ในประเทศ/รัฐบาล-คสช.ลุ้นระทึก 4 คำถามจากใจ “บิ๊กตู่” จะ “เปรี้ยง” หรือจะ “แป้ก”

ในประเทศ

รัฐบาล-คสช.ลุ้นระทึก

4 คำถามจากใจ “บิ๊กตู่” จะ “เปรี้ยง” หรือจะ “แป้ก”

“ทุกคนให้ความสำคัญกับ 4 คำถามมากไปหรือเปล่า ผมไม่ได้บอกว่าประชาชนจะต้องมากดไลก์ทั้ง 6 ล้านคน มันไม่ใช่ จะกี่ล้าน ผมไม่รู้ จะคนเดียวหรือ 10 คน ผมก็รับฟัง มี 100 คนก็รับฟัง 100 คนว่าเขาว่าอย่างไร”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อ 4 คำถาม วันแรกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งบรรยากาศไม่คึกคักมากนัก

หนังสือพิมพ์พาดหัวใช้คำว่า “เงียบเหงา” บ้างใช้คำว่า “จืด” ขณะที่กระทรวงมหาดไทยใช้คำว่า “ราบเรียบ”

ส่วนตัวเลข “6 ล้านไลก์” ที่พาดพิงถึง

น่าจะมีที่มาจากตัวเลขแฟนเพจเฟซบุ๊กของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีคนเข้าไป “กดไลก์” ครบ 6 ล้าน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา

สำหรับคำถาม 4 ข้อ มีจุดกำเนิดจาก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการศาสตร์แห่งพระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำคืนวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม

1. ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

2. หากไม่ได้จะทำอย่างไร

3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

4. ท่านคิดว่ากลุ่มการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก แล้วจะให้แก้ไข และ/แก้ไขด้วยวิธีอะไร

ในแบบสอบถามที่กระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้น ข้อ 1 กับข้อ 3 เป็นคำถาม “ปลายปิด” มีช่องสี่เหลี่ยมให้ทำเครื่องหมายตอบว่า “ได้” หรือ “ไม่ได้” กับ “ถูกต้อง” หรือ “ไม่ถูกต้อง” เท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น

ส่วนข้อ 2 กับข้อ 4 เป็นคำถาม “ปลายเปิด” ให้ผู้ตอบเขียนแสดงความเห็นตามขอบเขตคำถามได้เต็มที่

โดยเฉพาะข้อ 4 มีการขีดเส้นใต้ข้อความ “ควรจะมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และ/แก้ไขด้วยวิธีอะไร”

เน้นย้ำไว้ด้วย

กระทรวงมหาดไทยเอาการเอางานอย่างยิ่ง หลังได้รับมอบหมายเป็นเจ้าภาพ สานเจตนารมณ์ 4 ข้อคำถามทางการเมืองครั้งนี้

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นคำถามทั้ง 4 ข้อ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาไม่น้อย โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง ไม่ว่า “เนื้อหา” และ “รูปแบบ” การได้มาซึ่งคำตอบ

ด้าน “เนื้อหา” นั้น นอกจากเป็นชุดคำถามค่อนข้างยาก ไม่ค่อยชัดเจน ทำให้ตอบยากและเกิดความสับสน

ยังมีการตั้งข้อสงสัยตั้งแต่วันแรกที่นายกฯ เสนอชุดคำถามนี้ขึ้นมาว่า อาจมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง เกี่ยวโยงถึงการเปลี่ยนแปลงโรดแม็ปเลือกตั้งหรือไม่

เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่นาน เกิดเหตุ “ระเบิด” 3 ลูกซ้อน หน้ากองสลากเก่า หน้าโรงละครแห่งชาติ และภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในเวลาไล่เลี่ยกัน

จนมีการส่งสัญญาณ “ถ้าไม่สงบ ไม่เลือกตั้ง”

หลักเกณฑ์กติกาการตอบคำถาม ที่กระทรวงมหาดไทยคิดค้นขึ้น ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า

นอกจากเป็นอุปสรรค ทำให้คนหวั่นเกรงว่าการพูดความจริงจะนำเภทภัยมาสู่ตัว ยังเสี่ยงที่จะเกิดการ “ชี้นำ” จนทำให้คำตอบผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยสั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด และขอความร่วมมือไปยังกรุงเทพมหานคร สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดสถานที่รับฟังความคิดเห็น

ที่ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ (1111) ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กรุงเทพมหานคร และศูนย์บริการประชาชนเขตทุกเขต

รวมทั้งสิ้น 1,007 แห่ง ในเวลาราชการ 08.30-16.30 น. ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน โดยยังไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับฟัง

แต่จุดที่เป็นปัญหาพูดถึงกันมาก

คือการให้ผู้แสดงความเห็นต้องระบุชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ อายุ เพศ อาชีพ การศึกษา และหมายเลขเบอร์โทรศัพท์ รวมถึงต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ท้ายแบบสอบถาม

กระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่า ที่ต้องให้กรอกข้อมูลโดยละเอียดและต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนก็เพื่อยืนยันตัวตน ป้องกันการมั่วสวมสิทธิ์ และเป็นหลักฐานว่า ไม่ได้เป็นคนที่ทางการเกณฑ์มา

พร้อมยืนยันการแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงพัฒนาการทำงานของรัฐบาล

ไม่เกี่ยวและไม่มีผลกับเรื่องเลือกตั้งใดๆ ทั้งสิ้น

กระนั้นก็ตาม ภายหลังเปิดให้ประชาชนตอบแบบสอบถามในวันแรก บรรยากาศเป็นไปอย่าง”ราบเรียบ”

ทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องปรับแผนประชาสัมพันธ์ใหม่ เตรียมพิจารณาเพิ่มจุดรับฟังในศูนย์การค้าและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสะดวกมากขึ้น

ในส่วนของการรวบรวมความคิดเห็นประชาชน เพื่อส่งต่อไปยัง “เจ้าของคำถาม” กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะทำงานกลั่นกรองสรุปผลในระดับกระทรวง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด

ตรงนี้เองที่ทำให้แต่ละจังหวัดต้องเร่ง “ทำยอด” จนไม่แน่ว่าจากความเงียบเหงาในช่วงแรก อาจกลับมาคึกคักในช่วงท้าย

แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่ต้องจับตาดูว่า จะมีจังหวัดใดหรือไม่ ที่กล้าสรุปผลตอบคำถามแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างตรงไปตรงมา หากพบว่า

คำตอบที่ได้ “ไม่ตรงใจ” ผู้มีอำนาจ

ข้อบ่งชี้ว่ารัฐบาลกำลังหวั่นไหวกับสถานการณ์ในหลายเรื่อง

ตอนแรกอาจเป็นเรื่องระเบิด แต่ต่อมาก็มีกรณีทหารพัวพันคดีค้าอาวุธ ปัญหาเศรษฐกิจทรุดตัวต่อเนื่อง ปัญหาราคายางตกต่ำ ปัญหาบัตรทอง เซ็ตซีโร่ กกต. ฯลฯ

รวมทั้งกรณีการบุก “ล้ม” งานเลี้ยงสังสรรค์กลุ่มอดีต ส.ส. กว่า 50 คนในโรงแรมหรูกลางกรุง โดยอ้างเหตุได้รับแจ้งให้มาตรวจค้นวัตถุต้องสงสัยเป็นระเบิด

ยังมีกรณีทหารกองทัพภาคที่ 2 อำนวยความสะดวกให้ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต รมช.เกษตรฯ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวปกป้องโครงการรับจำนำข้าว ได้ตอบคำถาม 4 ข้อถึงบ้านพัก

และการเชิญ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน เข้าไปพูดคุยในค่ายกองทัพภาคที่ 1

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า ยังไม่ถึงเวลา “ปลดล็อก” ให้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอนนี้ต้องการให้ “อยู่เฉยๆ” รอคำตอบ 4 ข้อจากประชาชนสะท้อนกลับมา

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอร้องนักการเมืองอย่าเพิ่งเคลื่อนไหวพบปะกันเป็นคณะใหญ่ ทำให้เกิดความวุ่นวายสับสน จนกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล

สรุปคือพรรคการเมืองยังต้อง “ร้องเพลงรอ” ต่อไป

ถึงแม้ “เจ้าของคำถาม” จะไม่คาดหวังให้การตอบ 4 ข้อคำถามเป็นเรื่องราวใหญ่โต และไม่ได้ต้องการให้ประชาชนให้ความสำคัญมากจนเกินไป

แต่ก็ถูกมองเป็นแค่การออกตัว “แก้เขิน”

เพราะหากดูจากความกระตือรือร้นของกระทรวงมหาดไทย ในการสั่งการไปยังผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

การขอร้องแกมบังคับไม่ให้นักการเมืองเคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลช่วงนี้ จนเป็นประเด็นกลบกระแส 4 คำถามของนายกฯ ไป

รัฐบาลน่าจะตั้งความหวังไว้สูง ไม่ว่ากับตัวเลข “จำนวน” คนให้ความร่วมมือ หรือต่อ “ผลลัพธ์” ที่จะออกมา

เพราะหากคำตอบเป็นไปตามต้องการ ก็จะเป็นเครื่องปลอบประโลมใจช่วง “ขาลง”

ทั้งยังนำไปขยายผลได้อีกว่า กระแสความนิยมต่อรัฐบาลทหาร ยังคงอยู่ในระดับเหนือกว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนจะถูกนำไปเป็นเงื่อนไข เปลี่ยนแปลงโรดแม็ปตามที่ฝ่ายการเมือง “ดักคอ” ไว้หรือไม่ เป็นอีกประเด็นที่ต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ด้วยเดิมพันดังกล่าว กลายเป็นแรงกระตุ้นให้รัฐบาลและ คสช. เอง ที่เป็นฝ่ายแสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับ 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต

โดยเฉพาะช่วงแรกของการเปิดให้ตอบคำถาม

ไม่ใช่ในส่วนของประชาชน ที่คึกคักและให้ความสำคัญ