. อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) ส่วน ดิสสทัต ภูริปโชติ เป็นอุปนายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งปะเทศไทย

เพื่อนคู่นี้แต่งกายอย่างนายธนาคาร ขับรถไปทำงานทำนองเดียวกับนักธุรกิจระดับสูงที่มีภาระและปัญหาเร่งด่วน บางเวลาต้องผูกไท้ใส่สูทเพื่อเข้าประชุมหรือบรรยายสรุป หรือชี้แจงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ทั้งคู่และเพื่อนรุ่นน้องอีกกลุ่มใหญ่ยังสนใจติดตามความเป็นไปของสถาบันตำรวจราวกับตัวเองเป็นนายตำรวจที่ยังไม่เกษียณอายุ

ชาตรี สุนทรศร (พล.ต.อ.) นรต.รุ่น 25 ตรงกันข้ามกับทุกคนที่ผมเอ่ยนามและเขียนถึงข้างต้น

กล่าวคือ หลังจากเกษียณแล้วท่านเหมือนกับหันหลังให้สถาบันตำรวจ ราวกับว่าไม่เคยเป็นตำรวจมาก่อน

จะเข้าไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติบ้าง ก็เมื่อมีธุระต้องคุยกับเพื่อนคู่หูที่ยังขยันทำหน้าที่ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์-พล.ต.ท.ธนู ชัยนุกูลศิลา เท่านั้น

ผู้การชาตรีไปสมัครเรียนหลักสูตรซ่อมเครื่องยนต์ ในโครงการของ กทม. (กรุงเทพมหานคร) จนได้รับประกาศนียบัตร

โครงการดังกล่าวนี้ กทม. ได้จัดหลักสูตรสั้นๆ สาขาต่างๆ แก่ผู้สนใจ เช่น การประกอบอาหารชนิดต่างๆ การฟ้อนรำไทย ซ่อมแอร์คอนดิชั่น หรือเครื่องควบคุมอากาศ เป็นต้น

การเรียนหลักสูตรนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษซึ่งโปรดการขับรถเป็นอย่างมาก (เมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังทรงขับรถเองอยู่) พระองค์ก็เคยรับการอบรมเป็นช่างเครื่องยนต์มาแล้วตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ผมเองชอบเขียนรูปยังนึกอยากเรียนการเขียนภาพด้วยสีน้ำมัน และครั้งหนึ่งอยากเรียนซ่อมแอร์บ้าน เพราะถูกช่างที่มาซ่อมแอร์สอนวิธีถอดล้างหน้ากากแอร์ เขาตำหนิผมว่า “ง่ายแค่นี้เอง เรียกช่างมาทำไมให้เสียเงิน”

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ ผู้การชาตรีไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เพื่อนที่ร่วมหลักสูตรกว่าจะรู้ว่า “คุณลุง” เป็น พล.ต.อ. เวลาก็ผ่านไปกว่าสัปดาห์

แม้ว่าอายุและรุ่นของผมกับผู้การชาตรี จะห่างกันกว่ารอบก็ตาม แต่ความสนใจในศิลปะและเทคโนโลยีสมัยใหม่เหมือนกัน ทำให้เราสนิทสนมกันมากเป็นพิเศษ ผมรู้อุปนิสัยของท่านดีว่าเป็นคนไม่ “เบ่ง” และค่อนข้างจะถ่อมตัวมาแต่ไหนแต่ไร ไม่นิยมมีลูกน้องเดินล้อมหน้าตามหลัง ไม่พกปืน (แค่พกตะบองติดรถเหมือนผมนี่แหละ)

ผมสันนิษฐาน (เอาเอง) ว่า ผู้การชาตรีมี “ปมด้อย” อย่างสำคัญอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ คุณพ่อของท่าน (พล.ต.เล็ก สุนทรศร) เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ

ในเมื่อถนนทุกสายวิ่งเข้าหาบ้านสี่เสา ถนนแต่ละสายจึงแออัดไปด้วย “บิ๊ก” ทั้ง 4 เหล่า ผู้การชาตรี ซึ่งเจริญเติบโตด้วยความรู้ความสามารถของตัวเองมาตั้งแต่เป็น ว่าที่ ร.ต.ต. จึงจำเป็นต้องตัดเส้นทางสายนี้…จนเป็นนิสัยติดตัวแม้จะเกษียณอายุแล้วก็ตาม

ไม่อยากให้ใครมาเรียกว่า “บิ๊ก” มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว