หลอมรวม ‘คนทุกรุ่น’ สู่ Generation Now / จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

หลอมรวม ‘คนทุกรุ่น’

สู่ Generation Now

 

ผมเคยเขียนถึงเรื่องราวของ Generation ต่างๆ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้มาแล้วหลายครั้งด้วยกัน

ขออนุญาตเท้าความเกี่ยวกับ Generation เล็กน้อยดังนี้ครับ

The Lost Generation ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้สูญเสียในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเริ่มต้นนับกันที่ปี ค.ศ.1880 ถึงปี ค.ศ.1900

ก่อนเข้าสู่ The Greatest Generation นับกันตั้งแต่ผู้ที่เกิดในปี ค.ศ.1900 ถึงปี ค.ศ.1920 อันเป็นช่วงเวลาของการเกิด The Great Depression หรือ “ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมาคือ The Silent Generation คือผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 ถึงปี ค.ศ.1940 อันเป็นยุคสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม คนรุ่นนี้คือผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ถัดไปคือ The Baby Boomers เริ่มนับคนที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1940 ถึงปี ค.ศ.1960 จัดว่าเป็นยุครุ่งเรืองและเฟื่องฟู ของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก

มาสู่ Generation X คือผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 ถึงปี ค.ศ.1980 ซึ่งปัจจุบันคือกลุ่ม A-List หรือ “คนแถวหน้า” หลากหลายวงการบนโลกใบนี้

ส่วน Generation Y คือผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ.1980 ถึงปี ค.ศ.2000 หรือ “สหัสวรรษใหม่” จึงมีอีกชื่อว่า Generation Millennials

และ Generation Z ใช้เรียกคนที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 จนถึงปี ค.ศ.2010

ส่วนน้องนุชสุดท้องก็คือ Generation Alpha คือผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 เป็นต้นมา

 

แน่นอนว่า เรื่องยุ่งมักเกิดขึ้นเสมอ เมื่อมีการแบ่งพวก เป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นก๊กเป็นเหล่า พูดอีกแบบก็คือ หากมีการแบ่งกลุ่มขึ้นมาเมื่อใด ย่อมต้องเกิดความขัดแย้ง หรือความไม่เข้าใจกันระหว่างกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแบ่งรุ่นเป็น Generation แบบในปัจจุบัน

จึงมีความพยายามหลอมรวม “คนทุกรุ่น” เพื่อลดข้อขัดแย้ง และความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่าง Generation

เรียกว่า Generation Now ครับ

Generation Now คือการหลอมรวม “คนทุกรุ่น” (ที่ยังมีชีวิตอยู่) ไม่ว่าจะเป็น The Silent Generation, The Baby Boomers, Generation X, Generation Y, Generation Z และ Generation Alpha

ภาพแสดงแทน (ส่วนใหญ่) ก็คือ ปู่-ย่า ตา-ยายของคนรุ่นนี้ คือ The Baby Boomers และรุ่นพ่อ-แม่ก็จะเป็น Generation X หรือ Generation Y ส่วนลูกก็เป็น Generation Z หลานคือ Generation Alpha

การหลอมรวม “คนทุกรุ่น” มาสู่ Generation Now ก็คือ “ทุกคนถือเป็น Generation เดียวกัน”

ดังนั้น Generation Now จึงเป็นการช่วยลดอคติ ลดช่องว่างระหว่างรุ่น แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สร้างความเข้าใจระหว่างกันภายในครอบครัว

 

ในทางการตลาด ตัวอย่างของ Generation Now อันหนึ่งก็คือ การหลอมรวม Generation Y กับ Generation Z เข้าด้วยกัน

เหตุผลก็คือ ความใกล้เคียงกันของ Generation ทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งสอง Generation เกิดและเติบโตมากับ Technology และคุ้นเคยกับโลก Internet เหมือนๆ กัน

Generation Y + Generation Z นี้จะมีทักษะในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีความคิด ความเชื่อ และ Lifestyle ที่คล้ายคลึงกัน คือถือ Smart Phone ติดตัวตลอดเวลา ทำให้สามารถเข้าถึงโลก Digital ได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมการใช้งานผ่านโลก Online มีความใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก แม้จะแตกต่างกันไปบ้างตามภูมิหลัง และวิถีชีวิตของแต่ละคน แต่ก็แตกต่างกันไม่มาก

ที่สำคัญก็คือ Generation Now (Generation Y + Generation Z) กำลังเป็นพลังขับเคลื่อนโลก ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อยู่ในปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generation Now ในฐานะผู้ประกอบการ

ส่วนในฐานะผู้บริโภค Generation Now เป็นกลุ่มคนผู้มีกำลังซื้อสูง มีพฤติกรรมเฉพาะของ Generation ตนที่ชัดเจน นำไปสู่การเกิดขึ้นแนวความคิดใหม่ๆ มากมาย และก่อเกิดอาชีพใหม่ๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว

ทำให้ Generation อื่นๆ ในสังคมต้องพัฒนาทักษะ และศักยภาพ ก้าวตาม Generation Now ให้ทัน เพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักออกแบบ นักการตลาด ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต หรือไม่ว่าจะเป็นใคร และ Generation ใดก็ตาม ต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของชาว Generation Now เพื่อสามารถไปปรับประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ให้เหมาะกับโลกของ Generation Now ในปัจจุบัน

เพราะ Generation Now ในวันนี้ คือผู้นำ Trend ของโลก ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรม ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม Generation Now นั้นนำหน้ามาด้วย Technology และนวัตกรรม อย่างแน่นอน ในฐานะ Trend Setter ในยุค 5.0

และเพราะ Generation Now มีความสำคัญทั้งในฐานะผู้ประกอบการ และในสถานะผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ที่แน่นอนว่า นักการตลาดยุค 5.0 ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเพศ หรือรายได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

การเกิดขึ้นของ Generation Now ทำให้นักการตลาด 5.0 ต้องหันมาให้ความสำคัญกับคำว่า Lifestyle มากขึ้น โจทย์สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้ Generation Now ผู้มีพฤติกรรมที่หลากหลาย รู้สึกสะดวกสบายในการบริโภค

 

นอกจากการหลอมรวม Generation Y กับ Generation Z แล้ว กระแส Generation Now ที่โด่งดังที่สุด เห็นจะเป็นหนังสือสองเล่มของกลุ่มนักศึกษาจาก Union College วิทยาลัยเอกชนด้านศิลปกรรมศาสตร์แห่งเมือง Schenectady รัฐ New York ประเทศสหรัฐอเมริกา

กลุ่มนักศึกษาจาก Union College ผู้เรียกตนเองว่า Changemakers ได้ช่วยกันเขียนบทความเกี่ยวกับ Generation Now รวมเล่มเป็นหนังสือจำนวน 2 ชุดด้วยกันคือ Generation Now: Millennials Call for Social Change และ Generation Now: Our Stories…Can You Hear Us?

แนวคิดหลักเกี่ยวกับ Generation Now ของกลุ่ม Changemakers นี้ก็คือ ความต้องการที่จะเห็นโลกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการหลอมรวม “คนทุกรุ่น” สู่ Generation Now ครับ

จุดประกายความคิดเริ่มมาจากการที่นักศึกษาจาก Union College กลุ่มนี้ได้ลงทะเบียนในรายวิชา Millennials and Social Change

Millennials and Social Change เป็นรายวิชาที่ส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตนเองให้เป็นนักคิดที่มีจินตนาการ และมีวิจารณญาณของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมุ่งมั่นที่จะเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในชุมชนระดับโลกที่หลากหลาย

ซึ่งคำว่า Millennials นั้นตรงกับ “ชื่อรุ่น” ของเขาและเธอ นั่นคือ Generation Millennials หนึ่งในชื่อเล่นของ Generation Y นั่นเอง

 

เพื่อลดความขัดแย้งระหว่าง Generation ที่เขาและเธอได้เห็นในวิถีการดำเนินชีวิต และในชุมชน ตั้งแต่เกิด เติบโต จนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย หนังสือทั้งสองเล่ม จึงเล่าเรื่องของนักศึกษาแต่ละคน ที่มองเห็น “ปัญหาระหว่าง Generation” ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตของเขาและเธอ

วิสัยทัศน์ของนักศึกษาจาก Union College หรือ Changemakers กลุ่มนี้ก็คือ การบอกเล่าเรื่องราวของเขาและเธอ ถึงการสร้างความเข้าใจระหว่างคนต่าง Generation ในชุมชน

สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เขาและเธอต้องการเห็นต่อไปในอนาคต โดยนักศึกษาแต่ละคนได้เขียนบทความที่กระตุ้นเตือนการตัดสินใจทำ หรือไม่ทำอะไร

ที่สำคัญก็คือ การหลอมรวม “คนทุกรุ่น” สู่ Generation Now คือสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง Generation และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้ทำการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อคนต่าง Generation ในชุมชนนั่นเองครับ