‘เนติวิทย์’ กับเส้นทางใหม่ นายกองค์การนิสิตจุฬาฯ ‘ช่วยกันจุดไฟให้สว่างขึ้น’ / สัมภาษณ์พิเศษ

สัมภาษณ์พิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

‘เนติวิทย์’

กับเส้นทางใหม่

นายกองค์การนิสิตจุฬาฯ

‘ช่วยกันจุดไฟให้สว่างขึ้น’

มติชนสุดสัปดาห์จับเข่าคุยนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) คนใหม่ ที่ได้คะแนนเสียงถล่มทลาย กาคะแนนให้ถึง 10,324 หรือกว่า 70% ของผู้มาใช้สิทธิ์

ซึ่งถือว่าชนะขาดคู่ต่อสู้ขาดลอย จากจำนวนนิสิตมีสิทธิ์ลงคะแนน 26,219 คน มาใช้สิทธิ์ 14,691 คน หรือ 56.03%

ที่สูงสุดในรอบ 10 ปี

เนติวิทย์เล่าว่า อยากทำหลายสิ่งในตำแหน่งนี้ เพื่อปกป้องพื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ทางการค้ามากขึ้น

การที่ชาวบ้าน-ชีวิตชุมชนรอบมหาวิทยาลัยถูกทำลายไปหมด ร้านอาหารที่ดีต่างๆ ก็ไม่เหลือ ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่เคยมีในย่านสามย่านก็หมดไป

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องรักษาสิ่งที่มีอยู่ให้ดำรงอยู่ และนำสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์เข้ามาให้มีชีวิตชีวามากขึ้นในชุมชนของเรา

ให้นิสิตกับอาจารย์และชุมชนที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่ว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยนี้จะเป็นคนกำหนดทุกอย่างไปตามเส้นทางที่เขาต้องการเพื่อกำไรสูงสุดอย่างเดียว

และแน่นอนว่า นอกจากเรื่องชุมชนแล้ว เรื่องสวัสดิการสวัสดิภาพชีวิตของนิสิตที่ต้องมีคุณภาพ ทางเท้าต้องมีคุณภาพ

ที่ผ่านมาผู้บริหารไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้ เช่น ทางเท้าที่คณะเภสัชที่ผมไปเรียกร้อง อยู่ดีๆ ก็ถูกเอาไปทำเป็นที่วางดอกไม้ก็ไม่ใช่เรื่อง ก็ต้องแก้ไขในหลายๆ จุด

รวมถึงต้องคิดถึงคนกลุ่มอื่น เช่น คนพิการก็ลำบากมากในการใช้ชีวิตที่มหาวิทยาลัย ทางก็ไม่ดี เดินไม่ได้ มีรถเข็นก็เลื่อนไม่ได้

รวมถึงการต่อสู้เกี่ยวกับประเด็นภายนอกมันเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องเศรษฐกิจ เราก็จำเป็นที่จะต้องให้นิสิตเข้าใจ และมีส่วนได้ส่วนเสียในการผลักดันประเด็นทางสังคมต่างๆ

เราก็ไม่คิดว่าเราจะชนะเป็นหมื่นคะแนน ซึ่งจุดที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะมหาวิทยาลัย โดยผมเองไม่ได้มีความคิดที่จะมาทำงานเชิงบริหารอะไรแบบนี้ ก่อนหน้านี้เคยเป็นประธานสภานิสิตเป็นงานเชิงตรวจสอบ ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ เราก็รู้สึกชอบ แต่ทำไปได้ไม่เท่าไหร่เราก็เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ เขาก็ตัดคะแนนเราแล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นตัวเลวร้ายในมหาวิทยาลัย รู้สึกมีมลทินมัวหมอง ทั้งๆ ที่จริงเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เราก็แค่เดินออกจากพิธีกรรมแค่นั้นเอง แต่เขาก็เล่นงานเรามาก ทำให้เรามองเห็นความอยุติธรรมนี้

