เราเป็นใครกันแน่ / มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

เราเป็นใครกันแน่

 

‘คุณคือใคร’

หากมีสักคนโยนคำถามนี้ใส่เราคงต้องใช้เวลาสักพักในการคิดหาคำตอบ

แว้บแรกเราอาจคิดถึงชื่อ-นามสกุล แต่แล้วก็นึกได้ว่านั่นไม่ได้อธิบายอะไรในความเป็นเราเลย

แว้บที่สองอาจคิดถึงอาชีพการงานซึ่งก็พอจะบอกเล่าบางอย่างให้ชวนคุยต่อได้ แต่จะตอบคำถามนี้ให้ได้ประโยชน์คงต้องถามกลับไปยังเจ้าของคำถามเสียก่อนว่า “คุณต้องการอะไรจากคำถาม”

เจ้าของคำถามนี้เป็นนักจิตวิทยา ดร.ไบรอัน ลิตเติล ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาบุคลิกภาพ และเป็นเจ้าของหนังสือ Me, Myself and Us

ดร.ลิตเติลอธิบายบนเวทีเท็ดทอล์กถึงจิตวิทยาของคุณลักษณะสากล 5 ประการที่สามารถอธิบายความแตกต่างของผู้คนบนโลกนี้ได้แจ่มชัด

5 ประการที่ว่าคือ OCEAN

O – open to experience (เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ)

C – conscientiousness (มีสติรู้ผิดชอบชั่วดี)

E – extroversion (เปิดตัว ชอบสังคม)

A – agreeable (สอดคล้องกลมกลืน น่าคบหา)

N – neurotic individuals (ผู้มีอาการโรคประสาท)

คุณสมบัติห้าประการนี้มีผลต่อการดำเนินชีวิตของเรา เช่น คนที่เปิดกว้าง ชอบเรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ๆ และมีสติรู้ผิดชอบชั่วดีก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า กระนั้นแนวทางไปถึงความสำเร็จของสองคนนี้ก็ต่างกัน

คนที่เปิดกว้างและรักอิสระประสบความสำเร็จผ่านความกล้าหาญ ขณะที่คนรอบคอบรู้ผิดชอบชั่วดีประสบความสำเร็จผ่านวินัยและความอดทน

มนุษย์ชอบสังคมและมนุษย์ผู้สอดคล้องกลมกลืนเป็นสองลักษณะที่ผู้คนชอบอยู่ใกล้และอยากทำงานด้วย

เรามาลองพิจารณาถึงมนุษย์ผู้เปิดเผยและชอบเข้าสังคมกันสักหน่อย

ตั้งแต่ผมเกิดมายังไม่มีใครอธิบายบุคลิกของมนุษย์ extrovert ได้แจ่มชัดเท่า ดร.ลิตเติล

เขาเล่าว่า ในห้องเรียนของเขา เมื่อเขาบอกว่าคนเราไม่สามารถเลียข้อศอกด้านนอกของตัวเองได้ มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งยกข้อศอกขึ้นแล้วเลียทันที

แต่ยังครับ พวกนั้นยังไม่ใช่ extrovert เพราะพวก extrovert ได้ชะโงกไปเลียข้อศอกเพื่อนที่นั่งข้างๆ เรียบร้อยแล้ว (ฮ่าฮ่า)

ดร.ลิตเติลบอกว่า มีธรรมชาติสามอย่างที่ประกอบร่างมาเป็นพวกเราแต่ละคน

หนึ่ง, ลักษณะทางชีวภาพหรือประสาทสรีรวิทยา

สอง, ลักษณะทางสังคมวิทยาหรือสังคมแวดล้อมที่มีผลต่อบุคคล

สาม, ลักษณะเฉพาะที่ทำให้เราเป็นเราซึ่งแตกต่างจากคนอื่น

ซึ่งข้อสามนี้เองที่นักจิตวิทยาผู้ช่ำชองให้ลองคิดถึงตัวเองและคนรอบตัวเราในมุมของ ‘ผู้เปิดตัว’ และ ‘ผู้เก็บตัว’ ซึ่งมีบุคลิกแตกต่างกันคนละขั้ว

ผู้เปิดตัวมักชอบสังสรรค์ ไปมันทุกปาร์ตี้ ชอบความอึกทึกครึกโครม

ขณะที่ผู้เก็บตัวจะซ่อนตัวอยู่ในมุมเงียบ ชอบใช้เวลาอยู่กับสถานที่เงียบสงบ และตระหนักว่าตัวเองมีประสิทธิภาพมากกว่าและมีความสุขกว่าเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการกระตุ้นเร้าน้อยลง

