หลังเลนส์ในดงลึก : เห็น

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2559

ผมเข้าไปเฝ้าดูนกเงือกกรามช้าง ปากเรียบฝูงหนึ่งซึ่งบินกลับมารวมฝูงเกาะนอนอยู่บริเวณป่าไผ่ ริมลำห้วยแม่จัน ชายป่าบ้านกรูโบร์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงตลอดเดือนเมษายน ชาวบ้านกรูโบร์ จะได้ยินเสียงบินปีกแหวกอากาศ ดัง “ผืดๆ” ทุกตอนเช้ามืด และพลบค่ำ

เป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน

หลังจากพาลูกออกจากโพรงในถิ่นที่พวกมันใช้ในพื้นที่ป่าด้านตะวันตก อย่างในป่าทุ่งใหญ่ และป่าห้วยขาแข้ง นกเงือกกรามช้างปากเรียบจะมารวมตัวกันเป็นจำนวนนับร้อยตัว

พวกมันจะอยู่บริเวณนี้ระยะเวลาหนึ่ง

เช้ามืดบินออกไปหากิน พลบค่ำกลับมา

คล้ายจะเป็นช่วงเวลาที่สะสมพลังก่อนออกเดินทางไกล จากการศึกษาของโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ทำให้เรารู้ว่านกพวกนี้จะเดินทางล่องใต้ไปสมทบกับเพื่อนๆ และปักหลักรวมเป็นฝูงใหญ่ๆ บริเวณป่าฮาลาบาลา และหุบเขาในป่าบางลาว

มีส่วนหนึ่งเดินทางไปถึงผืนป่าของประเทศมาเลเซีย

สำหรับสัตว์ป่าพวกมันไม่มีพรมแดน

เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเครื่องส่งสัญญาณวิทยุในระบบผ่านดาวเทียม ช่วยให้การติดตามการเดินทางของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ มีข้อมูลอันชัดเจน

ก่อนหน้านี้หลายปี เพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต ขณะกำลังศึกษาปริญญาโท เขาจับนกเงือกกรามช้างปากเรียบติดวิทยุ จากโพรงในป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้ง

ถึงเวลาหนึ่งเขาไม่สามารถติดตามข้อมูลนกได้ นกหายไปไม่มีสัญญาณ

วิทยุแบบเดิมมีข้อจำกัดและยังไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วนกเดินทางไกลไปถึงประเทศมาเลเซีย

ผมติดตามข่าวการเดินทางของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ

ปรีดา เทียนส่งรัศมี แห่งโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ส่วนภาคใต้ ส่งข่าวพวกมันอย่างสม่ำเสมอ

การเดินทางของพวกมันคงต้องแวะฝืนป่าของเทือกเขาบูโด

และทำให้ผมนึกถึงผู้ชายคนหนึ่ง

ผู้ชายผอมแกร่งสูงวัยที่ชื่อ แบมุ

 

ช่วงที่ผมเจอ นิมุ รายอคารี หรือที่เราเรียกว่า แบมุ นั้นเขามีอายุ 56 ปี

ชาวบ้านแถบอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เรียกผู้ชายสูงวัยกว่าด้วยความเคารพว่า “แบ” อันมีความหมายในภาษาถิ่นว่า “พี่ชาย”

ถึงวันนี้ แบมุ คงอยู่ในวัยร่วมเจ็ดสิบปีแล้ว กระนั้นก็เถอะ ผมเชื่อว่าชาวบ้านแถวๆ ตำบลปะลุกาสาเมาะ ต่างก็ยังคงยอมรับว่าแบมุ คือ “ผู้กว้างขวาง” ซึ่งทุกคนให้ความนับถือ เหมือนเดิม

“ชีวิตเราเปลี่ยนไปเพราะผู้หญิงคนหนึ่ง”

แบมุ บอกผมเช่นนี้ ผมเคยเขียนถึงแบมุไว้ในงานชิ้นหนึ่ง อยู่ในหนังสือ “มิตรภาพต่างสายพันธุ์”

