เพ็ญสุภา สุขคตะ : เมื่อ “พระพิมลธรรม” ทำหนังสือ ขอพระราชทานเพลิงศพให้ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เอกสารหลายเล่มให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับงานศพครูบาเจ้าศรีวิชัย

จนคนอ่านเชื่อถือกันมาตลอดว่า สืบเนื่องมาจากการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ทำคุณงามความดีให้แก่แผ่นดินล้านนา กระทั่งความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทำให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศ พร้อมมอบหมายนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้แทนพระองค์ไปในงานพระราชทานเพลิงศพของครูบาเจ้าศรีวิชัย

บางเล่มระบุนามว่ารัชกาลที่ 8 มอบหมายพระยาพหลพลพยุหเสนาให้มาพร้อมกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยซ้ำ

แต่เมื่อตรวจสอบระยะเวลาแล้วพบว่าเดือนมีนาคมของปี 2489 พระยาพหลฯ ป่วยหนักมาก หมดบทบาทด้านการเมืองไปนานแล้ว ทั้งรัฐบาลก็กำลังเปลี่ยนขั้วเป็นประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยุค นายควง อภัยวงศ์

และเมื่อตรวจสอบข้อมูลกับคนเฒ่าคนแก่ที่วัดจามเทวี สถานที่พระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัย ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ประธานฝ่ายฆราวาสคือ เจ้าวรทัศน์ ณ ลำพูน บุตรของพลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย) ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลสำคัญของเมืองลำพูนอีกคนที่เป็นกำลังหลักสำคัญในการจัดงานศพ ได้แก่ เจ้าหนานบุญมี ตุงคนาคร นักการเมืองท้องถิ่น และ นางศรีแก้ว โนตานนท์ (มารดาของ คุณมาลี เทพมณี ผู้เป็นภริยาของ คุณสันต์ เทพมณี) คหบดีเมืองลำพูน พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์อีกหลายคน

ส่วนประธานฝ่ายสงฆ์ เจ้าคณะจังหวัดลำพูนในยุคนั้นคือ พระมงคลญาณมุนี (ปัน หรืออินปั๋น ปญฺญาวิลาโส) วัดพระยืน มีพระครูประศาสน์สุตาคม (สิงฆะ อภิวํโส นามสกุลเดิม สุระจินดา) เจ้าอาวาสวัดจามเทวี (ภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชสุตาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน) และครูบากองแก้ว นาถกโร (นามสกุลเดิม ราชจินดา พระเกจิอาจารย์ด้านวัตถุมงคลชื่อดังแห่งวัดมหาวัน) พร้อมคณะศิษยานุศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย อาทิ ครูบาอภิชัยขาวปี ครูบาบุญทึม พฺรหฺมเสโน ครูบาแก้ว คนฺธวํโส ครูบาก้อน อุตฺตโม ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นต้น เป็นกำลังสำคัญ

โดยที่ชาวบ้านบอกว่า ไม่ทันได้สังเกตว่ามี “พระเทพเวที” (พระพิมลธรรม) สังฆมนตรีภาค 4 มาร่วมงานด้วยแต่อย่างใด เพราะไม่มีใครรู้จักท่าน

เมื่อเคยเชื่อสืบต่อกันมาตามนี้ ก็ทำให้ไม่ได้มีการสืบค้นถึงที่มาที่ไป และไม่มีการนึกเอะใจกันเลยว่า

เอ… จะเป็นไปได้อย่างไรกัน ที่จะให้จู่ๆ ราชสำนักสยามหันมา “ญาติดี” นึกจะยกย่องเชิดชูกิตติคุณของครูบาเจ้าศรีวิชัยให้โดดเด่นเลิศลอย

