แมลงวันในไร่ส้ม/ข่าวใหญ่จาก “เสกสรรค์” วิเคราะห์ “4.0-ประชารัฐ” “4คำถาม และ คสช.”

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวใหญ่จาก “เสกสรรค์” วิเคราะห์ “4.0-ประชารัฐ” “4คำถาม และ คสช.”

หายหน้าหายตาไปพักใหญ่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. เรียกเสียงฮือฮา ด้วยปาฐกถา “ทิศทางการเมืองไทยกับสังคม 4.0” ที่ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

เจ้าตัวบอกว่าใช้วัยชราอยู่ในความเงียบสงัดมาพักใหญ่ แต่ยังคิดถึงงานวิชาการ

บางตอนจากปาฐกถาของเสกสรรค์ระบุว่า

วิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2556-2557 ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกัน

แต่กินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐ กับชนชั้นนำใหม่ที่โตจากภาคเอกชนที่กุมกลไกราชการ กับฝ่ายที่ขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งที่มีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน

ปัญหาที่เกิดขึ้นใหญ่โตเกินเรื่องราวของบุคคลและคณะบุคคล แต่สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่การเบียดแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบบต่อระบบ

เสกสรรค์กล่าวอย่างน่าคิดว่า หลังรัฐประหาร 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อ กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมอย่างเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปตามวิสัยทัศน์ของตนเอง

ทั้งหมดนี้ จึงไม่ใช่ลักษณะรัฐบาลชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิด และประสงค์ดัดแปลงโลกตามความคิดของตัวเองด้วย

คำกล่าวของเสกสรรค์จะเห็นชัดมาก หากพิจารณาจากการ “ปฏิวัติ” แล้ว “คืนอำนาจ” ของรัฐประหารที่ผ่านๆ มา ทั้ง 2534 และ 2549 โดยเฉพาะครั้งหลัง ที่คืนอำนาจแล้วระบุว่า “เสียของ” เพราะพรรคเครือข่ายทักษิณ “คัมแบ๊ก” สู่อำนาจอีก

เสกสรรค์ระบุว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สะท้อนให้เห็นแจ่มชัดว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร และจำกัดนักการเมืองไม่ให้กุมอำนาจนำอีกต่อไป

ดังปรากฏในมาตรา 91 ที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่เป็นการจัดสรรปันส่วนผสมนั่นเอง

ทำให้อิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งเสริมโอกาสของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก การได้เสียงข้างมากของพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก รัฐบาลที่ตั้งขึ้นอาจจะต้องเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งไม่ค่อยมีเสถียรภาพ

ผลทางอ้อมของระบบเลือกตั้งเช่นนี้ ทำให้การเสนอนโยบายในระดับชาติของพรรคการเมืองถูกลดความสำคัญลง

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เปิดพื้นที่ให้ชนชั้นนำภาครัฐอย่างเต็มที่

กำหนดให้มีแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบกำหนดนโยบายอะไรเพิ่มเติมไม่ได้ และอาจต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบายของ คสช. เสียเองด้วย

อีกคำพยากรณ์ของเสกสรรค์ ที่กลายเป็นพาดหัวข่าวในเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ก็คือ การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐ คงจะดำเนินต่อเนื่องไปไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี

และระบุว่า เหตุที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกล้าทำเกินดุลเช่นนี้ มีคำตอบอยู่ในนโยบาย 2 ประการ นั่นคือ

หนึ่ง นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสอง นโยบายประชารัฐ

ซึ่งประชารัฐในความเห็นของอดีตผู้นำนักศึกษาผู้นี้ เห็นว่า ถือเป็น Master Plan หรือ แผนการอันยิ่งใหญ่ในการช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐได้อย่างแยบยล

เป็นยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนา “อำนาจนำ” โดยบูรณาการโจมตีในทุกมิติ

เสกสรรค์ยอมรับว่า พูดกันอย่างยุติธรรม ไทยแลนด์ 4.0 มีจุดมุ่งหมายที่ดี พาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

