ผู้ปฏิรูปการศาสนาและการศึกษา ใกล้ชิด ‘มาร์ติน ลูเธอร์’ : ท่าอากาศยานต่างความคิด

ชีวิตาในโลกใหม่ (29) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

ในการวางรากฐานแห่งการปฏิรูปศาสนานั้น การให้ศึกษาแก่อนุชนรุ่นหลังเพื่อเป็นกำลังสำคัญนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว

ดัง มาร์ติน ลูเธอร์ ก็ล่วงรู้ในปัจจัยข้อนี้ดี

ข้อเขียนที่ว่าด้วยการปฏิรูปศาสนายุคแรกๆ ของเขานั้นมีบทความที่จงใจเขียนถึงผู้ปกครองรัฐในดินแดนเยอรมนีถึงการสร้างอาณาจักรใหม่ของพวกคริสเตียนโปรเตสแตนต์ที่มีชื่อว่า-An address to the Christian nobility of the German nation on the improvement of the Christian estate (1520)

โดยในบทความที่ว่านี้ มาร์ติน ลูเธอร์ ได้โยงใยความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและการสร้างความศรัทธาในหมู่ชาวคริสเตียนใหม่ว่า

“สิ่งที่เราควรสนับสนุนให้ได้อ่านกันอย่างกว้างขวางทั้งในโรงเรียนชั้นต้นและโรงเรียนชั้นสูงคือพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ และเฉพาะเจาะจงสำหรับเด็กชายตัวน้อยๆ เราควรสนับสนุนให้เขาได้อ่านหรือฟังพระวจนะที่มีในที่ต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ในพื้นที่ที่มีโรงเรียนสำหรับเด็กหญิง พวกเธอก็ควรได้ฟังพระวจนะอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ พระวจนะนั้นจะอ่านหรือบรรยายเป็นภาษาละตินหรือภาษาเยอรมันก็ได้ คริสเตียนที่ดีนั้นควรเริ่มได้สดับตรับฟังพระวจนะของพระเยซูเจ้าจนครบครันก่อนที่พวกเขาจะมีอายุได้เก้าถึงสิบปีด้วยซ้ำไป”

ข้อเรียกร้องเช่นนี้ของ มาร์ติน ลูเธอร์ ได้รับการตอบสนองในเวลาต่อมา มันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งในงานปฏิรูปศาสนา

เดิมเด็กหญิงนั้นมีโอกาสได้รับการศึกษาน้อยเต็มที และเป็นเด็กหญิงเฉพาะในตระกูลใหญ่ด้วยซ้ำไปที่สามารถส่งพวกเธอไปในอาราม

การจัดตั้งโรงเรียนให้กลุ่มคนทั่วไปให้อ่านออกเขียนได้ไม่เพียงแต่สร้างศรัทธาและองค์ความรู้ด้านศาสนาแก่พวกเขาแต่ยังช่วยพัฒนาจิตใจและความคิดอ่านให้พวกเขาอีกทางหนึ่งด้วย

นี่คือข้อที่ควรยกย่องของชาวโปรเตสแตนต์เลยทีเดียว

นับแต่ยุคสมัยของ มาร์ติน ลูเธอร์ การศึกษาเติบโต งอกงามเป็นลำดับจากการมุ่งมั่นให้การศึกษาและการจัดตั้งโรงเรียนอย่างทั่วถึง แม้ในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดาร นักคิด นักปรัชญา ศิลปิน รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในยุคหลังล้วนมีความรู้จากโรงเรียนที่ดำริโดยพวกคริสเตียนโปรเตสแตนต์เป็นแน่แท้

และถ้าเราจะยกให้การศึกษาเป็นจุดเด่นจุดหนึ่งของงานปฏิรูปศาสนาในยุคของ มาร์ติน ลูเธอร์ เราคงไม่อาจละเลย ผู้ให้การช่วยเหลือหลักของเขาได้ บุคคลผู้นั้นอันได้แก่ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน-Philipp Melanchthon

ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน นั้นเป็นผู้ช่วยใกล้ชิดของ มาร์ติน ลูเธอร์ มาตั้งแต่ปี 1518 หาก แคตธาริน่า ฟอน โบร่า เป็นผู้ช่วยให้ชาวคริสเตียนได้มีแบบฉบับของชีวิตครอบครัวและชีวิตสมรส ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ก็คือผู้ช่วยให้ชาวคริสเตียนได้มีแบบฉบับด้านการศึกษา

ตัว ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน นั้นใส่ใจในการศึกษาของชาวคริสเตียนนับแต่ต้น ดังในบทความที่อ่านกันโดยแพร่หลายในปัจจุบันที่มีชื่อว่า ครูแห่งชนชาวเยอรมัน หรือ Praeceptor Germaniae

ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน เกิดในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ปี 1497 ที่เบรตเทิน-Bretten ใกล้กับเมืองคาร์ลสรูในปัจจุบัน

