ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
เฌอเอม ชญาธนุช | เครื่องจักรสานกับเวลาที่หายไป (1)
หากคุณเดินเล่นในหมู่บ้านบางกลอยล่าง ก็คงไม่พลาดที่จะเห็นพะตี่ (ลุง) หน่อแอะ มีมิ นั่งสานกระบุงอยู่บนเรือน
เนื่องจากพะตี่เป็นอัมพฤกษ์ไม่สามารถขยับร่างกายท่อนล่างได้ แกจึงหันมาทำเครื่องจักรสานขายแทน
วันแรกที่ฉันมีโอกาสได้ขึ้นไปทักทายก็มีกระบุงที่ยังไม่เสร็จดีนอนกลิ้งอยู่ถึงสามใบ
แต่ละใบใหญ่เท่าตัวฉันนั่งกอดขาตัวเอง (หมายเหตุ : ผู้เขียนสูง 180 เซนติเมตร)
แม้ว่าจะเจอกันมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่แกก็ยังไม่ได้เปิดใจให้กับคนแปลกหน้าอย่างฉันมากนัก
น้ำเสียงเนิบนาบที่เดาอารมณ์ไม่ออก ตอบคำถามซ้ำเดิมที่คนภายนอกมักเข้ามาสัมภาษณ์ ในฐานะที่แกเป็นลูกชายของคุณปู่คออี้ มีมิ (หรือที่เรียกกันว่า “พื้อคออี้” ) ศูนย์รวมใจของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน
ฉันเริ่มรู้สึกว่าตัวเองรบกวนเวลาเหลาไม้ไผ่ของแกมากขึ้นเรื่อยๆ
พูดถึงเหล่ากระบุงยักษ์พวกนี้ ฉันแทบไม่เห็นมันอยู่ที่ไหนเลยนอกจากบนบ้านของพะตี่ เลยถามเขาออกไป “ทำไมพะตี่มีกระบุงเยอะจัง?” บางใบก็เป็นสีเหลืองซีด แต่หลายใบยังเขียวอยู่
“ก็ให้คนเอาไปขายในเมืองใบละ 500 ถ้ามีคนมาถามผมก็จะขายให้ด้วย” แกหันมามองฉันแล้วชี้ไปตามของที่วางอยู่รอบตัว
“กระบุงเราเรียกว่า กึ๊ง กึ๊งนี่ใช้ได้หลายอย่าง เอาไว้ใส่ผักใส่ข้าวเวลาออกไปทำไร่หมุนเวียน ใส่ได้เยอะครับ” พะตี่หยิบไผ่เส้นบางๆ มามัดกับหูบนกระด้งใบเก่าแล้วคาดเส้นไผ่ทับผ้าโพกศีรษะให้ดู “คาดแบบนี้ก็แบกอยู่ ไม่เจ็บ” เป็นคำตอบว่าทำไมชาวปกากะญอถึงมีผ้าโพกศีรษะประจำตัวทุกคน
“ถ้าใส่ของหนักๆ แล้วเชือกไม่ขาดเหรอคะ?”
“ไม่ขาดครับ ไผ่สานกึ๊งนี่เหนียวมาก มันต้องทน ต้องอยู่ได้นาน ไม่งั้นใส่เมล็ดข้าวก็ร่วงหมด” แกลูบผิวกระบุงคู่ใจให้ดูว่าไม่มีรอยโหว่หรือเส้นไผ่ที่ชำรุดระหว่างช่องสานเลย ทั้งยังโชว์ท่าแบกให้ดูอีกด้วย
“เมื่อก่อนเราสานกันไว้ใช้เอง ก็จะมีกึ๊ง มีหน่ะ (กระด้ง) แล้วก็ที้แขวะ (แก้วน้ำ) เอาไว้ใช้ด้วยกัน”
นี่เป็นชุดสารพัดประโยชน์ที่เกิดจากวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนและสภาพทางธรรมชาติของบางกลอย-ใจแผ่นดิน
กระด้งนอกจากใช้ใส่ของก็ต้องมีไว้ร่อนเมล็ดพันธุ์กับเมล็ดข้าว พอตำข้าวเสร็จก็โกยใส่หน่ะเหมือนเดิม เมื่อก่อนจะเห็นคนถือกระด้งแบกกระบุงเดินไปเดินมาตามลำห้วยเป็นเรื่องปกติ