ก็ในเมื่อตลอดช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังมีชีวิตอยู่แท้ๆ (แม้ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นยุคคณะราษฎรที่มีรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม) สถานภาพของครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ยังถูกฝ่ายสยามมองว่าเป็น “ขบถต่อราชอาณาจักร” เป็น “พระสงฆ์หัวดื้อ” ชนิดที่ว่าต้องจับตามองการเคลื่อนไหวของท่านทุกฝีก้าวอยู่มิใช่หรือ

ถ้าเช่นนั้น ควรมี “กลไกพิเศษ” อะไรบางอย่างกระมัง ที่ทำให้คณะสงฆ์สยามหันไป “ญาติดี” กับมวลชนชาวล้านนาที่ยังศรัทธาครูบาเจ้าศรีวิชัย

 

มีนอกมีในอะไรไหม หรือมาด้วยใจบริสุทธิ์

การที่พระพิมลธรรม ในวัย 43 ปี พรรษาที่ 23 เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์เป็น “พระเทพเวที” เป็นเจ้าสำนักวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา รับตำแหน่งสังฆมนตรีปกครองภาคเหนือ ตัดสินใจยื่นเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น

มีนักวิชาการในท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยที่ยังคลางแคลงใจว่า ท่านมีนอกมีในอะไรหรือเปล่า

ท่านต้องการใช้มวลชนของครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจอะไรหรือไม่ เพื่อเสริมฐานความแข็งแกร่งสำหรับการเมืองฝ่ายสงฆ์?

ความไม่ไว้วางใจการ “ญาติดี” ของฝ่ายสยามในทีท่าที่พระเทพเวทีช่วยชงเรื่องขอพระราชเพลิงศพให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ปรากฏอยู่ในคำบอกเล่าของวงการสงฆ์ลำพูนที่ยังหวาดระแวงต่อกรณีที่ส่วนกลางได้ส่ง พระสุเมธมังคลาจารย์ (อมร อมรปญฺโญ ป.ธ.7) มาปกครองดูแลวัดพระธาตุหริภุญชัย ระหว่าง พ.ศ.2489-2533

อันเป็นปีที่มีการพระราชเพลิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัยพอดิบพอดี

การส่งพระสุเมธมังคลาจารย์ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “พระมหาอมร” บ้างเรียก “มหาสำลี” พระนอกพื้นที่มาดูแลวัดหลวงที่สำคัญที่สุดในลำพูนนั้น มีบันทึกของพระสงฆ์ในท้องถิ่นระบุว่า

“พระมหาอมรมีความสนิทสนมกับเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสีโว) จากเมืองแพร่ ที่ไปโตภาคกลางและถูกสยามส่งมาปกครองวัดพระสิงห์เชียงใหม่ อดีตวัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยเป็นเจ้าอาวาสร่วม 10 ปี”

ทั้งสองรูปถูกส่งมาให้คอยปราบปรามหรือคอยสอดส่องดูแลเรื่อง “ลัทธิพระศรีวิชัย” (ตามการเรียกของคณะสงฆ์สยาม) เป็นการจำเพาะ คือคอยควบคุมไม่ให้พระภิกษุสายครูบาเติบโตหรือขยายอิทธิพล อย่าลืมว่าแม้หลังจากที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพไปแล้ว แต่ศิษยานุศิษย์และสหธรรมิกทั้งหลายในสายของท่านยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวอยู่อีกช่วงระยะหนึ่ง

จนกระทั่ง “ลัทธิพระศรีวิชัย” ค่อยๆ สลายตัวลง พร้อมๆ กับความหมางเมินหรือเพิกเฉยของวัดสำคัญทั้งสอง คือวัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูน และวัดพระสิงห์เชียงใหม่ ที่เริ่มปฏิเสธบทบาทไม่นิยมชมชอบหรือเชิดชูพระสงฆ์ในสายครูบาเจ้าศรีวิชัย

มีเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ปี 2508 เรื่องให้ปรับปรุงการศาสนาทางภาคเหนือ เนื้อหาส่วนท้ายมีข้อวิตกกังวลว่า “ศาสนาคริสต์กำลังเติบโตขึ้น แต่ครั้นจะให้พระสงฆ์ทำอย่างลัทธิพระศรีวิชัยก็ใช่ที่ เห็นทีจะต้องปราบกันเหนื่อยอีก”

