โลกหมุนเร็ว/การอพยพยังไม่สิ้นสุดสำหรับคนอเมริกัน

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง

การอพยพยังไม่สิ้นสุดสำหรับคนอเมริกัน

จีนเนตต์ วอลส์ เป็นนักเขียนชาวอมริกันในยุคคอนเทมโพราลี เธอเกิดในปี 2503 หนังสือเล่มแรกของเธอ The Glass Castle ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี 2548 มียอดขาย 2.7 ล้านเล่ม และได้ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ 22 ภาษา และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ความเข้มข้นของหนังสือ และชีวิตอันโชกโชนของครอบครัววอลส์ ย่อมไม่พ้นสายตาของนักสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ทำให้หนังสือถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วโดยบริษัทพาราเมาท์

ในภาษาไทย ผู้แปลคือ ณวรา ลิขสิทธิ์ บริษัทสันสกฤต

จีนเนตต์ วอลส์ ลาออกจากอาชีพนักข่าวและคอลัมนิสต์ กลายมาเป็นนักเขียนอิสระเต็มตัวในปัจจุบัน

จะพูดว่าชีวิตที่ลำเค็ญในวัยเด็กมีส่วนสร้างนักเขียนในตัวเธอก็ไม่ผิด

เธอเองก็คงนึกขอบคุณประสบการณ์ชีวิตเช่นนั้นอย่างแน่นอน เพราะชีวิตเช่นนั้นได้กลายเป็นเรื่องราวที่เร้าความใคร่รู้ของผู้อ่านที่ไม่เคยมีชีวิตเช่นเธอ

ไปโรงเรียนโดยต้องแอบเร้นตัวไปให้ไกลจากสายตาเพื่อนเวลาพักกลางวันเพราะอายที่ไม่มีอาหารกลางวันกิน

อยู่ในบ้านที่ต้องนอนในกล่อง ไม่มีห้องสุขา

บางทีต้องนอนกลางแจ้ง กลางทะเลทราย

เธอพ้นจากชีวิตอย่างนั้น โตขึ้นมา และมีชีวิตที่ดี และพลิกผันได้อย่างไร

คําตอบที่พบได้ในหนังสือเล่มนี้คือเพราะพ่อแม่ผู้ล้มเหลวในการเลี้ยงดู ในการให้ที่อยู่อาศัย ให้อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ได้ทดแทนปัจจัยในการดำรงชีวิตที่ขาดแคลนให้ลูกๆ ด้วยหนังสือ ด้วยการปลูกผังนิสัยรักการอ่านให้กับลูกๆ แม้ไม่มีจะกิน ไม่มีจะอยู่ ไม่มีจะนุ่งห่ม พวกเขาก็ยังอ่าน อ่าน และอ่าน

อีกคำตอบหนึ่งก็คือสปิริตแห่งการเดินทางย้ายถิ่นฐานยังคงแทรกอยู่ในจิตวิญญาณของคนอเมริกันตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงยุคปัจจุบัน

ครอบครัวนี้เดินทางไม่หยุดตั้งแต่ผู้เขียนอายุได้ 3 ขวบ จนเธออายุ 17 ปี และจากพ่อแม่ไป

ประจักษ์พยานของการเป็นนักเดินทางของคนอเมริกันเห็นได้จากบ้านร้างที่มีให้เห็นเป็นระยะเมื่อคนทิ้งถิ่นฐานไปเผชิญโชคในที่ใหม่

ตอนหนึ่งในหนังสือบรรยายว่า “ในช่วงที่อากาศในฤดูหนาวเริ่มอุ่นขึ้น ความงามแบบชนบทก็มีให้เห็นตามริมเขาที่สูงชันรอบๆ ถนนลิตเติ้ล โฮบาร์ด ต้นแจ็ก อิน เดอะ พัลพิต และต้นบลีดิ้ง ฮาร์ต ผุดขึ้นมาให้เห็นทั่ว และยังมีต้นควีน แอนด์ เลส สีขาว ต้นฟล็อกสีม่วง และต้นเดย์ลิลลี่สีส้ม ออกดอกสะพรั่งริมถนน เราเห็นตู้เย็นและรถยนต์ทิ้งอยู่ในป่าและบ้านที่ถูกทิ้งร้าง”

เรารู้ว่าคนอเมริกันใช้รถเทรลเลอร์กันมาก นั่นคือบ้านบนรถที่พร้อมสำหรับการเดินทาง

ครอบครัววอลส์มีทั้งพ่อและแม่ที่รักการอ่าน รักความรู้ หากแต่เป็นนักผัน ทั้งสองคนหอบลูกเดินทางข้ามผืนดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศอเมริกาจากทะเลทรายแอริโซนาสู่แคลิฟอร์เนีย เนวาดา เวสต์ เวอร์จิเนีย อดหลายมื้อกินมื้อเดียว พ่อมัวแต่จะหาทอง แม่มัวแต่อยากจะเป็นจิตรกร

ล้มลุกคลุกคลาน แต่การเดินทางอันไม่สิ้นสุดนั้นทำให้ลูกๆ ไม่กลัวการเดินทาง

เมื่อถึงเวลาลูกก็ใช้สัญชาตญาณเดินทางไปเริ่มชีวิตใหม่ที่นิวยอร์กตามลำพัง ที่ซึ่งคนมามือเปล่าทุกคนต้องเริ่มด้วยการทำงานรับจ้างรายวันในร้านอาหาร

ลอรี่ พี่สาวคนโตของจีนเนตต์มาอยู่นิวยอร์กก่อน และพบว่าแค่รับจ้างเสิร์ฟในร้านอาหาร ชีวิตในนิวยอร์กก็ยังดีกว่าสมัยอยู่กับพ่อแม่มากมาย มีทั้งที่อยู่และที่กิน

วันเวลาผ่านไประยะหนึ่ง พี่น้องที่ต่างทยอยเดินทางเข้านิวยอร์กก็ลุกขึ้นยืนด้วยลำแข้งได้ สร้างชีวิตที่ค่อยๆ ดีขึ้นได้ ด้วยต้นทุนชีวิตที่แทบไม่มีอะไรเลยนอกจากประสบการณ์ลำเค็ญ

คนหนึ่งเป็นนักข่าวและนักเขียน คนหนึ่งเป็นนักวาดภาพประกอบ และอีกคนเป็นตำรวจ อีกคนย้ายไปอยู่แคลิฟอร์เนีย

อเมริกาเป็นประเทศแห่งโอกาสโดยแท้ ทุกคนมีต้นทุนเท่าๆ กัน มีโอกาสเท่าๆ กัน

ย้อนกลับมาดูสังคมไทย คนต่างจังหวัดที่เข้ามาขายแรงงานในกรุง ยังเป็นคนขายแรงงานอยู่จนวาระสุดท้าย เพราะขาดความรู้และโอกาส โครงสร้างสังคมแตกต่างกัน

ด้วยค่าจ้างแรงงานที่ไม่เลวนัก พี่น้องวอลส์เช่าห้องพักได้ ซื้ออาหารกินได้ เก็บเงินเรียนเพิ่มเติมได้

คนอีสานเข้ามารับจ้างในกรุงเทพฯ รายได้ต่ำ ขยับฐานะไม่ได้ ลูกๆ ไม่ได้รับโอกาสที่ดี จนเท่าเดิม ไม่ละทิ้งนิสัยขี้เหล้าเมายา ครอบครัวล่มสลายไป

ความหวังอยู่ที่การรู้หนังสือ และจิตใจที่เข้มแข็ง รวมทั้งโอกาสที่สังคมมอบให้