ที่ฉันสนใจที่สุดคือแก้วน้ำใบใหญ่ เห็นพะตี่หยิบขึ้นหยิบลงก็นึกว่าแกะมาจากไม้ เพราะมันมีขนาดใหญ่กว่าข้อเข่าของฉันอีก ทั้งใหญ่ทั้งหนาแบบโขกหัวแตกได้เลย
“อันนี้ทำจากไม้ไผ่ครับ ผมเอากระบุงกับแก้วนี้ลงมาจากบ้านตอนที่โดนเผาไล่ที่”
ฉันแยกกระบุงอันเก่าออกมาตั้งแต่ต้น ผิวของมันเรียบลื่นตามร่องรอยกาลเวลา ประณีตและมีการสานที่ละเอียดมาก สีเนื้อไผ่เข้มแก่เหมือนมะฮอกกานี
ช่วงที่ชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดินถูกเผาทำลายบ้านเรือนคือปี 2553-2554 ในยุทธการตะนาวศรี พะตี่ถูกบังคับอพยพลงมาจากใจแผ่นดินและไม่เคยได้กลับขึ้นไปอีก
ฉันแอบมองสายตาของแกเมื่อกล่าวถึงปีที่โหดร้ายนั้น ไม่รู้ว่าแกรู้สึกอย่างไรที่มีนักข่าวและคนแปลกหน้าถามถึงเรื่องนี้ซ้ำๆ ซากๆ
ฉันพยายามเบี่ยงประเด็นออกไปจากความหดหู่ที่คงหลักฐานในเรือนของแก ไม่ว่าจะเป็นสภาพของบ้านที่ไม่ได้รับการต่อเติมใดๆ พื้นที่เป็นแพไม้ไผ่ก็หลุดหลายไปหลายจุด เวลาเดินฉันต้องคอยระวังไม่ให้ตัวเองหล่นพรวดไปอยู่ใต้ถุน
นี่คือบ้านของคุณปู่คออี้ ปัจจุบันมีคุณลุงหน่อแอะอาศัยอยู่คนเดียว
ในความคิดของเขา การไปต่อเติมบ้านเหมือนมันเป็นที่ส่วนตัวก็เหมือนไม่เกรงใจกับคนโป่งลึกที่เป็นเจ้าของที่แต่เดิม
และการยอมรับว่าบ้านจัดสรรแห่งนี้เป็นบ้านที่ต้องอยู่อาศัยก็หมายความว่าแกละทิ้งบ้านเกิดที่แท้จริงบน “เกอะเจอะคุ” หรือ “ใจแผ่นดิน”
ฉันเรียนรู้จากความเห็นเรื่องต่างๆ ของพะตี่หน่อแอะว่าชาวกะเหรี่ยงยึดถือในแนวคิดมาก
หากพวกเขาเชื่อเรื่องอะไรสักอย่างก็จะปฏิบัติตามนั้นอย่างจริงจังและนอบน้อม
แกกล่าวว่า สภาพบ้านที่เป็นแบบนี้คือการตัดสินใจจากตนเอง เพื่อดำรงความเชื่อของตนเอง พะตี่ไม่สนว่าใครจะมองแกอย่างไรที่แกแสดงออกว่าไม่ยอมรับความเป็นบ้าน ณ ที่ซึ่งรัฐกวาดต้อนมาให้อยู่ แม้จะยากลำบากกว่าคนอื่น แกก็จะอยู่โดยคิดถึงบ้านหลังเดิมต่อไป
“ผมไม่ซ่อมหรอกครับ มันไม่ใช่บ้านผม ผมแค่มาอยู่ วันหนึ่งก็จะกลับใจแผ่นดิน”
ขนาดบันไดบ้านแกยังทำเพื่อนของฉันที่ใส่รองเท้าแตะช้างดาวตะกายผาน้ำหยดได้หน้าคว่ำลงไปแล้ว คุณลุงเป็นอัมพฤกษ์ทั้งครึ่งล่างหลังจากถูกคุมขังในปี 2554 ไม่สามารถเดินเหินและออกไปทำงานด้านนอกเองได้ ที่ตีนบันไดมีรถเข็นสำหรับใช้ในโรงพยาบาลอยู่คันหนึ่ง มันไม่เหมาะกับการเข็นบนทางเท้าในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ทว่าแกกลับใช้มันสัญจรไปตามดินลูกรังเมื่อถึงยามจำเป็น
พะตี่บอกว่าแกเกลียดการถูกอุ้มหรือถูกช่วยเหลือโดยไม่จำเป็นทั้งที่แกยังมีกำลัง
