วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (8)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุจากกบฏโพกผ้าเหลือง (ต่อ)

แผนดังกล่าวจึงทำให้มีผู้อาสาศึกเข้ามาอย่างมากมาย จากนั้นก็จัดทัพเพื่อออกศึกที่โดยหลักแล้วจะมีอยู่สองสาย สายหนึ่งเป็นทัพจากส่วนกลาง อีกสายหนึ่งเป็นทัพจากส่วนท้องถิ่น

ในระยะแรกของการศึกระหว่างทัพของฮั่นตะวันออกกับขบวนการโพกผ้าเหลืองนั้น ได้ปรากฏว่า ทัพของราชวงศ์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถตีโต้กลับไปได้ และได้รับชัยชนะในหลายพื้นที่

ข้างฝ่ายขบวนการโพกผ้าเหลืองเมื่อประสบกับแผนดังกล่าว ก็หมายความว่าต้องเผชิญศึกหลายด้านจนกลายเป็นจุดอ่อนขึ้นมา แต่ขบวนการที่อยู่ภายใต้การนำของจางเจี๋ว์ยก็ยังตั้งรับและรักษาเมืองจี้ว์ลู่เอาไว้ได้ ช่วงการศึกตอนนี้เองที่จางเจี๋ว์ยต้องถูกปิดล้อมโดยทัพที่มาจากทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และผู้นำทัพที่มาจากส่วนท้องถิ่นคนหนึ่งคือ ต่งจว๋อ (ตั๋งโต๊ะ)

การปิดล้อมเป็นไปนานหลายเดือนก็ไม่สามารถตีทะลวงทัพของจางเจี๋ว์ยได้สำเร็จ แต่แล้วก็ดูเหมือนโชคจะเข้าข้างทัพของราชวงศ์ เมื่อปรากฏว่าจางเจี๋ว์ยเกิดป่วยหนักและเสียชีวิตใน ค.ศ.184 อันเป็นปีเดียวกับที่เขานำขบวนการโพกผ้าเหลืองลุกขึ้นสู้กับราชวงศ์ฮั่น

ชัยชนะโดยบังเอิญในครั้งนี้แม้มีต่งจว๋อร่วมด้วยในฐานะรองก็จริง แต่ก็ทำให้เขามีความดีความชอบและโดดเด่นขึ้นมา คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่านั่นคือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เขามีบทบาททางการเมืองในเวลาต่อมา

 

ถึงแม้จางเจี๋ว์ยจะตายจากไปแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าขบวนการที่เขาสร้างมาจะตายจากไปด้วย

เป็นความจริงที่ว่า ภายหลังจางเจี๋ว์ยตายไปแล้ว ขบวนการโพกผ้าเหลืองได้รับผลสะเทือนก็ตรงที่ขาดผู้นำที่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ขาดผู้นำทางจิตวิญญาณ เนื่องจากขบวนการนี้เกิดและเติบโตขึ้นมาจากความเชื่อในเชิงลัทธิศาสนา แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าขบวนการต้องถึงกับล่มสลายไปด้วย

แท้ที่จริงแล้ว ด้วยขบวนการที่มีกำลังพลมากมายและแผ่อิทธิพลกว้างไกล อีกทั้งยังมีการจัดตั้งและวินัยที่ดี ขบวนการนี้จึงยังยืนหยัดต่อสู้กับราชวงศ์ฮั่นต่อไป เพียงแต่อยู่ในภาวะที่เสียเปรียบกว่าเท่านั้น

การยืนหยัดของขบวนการยังคงดำเนินไปอีกนานนับสิบปี

และในระหว่างนั้นฮั่นหลิงตี้ได้สิ้นพระชนม์ลงใน ค.ศ.189 ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแทนคือ ฮั่นเส้าตี้ (ค.ศ.176-190)

เมื่อเป็นเช่นนี้มเหสีเหอของฮั่นหลิงตี้จึงก้าวไปเป็นราชชนนีเหอ (เหอไท่โฮ่ว)

ช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจนี้เอง การช่วงชิงการนำในราชสำนักก็ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

การเมืองในราชสำนักครั้งนี้เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างราชชนนีเหอกับขุนศึกเหอจิ้นผู้เป็นญาติผู้พี่ เป้าหมายครั้งนี้อยู่ตรงการกำจัดอิทธิพลของเหล่าขันที ซึ่งจนถึงเวลานั้นเหล่าขันทีที่มีอิทธิพลสูงมีอยู่ด้วยกันสิบคน โดยประวัติศาสตร์จีนจะเรียกขันทีทั้งสิบคนนี้ว่า พวกสิบจางวาง (สือฉางซื่อ, the Ten attendants)

อันหมายถึง พวกขันทีที่รับใช้ใกล้ชิดฮั่นหลิงตี้ที่มีอยู่ด้วยกันสิบคน แล้วใช้ความใกล้ชิดนี้แอบอ้างอำนาจจักรพรรดิ ซึ่งในหลายกรณีจักรพรรดิก็ทรงเห็นชอบด้วย

แผนกำจัดพวกสิบจางวางของเหอจิ้นก็คือ การให้ขุนศึกหยวนเส้า (อ้วนเสี้ยว) นำกำลังทหารเข้ากวาดล้าง ในขณะเดียวกันก็เรียกให้ขุนศึกต่งจว๋อกลับจากชายแดนมาร่วมด้วย

แต่ปรากฏว่า แผนของเหอจิ้นรั่วไหลไปถึงหูของพวกสิบจางวาง จากเหตุนี้ พวกสิบจางวางจึงไม่รอช้าให้ตนเป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยการชิงเป็นฝ่ายกระทำเสียก่อน พวกสิบจางวางได้วางแผนล่อลวงให้เหอจิ้นมาติดกับของตนแล้วก็ลงมือสังหาร

ส่วนหยวนเส้าซึ่งปฏิบัติการช้ากว่าพวกสิบจางวางนั้น พอรู้ข่าวเหอจิ้นถูกลวงไปฆ่าแล้วก็ไม่รอช้า รีบนำกองกำลังของตนบุกเข้าวังหลวงทันที เมื่อไปถึงก็จัดการเข่นฆ่าพวกสิบจางวางพร้อมสมุนบริวารที่เป็นขันทีด้วยกันอีกราว 2,000 คน

 

กล่าวกันว่า การเข่นฆ่าขันทีในครั้งนี้เป็นไปจนขันทีแทบจะหมดวังหลวง และวังหลวงก็นองไปด้วยเลือด เมื่อกำจัดเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ให้ปรากฏว่า กองกำลังของต่งจว๋อมาถึงลว่อหยางพอดี จากนั้นต่งจว๋อจึงนำกองกำลังของตนเข้าควบคุมสถานการณ์ในเมืองหลวงเอาไว้

ผลคือ หนึ่ง การใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของเครือญาติจักรพรรดิข้างฝ่ายมเหสีหรือราชชนนีกับข้างฝ่ายขันทีก็เป็นอันจบลง สอง การเข้าควบคุมสถานการณ์ของต่งจว๋อในด้านหนึ่งได้เท่ากับยึดอำนาจของราชวงศ์เอาไว้ในทางพฤตินัย และในทางนิตินัยแม้จะยังคงมีจักรพรรดิอยู่ก็ตาม แต่การคงอยู่นั้นก็ไร้ความหมาย เพราะการใช้อำนาจในทุกที่ทุกทางล้วนมาจากต่งจว๋อแต่ผู้เดียว และใช้ในนามจักรพรรดิ

การเข้าควบคุมสถานการณ์ของต่งจว๋อดูไปแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ดี ด้วยอย่างน้อยก็ทำให้การใช้อำนาจแทนจักรพรรดิไปในทางที่ผิดๆ ของกลุ่มต่างๆ หมดไป แต่การณ์กลับมิได้เป็นเช่นที่ว่า

เพราะพลันที่ควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ สิ่งที่ต่งจว๋อได้กระทำต่อมาคือ ปลดฮั่นเส้าตี้ออกจากการเป็นจักรพรรดิ ทำให้ฮั่นเส้าตี้ครองราชย์ได้ประมาณหนึ่งปี (ค.ศ.189) เมื่อปลดแล้วก็ยกเอาฮั่นเสี้ยนตี้ (เหี้ยนเต้, ครองราชย์ ค.ศ.189-220) ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแทน

ส่วนฮั่นเส้าตี้นั้นมีบันทึกบางที่ระบุว่า ในปีถัดมาคือ ค.ศ.190 พระองค์ทรงถูกต่งจว๋อวางยาพิษจนสิ้นพระชนม์

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ต่งจว๋อได้ยึดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์ฮั่นเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว แต่หากกล่าวตามนัยประวัติศาสตร์จีนแล้ว ต่งจว๋อก็คือผู้ที่จะใช้อำนาจแทนจักรพรรดิเป็นคนต่อไป แต่เป็นการใช้ในฐานะที่เป็นขุนศึก มิใช่ในฐานะเครือญาติจักรพรรดิหรือขันทีดังก่อนหน้านี้

