เขย่าสนาม/เมอร์คิวรี่/’นิวนอร์มอล สปอร์ตส์’ มหกรรมกีฬาชีวิตวิถีใหม่

เขย่าสนาม/เมอร์คิวรี่ [email protected]

‘นิวนอร์มอล สปอร์ตส์’

มหกรรมกีฬาชีวิตวิถีใหม่

 

วิกฤตโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงโลกทุกมิติ รวมถึงวงการกีฬา ที่จะต้องปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ หรือ นิวนอร์มอล ซึ่งวงการกีฬาไทยก็จำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้ โดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้หาแนวทางและรูปแบบปฏิบัติจัดกิจกรรมกีฬา นิวนอร์มอล สปอร์ตส์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ของวงการกีฬาไทย

สำหรับในปี 2564 กีฬาไทยจะมีหลากหลายมหกรรมกีฬา ทั้งกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 “ช้างขาวเกมส์” วันที่ 23 พฤษภาคม-5 มิถุนายน, กีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 3 “ตราดเกมส์” วันที่ 8-14 มิถุนายน, กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 “ศรีสะเกษเกมส์” วันที่ 15 สิงหาคม-5 กันยายน และกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 37 “นครลำดวนเกมส์” วันที่ 18-22 กันยายน

จากนั้นในปี 2565 จะมีการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 37 “พัทลุงเกมส์” ตามด้วยกีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 4 “เสกักเกมส์”, กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 48 “กาญจนบุรีเกมส์” ต่อเนื่องไปจนถึงกีฬาคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 38 “เมืองกาญจน์เกมส์” ในปี 2566 ต่อไป

มหกรรมกีฬาเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยแต่ละกลุ่ม ดังนั้น กกท.จึงวางแนวทางป้องกันและมาตรการจัดมหกรรมกีฬาในประเทศรูปแบบวิถีใหม่กีฬา หรือนิวนอร์มอล สปอร์ตส์ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรทางการกีฬาทุกองคาพยพ

 

“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.ระบุว่า หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะได้ยินคำว่าชีวิตวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอล เช่นเดียวกับวงการกีฬาจะมีวิถีกีฬาใหม่ หรือนิวนอร์มอล สปอร์ตส์ ในการจัดการแข่งขันกีฬาตามมาตรการสาธารณสุข ที่มีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม

“เราต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ การจัดกีฬาจะมีความซับซ้อนแตกต่างกันไป บางชนิดกีฬาสัมผัสกันโดยตรง บางชนิดกีฬาไม่ต้องสัมผัส สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในกฎ กติกา บางกีฬาเราจัดในแบบมหกรรม บางกีฬาเราจัดแบบเดี่ยวๆ จะอยู่ภายใต้กฎคนละแบบกันอีก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ยากลำบากพอสมควรในการจัดทำคู่มือแต่ละชนิดกีฬาแตกต่างกันไป”

ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือคุยกัน จนได้คู่มือแต่ละชนิดกีฬาที่ต้องปฏิบัติตามภายใต้มาตรการประกาศต่างๆ ของภาครัฐ นอกเหนือจากกฎ กติกาสากลที่กำหนดจากสหพันธ์กีฬานานาชาตินั้นๆ แล้ว ผู้จัดกีฬาต้องมาคำนึงถึงรายละเอียดต่างๆ ตามคู่มือที่ได้ผลิตกันขึ้นมาภายใต้สถานการณ์โควิด-19

สำหรับมหกรรมกีฬากำลังจะเริ่มในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 36 “ช้างขาวเกมส์” เป็นที่แรก ซึ่งจะซับซ้อนกว่าการจัดกีฬาทั่วๆ ไป เนื่องจากจะมีการรวมตัวกันของคนจำนวนมากในห้วงเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้น เราต้องวางมาตรการเฉพาะสำหรับการจัดมหกรรมกีฬาโดยเฉพาะ และได้จัดทำเป็นคู่มือออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มาตรการหลักจะเน้นไม่ให้มีการรวมตัวกันในจังหวะเดียว รวมทั้งเรื่องการเว้นระยะ การใช้แอลกอฮอล์ การกำชับการใส่หน้ากากอนามัย รูปแบบก็จะเรียบง่ายขึ้น ลดการสัมผัส รวมถึงเรื่องของการกินอยู่ด้วย สนามแข่งขันกับสถานที่พัก และสถานที่กินของนักกีฬาให้อยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ต้องมีการเดินทางมาก ไม่ต้องมีการไปสัมผัสสิ่งต่างๆ มาก

 

ดร.ก้องศักดกล่าวอีกว่า หวังว่ามหกรรมกีฬารายการต่อไปในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 “ศรีสะเกษเกมส์” จะได้มีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นหลังจากประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนกันไปบ้างแล้ว เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงก็จะลดลงไปด้วย ทั้งนี้ หากไม่มีกิจกรรมอะไรเลย ความต่อเนื่องในการพัฒนานักกีฬาจะหยุดชะงักไป

ขณะเดียวกัน กกท.ยังวางแผนในการจัดตั้ง สปอร์ต ควอรันทีน สถานที่สำหรับนักกีฬาที่ต้องเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศ และเมื่อเดินทางกลับเข้ามาต้องทำการกักตัว 14 วัน ก็สามารถกักตัวและทำการฝึกซ้อมได้ต่อเนื่อง ที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติมวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยจะเปิดให้บริการสำหรับบุคลากรทางการกีฬาเท่านั้นอีกด้วย

ผู้ว่าการ กกท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้มีรายการแข่งขันต่างประเทศยกเลิกไปอยู่พอสมควรจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงคิดว่าระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพียงพอกับนักกีฬา แต่ถ้าหากว่ามีรายการแข่งขันไหนที่ซ้อนกัน นักกีฬาต้องออกไปแข่งแล้วทำการกักตัวพร้อมกันก็จะดูลำดับสำคัญ

“เรามีที่พัก เรามีสนามฝึกซ้อมให้กับนักกีฬา เรามีอุปกรณ์กีฬาที่ทันสมัย รองรับในช่วงที่นักกีฬาต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันเมื่อกลับมาจากต่างประเทศ นักกีฬาเหล่านี้จะได้ฝึกซ้อมกีฬาพร้อมๆ กับการกักตัวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และยังเป็นการรักษาสภาพร่างกายนักกีฬาด้วย”

บิ๊กก้องกล่าว

 

สําหรับแผนการจัดการแข่งขันกีฬาวิถีใหม่ *นิวนอร์มอล สปอร์ตส์* เป็นสิ่งที่วงการกีฬาไทยได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อไม่ให้วงการกีฬาถูกแช่แข็งและหยุดชะงักการพัฒนาไป ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อวงการกีฬาเมืองไทยภายใต้สถานการณ์วิกฤตเช่นนี้

มหกรรมกีฬาในประเทศเป็นอีกหนึ่งกลไกในการพัฒนานักกีฬาไทย ตามเป้าหมายที่วางไว้ว่า ทัพนักกีฬาจะต้องช่วงชิงอันดับ 1 ในอาเซียนให้ได้

และในอนาคตจะต้องก้าวขึ้นไปเป็นประเทศชั้นนำในทวีปเอเชีย และติดอันดับ 6 ของเอเชียให้ได้…