แกคิดว่าเราไม่ควรทำให้ใครเป็นคนไร้สามารถ หากว่าเขายังมีศักยภาพที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง
เหล่ากระบุงพวกนี้ก็ด้วย เขายอมรับว่าเงินที่ใช้จ่ายอยู่มีไม่พอ แต่ก็ไม่อยากจะรับเบี้ยคนชรามาเฉยๆ เพราะรู้สึกว่าเงินพวกนั้นไม่ใช่เงินของเขา
การได้เงินจากการทำงานถึงจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องกว่า
ที่สำคัญก็คือเขารู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องใช้เงิน
ฉันยอมรับในหลักการของพะตี่ แต่ก็คะยั้นคะยอให้แกรับค่าดูแลตรงนี้ไปจากรัฐบาล
“ถ้าอยู่ในป่าก็ไม่ต้องใช้เงิน แค่มีนามีข้าวก็อยู่กินได้แล้ว ขอมีข้าวดีกว่า”
“แล้วถ้าวันนึงพะตี่แก่จนทำงานไม่ได้แล้วจะทำยังไงล่ะคะ?” ฉันถามด้วยความกังวล
นี่คือคำถามยอดฮิตสำหรับธุรกิจขายตรงและบริษัทประกัน (ชอบมากดดันให้ฉันกังวลล่วงหน้าอยู่เรื่อย)
ความกังวลที่จำเพาะเจาะจงก็เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ ฉันว่านี่คือสิ่งที่แตกต่างมากๆ ระหว่างชาวปกากะญอและคนกรุงเทพฯ นั่นคือการจ่ายและใช้ภาษีไม่ได้มาในรูปของเงิน แต่เป็นรูปของอาหารและแรงงาน
“ผมก็ให้ลูกหลานดูแลครับ ตอนเขาเด็กเราดูแลเขา สอนเขาทำไร่ทำนา พอเขาทำเป็นแล้วก็มาช่วยเรา ปกติเราทำงานกันจนแก่ครับ ไม่ค่อยมีใครอยู่เฉยๆ หรอก ลูก-หลานไม่เลี้ยงเราก็เลี้ยงตัวเอง”
“กะเหรี่ยงจะเลี้ยงตัวเองเสมอครับ ผมไม่คิดแบบคนเมือง ผมคิดเหมือนปู่-ย่า”
คุณลุงหน่อแอะชี้ให้ดูกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณบ้าน ตัวแกเองไม่ได้แต่งงาน แต่ก็มีหลาน-เหลนมากมาย “พอลงมาผมก็ไม่อยากแต่งงาน เวลาเจอคนข้างนอกก็กลัวด้วย กะเหรี่ยงกลัวคนนอกครับ กลัวจะไปเจอคนที่ไม่ดี ถ้าเจอคนไม่ดีผมอยู่คนเดียวดีกว่า” น้องเดือนล่ามคู่กายฉันบอกว่าแกไม่เจอคนในหมู่บ้านที่ถูกใจ และถ้าคบหาดูใจไม่ถึง 20 ปี ก็จะไม่แต่งงาน
ปกติแล้วชนพื้นเมืองบางกลอย-ใจแผ่นดินจะปลูกบ้านเป็นครอบครัว แยกกันอยู่ตามห้วยต่างๆ ห้วยของใครก็ของมัน ละแวกบ้านจึงมีแต่เครือญาติกันทั้งนั้น เกิดเป็นวัฒนธรรมการส่งต่อภูมิปัญญาแบบถ่ายทอดผ่านบรรพบุรุษ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะด้านบนไม่มีอาชีพให้เลือกมาก ต่อให้กำพร้าพ่อ-แม่ก็จะต้องเรียนการทำไร่อยู่ดี
“ปู่-ย่าผมไม่ใช้เงิน ผมก็ไม่ใช้ กะเหรี่ยงไม่มีใครไม่อยากทำงาน”
ฉันคิดว่าปัญหาตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเงินแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะมีเงินแล้วยังคงไม่มีกินมากกว่า ที่ทำให้พะตี่ไม่อยากจะใส่ใจเรื่องทุนทรัพย์นัก