ก่อนหน้าที่ผมจะได้จะได้พบกับแบมุ

ย้อนหลังไปสัก 10 ปี นอกจากทำสวนลองกอง เงาะ มังคุดและยางพาราแล้ว งานที่ทำรายได้เป็นอย่างดีให้กับแบมุ คือ จับลูกนกเงือกไปขาย

ลูกนกเงือกหัวแรด นกชนหิน นกเงือกหัวหงอก นกกก เหล่านี้แบมุนำไปขายให้พ่อค้าในอำเภอตันหยง ได้ราคาตัวละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

ทุกคนยอมรับและรู้ว่า แบมุ คือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการล้วงลูกนกเงือกจากโพรง

“บุหรงบาลง มันบินเสียงดัง ถ้ามันบินวนเวียนอยู่แถวนั้นบ่อยๆ ก็รู้ได้ว่ารังมันอยู่ที่นั่น” แบมุ เล่า

บุหรงบาลง คือ นกเงือกหัวแรด

พอถึงวันที่ 16 มิถุนายน เรารู้ว่าลูกมันโตพอจะขึ้นไปเอาได้แล้ว” แบมุ กำหนดวันการเติบโตของลูกนกอย่างแม่นยำ

การเรียนรู้ สังเกตพฤติกรรมของนก แบมุรู้เช่นเดียวกับนักวิจัย

“แม่ของบุหรงบาลง จะออกจากโพรงก่อนสัก 20 วัน พอออกมาลูกก็จัดแจงปิดปากโพรงไว้อย่างเก่า ส่วนตัวแม่ก็มาช่วยพ่อหาอาหารมาเลี้ยง”

“ตอนนี้เราจะสังเกตดูถ้าตัวลูกยังขี้ไม่พ้นปากโพรงแสดงว่ายังไม่ถึงเวลาออกมา แต่ถ้าเริ่มขี้พ้นปากโพรงเมื่อไหร่ หมายถึงใกล้จะออกจากโพรงแล้วเราก็จะขึ้นไปเอา”

นกเงือกรักความสะอาด ถ้าแม่ยังอยู่ในโพรงมันจะคาบเศษอาหารรวมทั้งขี้ของลูกทิ้งข้างนอก แต่ถ้าแม่ออกมา ลูกจะหันก้นมาที่ปากโพรง พ่อ-แม่จะคาบไปทิ้งไกลๆ สาเหตุเพื่อป้องกันไม่ให้มีกลิ่น สัตว์ผู้ล่าอย่างงู หรือหมาไม้ ซึ่งมักหาโอกาสตอนพ่อ-แม่นกเผลอมาล้วงกินลูกนก สังเกตได้ง่ายๆ

วิธีนี้กันสัตว์ผู้ล่าได้บ้าง

แต่ “ผู้ล่า” อย่างคน นกป้องกันไม่ได้เลย

“ถึงเวลา เราจะขึ้นเขาแต่เช้า เตรียมกระสอบตัดไม้ กายู เป็นท่อนๆ ยางสักท่อนแขน และเถาวัลย์เหนียวๆ เป็นเถาวัลย์จากเครือบาลูดีที่สุด เหนียวดี แบมุ เล่า

เมื่อถึงต้นไม้ ส่วนใหญ่ต้นที่นกเงือกใช้เพราะมีโพรงเหมาะสมคือ ต้นตะเคียน

แบมุจะตัดต้นไม้ย่อมๆ ยาวพอถึงโพรง วางทาบกับต้นตะเคียน เหวี่ยงเถาวัลย์อ้อมมัดไว้ แล้วเอาไม้กายูท่อนสั้นๆ มาสอดใช้เหยียบแทนขึ้นบันได ทำเช่นนี้ไต่สูงไปเรื่อยๆ

นี่เป็นวิธีแบบเก่าที่คนรุ่นแบมุใช้ แต่ถ้าเป็นคนล้วงลูกนกรุ่นใหม่ๆ พวกเขาใช้ตะปู สัก 5 นิ้วตอก และใช้วิธีตะแคงๆ เท้าเหยียบขึ้นไป

