จากนักศึกษาถึงขบวนการราษฎร : จะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไรดี? (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

จากนักศึกษาถึงขบวนการราษฎร

: จะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไรดี? (1)

“บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ได้จากบทตอนว่าด้วยเสนานครในหนังสือตำราการิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง ให้นักศึกษาเขียนคำปรึกษาแนะนำแก่แฟลชม็อบราษฎรว่าควรจะดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองตามเป้าหมายต่อไปอย่างไร? เพราะเหตุใด?”

ในบรรดานักศึกษาผู้เลือกตอบคำถามนี้ในการสอบกลางภาควิชาปรัชญาการเมืองเบื้องต้นที่ผ่านมา ผมได้เลือกคำตอบบางฉบับที่มีเนื้อหาสำนวนโดดเด่นและ/หรือเป็นตัวแทนแนวคิดของผู้ตอบส่วนใหญ่มานำเสนอในที่นี้

โดยผมได้ปรับแต่งถ้อยคำสำนวนบ้างเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจและเหมาะสมแก่การเผยแพร่

จากเสนานครถึงรัฐบาลประยุทธ์

คุณ ช.ช้าง อภิปรายเชื่อมโยงสถานการณ์การเมืองในจินตนาการของเสนานครกับสถานการณ์จริง ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์@คสช. ว่า :

“เสนานครเป็นหนึ่งในนครสมมุติที่อยู่ภายในนิยายเรื่องการิทัตผจญภัยฯ นครแห่งนี้เป็นบ้านเกิดของตัวเอกศาสตราจารย์นิโคลาส การิทัต และจุดเริ่มต้นของนิยายเรื่องนี้…

“สถานการณ์ที่เมืองแห่งนี้กำลังเผชิญคือสภาวะความวุ่นวายอันเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร อันนำมาสู่การปกครองโดยเผด็จการทหาร สิ่งที่ตามมาคือการก่อการร้ายโดยรัฐ ดังเช่นการอุ้มหายนักวิชาการ การกดขี่อย่างรุนแรงและไร้เหตุผล ทั้งกลุ่มคนที่เป็นแขนขาของรัฐบาลยังแสดงทรรศนะมองโลกในแง่ร้าย (pessimism) ไม่เชื่อเหตุผล เช่น การมองความเขลาและความโหดร้ายของมนุษย์ บูชาศาสนาแทนความก้าวหน้าของมนุษย์ ซึ่งสวนทวนความคิดยุครู้แจ้ง (the Enlightenment) ที่มองมนุษย์เป็นศูนย์กลางและมีทรรศนะมองโลกในแง่ดี (optimism)

“เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย ภาพแทนของความเป็นเสนานครผู้ถือทรรศนะมองโลกในแง่ร้าย ปรากฏอยู่กับรัฐบาลเผด็จการอาญาสิทธิ์ที่ยึดมั่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันกลุ่มต่อต้านเผด็จการในเสนานครอันได้แก่ ‘ขบวนการมือที่มองเห็น’ ก็คล้ายกับกลุ่มแฟลชม็อบราษฎร ซึ่งมีเป้าหมายท้าทายอำนาจทั้งหน้าฉากและหลังฉากทางการเมือง โดยมีข้อเสนอ 3 ประเด็นหลักคือ การขับไล่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชน และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์…

ทว่าหากเทียบกับขบวนการมือที่มองเห็นแห่งเสนานคร ขบวนการราษฎรไม่ได้มีลักษณะจรยุทธ์ต่อต้านรัฐ เพียงแต่เคลื่อนไหวประท้วงแสดงความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทย”

วิเคราะห์ประเมินการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา

คุณ ช.ช้าง ยังย้อนมองการเคลื่อนไหวของราษฎรทั้งแง่บวกและแง่ลบพร้อมทั้งสรุปบทเรียนว่า :

“ในการเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบราษฎรที่ผ่านมามีสิ่งที่น่าชื่นชมและน่าวิพากษ์ทั้งสองด้าน

“หากมองสิ่งที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับขบวนการราษฎร พวกเขามีคติที่เหนียวแน่นบางด้านของยุครู้แจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทรรศนะมองโลกในแง่ดี กลุ่มผู้คนในโครงข่ายราษฎรต่างแสดงทรรศนะมองโลกในแง่ดีผ่านการปลุกเร้าหลายครั้งในการชุมนุม โดยมักปรากฏการพยายามเสนอทรรศนะการต่อสู้อย่างมีความหวังโดยตลอด เช่น การตั้งกระทู้เปิดทางความคิดว่า ‘ถ้าการเมืองดี…’ (ดู ‘ถ้าการเมืองดี…’ : การต่อสู้เพื่อการเมืองในชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมการเมืองใหม่ https://prachatai.com/journal/2020/09/89700) หรือคำขวัญ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ (“แฮชแท็กร้อน ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ คนรีทวีตพุ่งทะลุ 6 แสน” https://www.voicetv.co.th/read/ROv-a-_ap) ถ้อยคำเหล่านี้ถูกยกขึ้นมากล่าวบ่อยครั้งในการชุมนุมและปราศรัย ช่วยธำรงความคิดของผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าอีกไม่ช้าจะถึงเส้นชัย ยุทธวิธีเช่นนี้เป็นที่ดึงดูดใจและสร้างความหวังแก่ผู้ร่วมเคลื่อนไหว

