คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : นิกายของพราหมณ์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“นิกาย” ในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ใช้คำภาษาสันสกฤตว่า “สัมปรทายะ” โดยพยัญชนะแปลว่า “ประเพณี หรือการใช้” (Tradition, usage) ซึ่งในวัฒนธรรมอินเดียมีความหมายตรงตามนั้น คือคำสอนและการปฏิบัติเป็นประเพณีที่สืบๆ กันมา หรือเรียกว่าวงศ์ก็ได้

ความแตกต่างระหว่างนิกายของฮินดู เอาเข้าจริงๆ แล้ว จึงอาจไม่ได้แตกต่างกันในแง่ความเชื่อ คำสอนหรือวิถีปฏิบัติมากนัก เป็นแต่มีครูอาจารย์ผู้สืบทอดมาต่างกัน หรือตีความอะไรที่ต่างกันเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง จะมีที่ต่างกันบ้างก็ไม่มาก

ศาสนาในกลุ่มอินเดียมักเป็นเช่นนี้ ต่างกับศาสนาเทวนิยมแบบอับราฮัม คือ ยูดาย คริสต์และอิสลาม ที่ความเชื่อเป็นแกนกลางของศาสนา และเป็นตัวแบ่งศาสนิกของแต่ละนิกาย

ชาวบ้านที่นับถือฮินดู ถ้าไม่ได้อยู่ในชุมชนทางศาสนาที่เข้มข้น (คือบางนิกายเป็นนิกายที่ผูกพันอยู่กับท้องถิ่นโดยเฉพาะ) ก็มักจะถือว่าตนนับถือศาสนาฮินดูไม่ได้แยกนิกายอะไร

ทั้งนี้ เราอาจต้องแบ่งนิกาย (โดยทางการ) ในศาสนาพราหมณ์ ออกเป็นสองลักษณะ อย่างแรก คือนิกายของศาสนิก อย่างที่สองคือนิกายของนักบวช (สันยาสี)

นิกายของศาสนิกชนทั่วๆ ไปมีไม่มากนัก แต่นิกายของนักบวชนั้นมีมากและแบ่งย่อยออกไปมากมายหลากหลาย ภายในตัวนิกายใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

อันนี้แหละที่สะท้อนความเป็น “ประเพณี” ในความหมายของนิกายตามแบบอินเดีย ครูต้นประเพณีมีเยอะ นิกายก็มีมากตาม

 

หากถือตามแบบเรียนวิชาศาสนาที่เราเรียนๆ กัน (ซึ่งที่จริงไม่ได้อัพเดตข้อมูลความรู้เลย) มักกล่าวว่าศาสนาฮินดูมีสามนิกาย ไศวะคือนับถือพระศิวะ ไวษณวะนับถือพระวิษณุ และศากตะ นับถือศักติหรือเทวีเป็นใหญ่

แต่ที่จริงมีมากกว่านั้น

ที่ว่านับถือองค์ใดเป็นใหญ่นั้น มิได้แปลว่าไม่ได้นับถือเทพเจ้าพระองค์อื่นๆ นะครับ เพียงแต่โดยเทววิทยาของนิกายนั้นๆ ย่อมถือว่าพระเป็นเจ้าที่ตนนับถือเป็นพระเจ้าสูงสุด

เทพอื่นอาจดำรงอยู่ในฐานะบริวารบ้าง หรือเป็นภาคส่วนหนึ่งของพระองค์บ้าง

เช่น ไวษณวนิกายที่นับถือพระวิษณุนั้น ก็ถือว่าพระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุด พระศิวะ พระคเณศ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นบริวาร และนับถือน้อยไปกว่าพระอวตารต่างๆ เช่น พระรามหรือพระกฤษณะเสียอีก เพราะถือว่าอวตารเหล่านี้เป็นภาคแท้ของพระเจ้า ผิดกับเทพอื่นๆ

ไวษณวนิกาย (เขียน “ไวษณพ” ก็ได้ เพราะ ว มักเปลี่ยนเป็น พ ในภาษาไทย ซึ่งมีฐานเสียงเดียวกัน) เช่นที่ว่านี้ ยังแบ่งย่อยออกไปอีกมาก นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบเอ็ดซึ่งรามานุชาจารย์ ปฐมาจารย์ก่อตั้งไวษณวนิกายอย่างมั่นคง จากนั้นไวษณวนิกายก็แยกไปตามคำสอนของอาจารย์ต่างๆ ในรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็น วัลลภาจารย์ นิมพารกาจารย์ ไจตันยาจารย์ ฯลฯ

นิกายเหล่านี้มีความแตกต่างกันนิดๆ หน่อยๆ ในเชิงปรัชญา เช่น ในไวษณวนิกายของรามานุชะ แบ่งนิกายย่อยออกเป็น เตงคไลกับวัทคไล สองนิกายนี้ต่างกันโดยหลักใหญ่คือ ฝ่ายหนึ่งถือว่าพระเจ้าย่อมพาสาวกไปสู่โมกษะตามน้ำพระทัยโดยไม่เกี่ยวกับการประพฤติของสาวก อีกฝ่ายว่าสาวกเองก็จะต้องปฏิบัติในสมควรด้วย เป็นต้น และใช้สัญลักษณ์ต่างกัน ฝ่ายนึงเขียนตัววีสีขาวที่หน้าผาก เส้นกลางสีเหลือง อีกฝ่ายสีแดง เป็นต้น

ความแตกต่างเช่นที่ว่า มักเป็นเรื่องของนักบวชและพราหมณ์หรือคนวรรณะสูงๆ ชาวบ้านก็ไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น ที่จริงจะว่าชาวบ้านไม่ได้สนใจนิกายก็ไม่เชิงครับ อย่างที่ผมบอกไว้แล้วว่า บางนิกายก็เกี่ยวพันกับพื้นที่หรือชุมชน คือเป็นเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย อย่างในพฤนทาวันใครๆ ก็นับถือพระกฤษณะ เพราะถือเป็นดินแดนของพระองค์

บางนิกายก็เป็นเรื่องของคนชั้นล่างโดยเฉพาะ เช่น นิกายวรการีในแคว้นมหาราษฏร์ นิกายนี้เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไปด้วยในตัว คือเน้นการยกเลิกชนชั้นวรรณะ และเน้นความรักในหมู่เพื่อนมนุษย์

 

นอกจากสามนิกายใหญ่เพราะมีศาสนิกมาก คือ ไวษณวนิกาย ไศวนิกาย ศากตะนิกาย ยังมีนิกายย่อยอื่นที่สำคัญ คือ คาณปตยนิกาย ซึ่งถือเอาพระคณปติหรือพระคเณศเป็นใหญ่ มีศูนย์กลางที่แคว้นมหาราษฏร์ เริ่มขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่ นิกายเกามาระ นับถือกุมารหรือพระขันทกุมาร และนิกายเสาระ ซึ่งนับถือพระอาทิตย์

ที่ผมบอกว่าข้อมูลเรื่องศาสนาไม่อัพเดตนั้น เพราะที่จริง นอกจากสามนิกายใหญ่ ยังมีนิกายที่สำคัญมากอีกนิกายหนึ่ง และอาจจะมีอิทธิพลต่อศาสนิกทั่วไปมากที่สุด นั่นคือนิกาย “สมารตะ”

“สมารตะ” มาจากคำ “สมฤติ” แปลว่า ทรงจำ จำได้ หมายถึงคัมภีร์ชั้นสองของศาสนาฮินดู เช่น พวกปุราณะและตำราศาสตร์ต่างๆ ส่วนคัมภีร์ชั้นแรกเรียกว่า ศรุติ แปลว่าได้ยินได้ฟังซึ่งหมายถึงพระเวทเท่านั้น เพราะถือว่าฤๅษีสมัยโบราณได้ยินได้ฟังจากพระเจ้าโดยตรง

นิกายสมารตะ โดยนามจึงหมายถึงนิกายที่ยอมรับทั้งคัมภีร์ขั้นศรุติและสมฤติ นิกายนี้เริ่มต้นขึ้นโดยอาทิศังกราจารย์ นักปรัชญาคนสำคัญชาวเกรละซึ่งมีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ห้าถึงเจ็ดโดยประมาณ

 

ที่จริงว่าท่านตั้งนิกายก็ไม่เชิงครับ แต่หลักปรัชญาของท่านกลายเป็นหลักสำคัญของนิกายนี้ หลักของศังกราจารย์เรียกว่า “อไทฺวตเวทานตะ” หรือคำสอนที่ไม่เป็นทวิภาวะ

สรุปแบบย่อที่สุด หลักนี้ถือว่า ความจริงหรือสัจธรรมนั้นมีหนึ่งเดียวเรียกว่า “พรหมัน” ซึ่งมีสภาวะนามธรรม พ้นจากการพูดหรือคิดถึงได้ อาตมันย่อยๆ ก็มิได้มีอยู่จริง แต่เป็นหนึ่งเดียวกับพรหมัน(ผิดกับที่เคยสอนๆ กันว่า พราหมณ์สอนว่า อาตมันดุจสะเก็ดไฟออกมาจากกองไฟคือปรมาตมันอะไรงี้) โลกนี้คือสภาพมายามิได้มีอยู่จริง

ทีนี้โดยหลักของอไทฺวตะ ในเมื่อทุกสิ่งเป็นมายาแล้ว แม้แต่เทพเจ้าต่างๆ ก็เช่นกัน ย่อมมีเนื้อแท้เบื้องหลังเป็นสิ่งเดียวกัน คือพรหมันนี่เอง เทพเจ้าทั้งหลายจึงต่างกันในเบื้องหน้าเท่านั้น ข้างหลังไม่ต่าง

พรหมันมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นสัจภาวะสูงสุดที่ปราศจากคุณสมบัติที่จะพูดถึงได้ทุกประการ (นิรคุณพรหมัน) อีกด้านคือพรหมันที่ปรากฏด้วยอำนาจมายาเป็นพระเจ้าสูงสุดที่มีคุณสมบัติต่างๆ (สคุณพรหมัน) แล้วปรากฏเป็นเทพทั้งปวงนี่เอง

ความคิดนี้เป็นความคิดทางศาสนาที่น่าจะมีอิทธิพลมากที่สุดในหมู่ศาสนิกพราหมณ์ฮินดู และเป็นความคิดที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งที่จริงแล้วเป็นความคิดของนิกายสมารตะนี่เอง มิใช่ของนิกายอื่นๆ

ดังนั้น ในเทวสถานและบ้านเรือนของชาวสมารตะเขาจึงไม่ประดิษฐานเทวรูปเทพเจ้าองค์เดียวโดดๆ แต่จะบูชาห้าองค์ เรียกว่าการบูชาแบบ “ปัญจายตนเทวตา” ครับ

 

การบูชาเทพแบบปัญจายตนเทวตานี่ เป็นเอกลักษณ์ของนิกายสมารตะโดยเฉพาะ ห้าองค์นี้ประกอบด้วย พระคเณศ พระเทวี (หมายถึงพระเทวีรวมๆ) พระวิษณุ พระศิวะ และพระสุริยเทพ (บางทีก็เป็นพระขันทกุมารหรือพระพรหมา)

เมื่อจะบูชาการจัดวางจะให้เทวดาที่ศาสนิกนับถือเป็นพิเศษอยู่ตรงกลาง องค์อื่นๆ อยู่รอบๆ ตามทิศที่กำหนด เทพตรงกลางนี้เปลี่ยนแปลงได้ตามความศรัทธา พระศิวะอยู่ตรงกลางเรียก ศิวปัญจายตนะ พระวิษณุอยู่กลางเรียก วิษณุปัญจายตนะ เป็นต้น

ดังนั้น ระบบการบูชาปัญจายตนะนี้ จริงๆ คือความพยายามจะรวมเอานิกายต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันของท่านศังกราจารย์นี่เอง และนอกจากนี้ ยังถือว่าบูชาทั้งห้าองค์ก็เท่ากับบูชาเทวดาทั้งหมดของฮินดูแล้วนั่นเอง เพราะทั้งห้าสะท้อนนิกายสำคัญทั้งห้า ธาตุทั้งห้าและสรรพสิ่งทั้งหมดของจักรวาล

เทวสถานของชาวอินเดียในเมืองไทยทั้งวัดวิษณุ ฮินดูธรรมสภา ที่ยานนาวา และวัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช เสาชิงช้าก็ล้วนเป็นวัดของนิกายสมารตะครับ ไม่ใช่วัดของนิกายพระวิษณุอย่างที่เคยมีข้อมูลออกมา เพราะแม้พระวิษณุจะอยู่ตรงกลางแท่นประดิษฐานเทพเจ้า แต่ก็จะเห็นว่ามีเทพเจ้าอื่นๆ อยู่ในแท่นเดียวกันด้วย

ที่สำคัญ เราจะเห็นการประดิษฐานแบบปัญจายตนเทวตาตามแบบแผนที่กำหนด ที่เทวสถานย่อยๆ เช่น ซุ้มพระศิวลึงค์และพระสรัสวตีที่เทพมณเฑียร โดยเขาเอาพระศิวลึงค์และพระสรัสวตีไว้ตรงกลาง อีกสี่องค์อยู่โดยรอบ

และคำสอนส่วนมากก็อิงตามหลักของท่านศังกราจารย์

นิกายสมารตะสำคัญถึงปานนี้ แบบเรียนและข้อมูลความรู้ทั้งหลายควรปรับปรุงเสียที