“ขึ้นไปถึงปากโพรง พ่อกับแม่นกมันจะมาบินส่งเสียงดัง บางทีก็บินมาตีเลยล่ะต้องระวัง”

ถึงปากโพรง แบมุใช้ไม้งัดดินที่นกเอามาปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องเล็กๆ ดินนั้นผสมขี้ด้วยจึงค่อนข้างแข็ง งัดออกไม่ง่ายนัก

“ลูกนกก็พยายามจิกดิ้น เราต้องจับให้มั่นรีบล้วงออกมาใส่กระสอบ พ่อแม่นกอีกที่จะเข้ามาตี บางทีเราต้องหาจังหวะตอนพ่อแม่มันไปหาอาหาร รีบเอาลูกนกไปก่อน”

แบมุใช้เวลาไม่นาน ไม่ยุ่งยากซับซ้อนปีนขึ้นต้นไม้ งัดปากโพรงคว้าลูกนกใส่กระสอบ เอาไปขายให้พ่อค้า ได้เงินพันกว่าบาท

ง่ายเสียจนแบมุไม่ได้คิดว่าช่วงเวลาหลังจากนั้น ด้วยอาหารที่เต็มปาก บินมาเกาะหน้าโพรงใช้กรงเล็บยึดหางแข็งๆ ช่วยประคอง

มองเข้าไปพบแต่ความว่างเปล่าในโพรง

และต้องบินวนเวียนหาลูกน้อยด้วยใจที่แหลกสลาย

แบมุไม่ได้รู้สึกหรือได้เห็น

เช่นเดียวกับใครก็ตามที่ซื้อนกเงือกมาเลี้ยงไม่ได้รู้สึกและไม่ได้เห็น

 

“เราเห็นว่ามันเป็นรายได้ ไม่รู้หรอกว่าบุหรงมีประโยชน์อย่างไร” แบมุ เล่าถึงเหตุที่เขาเปลี่ยน

“ตอนแรกๆ ที่อาจารย์พิไล มาพูดเราก็เฉยๆ”

อาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ แห่งมูลนิธิศึกษานกเงือก เริ่มโครงการช่วยเหลือนกเงือกบนเทือกเขาบูโด โดยให้ชาวบ้านที่พบรังนกมาแจ้ง โครงการจะจ่ายเงินเพื่อทดแทนรายได้จากการล้วงลูกนกไปขาย และผู้พบรังจะทำหน้าที่เฝ้าดูจนกระทั่งนกออกจากรัง

แบมุเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการ

“เราตัดสินใจเข้าร่วมเพราะอาจารย์บอกว่าถ้าแบมุมีลูกแล้วมีคนจับลูกแบมุไปทุกครั้งจะเป็นอย่างไร”

แววตาแบมุบ่งบอกความรู้สึกของการเป็นพ่อ

“เราเข้าใจแล้วล่ะว่า เจ้าบุหรงบาลง ผู้เป็นพ่อมันรู้สึกอย่างไร ตอนเห็นเราขึ้นไปเอาลูก หรือตอนบินกลับมาพบกับโพรงว่างๆ”

 

เวลาผ่านไปนาน แบมุและเพื่อนๆ อีกหลายคน “เปลี่ยน” วิถี

กระนั้นก็เถอะ มีคนอีกหลายคนที่ไม่ใส่ใจ

การล้วงลูกนกยังคงเป็นรายได้ที่ดี

มีคนอีกจำนวนมากไม่ใส่ใจ

มีคนอีกจำนวนมากที่คิดว่า สิ่งที่เรียกว่าเป็น “ความรัก” ของพวกเขา

ได้มาจากหัวใจอันแตกสลายของพ่อแม่ นกซึ่งอยู่บนภูเขา

มีคนอีกจำนวนมากดูคล้ายจะ “ห่างไกล” เกินกว่าจะมองเพื่อจะได้ “เห็น”