กระทั่งการดื่มกาแฟก็แตกต่างกันระหว่างชาว extrovert และ introvert ชาวเปิดตัวชอบถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวและทำงานได้ดีในภาวะตื่นตัว เขาจึงต้องการกาแฟเพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นภายใน

 

ที่สนุกคือเรื่องเซ็กซ์

มีการเก็บสถิติว่า ชายผู้เก็บตัวมีเพศสัมพันธ์เดือนละ 3.0 ครั้ง ขณะที่ชายผู้เปิดตัวมีเซ็กซ์เฉลี่ยเดือนละ 5.5 ครั้ง ซึ่งมากกว่าเกือบสองเท่า

ส่วนผู้หญิงเก็บตัวทำกิจกรรมทางเพศเดือนละ 3.1 ครั้ง และผู้หญิงผู้ชอบเข้าสังคมมีเซ็กซ์เดือนละ 7.5 ครั้ง

เหล่านี้คือความแตกต่างที่น่าสนใจ

การสื่อสารของคนสองกลุ่มนี้ก็แตกต่างกัน

ชาวเปิดตัวจะชอบพูดคุยแบบใกล้ชิด ร่างกายเคลื่อนเข้าใกล้กันมาก ชอบจ้องตา และชอบเรียกชื่อคนด้วยฉายาที่เขาตั้งขึ้นมาเอง เช่น ถ้ามีเพื่อนชื่อเอกก็อาจเรียกว่าเอกกี้ คือตีซี้กับทุกคนได้ง่ายๆ

คำพูดคำจาก็แตกต่าง ชาวเปิดตัวชอบใช้คำพูดแบบขาว-ดำ ชัดเจน และเข้าใจง่าย ขณะที่ชาวเก็บตัวชอบพูดยาว อ้อม และเต็มไปด้วยรายละเอียด บ่อยครั้งที่เขาไม่ใช้คำพูดตรงๆ

คนเก็บตัวอาจอธิบายคุณลักษณะของเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งว่า “ผมคิดว่าเขามีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่กล้าแสดงออกมาไปกว่าผู้คนทั่วไปมากสักหน่อยน่ะครับ แต่ก็ไม่แน่ใจนะครับ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว” ขณะที่คนเปิดตัวจะพูดสั้นๆ ว่า “ใช่ ผมเห็นด้วย ไอ้คนนี้แม่งนรก” (ฮ่าฮ่า)

ทั้งสองประโยคมีความหมายเดียวกัน แต่แสดงออกต่างกัน

 

แต่ทั้งหมดที่ว่ามาก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เราทุกคนแตกต่างจากคนอื่น และกลายเป็นคนในแบบที่เราเป็นแบบเดียวในโลก เราอาจเป็นคนเก็บตัวเหมือนกัน หรือเป็นคนเปิดตัวเหมือนกัน เราอาจมีคุณลักษณะทางชีววิทยาหลายส่วนคล้ายกัน แล้วอะไรล่ะที่ทำให้เราแตกต่าง

คำตอบคือ สิ่งที่เราทำในชีวิต

เรื่องราวส่วนตัว เป้าหมายส่วนตัว ความฝันส่วนตัวของเรา

สิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกับลูกของเรา พ่อ-แม่ของเรา คนรักของเรา สิ่งสำคัญและมีคุณค่าเหล่านี้ทำให้เราแสดงออกมาแตกต่างไปจากสิ่งที่เราเป็น

เราอาจเป็นคนที่คุยง่าย เข้ากับคนง่าย แต่ในบางโอกาสเราแสดงออกอย่างดุดัน ก้าวร้าว และไม่ยอมใคร เพราะเรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา เช่น บางคนก็สู้สุดใจเพื่อช่วยเหลือลูกหรือพ่อ-แม่ของตัวเอง

สิ่งนี้เองที่สำคัญ

ฉะนั้น ไม่ควรถามผู้คนว่า “คุณเป็นคน type ไหน” ตามแบบสำรวจยอดฮิตทั้งหลายที่สรุปมาว่าเราเป็นคนประเภทไหน สิ่งที่ควรถามมากกว่าคือ “สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร”