เมื่อเราพ้นจากตำแหน่งนี้ทำให้เราได้เดินรอบๆ มหาวิทยาลัย ได้เห็นปัญหาความทุกข์ของชาวบ้าน เห็นความทุกข์ของนิสิตเต็มไปหมดเลย

มันทำให้เรามีแรงใจ ตอนแรกก็คิดว่าจะจบแล้ว อยู่ดีๆ ศาลปกครองก็คืนคะแนนมาให้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้คาดคิดเลย ผมก็เลยได้กลับมาลองสมัครเป็นนายกสโมสรคณะตัวเอง ปรากฏว่าได้รับเลือกตั้ง

และในปีที่ผ่านมาก็ได้ลองเปลี่ยนแปลงอะไรในคณะตัวเอง แล้วก็ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เรารู้สึกว่าสนุก ก็เลยถือโอกาสอีกสักปีหนึ่งเพราะว่าสถานการณ์โควิดก็ยังไม่ดีขึ้น และรัฐบาลประยุทธ์เองก็ยังอยู่ได้ 6-7 ปีแล้ว ทำไมเราจะอยู่บ้างไม่ได้

สาเหตุที่คนเขาเลือกผม ผมคิดว่าคงไม่ได้เลือกผมเพราะว่าเป็นคนพิเศษกว่าคนอื่น หรือว่าเก่งอะไร

ผมคิดว่าเขาอาจจะเห็นว่า มันขาดตัวแทนที่เป็นนิสิตที่พยายามพูดประเด็นที่เขาสนใจ

จริงๆ ที่ผ่านมาองค์กรนักศึกษาในหลายๆ ปี บางทีเขาอาจจะปรับตัวตามยุคสมัยของนิสิต-นักศึกษาในปัจจุบันไม่ทัน

นิสิตในปัจจุบันอยากจะได้ประชาธิปไตยอยากจะได้ความเท่าเทียมกัน เขาจะให้องค์กรนักศึกษาพูดถึงปัญหาสังคมสำคัญมากขึ้น

แต่ปรากฏว่าองค์กรนักศึกษาหลายปีกลับไปยึดติดกับรูปแบบมากเกินไป

เช่น ติดว่าต้องแต่งตัวอย่างไรให้ดูดี

ติดว่าต้องพูดจาอย่างไรให้ดูดี

บางทีเด็กเขารู้สึกว่าเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือแล้ว องค์กรนักเรียนต่างๆ ก็จะถูกอาจารย์จัดตั้งขึ้นมา ไม่ได้เป็นปากเป็นเสียง

และเขาก็คงเห็นว่าผมเป็นคนแบบพูดจาตรงไปตรงมา แล้วก็พยายามแก้ปัญหาหลายๆ เรื่อง บางเรื่องก็อาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง เขาก็คงพอใจในเรื่องนี้และคงจะเลือกเรา

 

: รับมือกับไอโอ-ข้อกล่าวหา-การปั่นข่าวปลอมอย่างไร

ผมคิดว่าสังคมไทยเราเริ่มมีวุฒิภาวะมากขึ้น

ผมว่าตอนแรกมันมีปฏิบัติการไอโอปั่นหัวคนง่ายๆ ก็มีคนออกมาแฉมากขึ้น ว่าพวกนี้ทำหน้าที่อย่างไร ผมคิดว่าคนเริ่มมีวุฒิภาวะมากขึ้นในการใช้ Social Media ซึ่งเรื่องนี้ก็เลยทำให้เราสบายใจมากขึ้นเวลามีข่าวลือเสียหายออกมา ก็จะมีคนคอยทบทวนให้คนอื่นได้คิดไตร่ตรองอีกครั้งหนึ่งว่ามันจริงหรือไม่

และผมก็คิดว่าผู้หลักผู้ใหญ่ก็น่าจะมีวุฒิภาวะตรงนี้มากขึ้น แต่จะมีบางส่วนที่ยังเชื่อไอโอเฟกนิวส์ต่างๆ อยู่ ก็ต้องเรียนรู้กันไปในเรื่องนี้

