วิกฤตโควิดเรือนจำ ‘อภิมหาคลัสเตอร์’ เผือกร้อนในมือ ‘สมศักดิ์’ ร้อนลามถึง ‘ประยุทธ์’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

วิกฤตโควิดเรือนจำ

‘อภิมหาคลัสเตอร์’

เผือกร้อนในมือ ‘สมศักดิ์’

ร้อนลามถึง ‘ประยุทธ์’

 

กลายเป็น “อภิมหาคลัสเตอร์” สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำที่ลุกลาม พบผู้ถูกคุมขังติดเชื้อแล้วมากกว่า 12,000 คน

จุดเริ่มต้นความจริงภายใต้แดนสนธยา มาจากอิสรภาพของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำราษฎร ที่ได้รับการประกันปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม

แล้วตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด แถมลามติดครอบครัวทั้งพ่อ แม่ พี่สาว

“ทราบว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางแล้วมากกว่า 50 คน และหนูคาดว่าตอนนี้ทั้งในทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำอื่น คงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมหาศาล ขอให้ทางภาครัฐและกรมราชทัณฑ์ ออกมาชี้แจงและเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำอย่างตรงไปตรงมาด้วย”

เช่นเดียวกับแกนนำราษฎรและแนวร่วม 4 คนที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวอย่างทนายอานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือนุ๊ก จัสติน และที่ได้ประกันตัวแล้วคือ “เฮียซ้ง” ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี

ทั้งหมดติดเชื้อโควิดขณะถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

รุ้ง ปนัสยา ตั้งคำถามถึงกรมราชทัณฑ์

ได้ข้อมูลจากบุคคลไม่ประสงค์ออกนามว่า ในแดนแรกรับของทัณฑสถานหญิงกลางมีผู้ติดเชื้อแล้ว 100 ราย โดยผู้ต้องขังไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติและถูกขังไว้แค่ในห้องเท่านั้น จะออกมานอกห้องแค่ตอนอาบน้ำเช้า-เย็น

แถมผู้ต้องขังมีอาหารไม่เพียงพอเนื่องจากแผนกสูทกรรมคือกลุ่มผู้ต้องขังและนักโทษที่มีหน้าที่ทำอาหารเลี้ยงคนทั้งคุก ติดโควิดจำนวนมากเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถทำอาหารได้เท่าเดิม

จึงขอตั้งคำถามไปยังกรมราชทัณฑ์ว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริงหรือไม่ หากเป็นจริง ขอตั้งคำถามอีกข้อว่าพวกคุณมีแผนดูแลผู้ต้องขังและนักโทษในสถานการณ์แบบนี้อย่างไร

ขอให้กรมราชทัณฑ์ออกมาพูดความจริงโดยไม่ปิดบังข้อมูลแม้แต่เพียงเสี้ยว

 

นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงชี้แจงกรณีรุ้ง ปนัสยา ว่า

กรมราชทัณฑ์ดำเนินการตรวจหาโควิด-19 เชิงรุกในผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงกลางแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงรุ้ง ปนัสยา

ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน โดยผลตรวจออกมาเป็นลบ ไม่มีเชื้อโควิด ก่อนให้กักตัวต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม โดยไม่ได้ออกไปภายนอกเรือนจำกระทั่งได้รับการปล่อยตัววันที่ 6 พฤษภาคม

กรมราชทัณฑ์ยืนยัน รุ้งไม่ได้ติดโควิดระหว่างถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลาง

ทว่า ความจริงที่ปรากฏต่อมากลับสวนทางกับถ้อยแถลงโดยสิ้นเชิง ด้วยจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำมากกว่า 12,000 รายจาก 13 เรือนจำทั่วประเทศ

ได้แก่ เรือนจำกลางเชียงใหม่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำพิเศษธนบุรี เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เรือนจำจังหวัดนนทบุรี เรือนจำกลางสมุทรปราการ เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำพิเศษมีนบุรี เรือนจำจังหวัดนราธิวาส และเรือนจำอำเภอแม่สอด จ.ตาก

