ร่องรอยบางกอกยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย (3)

ชาตรี ประกิตนนทการ

แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย รังวัดและสำรวจในราว พ.ศ.2425-2429 ซึ่งเป็นช่วงเวลาบั้นปลายชีวิตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าคนสุดท้าย ภายหลังจากที่พระองค์ทิวงคต รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และสถาปนาตำแหน่งมกุฎราชกุมารขึ้นมาแทน

ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการยกเลิกสถานะของพื้นที่วังหน้าหรือพระราชวังบวรสถานมงคล แม้เจ้านายฝ่ายในยังคงอาศัยอยู่ภายในพื้นที่พระราชฐานชั้นในของวังหน้าต่อไป แต่ก็ทยอยลดลงเรื่อยๆ (พระราชฐานชั้นในถูกยกเลิกอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของทหาร และกลายเป็นพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)

ส่วนพระที่นั่งต่างๆ ได้ถูกปรับพื้นที่เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน) อาคารสถานที่อื่นๆ เช่น กำแพงและป้อมถูกรื้อถอนออกไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ส่วนพระราชฐานชั้นนอกของวังหน้าที่ถูกรื้อออกทั้งหมดเพื่อทำเป็นส่วนต่อขยายของสนามหลวง จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมคางหมูให้กลายมาเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายแคปซูลยาดังที่ปรากฏในปัจจุบัน เมื่อราวต้นทศวรรษ 2440

ดังนั้น หากไม่มีแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย เราคงได้แค่จินตนาการลักษณะความสัมพันธ์ในทางกายภาพของพื้นที่ระหว่างสนามหลวง พื้นที่วังหน้า และพื้นที่โดยรอบของกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน เพียงเท่านั้น

แม้แผนที่ “ฉบับนายวอนนายสอน” พ.ศ.2439 จะบันทึกลักษณะกายภาพดังกล่าวไว้เช่นกัน แต่ก็หยาบเกินกว่าจะนำมาใช้ศึกษาในรายละเอียดได้ หรือในส่วนของหนังสือ “ตำนานวังหน้า” ที่แม้จะมีแผนผังวังหน้าอย่างละเอียด แต่ก็ขาดการแสดงความสัมพันธ์กับพื้นที่โดยรอบส่วนอื่นๆ

ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวจะหมดไปเมื่อเราดูแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย

แผนที่ฉบับธงชัยแสดงตำแหน่งวังหน้า สนามหลวงเดิม และวังเจ้านายต่างๆ

ตัวอย่างความละเอียดของแผนที่ฉบับนี้ที่น่าสนใจคือ เราสามารถเห็นตำแหน่งของ “ป้อมไพฑูรย์” ที่สัมพันธ์กับแนวตรงที่พุ่งไปสู่วังหลวงได้อย่างชัดเจน

ซึ่งหากใครเคยอ่านประวัติวังหน้ามาบ้างคงทราบดีว่า “ป้อมไพฑูรย์” คือป้อมปืนใหญ่ที่สำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับวิกฤตวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 ราว พ.ศ.2339 ที่มีการขนปืนใหญ่ขึ้นป้อมแห่งนี้และเกือบที่จะมีการยิงกันระหว่างวังหลวงกับวังหน้า

นอกเหนือจากเกร็ดเล็กน้อยข้างต้น แผนที่ชุดนี้ทำให้เราเห็นอาณาบริเวณโดยรอบของพื้นที่วังหน้า เราจะมองเห็นวังของเจ้านายมากมายรายล้อมรอบวังหน้าเป็นจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์

ซึ่งลักษณะดังกล่าวเราจะมองไม่เห็นเลยในแผนที่ชุดหลังจากนี้ อันเนื่องมาจากการขยายพื้นที่ตอนเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์อย่างขนานใหญ่ในเวลาต่อมาของรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้าง “พระราชวังดุสิต” ราวต้นทศวรรษที่ 2440

วังเจ้านายเหล่านั้นเป็นของใครบ้างและสำคัญอย่างไร นี่คือคำถามสำคัญ

 

เราทราบมานานแล้วนะครับว่า ระบบการปกครองแบบจารีตนั้นพื้นที่พระนครจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน

โดยครึ่งพระนครทางตอนเหนือจะถูกปกครองโดยวังหน้า ส่วนอีกครึ่งพระนครทางตอนใต้จะปกครองโดยวังหลวง

แต่กระนั้นเราก็จินตนาการภาพดังกล่าวได้ไม่ชัดเจนนัก

แต่แผนที่ชุดนี้ทำให้เรามองเห็นภาพดังกล่าวชัดเจนขึ้น เพราะหากเราเอารายชื่อเจ้านายที่ประทับอยู่ในวังต่างๆ บริเวณตอนเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์จากแผนที่ชุดนี้มาดู เราก็จะเห็นชัดว่า ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้านายที่ขึ้นอยู่กับวังหน้าทั้งหมด

เช่น วังพระองค์เจ้าชายรัตนะวโรภาสและวังพระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศริมถนนเจ้าฟ้า, วังพระองค์เจ้าภาณุมาศบริเวณที่เป็นหอศิลป์เจ้าฟ้าในปัจจุบัน, วังพระองค์เจ้าโตสินีที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆ สวนสันติพรในปัจจุบัน, วังพระองค์เจ้านันทวันและวังพระองค์เจ้าจรูญซึ่งอยู่บริเวณที่เป็นท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือเยื้องไปทางกลุ่มอาคารศาลฎีกาในปัจจุบัน และวังของกรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ในบริเวณที่เป็นโรงแรมรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน เป็นต้น

เมื่อมองตำแหน่งวังเจ้านายฝ่ายวังหน้าที่กระจายตัวอยู่ในแผนที่ชุดนี้ ก็ทำให้เราเห็นภาพการปกครองพื้นที่ตอนเหนือของพระนครอย่างเบ็ดเสร็จของวังหน้าที่แยกขาดจากวังหลวงได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญ ตำแหน่งวังเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งวังเดิมที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างกรุงเทพฯ เช่น พื้นที่ของวังพระองค์เจ้านันทวันและวังพระองค์เจ้าจรูญในแผนที่ชุดนี้ก็คือตำแหน่งที่เคยเป็นวังของพระองค์เจ้าลำดวน, วังพระองค์เจ้าอินทปัต, วังพระองค์เจ้าอสนีกาย และวังของพระองค์เจ้าช้าง ซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายวังหน้าเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้น

ดังนั้น ตัวมันจึงเป็นหลักฐานของวังในยุคต้นรัตนโกสินทร์ได้เช่นกัน

 

จากที่อธิบายมา ผมอยากจะทดลองสร้างข้อเสนอให้ไปไกลขึ้นอีกระดับ (แต่จะต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไปข้างหน้าอีกมาก) ว่า เราอาจจะสามารถอ่านโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำยุคต้นรัตนโกสินทร์ผ่านการจัดวางตำแหน่งที่ตั้ง ขนาด และองค์ประกอบของวังต่างๆ ได้จากแผนที่ชุดนี้

ดังที่กล่าวมาโดยตลอดว่าแผนที่ชุดนี้ทิ้งร่องรอยสถาปัตยกรรมหลายชิ้นยุคต้นรัตนโกสินทร์เอาไว้มาก โดยเฉพาะร่องรอยของตำแหน่งและแผนผังวังของเจ้านายพระองค์ต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่าตำแหน่งที่ตั้งของวังต่างๆ ที่แวดล้อมวังหลวง, วังหน้า และวังหลัง อันเป็นศูนย์กลางของอำนาจนั้น น่าจะสะท้อนให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเจ้านายพระองค์ต่างๆ ได้บ้างไม่มากก็น้อย

แม้วังต่างๆ ที่ปรากฏล้วนระบุชื่อเจ้านายที่ครองวังในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ถ้าเราอาศัยหลักฐานลายลักษณ์อื่นประกอบซึ่งหลายแห่งจะระบุว่าวังแต่ละวังนั้นแต่เดิมเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายพระองค์ใดมาก่อนบ้าง ก็จะช่วยให้เราทราบได้ว่าเจ้านายพระองค์ใดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ประทับอยู่ ณ ตำแหน่งใดในระบบผังเมืองโบราณ

เช่น ตำแหน่งที่เป็นวังบูรพาภิรมย์เดิมนั้นเคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทรพิทักษ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพ

แน่นอนนะครับ ข้อเสนอนี้มีข้อจำกัดที่สำคัญมากๆ อีกอย่างคือ กายภาพของวังต่างๆ เป็นไปได้สูงที่จะเปลี่ยนไปจากต้นกรุงเทพฯ

หลายวังในแผนชุดนี้คือวังสมัยใหม่ที่สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแทนที่วังเดิมที่รื้อถอนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดดังกล่าว แต่ถ้าเราทำการศึกษาตรวจสอบกับเอกสารประเภทอื่น ผมก็เชื่อว่าเราอาจจะสามารถระบุตำแหน่งรวมถึงขนาดของวังเจ้านายต่างๆ ในยุคแรกสร้างกรุงเทพฯ ได้ไม่น้อย

และอาจจะเพียงพอที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านงานสถาปัตยกรรมวังเหล่านี้ได้

 

ขนาดอาคาร ลวดลาย ตลอดจนองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีตล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงช่วงชั้นและสถานะทางสังคมของผู้อยู่อาศัย วังหลวงย่อมมีระเบียบแบบแผนในการออกแบบทางสถาปัตยกรรมชุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของกษัตริย์ วังหน้าก็มีข้อกำหนดอีกชุดหนึ่ง เจ้านาย และขุนนาง ก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ในวงการช่างไทยเรารู้จักกันมานานในนามของระบบที่เรียกว่า “ฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรม”

ด้วยฐานคิดข้างต้น ผมจึงอยากเสนอว่า ขอบเขตความกว้างใหญ่ของวังยุคต้นรัตนโกสินทร์, ระยะที่ใกล้ไกลออกไปจากศูนย์กลางพระบรมมหาราชวัง, ตำแหน่งที่ถูกเลือกให้อยู่ในทิศไหน, วังไหนอยู่นอกกำแพงพระนคร, วังไหนอยู่ภายในกำแพงพระนคร ตลอดจนขนาดของท้องพระโรงและที่ประทับที่ปรากฏในแผนผัง

ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนสถานะและอำนาจของเจ้าของวังหรือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายพระองค์นั้นกับกษัตริย์

เช่น มีความสัมพันธ์กันมากน้อยแค่ไหนระหว่างขนาดของวังกับพระยศเจ้านาย รวมไปถึงตำแหน่งความใกล้ไกลระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวังเจ้านายต่างๆ ที่สัมพันธ์กับพระยศของเจ้านายพระองค์นั้นๆ ฯลฯ

โดยส่วนตัวเชื่อเป็นอย่างยิ่งนะครับว่า หากเราตั้งทิศทางในการศึกษาเช่นนี้ เราสามารถที่จะทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองตลอดจนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของเจ้านายฝ่ายต่างๆ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ได้

โดยมีแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัยชุดนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญ