นงนุช สิงหเดชะ/”อังกฤษ” ทำโลกคว่ำคะมำหลายตลบ

British Prime Minister Theresa May delivers a statement to the media with Colombia's President Juan Manuel Santos (not pictured) at 10 Downing Street in London on November 2, 2016. Santos will hold talks with Prime Minister Theresa May at Downing Street on Wednesday, before heading to Belfast on Thursday to meet key figures from the Northern Ireland peace process. / AFP PHOTO / POOL / Kirsty Wigglesworth

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

“อังกฤษ” ทำโลกคว่ำคะมำหลายตลบ

โลกในระยะ 1 ปี มานี้นับว่า “เหนื่อย” จริงๆ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน เพราะเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองแบบสุดขั้ว เนื่องจากประเทศประชาธิปไตยใหญ่ๆ เกิดความเปลี่ยนแปลง

เริ่มจากเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ชาวอังกฤษลงประชามติให้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) แบบพลิกความคาดหมาย จากเดิมที่โพลชี้ออกมาว่าฝ่ายที่ต้องการให้อยู่จะชนะ

ในครั้งนั้นทำให้โลกสะเทือน ค่าเงินปอนด์ดิ่งรุนแรงสร้างความปั่นป่วนอย่างฉับพลัน

แม้แต่คนอังกฤษที่อยากอยู่ในอียูต่อไปก็โกรธจัด ถึงกับประท้วงอยู่พักใหญ่

โดยชาวลอนดอนขอแยกตัวจากอังกฤษไปอยู่กับอียู เนื่องจากทำให้ลอนดอนสูญเสียหลายอย่าง โดยเฉพาะการสูญเสียฐานะศูนย์กลางการเงินโลก และสร้างความบาดหมางระหว่างอียูกับอังกฤษมาตลอด

ขณะที่สังคมอังกฤษก็ร้าวฉานอย่างหนักระหว่างฝ่ายอยากอยู่กับอยากออก

เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีแบบพลิกล็อก และเขย่าโลกไปครั้งใหญ่อีกรอบเนื่องจากประกาศนโยบายที่ตรงข้ามกับรัฐบาลก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง

นั่นคือไม่สนับสนุนการค้าเสรี และหันหลังกลับไปอ้าแขนรับนโยบายปกป้องกีดกันการค้า ส่งผลให้คู่ค้าและพันธมิตรสหรัฐทั่วโลกกุมขมับ

กรณีของทรัมป์นั้นขณะนี้ชาวโลกยังต้องรอลุ้นว่า เขาจะอยู่ครบเทอมหรือไม่

หรือว่าจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ

เพราะมีเรื่องด่างพร้อยไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะประเด็นของการรู้เห็นเป็นใจกับรัสเซีย ปล่อยให้รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐ

รวมทั้งปัญหาจริยธรรมอีกหลายเรื่อง ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้ตลาดและโลกเริ่มไม่มั่นใจว่าทรัมป์จะสามารถเดินหน้าแผนเศรษฐกิจได้ตามที่ประกาศเอาไว้

พอมาถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ดูเหมือนอังกฤษไม่ยอมหยุดเขย่าโลก เพราะผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา พรรคอนุรักษนิยมของ เทเรซา เมย์ ได้คะแนนเพียง 318 ที่นั่งไม่เพียงพอจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว (ต้องได้ 326 ที่นั่งขึ้นไป)

ทำให้ความหวังที่จะเดินหน้ากระบวนการเจรจาออกจากอียูหรือเบร็กซิทเริ่มไม่ราบรื่น ส่อเค้ามีปัญหา พร้อมๆ กับที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้เธอลาออก

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นฝันร้ายและช็อคเธอเสียเอง เมื่อกลายเป็นว่าแทนที่จะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น ก็กลับลดลง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านกลับได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมาก

เมื่อผลออกมาเช่นนี้เธอถูกตำหนิอย่างมากว่าโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง

เพราะเธอเองที่เลือกประกาศยุบสภาเลือกตั้งก่อนกำหนดถึง 3 ปี (ประกาศยุบสภาเมื่อ 18 เมษายนปีนี้) เพราะเห็นว่าเรตติ้งกำลังดีเหนือพรรคฝ่ายค้าน จึงหวังว่าน่าจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น (จากเดิมที่นำอยู่ 17 เสียง)

เมย์ประกาศยุบสภา ทั้งที่เคยพูดหนักแน่นว่าจะไม่ยุบสภาก่อนกำหนด โดยอ้างว่าที่ต้องเลือกตั้งเร็วเนื่องจากต้องการฉันทามติจากประชาชนในการมอบอำนาจเด็ดขาดให้เธอในกระบวนการเจรจาเบร็กซิทกับอียู