สิ่งนี้เองที่ทำให้เราแตกต่างกัน

บางคนให้ความสำคัญกับครอบครัว

บางคนให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคม

บางคนให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ทางการเมือง

บางคนให้ความสำคัญกับศิลปะ

บางคนให้ความสำคัญกับธุรกิจการงาน ฯลฯ

เมื่อสิ่งที่ให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน เราจึงคิดไม่เหมือนกัน แสดงออกไม่เหมือนกัน โดยลักษณะ 5 ประการของมนุษย์ที่เกริ่นไว้เบื้องต้นกลายเป็นเรื่องรอง

ดร.ลิตเติลเล่าถึงตัวเขาเองว่า เขาเป็นคนเก็บตัว แต่คุณค่าสูงสุดในชีวิตเขาคือการสอนหนังสือ

เขาตื่นเต้นที่จะบอกเล่าความรู้ให้ลูกศิษย์ได้รู้บ้าง ซึ่งการสอนหนังสือนั้นจำเป็นต้องอาศัยทักษะบางอย่างเพื่อช่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการสอน

เช่น เขาอาจต้องปล่อยมุขให้ลูกศิษย์ไม่ง่วง เขาต้องสอนให้สนุก เขาจึงต้องหัดทักษะที่ตัวเองไม่ถนัดเพื่อทำงานที่เขาให้คุณค่าอย่างมากนี้

และเขาก็แสดงออกราวกับเขาเป็นคนเปิดตัว ทั้งนี้ก็เพราะจำเป็น

แต่เราต้องระวังด้วยเหมือนกัน เพราะบ่อยครั้งที่เราสวมบทบาทเป็นคนอีกแบบ เราหลงลืมการดูแลตัวเองไป

อย่างตัวเขาเอง หลังจากทุ่มพลังเพื่อกลายร่างเป็นอาจารย์ extrovert ไปแล้ว เขาจำเป็นต้องกลับเข้าถ้ำเพื่อฟื้นพลังในสถานที่เงียบสงบตามลำพังด้วยเช่นกัน

นี่คือการไม่หลงลืมธรรมชาติของตัวเอง

 

สิ่งที่ ดร.ลิตเติลเล่านั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง มันทำให้เราเข้าใจตัวเองใหม่ มองตัวเองใหม่ สิ่งที่เรากระทำบ่อยๆ อาจเป็นเพียงผลลัพธ์หรือฉากหน้าของแก่นแกนชีวิตที่เราให้ความสำคัญ และพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อตอบสนอง ‘สิ่งสำคัญ’ นั้น หรือเพื่อบรรลุเป้าหมายทรงคุณค่าที่ตั้งไว้ กระนั้นเราทุกคนก็มีตัวตนที่แท้จริงอยู่ข้าง ที่เป็นธรรมชาติที่เราสบายใจที่จะเป็นเช่นนั้น

ไม่ควรหลงลืมคนคนนั้น ให้เวลากับเขาอย่างพอเหมาะ เพื่อให้ปลาในตัวเรายังได้แหวกว่ายในสายธาร ไม่ต้องกระโดดขึ้นมาเล่นบทบาทอื่นตลอดเวลา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นคงน่าทรมาน

เช่นกันกับเพื่อนพ้องน้องพี่ในชีวิต เราไม่สามารถแปะป้ายให้ใครคนหนึ่งเป็น ‘มนุษย์ประเภทนั้น’ ประเภทใดประเภทหนึ่งได้แบบเหมารวมจากพฤติกรรมที่เราพบเห็นเท่านั้น เพราะสิ่งที่เราไม่เห็นและไม่รู้ยังมีอีกมาก

บุคลิกภายนอกก็อย่างหนึ่ง ธรรมชาติด้านในก็อย่างหนึ่ง

ฟังเช่นนี้แล้ว เราย่อมมองเห็นว่า มนุษย์ช่างซับซ้อน การแสดงออกที่เราเห็นนั้นมาจากแรงผลักภายในกับสิ่งที่เขาให้คุณค่าบวกรวมกับธรรมชาติของเขาทั้งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและบ่มเพาะจากสังคมที่เขาเติบโตขึ้นมา

การถามคำถามว่า “คุณคือใครกันแน่” อาจเป็นคำถามที่ฟังดูประหลาดและตอบยากเกินไปสักหน่อย แต่ถ้าอยากรู้จักใครสักคน อาจลองถามเขาว่า “สิ่งที่คุณให้ความสำคัญที่สุดในชีวิตคืออะไร”

ถ้าเราพอมีเวลารับฟัง เราจะได้คำตอบเดียวกันกับคำถามว่า

“คุณคือใครกันแน่”