และยังพบผู้คุมและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ติดเชื้อ 35 ราย

ทั้งหมดคือรูปธรรมอันเด่นชัด จนยากจะปฏิเสธถึงสถานการณ์โควิดในเรือนจำ คลัสเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดโควิดในไทยมากว่า 1 ปี

อภิมหาคลัสเตอร์เรือนจำ ผู้ป่วยติดเชื้อนับหมื่นคน ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายจากสังคมภายนอก

โดยเฉพาะการที่กรมราชทัณฑ์ระบุในการแถลงข่าวต่อสาธารณชนครั้งแรกวันที่ 12 พฤษภาคม ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2,800 คนคือยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เดือนเมษายน

นำมาสู่ข้อสงสัยที่ว่า แล้วเหตุใดราชทัณฑ์ถึงเพิ่งนำมาเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ในอีก 1 เดือนถัดมา

คำถามทั้งหมดพุ่งเป้าไปยังเจ้ากระทรวงอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม

เป็นนายสมศักดิ์คนเดียวกับที่อยู่ในกลุ่มก้อนคลัสเตอร์สุโขทัย จากงานรดน้ำดำหัวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อถึง 55 ราย และเสียชีวิต 1 ราย

ทำให้ รมว.ยุติธรรม ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องกักตัวเอง 14 วัน กลายเป็น “รอยด่าง” คล้ายกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดรอบ รมว.คมนาคม กับคลัสเตอร์ทองหล่อ ศูนย์กลางการระบาดโควิดระลอก 3

 

ยอดผู้ป่วยโควิดในเรือนจำจาก 2,800 กว่าคน พุ่งทะยานเกิน 12,000 คนในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์

ทำให้เสียงถามหาความรับผิดชอบจากสังคม ยกระดับจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไปยัง รมว.ยุติธรรม

กดดันให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ต้องออกมาแถลง 10 มาตรการรับมือวิกฤตโควิดในเรือนจำ

ทั้งการเปิดเผยข้อมูลผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ผู้ติดเชื้อแบบรายวัน เร่งตรวจเชิงรุกผู้ต้องขังทุกเรือนจำ ประสาน รมว.สาธาณสุขเพื่อขอวัคซีนป้องกันโควิด มาฉีดให้นักโทษทั้งหมด 310,000 รายในเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ

ยืนยันไม่ปกปิดตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนจากเหตุการณ์นี้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม รมว.ยุติธรรมปฏิเสธ จะไม่มีการสั่งย้ายอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 3,600 คน เพียงแค่คาดโทษไว้เท่านั้น

แต่ทุกอย่างเหมือนจะสายเกินไป 10 มาตรการถูกมองเป็นเพียงการ “ล้อมคอก” เท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หรือ ศบค. แสดงความห่วงใยเรื่องดังกล่าว

พร้อมสั่งการกรมราชทัณฑ์ประสานงานกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในเรือนจำ ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับประชาชนภายนอก โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองดัง ผู้มีประสบการณ์ตรงในการใช้ชีวิตในคุก

อธิบายสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษในคุก ไม่มีแม้แต่วินาทีเดียวที่จะอยู่ห่างกันเกิน 1 ก้าว ไม่ว่ากินข้าว อาบน้ำ ขังรวม นอนเรียงกันเป็นพืด 15 ชั่วโมง บ่าย 3 ยัน 6 โมงเช้า ห้อง 40 ตารางเมตร ช่วงตำรวจฟิตจัดๆ อยู่รวมกัน 60-70 คน เท่ากับ 1 ตารางเมตรนอน 2 คน

ลุกไปเยี่ยวกลับมาที่นอนไม่ว่างแล้ว

ดังนั้น หากใครสักคนติดโควิดและหลุดเข้าไป จึงยากจะเลี่ยงการแพร่กระจาย จึงเกิดปรากฏการณ์ “อภิมหาคลัสเตอร์คุก” ในแทบทุกเรือนจำที่ตรวจเชิงรุก

เรือนจำกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุด เร็วที่สุดและจำนวนมากที่สุด ที่สำคัญไม่มีทีท่าจะควบคุมได้เพราะทุกคนล้วนเป็นนักโทษไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่ในสภาพความแออัดยัดเยียด

หากคิดว่าคลองเตยแออัดแล้ว เทียบกับในเรือนจำ ยิ่งกว่าคลองเตยคูณสิบ

คลัสเตอร์เรือนจำจะจบลงด้วยฉากสยดสยองขนาดไหน ยังไม่มีใครทราบ

 

“การระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในทุกมิติ แต่ตลอดเวลาปีกว่าๆ ที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา ควบคุมการระบาดได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้กับประชาชนอย่างหนัก”

พรรคเพื่อไทยโหมโรงชำแหละร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565

ก่อนลากลงในรายละเอียดว่า จากการตรวจสอบพบการจัดสรรงบประมาณในส่วนกระทรวงสาธารณสุข 153,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่ได้ 158,000 ล้านบาท แต่จัดงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมสูงถึง 203,000 ล้านบาท

มากกว่างบประมาณกระทรวงสาธารณสุข 5 หมื่นล้านบาท

“ขณะนี้เชื้อโควิดกำลังระบาดอย่างหนัก รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุข เพื่อรักษาชีวิตคน มากกว่าการจัดซื้ออาวุธ” นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ

ที่สำคัญยังพบการจัดสรรงบประมาณที่อาจเป็นการจัดซื้อเรือดำน้ำอีกหรือไม่ เมื่อพบกองทัพเรือได้งบประมาณ 41,307 ล้านบาท แยกเป็นโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ผูกพันปีงบประมาณ ตั้งไว้ 4,854 ล้านบาท

ซึ่งอาจเป็นตั้งงบประมาณไว้ซื้อเรือดำน้ำของจีน 2 ลำ

เช่นเดียวกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่ตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำว่า

งบประมาณกรมราชทัณฑ์สำหรับป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด สำหรับปีงบประมาณ 2564 คือ 750,000 บาท สำหรับเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ หรือได้งบประมาณแห่งละ 3,000-10,000 บาท หรือถ้าเทียบกับผู้ถูกคุมขังประมาณ 310,000 คน

เฉลี่ยแล้วได้งบฯ สำหรับป้องกันการแพร่โควิด คนละ 2.41 บาท ดูจากการตั้งงบประมาณแล้วก็ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมยอดคนติดเชื้อจากเรือนจำใกล้จะทะลุ 10,000 คนแล้ว

ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกินงบประมาณไม่รู้กี่ร้อยเท่า

 

จาก “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ศูนย์กลางแพร่ระบาดโรคโควิดระลอก 3 ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เข้าไปเกี่ยวข้อง

มาถึง “คลัสเตอร์เรือนจำ” ภายใต้การกำกับดูแลของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 12,000 คน และมีแนวโน้มจะไม่หยุดแค่นั้น

ทั้ง 2 คลัสเตอร์ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์รัฐบาลอย่างใหญ่หลวง

ไม่นับรวมถึงการระบาดระลอกแรก และระลอก 2 อันมีสารตั้งต้นจากคลัสเตอร์สนามมวย บ่อนพนัน และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่ล้วนแล้วอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคนในรัฐบาลแทบทั้งสิ้น

ฉะนั้น การที่พรรคฝ่ายค้านระบุว่า การระบาดของเชื้อโควิดตลอดเวลาปีกว่าๆ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือควบคุมการระบาดได้ ปริมาณผู้ติดเชื้อยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้ประชาชนอย่างหนัก

จึงเป็นการพุ่งเป้าถามหาความรับผิดชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง

จากนี้จึงต้องรอดูกันต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

รัฐบาลกับโควิด ใครจะอยู่ ใครจะไปก่อนกัน