E-DUANG : ยุค ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทอดยาวถึง 2577

 

การมองและประเมินว่า คสช.จะยึดครองอำนาจต่อไป โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะมาจาก”นักการเมือง” ไม่ว่าจะมาจาก “นักวิชาการ”

ต้องยอมรับว่าเป็นการมองตามสภาพความเป็นจริง อย่างน้อยก็ความเป็นจริงของ 1 รัฐธรรมนูญ และ 1 ความเป็นจริงของพรรคการเมือง

รัฐธรรมนูญนี้ “ร่าง” โดยใคร

ไม่ว่าจะในยุค นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ไม่ว่าในยุค นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ล้วนทำไปตามพิมพ์เขียวของคสช.

เป็นไปตามบทสรุป “อยากอยู่ยาว”

ขณะเดียวกัน เมื่อมองจาก “พรรคการเมือง” ก็จะสัมผัสได้ในความอ่อนแอ ระส่ำระสาย

 

หากมองผ่านพรรคประชาธิปัตย์คล้ายกับจะแข็งแกร่ง ดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็นสถาบัน

เพราะก่อรูปขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2489

หากมองผ่านพรรคเพื่อไทยแม้ว่าจะเพิ่งก่อรูปขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 แต่ก็กำชัยในสนามเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าเมื่อเดือนมกราคม 2544 ไม่ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ไม่ว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2550 และไม่ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

แต่เมื่อประสบกับรัฐประหารจากเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นอย่างไร

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยจะตอบได้ดีที่สุด

 

ไม่ว่านักการเมืองอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่านักวิชาการ อย่าง นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล

จึงสรุปออกมาตรงกัน

นั่นก็คือ นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังคงมีอำนาจ

มีอำนาจจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไปอีก 10 ปี ไปถึงเดือนพฤษภาคม 2567 และหากมองตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ก็น่าจะถึง 2577

ยาวยิ่งกว่ายุค “สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส”

ความเป็นจริงจาก “รัฐธรรมนูญ” ความเป็นจริงจาก “พรรคการเมือง” เป็นไปเช่นนั้น