แต่คำถามยังมีอยู่ว่า คนไทยพร้อมแค่ไหนในการก้าวกระโดดไปสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจ 4.0 แรงงานครึ่งหนึ่งอายุมากและมีการศึกษาน้อย การปรับตัว ยกระดับทักษะให้เป็นแรงงาน 4.0 คงทำได้ยากทีเดียว

ก่อนชี้ว่า นโยบายและโครงการประชารัฐมีนัยทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานราก ซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง

ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้

แต่คำถามก็ยังมีอยู่ว่า การหวังให้กลุ่มทุนใหญ่เป็นคนขับเคลื่อน เป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาใหญ่จะไม่กินปลาเล็กตามธรรมชาติของระบบทุนนิยม

ดังนั้น สิ่งที่ คสช. เสนอ นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่

ก่อนจะโยนโจทย์การบ้านให้นักการเมือง และพรรคการเมืองว่า ถ้าพรรคการเมืองคิดได้ไม่มากไปกว่านี้ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ๆ ก็ป่วยการที่จะมีพรรคเหล่านี้

เพราะจะเป็นแค่ส่วนตกแต่งของพลังที่ขับเคลื่อนโดยรัฐราชการเท่านั้น

เสกสรรค์ยังชี้ว่า พรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นเก่าล้วนเติบโตมากับระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 คุ้นเคยในการร่วมมือกับชนชั้นนำภาครัฐในการตั้งรัฐบาลนายกฯ คนนอก เป็นพลังหนุน เป็นพระรองเพื่อชิงส่วนแบ่งอำนาจไว้ ในการเมืองแบบที่ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” เรียก “เกี้ยซิยาธิปไตย”

ก่อนฟันธงว่า ทางรอดเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองได้ ต้องร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น แอบโต้คำท้าของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น

พิสูจน์ให้ได้ว่า เหนือกว่า ดีกว่าและเป็นธรรมมากกว่าแนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม

เสกสรรค์ระบุว่า การดูถูกดูหมิ่นหยามนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำภาครัฐแสดงออกอย่างเปิดเผยมาตลอดช่วงหลังรัฐประหาร

ใช้วาทกรรมต่อต้านคอร์รัปชั่นพุ่งเป้าใส่นักการเมือง ตอนแรกอาจจะหมายถึงพรรครัฐบาลที่ถูกโค่น แต่ต่อมากลับออกไปในทางเหมารวมนักการเมืองทั้งหมด

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ข้าราชการ พ่อค้า และนักธุรกิจต่างหากที่เป็นต้นแบบของระบบทุจริตในประเทศไทย และการคอร์รัปชั่นก็ไม่ได้หายไปไหนในช่วงการปกครองแบบอำนาจนิยม

ในช่วงท้าย เสกสรรค์ระบุว่า คำถาม 4 ข้อ คือการเปิดรุกใส่นักการเมือง และทั้งหมด ไม่ได้เป็นแค่ความเคลื่อนไหวในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หลายท่านอาจมองว่าต้องการสืบทอดอำนาจ

หากเป็นการต่อสู้ในระดับชิงระบบของ State Elites ที่ต้องการสถาปนาความชอบธรรมของตน และลดทอนความชอบธรรมของคู่แข่ง

ถ้าเรามองในระดับนี้ จะพบว่า ฝ่ายชนชั้นนำเก่ามีสำนึกและมียุทธศาสตร์ในการต่อสู้ มากกว่านักการเมืองหรือพรรคการเมือง ซึ่งมักมุ่งหวังชัยชนะในระดับที่แคบกว่ากันมาก นั่นคือแค่ชัยชนะของบุคคลหรือพรรคของตนเท่านั้น

และนั่นคือส่วนหนึ่งของปาฐกถาของเสกสรรค์ ที่วิเคราะห์การเมืองไทยยุค “คสช.” ได้อย่างยากที่จะโต้แย้ง

และเปิดประเด็นเป็นการบ้านสำคัญ ท่ามกลางความ “สงัดเงียบ” ของบ้านเมืองยุคก่อน 4.0