นักวิชาการท้องถิ่นบางท่านเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า “นโยบายตีสองหน้า” ของคณะสงฆ์สยาม คือทั้งเกลียดชังคอยหาโอกาสกวาดล้าง แต่ในขณะเดียวกันก็แสร้งยกย่องทำเนียนไม่กระโตกกระตาก เพื่อให้คนล้านนาที่ยังศรัทธาต่อสายครูบาเจ้าศรีวิชัยตายใจ

การกล่าวเช่นนี้คล้ายกำลังจะบอกว่า การที่พระพิมลธรรมยื่นมือเข้ามาเป็นธุระช่วยขอพระราชทานเพลิงศพให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น หาใช่ความศรัทธาชื่นชมไม่ แต่ทำไปเพราะหวังผลประโยชน์ด้านการยอมรับของมวลชนกระนั้นหรือ?

ฤๅเรากำลังจะผลักฮีโร่ให้กลายเป็นคนบาป ทำโจทก์ให้เป็นจำเลย

ดิฉันตั้งคำถามต่อนักวิชาการในท้องถิ่น

ยังไม่มีคำตอบใดๆ หลายท่านบอกว่ามิอาจคาดเดาความรู้สึกห้วงลึกในจิตใจของพระพิมลธรรมได้ ว่าท่านทำไปเพราะเห็นครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นไอดอลหัวใจขบถ หรือว่าทำไปตามหน้าที่เพื่อยุติความวุ่นวาย

 

ฝ่ายตรงข้ามคนเดียวกันคือเจ้าคุณ “ปลด กิตฺติโสภโณ”

ผู้ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาคอยชงคดีให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยตกที่นั่งลำบากด้วยข้อหาอธิกรณ์สารพัดในช่วงที่ครูบากำลังมีชื่อเสียงโด่งดังคับฟ้า ก็คือ พระเทพมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ต่อมาเลื่อนเป็นพระธรรมโกศาจารย์ ด้วยความรวดเร็ว รั้งตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลพายัพด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง

และไม่น่าเชื่อว่า ต่อมาในยุคพระเทพเวทีเป็นพระพิมลธรรม ท่านเจ้าคุณปลดก็ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 14 ด้วยเช่นกัน

ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่า หากตอนที่พระพิมลธรรม ในปี 2489 เมื่อเป็นพระเทพเวที เจ้าคณะตรวจการภาค 4 ได้รับหนังสือนิมนต์ให้ไปร่วมงานศพที่วัดจามเทวีจากคณะกรรมการจัดการศพครูบาเจ้าศรีวิชัย แล้วท่านหยุดแค่นั้น ไม่เข้าไปยุ่มย่ามยกย่องเชิดชูครูบาเจ้าศรีวิชัยให้มีการจัดงานศพอย่างเอิกเกริก

จนอาจเป็นที่หมายตาสร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าคุณปลด กิตฺตโสภโณ

ชะตากรรมของพระพิมลธรรม ในยุคที่กำลังโด่งดังจะถูกกระบวนการสกัดดาวรุ่ง เหมือนกับที่ผู้มีอำนาจฝ่ายสงฆ์รายเดิมเคยกระทำต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยมาก่อนหรือไม่

แทบไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าครั้งหนึ่งพระพิมลธรรม เคยมีบทบาทสำคัญช่วยเป็นธุระทำหนังสือขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัย (ไม่ว่าจะทำด้วยศรัทธาบริสุทธิ์ หรือทำเพื่อหวังผลประโยชน์ในการสลายมวลชนอย่างไรก็แล้วแต่)

แต่แล้วตัวท่านเองก็กลับถูกใส่ร้ายในข้อหารุนแรงแห่งราชอาณาจักร ไม่ต่างไปจากการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยถูกกล่าวหามาแล้วแต่อย่างใดเลย

และดูเหมือนจะตกที่นั่งลำบากกว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเสียด้วยซ้ำ เพราะครูบาแค่ถูกจองจำด้วยการกักกันบริเวณ ยังให้นุ่งห่มเหลือง แต่พระพิมลธรรมถูกถลกจีวรออกให้นุ่งขาว (แต่ท่านไม่ยอมเปล่งลาสิกขา) ซ้ำต้องไปนอนในสันติปาลาราม (คุก หรือห้องขังของสันติบาล) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ทั้งนั้น มิได้ต้องการสรุปแบบตื้นๆ ว่า การที่พระพิมลธรรมถูกเพ่งเล็งเล่นงานนั้น ก็เพราะมีสาเหตุมาจากเคยเป็นธุระเจ้ากี้เจ้าการเรื่องงานศพให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยดอกนะคะ จึงโดนหางเลขตามไปด้วย

เพียงแต่สงสัยว่าทำไม “พระดีในเมืองไทย” สองรูปจึงมีศัตรูหรือโจทก์คนเดียวกัน

 

ลูกศิษย์คนเดียวกันคือ “หลวงปู่ทอง”

จากการศึกษาประวัติของพระพรหมมังคลาจารย์ วิ. หรือหลวงปู่ทอง (ทอง สิริมงฺคโล เกิดปี 2466) แห่งวัดพระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่ พบว่า ตัวหลวงปู่ทองนั้นเป็นลูกศิษย์ของนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองสำนัก ซึ่งพบบุคคลลักษณะเช่นนี้น้อยมาก

คือเป็นทั้งศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยในวัยละอ่อน สมัยเป็นเณรน้อยคอยติดตามครูบาเผือกไปช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างวัดพระธาตุดอยเกิ้ง (ปี 2463) และสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ (ปี 2477-2478) เคยขอกัมมัฏฐานจากครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์หลวงเชียงใหม่ ในสายนับเม็ดประคำ

หลวงปู่ทองถือเป็นศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยรุ่นสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ท่านสามารถชี้สีจีวรที่เราเอามาวางเรียงนับ 10 สีได้ถูกต้องชัดเจนด้วยว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยสมัยเมื่อมีชีวิตนั้นมักนุ่งห่มจีวรสีอะไร

หลวงปู่ทองเล่าว่าเมื่อครั้งเป็นเณรน้อย ที่ตอนครูบาเจ้าศรีวิชัยถามว่า หลังจากที่ทุกคนเหนื่อยยากตรากตำเสร็จภารกิจจากการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพกันถ้วนหน้าแล้ว พระเณรแต่ละรูปใครอยากได้อะไรกันบ้าง

บางรูปขอกลด บางรูปขอบาตร บางรูปขอประคำ บางรูปขอจีวรผืนใหม่ ฯลฯ

หลวงปู่ทองหลับตอบว่าไม่ได้ต้องการอะไรทั้งสิ้น นอกจากขอเด็ดมะปรางค์หวานกินสักแก่นเดียวให้หายซี้ดปากเท่านั้น

มะปรางหวานจึงเป็นรางวัลตอบแทนความเหนื่อยยากที่หลวงปู่ทองช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ

เมื่อหลวงปู่ทองเติบใหญ่ ได้มาฝากตัวเป็นศิษย์รุ่นแรกของสำนักวัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ ในยุคที่พระพิมลธรรมกำลังโด่งดัง เรียนกัมมัฏฐานสายยุบหนอพองหนอ จากนั้นพระพิมลธรรมยังได้ส่งให้หลวงปู่ทองไปศึกษาต่อที่พม่าอีกด้วย

ถือว่าเป็นหนึ่งในพระยังเติร์กที่ถูกพระผู้ใหญ่ในบ้านเมืองยุคนั้นมองว่าเป็นผู้มีใจฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ตามอย่างพระพิมลธรรม!