สิ่งที่ต่างกันเห็นจะอยู่ตรงที่กรณีของต่งจว๋อนี้เป็นการใช้อำนาจแทนแบบซึ่งหน้า คือเป็นการใช้อำนาจของตัวเองโดยตรงอย่างเปิดเผย จนอาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีอะไรต่างกันแม้แต่น้อยหากต่งจว๋อจะก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิเสียเอง

พฤติกรรมเช่นนี้ของต่งจว๋อจึงนำมาซึ่งความไม่พอใจให้แก่ขุนนางและขุนศึกจำนวนหนึ่ง ความไม่พอใจนี้มีทั้งที่เป็นเพราะยังคงจงรักภักดีต่อราชวงศ์ และเป็นเพราะอยากที่จะได้อำนาจเฉกเช่นที่ต่งจว๋อได้มา

 

แต่ก็ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แม้กำลังหลักของขบวนการโพกผ้าเหลืองจะถูกปราบปรามลงแล้วก็ตาม แต่กองกำลังตามพื้นที่ต่างๆ ก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้อยู่นั้น ก็หมายความว่า ทั้งระหว่างและหลังจากความขัดแย้งในราชสำนักที่เป็นไปอย่างนองเลือดสิ้นสุดลง ขบวนการโพกผ้าเหลืองก็ยังคงถูกกองกำลังของราชสำนักปราบปรามต่อไป

โดยหลังจากที่จางเจี๋ว์ยเสียชีวิตไปใน ค.ศ.184 แล้วนั้น ในปีถัดมาคือ ค.ศ.185 ก็สามารถลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ขบวนการได้เคลื่อนตัวไปตั้งมั่นอยู่ที่บริเวณเทือกเขาไท่หาง ซึ่งในปัจจุบันคือบริเวณชายแดนด้านตะวันตกของมณฑลเหอเป่ย พอถึง ค.ศ.186 ก็ขยายไปถึงส่านซี เหอเป่ย และเหลียวหนิง จนถึง ค.ศ.188 ก็เคลื่อนไปที่ซานซี และในปีเดียวกันนี้เอง กองกำลังอีกส่วนหนึ่งของขบวนการยังสามารถตั้งมั่นอยู่ที่ซื่อชวน (เสฉวน) เพิ่มขึ้นอีก

ที่สำคัญ กองกำลังทั้งสองพื้นที่นี้ไม่สามารถติดต่อประสานกันได้ ทำให้กองกำลังของขบวนการขาดความเป็นปึกแผ่น ต่างฝ่ายต่างจึงต่อสู้กับกองกำลังของราชวงศ์ฮั่นไปตามลำพัง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ขบวนการจะอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบ

ถึงกระนั้นก็ตามที การต่อสู้ของขบวนการโพกผ้าเหลืองก็ยังคงยืนหยัดอยู่ได้อีกหลายปีต่อมา โดยนับแต่ ค.ศ.192 กองกำลังที่นำโดยเฉาเชา (โจโฉ) ได้ยังความพ่ายแพ้แก่ขบวนการครั้งแล้วครั้งเล่า

ตราบจน ค.ศ.205 นั่นแล้ว ขบวนการโพกผ้าเหลืองจึงถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบในที่สุด อันเป็นการปิดฉากขบวนการชาวนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขบวนการหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์จีน

 

เรื่องราวอันเกี่ยวแก่กบฏโพกผ้าเหลืองนี้จะเห็นได้ว่า กบฏนี้เกิดขึ้นและจบลงในเวลาที่ไล่เลี่ยกับกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่ว แต่จะด้วยความยิ่งใหญ่ของกบฏโพกผ้าเหลืองที่ไม่เพียงจะเป็นขบวนการของชาวนาเท่านั้น หากยังเป็นกองกำลังที่สามารถเข้ายึดครองพื้นที่สำคัญของฮั่นตะวันออกได้อย่างกว้างไกล

อีกทั้งข้อมูลของกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่วยังมีความสับสนในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้นำสำนัก คือระหว่างจางหลู่กับจางซิ่ว เรื่องราวของกบฏโพกผ้าเหลืองจึงถูกกล่าวขานมากกว่า

และที่ถูกกล่าวขานมากกว่าก็เพราะเป็นกบฏที่สร้างความเสียหายให้แก่ราชสำนักฮั่นมากกว่า