บิดาของเขาคือ เก-ออร์ก ชวาร์ซแซร์ดต์-Georg Schwarzerdt เป็นนักทำอาวุธและดินปืนให้กับเหล่าผู้ครองนครในตอนนั้น

ส่วนมารดาคือ บาร์บาร่า รอยเตอร์-Barbara Reuter เป็นลูกสาวขุนนางใหญ่ในเบรเท่น ฟิลิปป์โตมาในบ้านหลังใหญ่ของตายายที่อยู่ตรงข้ามกับตลาดในเมืองเบรเท่น

เขามีน้องชายหนึ่งคนและน้องสาวสามคน ในวัยเด็กครอบครัวที่มีอันจะกินของเขาจ้างครูมาสอนที่บ้านเป็นรายวิชา โดยเฉพาะวิชาสำคัญอย่างวิชาภาษาละติน

และทำให้เขาได้ใช้มันเป็นเครื่องมือในการแสวงหาปัญญาอย่างกว้างขวางในภายหลัง

เมื่อพ่อและตาของเขาเสียชีวิตลงในปี 1508 ไล่เลี่ยกัน ฟิลิปป์ในวัยสิบเอ็ดขวบต้องโยกย้ายตนเองตามผู้เป็นยายและครอบครัวไปยังเมือง พฟอร์ไฮ์ม-Pforzheim

ที่โรงเรียนที่นั่น ฟิลิปป์ได้แสดงความปราดเปรื่องในด้านภาษากรีกและละตินออกมา

พี่ชายของผู้เป็นยายคนหนึ่งอันได้แก่ โยฮันน์ ร็อยชินน์-Johann Reuchin พอใจในความฉลาดเฉลียวนี้มากและตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลของเขาให้เป็นภาษากรีก

เขาจึงได้รับนามสกุล เมลันช์ทอน ในปี 1509 นั้นเอง

ด้วยวัยเพียงสิบสองปี กิตติศัพท์ของฟิลิปป์ ในฐานะเด็กผู้มากความสามารถทำให้เขาได้รับการยอมรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเก่าแก่อันได้แก่ มหาวิทยาลัยไฮเดิลเบิร์ก-University of Heidelberg

ที่นั่นเขาเข้าพำนักอยู่กับนักเทววิทยาผู้มีชื่อเสียงคือ พัลลัส ชปังเงล- Pallas Spangel

และใช้เวลาเพียงสองปี เขาก็จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาความรู้ด้านวิชาประวัติศาสตร์

เขาตัดสินใจย้ายตนเองไปยังเมืองทูบิงเง่น และเข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยทูบิงเง่น

ในวัยสิบเจ็ดปี เขาก็จบการศึกษาขั้นมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย

โดยระหว่างนั้นเขาได้หาเลี้ยงชีพด้วยการสอนหนังสือให้กับบุตรหลานของเหล่าขุนนางแบบเดียวกับที่เขาได้รับการศึกษาในวัยเยาว์

ทว่า ในตอนนั้นเขาสนใจวิชาที่ว่าด้วยการส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่แสวงหาความจริงในโลกใหม่มากกว่าการหมกมุ่นกับวิชาประวัติศาสตร์และคลาสสิควิทยาการที่เขาเริ่มรู้สึกว่ามันกำลังคลายความนิยมลง

รวมถึงกระแสการปฏิรูปศาสนาที่ก่อหวอดโดย มาร์ติน ลูเธอร์ ทำให้ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน หันมาสนใจเรื่องราวการค้นพบด้านดาราศาสตร์ที่ว่าด้วยการไม่ใช่ศูนย์กลางของโลกในระบบสุริยจักรวาลอีกต่อไปแล้ว

ในปี 1517 ฟิลิปป์ได้มีโอกาสกล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยทูบิงเง่น

เขานำเสนอว่าวิชาประวัติศาสตร์และกวีควรถูกผนวกรวมเข้าในวิชาด้านศิลปศาสตร์ทั้งเจ็ดแขนงที่ร่ำเรียนกันในมหาวิทยาลัยด้วย

(ศิลปศาสตร์ทั้งเจ็ดนั้นประกอบไปด้วย วิชาด้านภาษาสามวิชาคือวิชาไวยากรณ์ วิชาอุปมาสำนวนโวหารและวิชาวิภาษวิธีด้านภาษา อีกสี่วิชานั้นเป็นวิชาอื่นๆ อันได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ เรขาคณิต ดนตรี และดาราศาสตร์ วิชาทั้งเจ็ดนี้เป็นรากฐานในการศึกษาสามวิชาชั้นสูงอันได้แก่ การแพทย์หรือแพทยศาสตร์ กฎหมาย และเทววิทยา)

ข้อเสนอที่ว่านี้เป็นดังความหวังของการดึงดูดนักวิชาการรุ่นใหม่ให้เข้ามาสู่การศึกษาและทำให้ ฟิลิปป์ แมลันช์ทอน ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษากรีกที่มหาวิทยาลัยวิตเตนเบิร์กในเวลาต่อมา

