จากนักศึกษาถึงรัฐบาล : จะบริหารจัดการวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างไร? (จบ)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

จากนักศึกษาถึงรัฐบาล

: จะบริหารจัดการวัคซีนแอนตี้โควิดอย่างไร? (จบ)

 

จากคำถามสอบกลางภาคการศึกษาในวิชาปรัชญาการเมืองเบื้องต้นที่ผมสอนเมื่อมีนาคมศกนี้ว่า :

“บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ได้จากบทตอนว่าด้วยประโยชน์นครในหนังสือตำราการิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง ให้นักศึกษาเขียนคำปรึกษาแนะนำแก่รัฐบาลไทยปัจจุบันว่าควรจะดำเนินการเรื่อง วัคซีนแอนตี้โควิด-19 อย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อคนจำนวนมากที่สุดในประเทศ?”

“เพราะเหตุใด?”

 

นักศึกษาเลขทะเบียน 6003610489 เสนอแนะเรื่องลำดับความสำคัญในการจัดสรรวัคซีนว่า :

“ในการแบ่งสรรวัคซีนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนจำนวนมากที่สุดของประเทศ ผู้เขียน…ขอจัดลำดับความสำคัญขอผู้ที่ควรได้รับวัคซีนก่อนและหลังโดยจะแบ่งในเชิงพื้นที่ กลุ่มอายุและกลุ่มอาชีพ

“ในเชิงพื้นที่ จากรายงานผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัดแบบปริมาณลูกโซ่ฉบับ พ.ศ.2561 พบว่า 10 จังหวัดที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวสูงที่สุดได้แก่ ระยอง กรุงเทพฯ ชลบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต สมุทรสาคร สมุทรปราการ และสระบุรี ประชาชนในจังหวัดเหล่านี้ควรได้รับการจัดสรรวัคซีนให้ก่อนเนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความสามารถในการผลิตให้กับประเทศได้สูง

“ในส่วนของกลุ่มอายุ ผู้เขียนเห็นว่าบุคคลผู้อยู่ในกลุ่มอายุ 18-59 ปีควรได้รับวัคซีนก่อน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่นอกจากจะทำประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศได้แล้ว ยังเป็นกลุ่มที่ต้องออกจากบ้านไปทำงานแล้วกลับมาหาครอบครัวตอนค่ำ ฉะนั้นแล้วคนกลุ่มนี้จึงเสี่ยงที่จะเป็นพาหะในการนำโรคเข้ามาติดผู้สูงวัยภายในครอบครัว การพิจารณาให้คนหนุ่ม-สาววัยทำงานได้รับวัคซีนก่อนจะทำให้สามารถลดความเสี่ยงในการแพร่กระจยของเชื้อโรคได้มากกว่าการจัดสรรวัคซีนให้คนชราที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แต่ในบ้าน…

“ในส่วนของกลุ่มอาชีพ จากรายงานสถานการณ์การท่องเที่ยว เดือนพฤศจิกายน 2563 ของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 หดตัวถึง 81.38% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวหายไปราว 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเติบโตเพียง 1.3% เท่านั้น

“ดังนั้น เพื่อให้กิจกรรมทางเศรฐกิจที่สำคัญของประเทศอย่างอุตสาหกรรมในภาคบริการสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ผู้เขียนจึงเห็นว่าแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรได้รับวัคซีนก่อน

“นอกจากนี้ กลุ่มอาชีพที่ผู้เขียนเห็นว่าควรได้รับวัคซีนในระยะเดียวกันกับแรงงานภาคบริการคือบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของโรงพยาบาลทุกคน เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้คือผู้ที่เผชิญหน้าโดยตรงกับไวรัสและเสียสละทำงานอย่างหนักมาตลอดในช่วงที่โรคระบาดเริ่มต้นขึ้นและยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้…”

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_5720566, 12 มกราคม 2564

ในทางกลับกัน คุณ 6003614127 ได้แสดงความกังวลท้วงติงแนวโน้มการดำเนินงานเรื่องนี้ที่ผ่านมาของรัฐบาลและวิพากษ์วิจารณ์ความโน้มเอียงแบบอำนาจนิยมในแนวคิดประโยชน์นิยม (utilitarianism) สุดโต่งว่า :

“นักศึกษามีข้อกังวลต่อการกระทำเหล่านี้ของรัฐคืออาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐอำนาจนิยมเวชกรรม (อ้างอิงแนวคิดของ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ใน https://www.matichon.co.th/article/news_2137149) ซึ่งหมายถึงการทำให้งานด้านเวชกรรมและสาธารณสุขเป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมประชาชน เห็นได้จากเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 รัฐและแพทย์เข้ามามีบทบาทมากกว่าในสภาวะปกติ รวมไปถึงมีอำนาจในทางกฎหมายในการแทรกแซงเสรีภาพของประชาชน เช่น บังคับให้ใส่หน้ากาก เนื่องจากรัฐมองว่าพลเมืองที่มีสุขภาพดีจะเป็นปัจจัยการผลิตที่มีศักยภาพให้กับรัฐ ดังนั้น รัฐเลยต้องเข้าไปดูแลสุขภาพของพลเมืองเพราะสุขภาพส่วนตัวส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ทำให้เห็นว่ารัฐไม่ได้มองสิทธิที่ประชาชนควรได้ แต่มองประชาชนเป็นปัจจัยการผลิตหนึ่งเท่านั้น

“สอดคล้องกับประโยชน์นคร (Utilitaria ชื่อเมืองที่ยึดแนวคิดประโยชน์นิยมสุดโต่งในนิยายปรัชญาการเมืองเรื่องการิทัตผจญภัยฯ ของสตีเว่น ลุกส์) ที่มีระบบถ่ายโอนชิ้นส่วนอวัยวะของผู้คนพลเมือง โดยสามารถใช้องค์ความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นของรัฐนี้มาเป็นอำนาจเหนือร่างกายของเรา

“อนึ่ง การใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการรับวัคซีนอาจเป็นผลให้รัฐบาลทอดทิ้งชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย เพราะพวกเขาถูกมองว่าไม่ได้เพิ่มประโยชน์สูงสุดใดให้กับคนส่วนมาก”

 

สอดรับกับคำวิพากษ์จุดอ่อนข้อจำกัดของแนวคิดประโยชน์นิยมในเชิงหลักการของคุณ 6003612063 ที่ว่า :

“คติบทพื้นฐานแห่งประโยชน์นครคือ ‘ประโยชน์สุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด’ ไม่ใช่ ‘ประโยชน์สุขมากที่สุดของคนทุกคน’ ซึ่งสะท้อนนัยการลดทอนคุณค่าทางศีลธรรม จริยธรรม และการละเลยคนส่วนน้อย โดยเฉพาะคนส่วนน้อยที่สุดคือปัจเจกบุคคล (the minority of one) เมื่อทุกคนเป็นปัจเจกบุคคล ทุกคนย่อมมีโอกาสถูกทอดทิ้งได้…

“และนี่แหละคือประโยชน์สุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด”