วางบิล เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/เวลาของนักข่าว คือ รอ รอ และรอ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เวลาของนักข่าว คือ รอ รอ และรอ

การนำเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แบ่งเป็นกลุ่มหรือส่วนใหญ่ได้สองสามกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือข่าวปรากฏการณ์ เป็นข่าวที่เกิดขึ้นประจำวัน อาทิ ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวอาชญากรรม ซึ่งเกิดขึ้นในแบบ “ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย”

อุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่ไม่มีใครกำหนดได้ การเสนอในหน้าหนังสือพิมพ์ ต้องพิจารณาขนาดของข่าวที่เกิดขึ้น ข้องเกี่ยวกับชีวิตคนหรือไม่

อุบัติเหตุที่คนสนใจมากที่สุด คืออุบัติเหตุร้ายแรงไม่ค่อยเกิดขึ้น เช่น ข่าวเครื่องบินตก ยิ่งตกในประเทศ มีผู้โดยสารคนไทยจำนวนมาก ยิ่งต้องให้ความสนใจในรายละเอียด

ต่อมาเป็นอุบัติเหตุรถไฟ ความสำคัญอยู่ที่ว่ามีผู้โดยสารตายมากน้อยเพียงใด เสียเวลาและเสียหายมากน้อยเพียงใด ส่วนรถยนต์โดยสารประจำทาง เช่น รถโดยสารต่างจังหวัดของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) ประสบอุบัติเหตุชนกับรถอื่น ชนกันเอง หรือตกเขาตกเหว

แม้แต่รถยนต์ส่วนบุคคลที่เกิดอุบัติเหตุ ความสำคัญอยู่ที่บุคคลซึ่งเสียชีวิตบาดเจ็บเป็นใคร ยิ่งมีตำแหน่งแห่งหนยิ่งต้องเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์

ข่าวอุบัติเหตุเป็นข่าวที่เกิดขึ้นเองประเภทอุบัติเหตุตามธรรมชาติ เช่น ภูเขาถล่ม กับอุบัติเหตุจากการกระทำของมนุษย์ รวมไปถึงข่าวอาชญากรรมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ทั้งปล้น ฆ่า ฉกชิงวิ่งราว ผัวเมียตบตีกัน ข่าวประเภทนี้ หากเกิดขึ้นกับเด็ก ย่อมได้รับความสนใจมากกว่าเกิดกับผู้ใหญ่

ยิ่งมีลักษณะทารุณ หรือโหดเหี้ยมมาก ยิ่งได้รับความสนใจ

อีกกลุ่มข่าวหนึ่ง เป็นข่าวที่ผู้ทำงานสื่อ สมัยก่อนคือหนังสือพิมพ์จัดหามานำเสนอ เช่น ข่าวที่เกี่ยวกับรัฐบาล ข่าวเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข่าวที่เป็นนโยบาย ข่าวที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐทำให้เกิดขึ้น รวมไปถึงข่าวความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงข่าวจากต่างประเทศ

ข่าวกลุ่มหลังนี้ เกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุด คือนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และความเคลื่อนไหวทางการเมืองมีพรรคการเมือง หัวหน้าพรรค ถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตำแหน่งสำคัญทั้งในพรรคและตำแหน่งทางการเมือง

ข่าวกลุ่มนี้ทำให้เกิด “แหล่งข่าว” ที่นักข่าวต้องเสาะหามาไว้ให้เป็นที่รู้จักมักคุ้นกับตัวเองให้มาก

น้าเต็ม “เต็มศักดิ์ ไตรโสภณ” ใช่แต่เพียงสังกัดหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับเดียว ไม่นับเมื่อก่อนเคยส่งข่าวให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น เช่น หนังสือพิมพ์ภาษาจีน ซึ่งผู้สื่อข่าวรุ่นก่อนเรียกว่า “เล่นงิ้ว” ระยะหลังยังประจำการที่กระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว อาจจำเป็นต้องไปทำข่าวที่กระทรวงอื่นหรือหน่วยงานอื่นบ้าง

น้าเต็มเล่าว่า การทำงานข่าวประจำกระทรวงมหาดไทยเป็นเวลานานหลายสิบปี ทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของบรรดาข้าราชการทั้งหลาย ทำข่าวมาตั้งแต่รุ่นพ่อเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย จนเปลี่ยนผ่านมาถึงรุ่นลูก ข้าราชการหลายคนรู้จักตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการใหม่ๆ จนมีตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับสูงขึ้นมา มีข้าราชการไม่น้อยที่ให้ความเกรงใจเรียกพี่บ้าง น้าบ้าง

“สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเหนือกว่าคนอื่น สิ่งสำคัญที่สุดคือการรู้จักวางตัว ไม่ถือตัว และมักจะให้เกียรติข้าราชการที่เป็นผู้ใหญ่อยู่เสมอ แม้ว่าวัยวุฒิจะน้อยกว่าก็ตาม” น้าเต็มเล่าไว้ในหนังสือ “วันนักข่าว 5 มีนาคม 2551 – ครูนักข่าว”

ทั้งยังย้ำว่า การวางตัวของนักข่าวที่ดีต้องรู้จักถ่อมตัวและทำให้เป็นนิสัย เพราะตลอดระยะเวลาที่สวมบทบาทของนักข่าวนั้นไม่เคยคิดว่าตัวเองจะใหญ่โต ไม่เคยคิดว่าอาชีพนักข่าวจะต้องมีอภิสิทธิ์เหนือใคร การทำงานร่วมกับข้าราชการซึ่งมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ส่วนที่เป็นข้าราชการที่ดีก็อาจต้องรู้จักปกป้องเท่าที่จะทำได้

ด้วยเหตุที่ “น้าเต็ม” ทำงานในกระทรวงมหาดไทยมานาน จึงรู้จักข้าราชการทุกระดับจำนวนไม่น้อย ยิ่งผู้ที่ไต่เต้าจากระดับผู้อำนวยการกองไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ไปถึงปลัดกระทรวง น้าเต็มจึงรู้จักข้าราชการเหล่านั้นเรียกว่า ใครเข้ามาที่กระทรวงต้องแวะพูดคุยกันเป็นประจำ

เป็นเหตุให้น้าเต็มได้ข่าวเดี่ยวบ่อยๆ ทั้งเมื่อได้ข่าวเดี่ยวบางข่าว ยังเมตตากระซิบข่าวหรือประเด็นให้กับนักข่าวรุ่นน้องอย่างผมและบางคนไปติดตามต่อ ทำให้ไม่ตกข่าวในวันรุ่งขึ้นที่มีข่าวเกี่ยวกับจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ในลักษณะแหล่งข่าว

ครั้งหนึ่งที่มีข่าวการโยกย้ายระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ห้วงนั้น แม้มีข้อห้ามรัฐมนตรี “ล้วงลูก” การโยกย้ายแต่งตั้ง เพื่อป้องกันการวิ่งเต้น กระนั้น ตลอดทั้งวันวันนั้น ความผิดสังเกตเกิดขึ้น เมื่อมีผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนเข้าออกห้องปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการเรียกตัวปลัดกระทรวงไปพบสองสามครั้ง

“น้าเต็ม” กระซิบบอกกับนักข่าวรุ่นน้องบางคน ซึ่งมีผมอยู่ด้วย ว่าวันนี้น่าจะมีรายการโยกย้ายแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแน่ จึงเกิดการรอคอยขึ้น

เวลาผ่านไปตั้งแต่บ่ายถึงเย็น จนค่ำ นักข่าวประจำกระทรวงมหาดไทยของหนังสือพิมพ์บางฉบับขอกลับไปก่อน แถมยังขอให้ผู้ที่อยู่ว่า หากมีการโยกย้ายอย่าลืมโทรศัพท์ไปบอกด้วย

สมัยนั้นโทรศัพท์สะดวกเหมือนสมัยนี้เสียเมื่อไหร่

กระทั่งค่ำมืด เกือบจะไม่รอกันแล้ว แต่ “น้าเต็ม” กับผมและเพื่อนนักข่าวอีกฉบับหนึ่งยังยืนหยัดรอต่อ ดีว่าบริเวณใกล้กระทรวงมหาดไทยมีร้านอาหารที่เปิดค่อนข้างดึก จึงพร้อมใจรีบไปฝากท้องแล้วรีบกลับมาเฝ้าหน้าห้องปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นคือปลัดชลอ วนภูติ ส่วนรัฐมนตรีว่าการคือ รัฐมนตรีปรีชา พันธ์ปรีชา ที่ปลัดกระทรวงต้องเดินเข้าเดินออกห้องของรัฐมนตรีสองสามครั้ง พร้อมกับแฟ้มปึกใหญ่

กระทั่งนักข่าวเหลือเพียงสามคน กับเจ้าหน้าที่บางคน ปลัดกระทรวง และบุคคลสำคัญคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกคนหนึ่งที่ต้องรอข่าวนี้จากคำสั่งของรัฐมนตรี คือนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเราทั้งสามสี่คนให้คำมั่นกันว่า หากมีข่าวโยกย้ายแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขนานใหญ่จริง รุ่งขึ้นจะมีเฉพาะหนังสือพิมพ์ประชาชาติ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่น้าเต็มเป็นนักข่าว และอีกฉบับหนึ่งเท่านั้น ส่วนข่าวกรมประชาสัมพันธ์ปิดรายการข่าวไปแล้ว จะนำเสนออีกครั้งคือข่าวภาคเช้า 07.00 น.

ที่สุด รัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการที่เกี่ยวข้องในคืนนั้น

น้าเต็มกับพวกผมสองสามคนรีบปรี่เข้าไปหาปลัดกระทรวงทันที เพื่อขอสำเนาคำสั่ง หรือขอทราบว่ามีการแต่งตั้งโยกย้ายใครบ้าง ปลัดชลอขอถามรัฐมนตรีที่เตรียมตัวกลับว่าให้ได้หรือไม่

รัฐมนตรีปรีชาบอกเพียงว่า เซ็นชื่อแล้วนี่ (หมายถึงว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก)

เช้าวันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติจึงมีรายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ที่รับการโยกย้ายแต่งตั้งก่อนใครเพื่อน ถึงขนาดว่าเมื่อมาทำงานที่กระทรวงมหาดไทย ข้าราชการหลายคนยังบอกว่า ประชาชาติเสนอข่าวโยกย้ายผู้ว่าราชการก่อนข่าวกรมประชาฯ เสียอีก