มาตรการ ปราบเข้ม กับ ปรากฏการณ์ 17 มีนาคม การเคลื่อนไหว การเมือง / กรองกระแส

กรองกระแส

 

มาตรการ ปราบเข้ม

กับ ปรากฏการณ์ 17 มีนาคม

การเคลื่อนไหว การเมือง

 

การปรากฏขึ้นของ “ภาคีรัฐธรรมนูญ” อันประกอบด้วย นายอนุสรณ์ ธรรมใจ และแวดล้อมด้วยภาคประชาสังคมและนักการเมืองเมื่อวันที่ 23 มีนาคม

แม้มิได้เป็นเรื่อง “ใหม่” แต่มีลักษณะ “คืบหน้า”

ที่ว่ามิได้เป็นเรื่องใหม่เพราะนายอนุสรณ์ ธรรมใจ เคยนั่งแถลงข่าวพร้อมกับนายโคทม อารียา และภาคประชาสังคมมาแล้วหนหนึ่งเมื่อปี 2562

ด้วยเป้าหมายที่ว่าต้องมีการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

กระนั้น ที่ว่ามีลักษณะ “คืบหน้า” ก็ตรงที่บนเวทีเดียวกันนี้ไม่เพียงแต่จะมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง หากแต่ยังมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ จากพรรคประชาธิปัตย์

ตรงนี้ต่างหากคือความแหลมคมในทางการเมือง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง นั้นเด่นชัดมานานแล้วในการต่อต้านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่การปรากฏขึ้นของนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เท่ากับเป็นเงาสะท้อนใหม่

หลังสถานการณ์เมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคม

 

ปรากฏการณ์เมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคม ในที่ประชุมรัฐสภา ไม่เพียงแต่เป็นการ “มัดตราสัง” ให้กับความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น

หากแต่เท่ากับเป็นการกระชับอำนาจอย่างตรงไปตรงมา

ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐไม่มีความต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย แต่ท่าทีที่แสดงออกดำเนินไปอย่างยอกย้อน ซ่อนปม

เห็นได้จากการยอมรับ “เงื่อนไข” ในเรื่องนี้จากพรรคประชาธิปัตย์

เห็นได้จากเมื่อเกิดกระแสความเรียกร้องต้องการขึ้นสูง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” นับแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา

ก็มีการผ่อนปรน ทำท่าทำทีเหมือนจะสนองรับต่อความเรียกร้องต้องการ

แต่เมื่อถึงสถานการณ์ที่จะต้องตัดสินใจในคืนวันที่ 17 มีนาคม ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมองผ่าน 250 ส.ว.มีความแจ่มชัด

เป็นความแจ่มชัดที่ไม่ต้องการให้ “แตะ” รัฐธรรมนูญ

 

หากถือว่าปรากฏการณ์เมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคม เป็นชัยชนะ ชัยชนะนี้ก็สร้างความมั่นใจเป็นอย่างสูงให้กับรัฐบาลและเครือข่ายแห่งอำนาจ

สัมผัสได้จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สัมผัสได้จากความฮึกเหิมของหลายคนใน 250 ส.ว. ประสานเข้ากับความฮึกเหิมของหลายคนภายในพรรคพลังประชารัฐ

ไม่เพียงแต่เยาะเย้ยไปยังพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล

ที่รุนแรงและทวีความแหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ ยังมีการให้สัมภาษณ์ท้าทายและไม่เกรงใจแม้กระทั่งพันธมิตรอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย

มองเห็นว่าพรรคการเมืองเหล่านี้เป็นเหมือน “หมูในอวย”

เช่นนี้จึงเริ่มมีความไม่พอใจลึกๆ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในพรรคร่วมรัฐบาล กระทั่งนายชินวรรณ์ บุณยเกียรติ ก็มานั่งร่วมโต๊ะกับ “ภาคีเครือข่ายรัฐธรรมนูญ”

ทั้งๆ ที่หัวโขนหนึ่งของนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ คือหัวหน้าวิป พรรคประชาธิปัตย์

 

มีความเป็นไปได้ที่ประเด็นอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะทวีความร้อนแรงและมากด้วยความแหลมคม เนื่องจากเป็นจุดที่มีความเด่นชัดที่สุด

เด่นชัดในภาระหน้าที่และเป้าหมาย

เป็นเป้าหมายอันมีความรับรู้อย่างกว้างขวางในสังคมตามคำนิยามของแกนนำสำคัญในพรรคพลังประชารัฐที่ว่า

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

ขณะเดียวกัน ยิ่งหนทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดมีความยากลำบากมากเพียงใด

ยิ่งบีบบังคับให้ “สังคม” ต้องเลือก “หนทาง” อื่น

คำว่าหนทางอื่นที่มิได้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตามช่องทางที่ถูกต้องในที่นี้ย่อมหมายถึงการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างกระแสในท่ามกลางความต้องการของประชาชน

นี่ย่อมเป็นหนทางใหม่ในทางการเมืองหลังปรากฏการณ์ 17 มีนาคม

 

นับแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมามีความพยายามดำเนินมาตรการเข้มเพื่อสกัดขัดขวางมิให้ขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เติบใหญ่ ขยายตัว

เห็นได้จากการใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมและคุมขัง

เห็นได้จากการใช้มาตรการเข้มทั้งในทางกฎหมายและในการปฏิบัติเพื่อเข้าสลายและกำราบการเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรง เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

หนทางนี้ด้านหนึ่ง อาจสยบ แต่อีกด้านอาจกลายเป็นชนวนใหม่