แต่ทางอียูได้สวนกลับมาว่า ผลการเลือกตั้งอังกฤษไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการเพิ่มอำนาจต่อรองกับอียู เพราะหลักเกณฑ์และกรอบการเจรจาออกจากอียูได้กำหนดไว้ล่วงหน้าตายตัวแล้ว

การที่เมย์นำเรื่องนี้มาอ้างเป็นแค่การหาข้อแก้ตัวเพื่อแก้ปัญหาภายในพรรคของเธอเอง

การประกาศยุบสภาก่อนกำหนดในครั้งนั้น นับว่าสร้างความแปลกใจและช็อคให้กับทั้งสมาชิกพรรคของเธอเองและฝ่ายค้าน

ขณะที่หลายคนก็ตำหนิเธอว่าไม่มีความจำเป็นต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ (ธรรมชาติของ ส.ส. ไม่มีใครอยากเลือกตั้งก่อนกำหนด)

เมื่อผลเลือกตั้งออกมาแบบนี้ คือพรรคของเมย์ได้คะแนนน้อยลง 13 ที่นั่ง แต่ฝ่ายค้านคะแนนพุ่งพรวดได้เก้าอี้เพิ่ม 29 ที่นั่ง หลายคนจึงพูดเป็นเสียงเดียวว่าเธอจะโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าการที่พรรครัฐบาลได้คะแนนน้อยลง อาจเป็นเพราะระยะใกล้เลือกตั้งมีเหตุก่อการร้ายหลายครั้ง ทำให้คนถามถึงประสิทธิภาพรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังโยงไปด้วยว่าสมัยที่เมย์เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยเธอสั่งลดกำลังตำรวจ ทำให้การรักษาความปลอดภัยด้อยประสิทธิภาพลง

ส่วนบางคนก็ว่าเป็นเพราะตอนหาเสียง เธอดันไปส่งสัญญาณว่าบรรดาคนแก่ทั้งหลายอาจต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกกับการได้รับการดูแลด้านสังคม

อย่างไรก็ตาม ความนิยมที่น้อยลงนี้ อาจเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากคนหนุ่มสาวอังกฤษไม่ต้องการออกจากอียู เพราะอย่าลืมว่าคนอังกฤษกว่า 2 ล้านคนซึ่งทำงานและอาศัยอยู่ในอียู เสี่ยงจะถูกตัดสิทธิต่างๆ ที่เคยมีในฐานะพลเมืองอียู ส่วนคนที่ทำภาคเกษตรก็เกรงว่าต่อไปพวกเขาจะหาแรงงานมาช่วยทำงานได้ยาก

นอกจากนี้ อย่าลืมว่าในการลงประชามติออกหรือไม่ออกจากอียูเมื่อปีที่แล้ว มีตัวเลขหนึ่งที่แสดงว่าเหตุที่ฝ่ายออกชนะ ก็เพราะบรรดาคนแก่ไปลงคะแนนมาก ส่วนคนหนุ่มสาวไปใช้สิทธิน้อย โดยอาจเพราะขี้เกียจหรือเพราะคิดว่าถึงอย่างไรฝ่ายอยู่ก็จะชนะ (เนื่องจากเชื่อโพล)

ดังนั้นก็อาจเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ คนหนุ่มสาวที่นอนหลับทับสิทธิการลงประชามติครั้งที่แล้ว พากันออกไปใช้สิทธิอย่างเต็มกำลัง เพื่อที่อย่างน้อยก็ส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการมอบอำนาจเด็ดขาดให้ เทเรซา เมย์ ไปเจรจาออกจากอียู

ผลเลือกตั้งครั้งนี้ ยังช่วยพลิกสถานการณ์ของ เจเรมีย์ คอยบีน หัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน

เพราะตอนที่ประชามติออกมาว่าฝ่ายออกชนะ เขาถูกตำหนิอย่างรุนแรงและกดดันให้ลาออกเพราะไม่สามารถโน้มน้าวให้คนอังกฤษเห็นถึงผลดีของการอยู่ในอียู

กล่าวได้ว่าปีนี้การเมืองในยุโรป สร้างความระส่ำแก่โลกหลายระลอก

เมื่อโล่งอกจากกรณีฝรั่งเศส ที่ฝ่ายขวาจัดไม่ชนะเลือกตั้ง

ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองก็วนกลับมาที่อังกฤษ