‘เยาว์’ ไม่ทน #ย้ายประเทศกันเถอะ/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘เยาว์’ ไม่ทน

#ย้ายประเทศกันเถอะ

 

การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ

จะครบ 7 ปีในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

สิ่งที่คณะรัฐประหาร “ขับเน้น” แต่เลือนหายไปอย่างมีนัย

คือ 1) เพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย

ที่เขียนเนื้อร้องโดย พล.อ.ประยุทธ์ อันเป็นเสมือน “คำสัญญา” ให้กับคนไทยทุกคน

โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

“…เราจะทำตามสัญญา

ขอเวลาอีกไม่นาน

แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา

เราจะทำอย่างซื่อตรง

ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า

ขอคืนความสุขให้เธอ…”

และ 2) ค่านิยม 12 ประการ ที่คณะรัฐประหารกำหนดเป็นเบ้าหลอม “คนรุ่นใหม่”

ประกอบด้วย

1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม

3. กตัญญูต่อพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์

4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม

6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน

7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง

8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่

9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี

11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา

12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

 

มีคำถามอันแหลมคมว่า 7 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐประหารและวันนี้ที่เปลี่ยนสภาพมาเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์

ได้ทำตามสัญญา คือทำให้ประเทศเป็นสุข

และทำให้คนรุ่นใหม่เป็นไปตามเบ้าหลอมตามค่านิยม 12 ประกาศ หรือไม่

ซึ่งทุกคนคงมีคำตอบ “ชัดเจน” แล้ว

แถมยังมีสิ่งที่ย้อนแย้งไปกว่านั้น

นั่นก็คือ ปรากฏการณ์สนั่นโซเชียลมีเดีย

#ย้ายประเทศกันเถอะ

ที่มีผู้ตั้งกลุ่มขึ้นในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าไม่ถึงสัปดาห์ มีคนเข้าร่วมกลุ่มกว่า 600,000 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะใกล้ 1 ล้านคนก็ได้

 

แม้กลุ่มที่ตั้ง #ย้ายประเทศกันเถอะ จะยืนยันว่า ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง

เพียงแต่จุดเริ่มต้นมาจากผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

จึงมีแนวคิดแค่จะไปลงทุนในประเทศอื่นเพื่อหนีจากวิกฤตในประเทศ เพราะไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐบาลชุดนี้

โดยมีลักษณะเป็น “ฮาวทู”

อาทิ แนะนำประเทศ โดยติด # ประเทศต่างๆ เช่น #ทีมสหรัฐ #ทีมแคนาดา #ทีมญี่ปุ่น

แนะนำอาชีพ เช่น กลุ่มแพทย์ วิศวกร จะไปประเทศไหนที่ตลาดแรงงานยังว่างอยู่

แนะนำการเตรียมตัว เรื่องภาษา วีซ่า อาหารการกิน การใช้ชีวิต

เป็นต้น

ปรากฏว่า จากที่วางแผนจะ “ทำขำๆ ไม่ได้ซีเรียส”

กลับกลายเป็นกลุ่มที่มีคนแห่งสมัครเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มอย่างล้นหลาม

ที่น่าสนใจ 60-70% คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 13-35 ปี

และต่างมีเหตุผลที่นำมาแลกเปลี่ยนในกลุ่มกันอย่างแหลมคม เข้มข้น

จึงมิได้เป็นประเด็นขำ-ขำ ตรงกันข้าม กลับเป็นความจริงจัง

และมีพลังที่ส่งไปกระทบการเมือง และรัฐบาล อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

เราจึงได้เห็นปฏิกิริยาจากฝั่งฟากการเมือง

เช่น นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า กลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ไม่ได้พูดคุยกันเพื่อความสนุกปากเท่านั้น แต่คนจำนวนมากกำลังแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างจริงจัง

ทุกคนดูมีความหวังกับการค้นหาเพื่อจะมีชีวิตและอนาคตในประเทศที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรงต่อชั่วโมง สวัสดิการ การคมนาคม ค่าครองชีพ และอุปนิสัยผู้คนในประเทศนั้น การหาสามีต่างชาติและการฝึกภาษา

“เหตุการณ์นี้สะท้อนความสิ้นหวังประเทศไทย สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเสียงสะท้อนของสังคม อยากให้ฝ่ายรัฐบาลมีโอกาสเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว เข้าไปอ่านด้วยใจที่เป็นกลาง มองสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้ในฐานะรัฐบาลและต้องทำอย่างเร่งด่วน ถ้าหากรักประเทศไทยจริงก็ควรทำให้ประเทศไทยเป็นความหวังกับทุกคนให้ได้”

นายธัญวัจน์ระบุ

 

แต่ก็มีความเห็นต่างจากฝั่งฟากรัฐบาล

อย่างนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บอกว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้มีใครบังคับให้อยู่ในประเทศไทยต่อ

แต่นักการเมืองบางคนแค่ต้องการปั่นกระแสตรงนี้มาโจมตีการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่าทำให้ประเทศไทยไม่น่าอยู่

“ตอนนี้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่อยากย้ายประเทศจนตัวสั่น ก็คือบรรดาแกนนำม็อบที่ออกมาก่อความวุ่นวาย ทำลายประเทศ จึงต้องการย้ายเพื่อหนีคดีแต่ไม่มีที่ไหนในโลกเขาต้อนรับ สุดท้ายน่าจะมีที่หนึ่งที่เปิดกว้างต้อนรับอยู่ก็คือเรือนจำ”

นายสิระมองต่างมุมไปอย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับฝั่งฟาก “อนุรักษ์”