“แต่กระนั้น การเคลื่อนไหวของขบวนการราษฎรจะเดินทางไปถึงเป้าหมายสำเร็จได้ย่อมไม่ใช่การต่อสู้ในระยะสั้น หากแต่คือการต่อสู้ทางความคิดในระยะยาว โดยเฉพาะกรณีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะถึงที่สุดแล้ว ความชอบธรรมทางการเมืองคือบ่อเกิดที่จะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยประสบความสำเร็จ ซึ่งจะธำรงความชอบธรรมดังกล่าวไว้ได้ก็โดยผ่านการที่ผู้ปฏิบัติการเคลื่อนไหวไม่ก่อความรุนแรงก่อน มิฉะนั้นมิเพียงแต่จะส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวหมดความชอบธรรมเท่านั้น หากยังอาจนำไปสู่ใบอนุญาตฆ่าของฝ่ายรัฐ (License to Kill) ได้ด้วย สิ่งนี้คือทางแพร่งที่ขบวนการราษฎรกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันว่าจะใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้ หรือยอมที่จะไม่ใช้ความรุนแรงพร้อมทั้งยึดมั่นในสันติวิธี”

มองต่างมุมออกไป คุณ ก.ไก่ นักศึกษาอีกคนกลับวิพากษ์วิจารณ์ข้อผิดพลาดหลักของแฟลชม็อบราษฎรโดยเชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงทางการเมืองของสังคมไทยในสายตาเธออย่างตรงไปตรงมาว่า :

“การเมืองไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในระบบการเมืองภาคประชาชน หรือแม้แต่การเมืองวัฒนธรรมล้วนแล้วแต่วิ่งไปคนละทางแยก คนละเส้นทาง สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้การประนีประนอมและบรรลุฉันทามติในสังคมเกิดขึ้นได้ยาก

“ขณะที่การเมืองในระบบหรือในสภามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อข้อเรียกร้องการปฏิรูป 3 ประการของภาคประชาชนน้อยมาก แต่การเมืองวัฒนธรรมก็สูงทะลุเพดานไปแล้ว คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องการท้าทายอำนาจนำและวัฒนธรรมครอบงำที่ชนชั้นนำผู้มีอำนาจสร้างขึ้นเพื่อใช้ปกครองสังคม โดยแสดงให้เห็นได้จากข้อเรียกร้องที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้เป็นโทษในทางยุทธศาสตร์ต่อม็อบราษฎร

“ในปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมไทยยังมีอยู่มาก แม้จะไม่ได้เข้มแข็งหรือมีปัญญาชนชั้นนำเป็นของตัวเองเหมือนในอดีต ในความเป็นจริงแล้ว คนกลุ่มนี้บางส่วนเห็นด้วยกับการต่อต้านระบอบประยุทธ์อันเนื่องมาจากปัญหาเรื่องปากท้องที่รัฐบาลไม่สามารถพยุงคนอ่อนแอที่สุดของสังคมไทยทั้งชนชั้นล่างไปจนถึงชนชั้นกลาง ซึ่งโควิดระบาดก็ได้เปลือยปัญหานี้และได้สั่นคลอนรัฐภายใต้การนำของรัฐบาลชุดปัจจุบันให้เห็นอย่างชัดเจน

“นั่นหมายความว่าแท้ที่จริงคนกลุ่มนี้สามารถเข้ามาเป็นแนวร่วมกับม็อบราษฎรได้ แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาลังเล เลือกที่จะนิ่งเฉย หรือบ้างก็พยายามอ้างความเป็นกลาง นั่นก็เป็นเพราะข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้เอง โดยหากม็อบวิจารณ์เรื่องสถาบันมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเป็นการผลักให้คนกลุ่มนี้ที่น่าจะเป็นแนวร่วมออกห่างจากม็อบมากขึ้นเท่านั้น ซ้ำร้ายมันจะเป็นการจุดเชื้อไฟให้พวกเขาเหล่านั้นไปจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิ่งที่ตัวเองรัก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาไปสร้างมวลชนฝ่ายขวาขึ้นมาสู้กับม็อบราษฎร

“นอกจากนั้นแล้ว ข้อเรียกร้องดังกล่าวยังทำให้รัฐหาความชอบธรรมมาปราบปรามผู้ประท้วงได้ง่าย เพราะในความเป็นจริงระบอบอำนาจนิยมในไทยเองก็มีการปรับตัว โดยจากการปราบปรามด้วยอาวุธสงครามซึ่งหน้ามาเป็นการใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอาญามาตรา 112

“ดังนั้น ผู้เขียนจึงเล็งเห็นว่าม็อบราษฎรต้องเพิ่มปฏิกิริยาตอบสนองของสังคมโดยการหาแนวร่วมให้ได้มากขึ้น เพื่อให้รัฐไม่สามารถฝืนฉันทามติของสังคมได้

“อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันหมด มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่การที่จะบรรลุข้อเรียกร้องระดับสูงสุดเช่นนั้นได้ อย่างน้อยต้องได้ข้ออื่นที่มีความเป็นไปได้มากกว่าก่อน ทั้งนี้ ก็โดยอาศัยแนวร่วมประชาชนที่มีจำนวนมากขึ้น…”

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)