แต่ผมก็พูดได้ว่ามันก็ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน

ความขัดแย้งในสังคมไทย ผมคิดว่าบ้านเมืองของเรา ความไว้วางใจที่มีต่อกันน้อยลง ระหว่างคนรุ่นเก่า ผู้ใหญ่หลายคนก็คงตกใจว่าทำไมนิสิตถึงเลือกผมเป็นหมื่นกว่าคะแนนซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ มันก็สะท้อนให้เห็นได้ว่าตอนนี้คนไม่พอใจบ้านเมืองของเรามาก

แล้วคนที่เป็นผู้มีอำนาจในสังคมปัจจุบันก็ไม่ได้รับฟังเลย และเขาก็คิดว่าการใช้อำนาจรัฐ ว่าตัวเองมีตำแหน่งมีเงินจะซื้อใจคนได้ซึ่งเรื่องนี้มันไม่ใช่แนวทางของคนรุ่นใหม่

ตอนนี้เขาไม่ได้ต้องการจะมีอาชีพที่มั่นคงในอนาคตเท่านั้นแต่เขาต้องการศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในประเทศนี้ด้วย

ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องสามารถแสดงทรรศนะได้อย่างเสรี ต้องแสดงความคิดเห็นได้

อะไรก็ตามที่เขาอยากจะพูดก็สามารถแสดงออกมาได้ แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่มี ยังมีการเล่นงานกับผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง

อย่างการใช้มาตรา 112 เป็นต้น ตอนนี้คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งก็ส่งสัญญาณว่า คนที่ถูกจับด้วยมาตรา 112 และอื่นๆ ควรจะต้องได้รับการประกันตัว

 

: ความหวังในประเทศนี้ที่ยังมีอยู่?

ผมมองว่าอย่างกรณีผมเองมันก็มองเห็นความหวัง และในปีที่จะถึงนี้ การเคลื่อนไหวภายในรั้วมหาวิทยาลัยขององค์กรต่างๆ จะมากขึ้น

ก่อนหน้านี้จะไปที่ท้องถนนมาก แต่ตอนนี้เราอาจจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น เชิงวัฒนธรรม ภายในมหาวิทยาลัย ประเด็นทางสังคมซึ่งเมื่อก่อนภายในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่เด็กกลุ่มน้อยสนใจ

แต่ต่อไปนี้จะกลายเป็นเรื่องที่คนกลุ่มใหญ่สนใจ และเป็นเรื่องที่คนจับตามอง แล้วยิ่งพวกนักเรียนต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมการชุมนุม พอได้เข้ามหาวิทยาลัยด้วยก็ทำให้มีบรรยากาศมากขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น สำหรับผม การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในการต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ และการตั้งคำถามในประเด็นสังคมอื่นๆ รวมถึงเรื่องสถาบันหรืออะไรก็ตาม น่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดูจากท่าทีไม่มีทางที่จะลดลงได้ง่ายๆ เลย

ดังนั้น การที่รัฐยิ่งปราบปรามมากเท่าไหร่ มันก็ไม่ทำให้คนถอยนะ

ยิ่งตอนนี้เพื่อนบ้านของเราพม่าก็มีการต่อสู้ แล้วถ้าคนไทยเราไม่สู้บ้างก็ดูจะน้อยหน้าไป

 

: รมต.บางคนบอกอย่าใช้เสรีภาพสุดโต่ง

มันก็ไม่ใช่เรื่องสุดโต่งนะ มันเป็นเรื่องเสรีภาพในการตั้งคำถาม

ที่มันจะสุดโต่งเพราะว่าคุณทำให้มันดูสุดโต่ง เช่น ต้องมีกฎหมายมากำกับพูดเรื่องนี้ได้เท่านี้ ถ้าตั้งคำถามต่อเรื่องสังคมที่เป็นอยู่ในตอนนี้จะถูกจับ มันไม่ได้สุดโต่งเลย แต่คุณสร้างเงื่อนไขให้สุดโต่งมากขึ้น คนไม่สามารถขยับตัวไปไหน ไม่สามารถหายใจรับเสรีภาพได้เลย ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องดูสุดโต่งไปซะหมด

จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องธรรมชาติและพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ต้องสามารถแสดงออกอย่างมีสิทธิเสรีภาพได้

สังคมวันนี้ก็ค่อนข้างมาไกลขึ้นถ้าเทียบจากเมื่อหลายปีก่อน เราก็ยังรู้สึกว่าเราเป็นตัวประหลาด และสังคมก็มองเราเป็นตัวประหลาด

แต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว มันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เริ่มพูดกัน แล้วบางทีอาจจะแรงกว่าเราด้วยซ้ำ

ดังนั้น เราก็ค่อนข้างดีใจที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้

 

: ฝากอะไรถึงรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์

รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มีอายุที่ค่อนข้างสูงวัยมากถ้าเทียบกับรัฐบาลอื่นๆ แล้ววัฒนธรรมของเราที่ต้องการจะให้คนรุ่นใหม่ที่อยู่ร่วมกันให้ได้ก็เลยทำให้สถานการณ์ดูยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ มันน่าเสียดายโอกาสมาก แล้วมันก็ทำให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเลยว่า เราไม่จำเป็นต้องเล่นตามกติกา จะอยู่นานเท่าไหร่ก็ได้ตามที่เรามีอำนาจ ถ้าเป็นแบบนี้สังคมเรา ผู้ที่อยู่รอดจะเป็นคนที่สามารถที่จะทำอะไรก็ได้ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ เราก็ไม่รู้ว่าแล้วจะเป็นยังไงต่อ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้สร้างมาตรฐานที่เลวร้ายเอาไว้ เราอาจจะต้องอยู่กันไปแบบนี้จริงๆ ถ้าเราไม่ต่อสู้ ถ้าเรานิ่งเฉย เราก็จะต้องอยู่แบบนี้

แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเราได้บทเรียนจากหลายที่นะ คนไทยเราได้เห็นการต่อสู้ที่ฮ่องกง เห็นการต่อสู้ที่พม่าและที่อื่น บางที่อาจจะสำเร็จ บางที่อาจจะล้มเหลว แต่ผมว่าเรามีอะไรที่จะเรียนรู้ได้เยอะแล้วเอามาใช้ได้เยอะ

ปีก่อนๆ กระบวนการเยาวชนก็มีเคลื่อนไหวสร้างสีสันต่างๆ มากมายที่เราไม่เคยคาดคิดเลยว่าจะเป็นไปได้ มันก็เกิดขึ้นแล้ว มีคนจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสนเข้าร่วมกระบวนการ ดังนั้น ผมคิดว่าโอกาสในการเปลี่ยนมันก็มีค่อนข้างสูงอยู่ และตอนนี้สังคมก็เริ่มกดดันให้ตัว พล.อ.ประยุทธ์ลาออกมันก็มากขึ้น

แต่ว่านั่นแหละเราอาจจะยังต้องช่วยกันส่งเสียงสื่อสารกันต่อไป

ถามว่าจุดอ่อนของรัฐบาลนี้มีข้อเสียอะไร ก็มีหลายเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้เราก็ไม่แน่ใจว่าเป็นรัฐบาลที่คิดเองหรือไม่ แล้วเราก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ แถมถูกข่มขู่ด้วยว่าใครมาตั้งคำถามตรวจสอบ จะเล่นงาน มีการฟ้องชาวบ้าน จะทำอะไรเคลื่อนไหวอะไรก็โดนยัดคดีไปหมด มันเลยกลายเป็นสังคมที่เป็นรัฐซ้อนรัฐ เป็น Deep State หลายๆ องคาพยพในสังคม ยิ่งเหมือนอยู่ในที่มืด