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า

“…ทั้งผู้นำเก่าและผู้นำปัจจุบัน ซึ่งเรารู้กันอยู่ว่าอยู่เบื้องหลังม็อบ ทำเป็นสร้างอีเวนต์ สร้างกระแส ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ เพื่อหวังในคนรุ่นใหม่โกรธเกลียดประเทศชาติของตัวเอง โกรธเกลียดสถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐบาล เพื่อจะได้จุดพลังเพื่อล้มล้าง เพื่อให้เขาและเธอขึ้นสู่อำนาจ

โปรเจ็กต์ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ คืออีกหนึ่งความพยายามที่จะหลอกคนเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อให้พวกตนครอบครองอำนาจทางการเมือง”

สอดคล้องกับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) บอกว่ามีผู้ร้องเรียนระบุว่าการเชิญชวนย้ายประเทศมีเนื้อหาสร้างความแตกแยก สร้างความเกลียดชัง และยังมีการแสดงความคิดเห็นเข้าข่ายหมิ่นสถาบันด้วย เท่าที่ติดตามเบื้องต้นพบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงแนะแนวการศึกษา การประกอบอาชีพในต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี

“แต่เท่าที่ติดตามหลายๆ โพสต์แฝงด้วยประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มบางคนที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศก็มีพฤติกรรมชังชาติอยู่แล้ว ก็มีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อสร้างความแตกแยก และหมิ่นสถาบันเบื้องสูง กระทรวงดีอีเอสมีคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและติดตามการกระทำความผิดในสังคมออนไลน์อยู่แล้ว ก็ได้กำชับไปให้ตรวจสอบดู หากผิดกฎหมายจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด”

นายชัยวุฒิกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต มองต่าง ว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่ได้ไม่รักชาติ แต่ผู้ปกครองประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกว่าประเทศไม่น่าอยู่และต้องการหาที่ไป จริงอยู่ เพียงแค่ 4 แสนกว่าราย ไม่มีโอกาสย้ายตามความฝัน แต่คิดง่ายๆ ว่า หากไปได้สัก 10% ก็ 40,000 หรือแค่ 1% ก็ 4,000 คนแล้ว

ด้านศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีความคิดที่จะย้ายประเทศเช่นกัน โดยสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และถึงขนาดเคยคิดว่าจะเลิกพูดภาษาไทย

“เพราะอาชญากรรมรัฐไทย ของชนชั้นปกครองไทย ที่กระทำต่อ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ต่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา และราษฎร 6 ตุลา 2519 ผมหลบๆ อยู่บ้านยาย ที่ปากน้ำ 3 เดือน ทำเรื่องขอลาไปต่างประเทศ ได้ไปญี่ปุ่น ดร.ประเสริฐ ณ นคร ปลัดทบวงฯ ลงนามอนุมัติให้ผมออกไป ผมไปขึ้นเครื่องที่ดอนเมือง จำได้ว่า ที่นั่นเปิดเพลงสุดท้ายที่ผมได้ยิน คือ หนักแผ่นดิน เมื่อเครื่องเหาะขึ้นอากาศ

ผมมองลงมา และพูดในใจว่า ลาก่อน ผมตั้งใจว่าจะไม่กลับมาอีก และคิดว่าจะเลิกพูดภาษาไทย

ผมไปอยู่ ม.เกียวโต 1 ปีเต็มๆ ปี 2520 ผมได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ปีนั้น เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ผมเลยเปลี่ยนใจกลับมา ในช่วงปี 2521-2522 มีความเปลี่ยนแปลงที่สร้างความหวังใหม่ๆ โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลเปรม สมัย ผบ.ทบ.อย่างชวลิต ยงใจยุทธ สิ้นสุดสงครามเย็น จีนแดงกลายเป็นมหามิตร ภายในมีท่าทีว่าจะประนีประนอมกันได้ เช่น นโยบาย 66/23 ประเทศไทยดูมีความหวัง”

ส่วน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการกฎหมาย บอกว่า ตราบเท่าที่ระบบการเมืองโดยรวมยังไม่อาจทำให้ผู้คนเห็นได้ว่า “สังคมนี้มีอนาคต”

ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่เรื่องผิดที่จะมีคนจำนวนมากคิดถึงการอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอื่นๆ

แทนที่จะเอ่ยปากขับไล่ไสส่ง

บรรดาผู้มีอำนาจควรต้องตระหนักว่าระบบการเมืองที่บัดซบอย่างรุนแรงในขณะนี้คือปัจจัยสำคัญต่างหากที่ต้องมีการปรับปรุง

ความเย่อหยิ่งและการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือเครือข่ายยิ่งจะทำให้สถานการณ์นี้รุนแรงมากขึ้น

 

ไม่ว่าความเห็นต่อปรากฏการณ์ “ย้ายประเทศกันเถอะ” จะแตกต่างกันอย่างไร

แต่ผู้ที่ควรจะทบทวนอย่างยิ่งต่อปรากฏการณ์นี้

ก็คือฝ่ายที่สัญญาจะทำให้ประเทศเป็นสุข และปลูกฝังค่านิยมตามความเชื่อของตน

ซึ่ง 7 ปีพิสูจน์แล้วว่า มิได้ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่

แถมยังฉุดรั้งให้จมดิ่งลงสู่ความล้าหลังอีก

พวกคนรุ่นใหม่จึงออกมาแสดงจุดยืน “เป็นอื่น” อย่างแหลมคมยิ่ง

เพราะแต่เดิมเพียงข้อกล่าวหา “ชังชาติ” ก็ทำให้หลายคนกลัวและต้องปิดปากเงียบ

แต่ขณะนี้คนรุ่นเยาว์-เยาวภาพ กลับไม่สนที่จะถูกกล่าวหา “ชังชาติ”

กลับยืดอกประกาศอย่างที่ไม่ค่อยพบบ่อยครั้งนักในสังคมไทย

“ย้ายประเทศกันเถอะ”!!