มหาวิทยาลัยวิตเตนเบิร์กนั้นก่อตั้งโดย ไฟรดริช ผู้เปรื่องปราด – Friedrich the Wise เจ้าครองแคว้นแซกโซนี (ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ มาร์ติน ลูเธอร์ ในอีกทางหนึ่งด้วย ดังที่ได้กล่าวถึงในตอนก่อนหน้านี้)

ปาฐกถาในวันที่ 28 สิงหาคม 1518 ของ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ที่มหาวิทยาลัยวิตเตนเบิร์ก นั้นน่าสนใจมาก

โดยหัวข้อปาฐกถานั้นคือ “การพัฒนาการศึกษาในหมู่เยาวชน-Improvement of studies for the young”

ฟิลิปป์เรียกร้องให้เรากลับไปสู่รากฐานคือการศึกษาในวัยเยาว์ และไม่ควรละทิ้งการเรียนภาษาโบราณ ไม่ว่าจะเป็นกรีก ละติน หรือฮิบรู เพื่อที่เราจะได้อ่านเอกสารเก่าแก่ได้

ในฐานะของมนุษยนิยมที่เชื่อในการเสริมสร้างศักยภาพของมนุษย์ เขาเห็นว่าการใช้ภาษาละตินแบบผิดๆ ถูกๆ ในช่วงนั้นแสดงถึงความเสื่อมทรามของการศึกษา

และการมาถึงของโลกใหม่ทั้งการค้นพบดินแดนใหม่และการพิมพ์ทำให้เราจำเป็นต้องเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์ให้กับเยาวชนอย่างเร่งด่วนด้วย

ข้อเสนอที่มหาวิทยาลัยวิตเตนเบิร์กในวันนั้นส่งผลต่อชีวิตของ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน อย่างใหญ่หลวง ในเวลาต่อมา

นั่นเป็นเพราะว่ามันได้จับใจนักบวชนิกายออกุสติเนี่ยนและศาตราจารย์ด้านพระคัมภีร์คนหนึ่งนาม มาร์ติน ลูเธอร์ ที่ได้เข้ามีโอกาสฟังปาฐกถาในวันนั้น

ตัว มาร์ติน ลูเธอร์ เองแม้จะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายกันดีแล้วจากการประกาศคำโต้แย้งต่อใบไถ่บาปในปีก่อนหน้าและกำลังหมกมุ่นกับการหาหนทางในการปฏิรูปศาสนา ทว่า เขายังไม่อาจแสวงหาหนทางและวิธีการได้อย่างเป็นรูปเป็นร่างนัก

การพบปะกันระหว่างบุคคลทั้งสองได้ก่อให้เกิดมิตรภาพอันแน่นแฟ้นขึ้นในเวลารวดเร็ว

มาร์ติน ลูเธอร์ นั้นเป็นนักปฏิบัติ รุ่มร้อนและโผงผาง

ในขณะที่ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน นั้นเป็นนักคิด สุขุมและเยือกเย็น

ความแตกต่างทั้งสองแบบดึงดูดทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกันและเขาทั้งคู่ได้กลายเป็นคู่คิดในการปฏิรูปศาสนาจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ความใกล้ชิดเช่นนี้ทำให้ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน ตัดสินใจสมัครเข้าเรียนในสาขาเทววิทยาที่มี มาร์ติน ลูเธอร์ เป็นอาจารย์

เขาจบการศึกษาด้านพระคัมภีร์ในเวลาต่อมาและทำให้เขามีศักดิ์และสิทธิ์ ในการบรรยายถึงเรื่องราวในพระคัมภีร์ได้อย่างอิสระ

มาร์ติน ลูเธอร์ เองพอใจในความก้าวหน้าเช่นนี้มากและตั้งใจให้ฟิลิปป์รับหน้าที่แทนเขาในการบรรยายเรื่องราวทางศาสนาตามที่ต่างๆ หากเขาประสบปัญหาจากศาสนจักร

ทว่า อุปสรรคเริ่มปรากฏตัวขึ้น พี่ชายของยายคือ โยฮันน์ ร็อยชิน ไม่ปรารถนาให้ฟิลิปป์เข้าไปข้องเกี่ยวกับพวกปฏิรูปศาสนาเพราะไม่อยากให้ครอบครัวกลายเป็นศัตรูกับทางศาสนจักร จึงหาทางย้ายเขาไปยังอีกเมืองหนึ่งคือเมืองอิงโกลสตัดต์-Ingolstadt

ทำให้ ฟิลิปป์ เมลันช์ทอน มีสองทางเลือกคือยอมโยกย้ายตนเองไปที่เมืองนั้นตามคำขอของบรรพบุรุษ

หรือยังคงอยู่ที่วิตเตนเบิร์กเพื่อจัดตั้งการปฏิรูปการศาสนาและการศึกษาเคียงคู่กับ มาร์ติน ลูเธอร์ ต่อไป