คนเราถือว่าถ้ามีงานก็มีกิน การทำไร่หมุนเวียนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
แต่เมื่อลงมาแล้วไร่ก็ทำไม่ได้ ไปรับจ้างก็ไม่พอใช้จ่าย อาหารได้มาก็น้อยกว่าเมื่อก่อน ทำให้ชาวบ้านเข้าใกล้ความอดอยากมากขึ้นทุกวันๆ
แกพูดต่อว่า ถ้าลูก-หลานเลี้ยงไม่ได้ อยากไปอยู่ในเมืองก็ไม่เป็นไร แกอยู่คนเดียวได้ ขอเป็นที่ที่มีไผ่แล้วก็ใกล้น้ำก็พอ แกจะสานกระบุงไปเรื่อยๆ
พอลูก-หลานขึ้นมาเยี่ยม ชอบงานของแก ก็จะเอาข้าวมาแลกเอง
“ไผ่อันนี้เรียกวะซุ เป็นไผ่ไว้ทอ มันจะนุ่มๆ” พะตี่หยิบแก้วให้ดูอีกที “ส่วนไผ่อันนี้คือวะชึ้ก อันนี้แข็งมาก ต้นใหญ่มากครับ” เดือนเสริมว่าชนิดหลังคือไผ่หนาม ต้นมันมีหนามแหลมๆ ไม่ค่อยปรากฏข้างล่างนัก
วิธีทำที้แขวะนั้นง่ายมาก เพียงแค่หั่นไผ่ให้เป็นปล้องแล้วคว้านเนื้อออกให้เรียบขึ้นก็ใช้เป็นแก้วน้ำได้แล้ว
ฉันยังคงจินตนาการภาพกอไผ่ที่แต่ละลำใหญ่กว่าน่องตัวเองไม่ได้ ยิ่งไผ่ท่อนยักษ์ที่มีหนามคมๆ มันฟังดูเหมือนต้นงิ้วมากกว่า
วะซุกกับวะชึ้กขึ้นงามมากที่ด้านบน แกไม่ค่อยใช้ไผ่อื่นเพราะมันสานได้ไม่ดีและไม่ถนัดมือ กระบุงก็จะออกมาไม่เหมือนเดิมด้วย
“ถ้าไผ่หมด พะตี่ก็จะไม่ได้ขายน่ะสิคะ” ฉันจ้องกองไผ่สดข้างตัวเขาที่มีอยู่ไม่มากนัก ความสมบูรณ์ของมันห่างจากลำต้นไผ่ที่แข็งและแห้ง ซึ่งขึ้นบนดินทรายในแถบนี้มาก จะเอาไผ่ด้านบนลงมาปลูกให้ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน มันก็ไม่ขึ้น
“หมดก็ฝากลูกหลานไปหาครับ ไม่งั้นก็ใช้แถวๆ นี้”
แต่เรื่องใหญ่กว่าการขาดวัสดุใช้สอย คือการขาดคนสืบทอดภูมิปัญญานี้ ในหมู่บ้านบางกลอยล่างเหลือคนที่ยังสานเครื่องใช้ได้แค่ 2-3 คนเท่านั้น ไม่นับรวมถึงการใช้งานชุดจักรสานอเนกประสงค์นี้ที่กำลังลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ตามจำนวนคนที่หันเหไปรับจ้างในเมือง ไม่ว่าด้วยความเต็มใจหรือไม่เต็มใจ กระบุงก็กลายเป็นสิ่งที่เทอะทะเกินกว่าจะใช้สอยได้ในชีวิตประจำวัน
“เด็กเดี๋ยวนี้ไม่ทำกันแล้ว ไปติดมือถือกันหมด” คุณลุงบ่นให้เดือนฟังอย่างน้อยอกน้อยใจ
“ไม่มีใครมาเรียนเหรอคะ?”
“ไม่มีครับ แต่มาก็ไม่ได้เรื่อง ทำเดี๋ยวเดียวก็ทิ้งแล้ว” ฉันสัมผัสได้ถึงความเปล่าเปลี่ยวจากสายตาที่แกจ้องมืองานฝีมือที่กำลังทำ
หลายสิ่งหลายอย่างที่เชื่อมปัจจุบันกับหมู่บ้านในอดีตกำลังหายไป อีกไม่นานที่แห่งนี้ก็อาจจะกลายเป็นบางกลอย (ล่าง) ที่แกไม่รู้จัก