ในอดีตหลายคนอาจจะไม่เห็นภาพ แต่ตอนนี้ข้อดีข้อหนึ่งคือ หลายคนเริ่มเห็นภาพเราว่าเรากำลังอยู่ในท่ามกลางความมืดมิดของสังคม

และเราจะต้องช่วยกันในการจุดไฟให้มันสว่างขึ้นมา

 

ความรู้สึก

เมื่อมีคนบอก ‘มาก่อนกาล’

คํานี้ก็มีความหมาย เชิงบวกอยู่ก็อาจจะเป็นคำชมได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นบาดแผลในใจผมเหมือนกันที่เราก็รู้สึกเสียใจว่าทำไมเราไม่มาพร้อมกับพวกเขา เรานำมาก่อนแล้วออกตัวก่อนก็โดนก่อนเหมือนกัน

ที่ผ่านมาผมคิดว่าตัวผมเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ชีวิตมันคือการเรียนรู้ แต่ว่าเราต้องมีพื้นที่ให้เรียนรู้

ผมเองก็ไม่ได้ถูกทุกเรื่อง บางเรื่องผมอาจแสดงความเห็นในอดีตที่ปัจจุบันมันอาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้

แต่ว่ามนุษย์ต้องมีพื้นที่ในการเรียนรู้ และสังคมของเราจะไม่มีพื้นที่ให้การเรียนรู้เลย ต้องการการปราบปรามความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างเดียวไม่ได้ มันควรจะมีพื้นที่ให้คนคิด ให้คนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ก็ต้องมีพื้นที่ ให้เขาลองผิดลองถูกได้

สังคมเราต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง และข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ควรจะถูกรับฟังอย่างจริงจัง ไม่ได้บอกให้เอาข้อหนึ่งข้อใดออก เป็นเรื่องที่จะต้องมาพูดคุยกัน

สื่อก็จะต้องทำหน้าที่ เปิดประเด็นพื้นที่สาธารณะ ในเรื่องเหล่านี้ทำให้สังคมมันไปด้วยกันได้ ถ้าปิดกั้นจะทำให้สังคมเกิดความรุนแรงมากขึ้น และถึงเวลานั้นก็ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้ ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมต้องเริ่มทำกันอย่างจริงจัง มหาวิทยาลัยอย่างจุฬาฯ ก็ไม่ใช่จะนิ่งเฉยหรือทำว่าข้อเรียกร้องของคนเหล่านี้เป็นเพียงแค่ข้อเรียกร้องของนิสิตกลุ่มเล็กๆ หนึ่งกลุ่ม พอสังคมเกิดความแตกแยกถึงระดับที่ไม่อาจจะเยียวยาได้แล้วมหาวิทยาลัยจะไม่มีส่วนรับผิดชอบได้อย่างไร

ผมคิดว่าสังคมจะมีบางช่วงที่ความเกลียดชังมันลดลงได้บ้าง ที่เราอาจจะมีคนที่สามารถคุยกันได้ อาจจะมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้คุยกัน

 

 

ย้ำต้านการเกณฑ์ทหาร

‘ผมพร้อมติดคุก’

: อนาคตตัวเอง-เรื่องเกณฑ์ทหาร

ผมเองก็ไม่ได้วางอะไรไว้มาก โดยส่วนตัวก็ต่อต้านการเกณฑ์ทหารมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าหากยังไม่สามารถแก้ไขอะไรเรื่องนี้ได้ผมก็พร้อมที่จะติดคุก เพราะเราต่อต้านไม่เห็นด้วย ผ่อนผันหมดก็ช่วยไม่ได้แล้วก็เข้าคุกไป

ผมคิดว่าทำไมเราต้องขายวิญญาณเราในสิ่งไม่ชอบ เช่น ไปเป็นทหารเกณฑ์ ผมเรียนจบปริญญาตรีผมก็สามารถสมัครได้หรือจะจับใบดำใบแดงก็ยังได้