จับสัญญาณสิงคโปร์วางตัวผู้นำรุ่น 4/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Singapore's Prime Minister Lee Hsien Loong speaks at the Istana in Singapore, June 7, 2019. REUTERS/Feline Lim/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

จับสัญญาณสิงคโปร์วางตัวผู้นำรุ่น 4

 

การประกาศถอนตัวพ้นจากทีม “ผู้นำรุ่น 4” (4 จี) ของเฮง สวี เกียต รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในวัย 60 ปี ที่นั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอยู่ด้วย ไปเมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมา สร้างแรงกระเพื่อมให้กับแผนการวางตัวผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองของนายลี เซียน หลุง นายกรัฐมนตรีจากพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ผู้นำรุ่น 3 ที่กุมอำนาจบริหารดินแดนศูนย์กลางการเงินและการค้าสำคัญของโลกแห่งนี้มานานถึงเกือบ 17 ปีอยู่มากพอควร

เพราะเฮง สวี เกียต ถูกมองว่าจะเป็นตัวตายตัวแทนของลี เซียน หลุง ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของสิงคโปร์

เดิมที ลี เซียน หลุง ออกตัวไว้ก่อนหน้านี้ว่าเขาจะวางมือลงจากอำนาจตอนอายุครบ 70 ปี ซึ่งนับจากวันเดือนปีเกิดตามปูมประวัติ ลี เซียน หลุง ก็จะมีอายุครบ 70 ปีในต้นปีหน้า หากไม่มีอะไรผิดแผน ลี เซียน หลุง จะสามารถวางมือลงได้อย่างที่ตั้งใจ

แต่พิษพิบัติภัยจากวิกฤตการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ผสมโรงกับการถอดใจถอนตัวออกไปจากทีมผู้นำรุ่น 4 ของเฮง สวี เกียต ได้ทำให้ลี เซียน หลุง มีอันต้องพับเก็บแผนการวางมือทางการเมืองของตนเองเอาไว้ก่อน

โดยลี เซียน หลุง บอกว่าเขาขอร่วมแรงนำพาประเทศฝ่าวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ให้รอดปลอดภัยไปได้เสียก่อน

ไปพร้อมๆ กับจนกว่าจะมีบุคคลที่มีความเหมาะสมได้รับเลือกขึ้นมาเพื่อนำประเทศก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้

 

การประกาศปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนของลี เซียน หลุง จึงเป็นที่จับตาในแวดวงนักวิเคราะห์ทางการเมืองของสิงคโปร์ ที่พยายามจับสัญญาณความเป็นไปได้ว่าใครจะเป็นตัวเต็งที่จะได้ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนต่อไป

หนึ่งชื่อของผู้ที่ถูกจับตามากที่สุดคือ ลอว์เรนซ์ หว่อง นักการเมืองหนุ่มใหญ่ วัย 48 ปี ซึ่งถูกโยกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ให้ไปนั่งคุมกระทรวงการคลังแทนนายเฮง สวี เกียต ที่ยังคงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไป

จิลเลียน โก๊ะ ผู้สันทัดกรณีจากสถาบันนโยบายศึกษาในสิงคโปร์ มองว่า การโยกย้ายลอว์เรนซ์ หว่อง ไปคุมกระทรวงเสาหลัก เป็นสัญญาณที่แน่ชัดแต่เป็นไปอย่างระมัดระวังในการให้ว่าที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่ผู้นี้ได้พิสูจน์ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวให้เห็นว่าเหมาะสมที่จะได้รับการวางตัวเป็นทายาทสืบทอดอำนาจต่อจากลี เซียน หลุง หรือไม่

ก่อนหน้านี้ ลอว์เรนซ์ หว่อง เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงนำคณะทำงานเฉพาะกิจของสิงคโปร์ในการต่อสู้รับมือกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 จนควบคุมเอาไว้อยู่ได้

 

ภาพของลอว์เรนซ์ หว่อง ที่กลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่กลางที่ประชุมรัฐสภาเมื่อปีที่ผ่านมาในระหว่างกล่าวขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาด

ตลอดจนเสียงชื่นชมในตัวเขาของการมีทักษะสื่อสารโน้มน้าวให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและสวมหน้ากากป้องกันอย่างเคร่งครัด ได้เป็นแรงผลักให้เขามัดใจชาวสิงคโปร์ในวงกว้างได้มากขึ้น

ออง ยี คัง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม วัย 51 ปี ที่ถูกโยกให้มารับตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขในการปรับ ครม.สิงคโปร์ล่าสุดซึ่งจะมีผลในวันที่ 15 พฤษภาคมที่จะถึง เป็นอีกบุคคลที่ถูกจับตาว่ามีสิทธิลุ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเหมือนกัน

โดยออง ยี คัง เป็นอีกคนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์กลับมาเปิดประเทศได้ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค

ที่สำคัญ ออง ยี คัง ยังเคยทำงานใกล้ชิดในฐานะเป็นเลขานุการฝ่ายสื่อและเลขานุการส่วนตัวของลี เซียน หลุง มาเป็นเวลาหลายปีด้วย

ตัวเต็งที่ถูกจับตาอีกคนคือ ชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม วัย 51 ปี ถูกปรับเก้าอี้ใหม่ให้เป็นเจ้ากระทรวงการศึกษาธิการ ชาน ชุน ซิง ได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีติดดินที่ไม่ได้มาจากครอบครัวสมบูรณ์นัก

แต่เป็นคนเรียนดีสอบชิงทุนรัฐบาลได้จนคว้าดีกรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนไปศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) แล้วกลับมาใช้ทุนและเข้ารับราชการทหาร กระทั่งเข้าสู่วงการเมืองโดยผ่านงานมาแล้วหลายกระทรวง

อย่างไรก็ตาม การสรรหาผู้นำรุ่น 4 ภายในพรรคพีเอพีที่ผูกขาดอำนาจปกครองสิงคโปร์มานานนับจากเป็นเอกราชจากอังกฤษ แม้จะเป็นภารกิจเร่งด่วน แต่ก็ต้องดำเนินไปอย่างรอบคอบ

 

นักวิเคราะห์มองว่า การขาดความชัดเจนในตัวผู้สืบทอดอำนาจ เป็นเรื่องท้าทายที่อาจบ่งบอกถึงความไม่แน่นอนและการไร้เสถียรภาพทางการเมืองในอนาคตทั้งของพรรคพีเอพีและของสิงคโปร์ที่อาจเกิดขึ้นได้

ผลการเลือกตั้งทั่วไปในปีที่ผ่านมาได้ทำให้พรรคพีเอพีได้เห็นแล้วว่าพรรคตนเองทำงานได้ผลแย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

โดยเฉพาะกับสิ่งที่นายเฮง สวี เกียต ประสบมาด้วยตัวเองจากการได้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งไปเพียงเฉียดฉิวในเขตเลือกตั้งของตนเอง

จนเป็นที่มาของการตัดสินใจถอนตัวออกจากทีมผู้นำรุ่น 4 ไป และทำให้เกิดความคลุมเครือขึ้นในพรรคพีเอพี

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าผลงานที่แย่ลงดังกล่าวของพรรคพีเอพีได้สั่นคลอนความหวังของนายลี เซียน หลุง ที่จะถ่ายโอนอำนาจที่เข้มแข็งให้กับผู้นำรุ่นต่อไปของพรรคให้ได้อย่างราบรื่น

และยังทำให้เกิดคำถามขึ้นด้วยว่าในระยะยาวพรรคพีเอพีจะรักษาฐานเสียงสนับสนุนไว้ในมือได้อย่างมั่นคงต่อไปหรือไม่

นั่นเป็นภารกิจและความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนต่อไปของพรรคพีเอพี และอาจหมายถึงการเป็นผู้นำสิงคโปร์คนต่อไปเองด้วย หากพรรคพีเอพีไม่สะดุดขาตัวเองพลาดท่าทางการเมืองไปเสียก่อน