อิสราเอล ปะทะ ฮามาส สงครามใกล้แค่เอื้อม! | ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หนึ่งในข่าวสำคัญในเวทีโลกวันนี้นอกจากเรื่องการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาแล้ว คงเป็นเรื่องของการโจมตีพื้นที่กาซ่าของอิสราเอล อันทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลอย่างมากว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในกาซ่าครั้งนี้จะหวลกลับมาเป็นสงครามใหญ่อีกครั้งในตะวันออกกลาง ทั้งที่การระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในเวทีโลกปัจจุบัน

โจทย์ของทำเนียบขาว
ในอีกด้านหนึ่งของปัญหานี้ คงต้องถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่า สหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรในการช่วยลดทอนความรุนแรงที่เกิดขึ้น อีกทั้งเขาจะจัดการกับมรดกการเมืองที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ทิ้งไว้ในลักษณะของการสนับสนุนอิสราเอลอย่างสุดขั้ว จนในขณะนั้นทำให้หลายฝ่ายมองว่า โอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้ามาทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

ดังนั้นเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นความท้าทายโดยตรงต่อทำเนียบขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำอย่างไรที่ประธานาธิบดีไบเดนจะสามารถรื้อฟื้นบทบาทของสหรัฐฯ ให้กลับมาสู่ความน่าเชื่อถือในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เพียงใด อีกทั้งในภาวะเช่นนี้ พรรคเดโมแครตมีแนวโน้มมากขึ้นที่อยากเห็น บทบาทใหม่ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่จะลดความสนับสนุนอิสราเอลลง และต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปมีบทบาทที่ไม่ใช่เพียงการยุติการสู้รบเท่านั้น แต่ยุติความขัดแย้งทั้งหมด

ฉะนั้น ทำเนียบขาวในยุคของประธานาธิบดีไบเดนจึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้แนวทางแบบ “หวือหวา” เช่นในยุคทรัมป์ เช่น แม้ผู้นำสหรัฐฯ จะออกมาส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ สนับสนุน “สิทธิในการป้องกันตนเอง” ของอิสราเอล แต่ทำเนียบขาวก็หวังว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะ “จบในไม่ช้าไม่นาน” และในขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เปิดการติดต่อกับประธานาธิบดีอับบาสของปาเลสไตน์ด้วย มิใช่จะใช้นโยบายแบบ “หนุนยิว-ทิ้งปาเลสไตน์” เช่นในยุคทรัมป์

แน่นอนว่า การแก้ไขปัญหาความรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากมองจากบริบททางประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่ทิ้งมรดกความขัดแย้งไว้กับภูมิภาคตะวันออกกลางมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของการเมืองโลกทุกยุคทุกสมัย และต้องไม่ลืมว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ล่าสุด ได้กลายเป็นสงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปี 2014

สำหรับไบเดนแล้ว โจทย์ที่ท้าทายทำเนียบขาวปัจจุบันมีหลายประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น 1) การต้องยุติการระบาดของโควิด-19 ในสังคมอเมริกัน 2) การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ 3) การรับมือกับการเติบโตของจีน 4) การเจรจาปัญหาอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน และ 5) การพาสหรัฐฯ กลับเข้าสู่เวทีการประชุมเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ อันทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในครั้งนี้ กลายเป็นโจทย์สำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ทำเนียบขาวต้องเผชิญ

สงครามครั้งใหม่?
ในทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นที่รับรู้กันว่า กลุ่มฮามาสถูกขึ้นบัญชีเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มฮามาสมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการ “ปลดปล่อย” ปาเลสไตน์จากการยึดครองของอิสราเอล และในปัจจุบันกลุ่มนี้เป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวปาเลสไตน์มากขึ้น

กลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้งในปี 2006 และมีสถานะเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของพื้นที่กาซ่า แต่กลุ่มนี้เคยทำสงครามกับอิสราเอลมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะสงครามครั้งสำคัญในปี 2014 ซึ่งมีการใช้จรวดพิสัยไกลในการโจมตีเป้าหมายในอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีเยรูซาเล็ม เทลอาวีฟ และไฮฟา เป็นต้น กลุ่มนี้มีจุดยืนชัดเจนที่ยอมรับการหยุดยิงกับอิสราเอล แต่มีเงื่อนไขว่า อิสราเอลจะต้องถอนทหารกลับสู่แนวเส้นเขตแดนเดิมของปี 1967 และให้สิทธิแก่ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์กลับสู่ถิ่นฐานเดิม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮามาสเป็นเหมือนขบวนการทางการเมืองโดยทั่วไป ที่แยกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ปีกการทหาร และปีกสังคมหรือปีกการเมือง ซึ่งปีกการทหารมักจะเป็นส่วนที่เปิดการโจมตีอิสราเอลหลายครั้ง เช่น การโจมตีด้วยจรวดทั้งพิสัยใกล้และพิสัยไกล การใช้ระเบิดฆ่าตัวตาย กลุ่มนี้อาศัยอิสราเอลเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางทหาร หรือโดยนัยคือ อิสราเอลมีสถานะเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมสำหรับให้ฮามาสก่อเหตุ และในทางกลับกัน อิสราเอลก็จะอาศัยการโจมตีของฮามาสเป็นข้ออ้างในการตอบโต้ทางทหาร หรืออาจกล่าวได้ว่า การก่อเหตุของฮามาสกลายเป็นความชอบธรรมสำหรับอิสราเอลในการโจมตีทางทหาร

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในทางการเมืองก็คือ กลุ่มนี้เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์ และฮามาสเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความยอมรับในหมู่ชาวปาเลสไตน์ให้มากขึ้น ส่วนอิสราเอลเองก็ยอมรับที่จะให้ฮามาสเป็นรัฐบาลในกาซ่า แต่ไม่ต้องการให้ฮามาสขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยายเข้าไปสู่พื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออกที่อิสราเอลต้องการควบคุมไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอย่างมากในเชิงนโยบายคือ ฮามาสยืนยันแนวคิดแบบ “รัฐเดียว” คือรัฐปาเลสไตน์เท่านั้น ในขณะที่อิสราเอลยืนบนแนวคิดแบบ “สองรัฐ” คือ รัฐอิสราเอล และรัฐปาเลสไตน์

ในอีกด้านหนึ่ง อิสราเอลเองก็กังวลกับการโจมตีทางทหารของกลุ่มฮามาส โดยเฉพาะการใช้จรวดพิสัยไกลที่สร้างความเสียหายให้เมืองหลักของอิสราเอล แม้จะสามารถป้องกันการโจมตีของจรวดได้ในหลายส่วนก็ตาม ดังนั้น อิสราเอลจึงต้องการที่จะป้องปรามการโจมตีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการสังหารผู้นำ (เท่าที่อิสราเอลจะค้นหาได้) การโจมตีอาคารสถานที่ต่างๆ ของกลุ่ม (ดังปรากฏภาพปัจจุบันของการโจมตีทางอากาศต่ออาคารของกลุ่มในกาซ่า) และสำหรับผู้นำอิสราเอลแล้ว ประธานาธิบดีเนทันยาฮูไม่ต้องการที่เข้าสู่การเลือกตั้งครั้งที่ 5 ของเขา โดยมีสงครามปาเลสไตน์เป็นชนักติดตัวไปด้วย

ทางออกในอนาคต
การจะยุติความรุนแรงในสถานการณ์ปัจจุบันก็ดูจะไม่มีทางออกที่ชัดเจน ในขณะเดียวกัน บทบาทของสหรัฐฯ ที่จะเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาก็ยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะเห็นถึงโอกาสในการยุติความรุนแรงนี้ และทั้งยังคงมีประเด็นที่สำคัญอื่นๆ ทับซ้อนอยู่ด้วย เช่น ปัญหาการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ตามปฏิญญาออสโล ปัญหาการพัฒนาชีวิตและเศรษฐกิจของชาวปาเลสไตน์ ปัญหาสิทธิทางการเมืองของชาวอาหรับในเยรูซาเล็มตะวันออก เป็นต้น

ประเด็นเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะยังคงดำเนินต่อไป จนหลายฝ่ายมีความกังวลอย่างมากถึงการสูญเสียชีวิตของประชาชนในปาเลสไตน์ที่ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีของอิสราเอล เพราะประชาชนชาวปาเลสไตน์เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากในแต่ละวัน จนเกิดการประท้วงต่อต้านอิสราเอลในหลายประเทศ อีกทั้งยังเกิดความกังวลอย่างมากกับโอกาสการมาของ “สงครามกาซ่า” ในอนาคต ดังเช่นที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2014 !